ReadyPlanet.com


"อุบายดูจิตพิชิตกามคุณ"


"อุบายดูจิตพิชิตกามคุณ"


หลายวันก่อน มีเมล์ถามปัญหาเกี่ยวกับกามราคะ โดยผู้ถามอยากจะถามในกระทู้ เพื่อให้ผู้ที่มีปัญหาแต่ไม่กล้าถาม ได้อ่านด้วย ผมจึงรับอาสามาตั้งกระทู้ตอบให้เสียเอง เพราะผู้ถามเป็นผู้หญิง

ประเด็นของเธอก็คือ เธอสังเกตเห็นว่า เมื่อมีโทสะแล้ว มักจะพบกามราคะตามมาเสมอ โทสะนั้นเธอคิดว่าพอสู้ได้ แต่กามราคะ ยังเป็นสิ่งที่เธอพ่ายแพ้ จึงอยากทราบวิธีการในการต่อสู้กับกามราคะ

ความจริงแล้ว กามราคะและโทสะนั้น เหมือนคนละด้านของเหรียญอันเดียวกัน เช่น ในเวลาที่เกิดความต้องการทางเพศ แต่ไม่รู้ว่ามีกามราคะแล้ว และกดข่มไว้ โดยไม่รู้ทันว่าได้กดข่มไว้ จิตก็จะพลิกไปเป็นโทสะจิต เหมือนเด็กโยเยเพราะไม่ได้ของเล่นที่ชอบใจ ครั้นโทสะจิตผ่านไปแล้ว กามราคะก็แสดงตัวชัดขึ้นมาอีกสลับกันไป หรือแม้ว่ากามราคะได้รับการตอบสนองแล้วก็ตาม จะพบว่าจิตมีโทสะเกิดขึ้นได้ง่ายๆ หลังจากที่เสพกามไปแล้ว เพราะการเสพกามนั้น ทำให้จิตกระเพื่อมหวั่นไหวได้มาก ยิ่งไปยุ่งกับคนที่ไม่ใช่คู่สมรสของตน ยิ่งหวั่นไหวมาก

ท่านจึงสอนให้สันโดษในคู่ของตน เพราะแม้จิตจะเศร้าหมองบ้างก็ไม่มากนัก ไม่เหมือนกับไปยุ่งกับคนอื่นๆ ดังนั้น ถ้าประพฤติพรหมจรรย์ไม่ได้ ก็อย่าประพฤติผิดในกาม เพราะกิเลสทั้งราคะและโทสะจะรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ

ผู้ปฏิบัติที่มองกามราคะซึ่งเกิดขึ้นแต่แรกไม่ออก แล้วกดข่มไว้จึงคิดว่าตนเองเกิดโทสะขึ้นมาก่อน แต่สู้โทสะได้ แล้วจึงเกิดราคะตามมาทีหลัง ความจริงแลัว โทสะก็อาศัยกามราคะที่ไม่ได้รับการตอบสนองเกิดขึ้นนั่นเอง ถ้าปราศจากกามราคะ โทสะก็พลอยไม่เกิดไปด้วย

ก่อนจะต่อสู้กับกามราคะ ควรทราบเสียก่อนว่า กามราคะเป็นกิเลสชนิดหนึ่ง ที่จิตพึงพอใจในกาม ได้แก่ ความพึงพอใจ ติดตรึงใจในรูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัสทางกาย เป็นคำที่กว้างกว่าความต้องการทางเพศ แต่พระพุทธเจ้าก็ทรงแสดงว่า รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสของสตรีเป็นที่พึงใจของบุรุษ และรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสของบุรุษเป็นที่พึงใจของสตรี ดังนั้น เรื่องของเพศตรงข้ามจึงจัดเป็นกามราคะที่ร้ายแรงมาก มากกว่ารูปวาดสวยๆ เสียงเพลงเพราะๆ ดอกไม้

กามราคะเกิดขึ้นเพราะจิตไม่รู้เท่าทันความไม่มีสาระของกาย จิต จึงเพลิดเพลินพึงใจที่จะหาความสุขทางกาย ด้วยการมองหารูปสวย/หล่อ เสียงเพราะ กลิ่นหอม สัมผัสที่พอใจ ฯลฯ หากเมื่อใดจิตเห็นจริงว่า กายเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา หรือเป็นอสุภะ กิเลสกามก็จะอ่อนกำลังลงทันที

อุบายภาวนาในการสู้รบกับกาม ก็มีเป็นขั้นๆ ไป อย่างอ่อนๆ ก็เช่น การหลีกเลี่ยงผัสสะ เช่น ครูบาอาจารย์บางองค์ ท่านแบกกลดหนีสาวที่ท่านไปหลงรักเข้า เพราะถ้าสู้ไม่ไหว ก็ต้องหนีเอาไว้ก่อน

อุบายที่เข้มข้นขึ้นไปอีก ได้แก่ การพิจารณาเพศตรงข้าม เช่น การพิจารณาคนที่เราพอใจลงเป็นอสุภะ หรือไตรลักษณ์ ถ้าจิตเห็นจริงแล้ว จะลดความผูกพันกันทางกามลงได้

หลวงพ่อพุธ ฐานิโย เคยเล่าให้ผมฟังว่า มีพระรูปหนึ่งบริกรรมพุทโธได้ไม่นาน จิตกลับไปบริกรรมชื่อแฟน หลวงพ่อจึงให้บริกรรมชื่อแฟนต่อไป จนเกิดนิมิตรูปแฟนขึ้นมา พระท่านก็ดูรูปแล้วบริกรรมต่อไป รูปก็เริ่มเหี่ยวโทรมลง หมดสวยหมดงาม จิตของท่านก็ถอดถอนจากความผูกพันในกามกับแฟน

ท่านพระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ สมัยเป็นฆราวาส ท่านแก้ความรักสาวโดยการไปพิจารณาอุจจาระของสาว สมัยนั้นพิจารณาได้ เพราะชาวบ้านถ่ายกันตามทุ่งนา เดี๋ยวนี้จะเอาแบบวิธีนี้คงไม่ได้แล้ว เพราะสาวเขาปกปิดร่องรอยมิดชิด

อุบายถัดมา เป็นการทรมานตนเอง เช่น พระบางรูปไปหลงรักผู้หญิง ท่านยอมอดข้าวจนกว่าจะตัดรักได้ วันแรกยังตัดไม่ได้ พอหลายวันเข้าก็ตัดได้ เพราะจิตกลัวว่ากายจะตายจึงเลิกรักสาว เนื่องจากในความเป็นจริงแล้ว สิ่งที่เรารักที่สุดก็คือตัวเราเอง

อุบายถัดมา เป็นการใช้ปัญญาพิจารณาตนเอง ซึ่งพระส่วนมากท่านพิจารณาร่างกายของท่านลงเป็นอสุภะบ้าง พิจารณาความตายบ้าง พิจารณาความเป็นทุกข์ของกายบ้าง วิธีนี้เป็นวิธีที่ประณีตยิ่งขึ้น เพราะเป็นการพิจารณาตนเอง ไม่ใช่วิธีพิจารณาเพศตรงข้าม หรือหนีเพศตรงข้าม

อุบายทั้งหมดที่กล่าวมานี้ เป็นเพียงการเอาตัวรอดเป็นครั้งคราวเท่านั้น ต่อเมื่อเจริญสติสัมปชัญญะมากเข้า จนจิตเกิดปัญญาวิปัสสนาอย่างแท้จริงแล้ว นั่นแหละจึงจะเอาชนะกามได้อย่างเด็ดขาด พร้อมทั้งปฏิฆะด้วย ที่ผมเคยใช้แล้วได้ผลในการต่อสู้กับกามโดยไม่ได้เจตนาก็คือ การเดินจงกรมแล้วเอาสติระลึกรู้ลงในกาย เห็นกายเดินไปตามสภาพของกาย จิตเป็นคนดูอยู่ ถึงจุดหนึ่งจิตเกิดปัญญาขึ้นว่า กายนี้มีความแก่ ความเจ็บ ความตาย แต่ถึงกระนั้นมันก็ไม่เป็นทุกข์อะไร เพราะมันเป็นเพียงธาตุเท่านั้น ความทุกข์มันเกิดจากจิตเข้าไปยึดกายแล้วอยากอย่างนั้นอย่างนี้ ไม่ยอมรับความจริงว่า กายมันต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย ไปตามเหตุปัจจัย จิตจึงเป็นทุกข์เพราะความอยากของจิตเอง เมื่อจิตเดินปัญญามาถึงจุดนี้ จิตก็เห็นกายเป็นของธรรมชาติธรรมดาอันหนึ่งซึ่งว่างเปล่าจากตัวตน พอจิตไม่ยึดกายแล้ว กามก็หาที่ตั้งไม่ได้เอง ไม่จำเป็นต้องไปต่อสู้เพื่อละกามโดยตรงแต่อย่างใด

ปกติกามราคะและปฏิฆะจะขาดไปพร้อมๆ กัน เพราะเหตุที่ว่ากามและปฏิฆะมันเกิดจากรากเหง้าอันเดียวกัน คือเกิดจากความโง่ของจิตที่เข้าไปยึดกาย และมันรักความสุขทางกาย มัน (จิต) อยากให้ตาเห็นแต่รูปที่ดี ไม่อยากให้ตาเห็นรูปที่ไม่ดี มันอยากให้หูได้ยินเสียงที่ดี ไม่ได้ยินเสียงที่ไม่ดี มันอยากให้จมูกได้กลิ่นหอม ไม่อยากได้กลิ่นเหม็น มันอยากให้ลิ้นรู้รสอร่อย ไม่อยากรู้รสที่ไม่อร่อย มันอยากให้กายสัมผัสความเย็นร้อนอ่อนแข็งที่พอเหมาะ ไม่อยากสัมผัสสิ่งที่รุนแรงเกินไป เมื่อมันได้สิ่งที่ชอบใจ มันก็เกิดกามราคะ คือรักใคร่ผูกพันในอารมณ์ที่ดี เมื่อมันได้สิ่งที่ไม่ชอบใจ มันก็เกิดปฏิฆะ คือความขัดใจ

ความยึดในกายนี้แหละเป็นที่ตั้งของกามราคะและปฏิฆะ เหมือนที่ความยึดในจิตเป็นที่ตั้งของสังโยชน์เบื้องสูง คือรูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ และอวิชชา

อันที่จริง เมื่อเรายังละกามไม่ได้ ก็ควรควบคุมให้มันอยู่ในขอบเขตที่พอเหมาะ คืออย่าทำผิดศีล 5 แล้วเจริญสติสัมปชัญญะเรียนรู้คุณและโทษของมันไป ความทุกข์ทรมานเพราะกามก็จะค่อยลดน้อยลงเป็นลำดับ

กามนั้นไม่ใช่จะเป็นโทษอย่างเดียว คุณของมันก็มีเรียกว่ากามคุณ ถ้ารู้จักใช้ประโยชน์จากมันเสียบ้าง ก็จะดีไม่น้อย แม้พระพุทธเจ้าท่านก็สอนให้คนทำทานและถือศีล แล้วได้เสวยกามสุขในสวรรค์ ถัดจากนั้นจึงสอนให้เห็นโทษของกามเป็นลำดับต่อไป ท่านไม่หักหาญ ห้ามเรื่องกามกับคนที่ยังไม่พร้อม แต่ใช้กามเป็นเหยื่อล่อจิตที่อินทรีย์ยังอ่อนให้ยอมรับธรรม แล้วค่อยแนะนำทางเจริญปัญญาในภายหลัง

เหมือนกับครูบาอาจารย์ที่ท่านฉลาด เอากิเลสมาแก้กิเลส เอาหนามบ่งหนาม คือผมรู้จักพระชาวออสเตรเลียรูปหนึ่ง ท่านเครียดและหงุดหงิดใจอยู่เสมอ เนื่องจากต้องมาอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่คุ้นเคยมากมาย ครูบาอาจารย์จึงออกอุบายอนุญาตให้ท่านเลี้ยงไก่สวยงามนานาชนิด (เลี้ยงแบบไก่ป่า คือทำที่อยู่ให้ตามต้นไม้ ไม่ได้กักขัง ไก่มีความสุขกันมากทีเดียว) เนื่องจากท่านชอบไก่มาก (คลับคล้ายว่าจะเป็นดอกเตอร์เกี่ยวกับไก่ด้วย) พอเห็นไก่แล้ว ท่านจะอารมณ์ดีหายหงุดหงิดได้

ครูบาอาจารย์ท่านฉลาดมาก คือท่านแก้ปฏิฆะด้วยกามราคะ เนื่องจากปฏิฆะที่ต่อเนื่องรุนแรงนั้น แทบจะทำให้พระรูปนี้ทิ้งวัดไป จึงต้องล่อด้วยของที่ชอบใจคือไก่ที่สวยงาม เมื่อพระท่านดูแลไก่นานเข้า ไม่ไปสนใจกับผู้อื่น จิตใจของท่านก็ผ่อนคลาย เกิดความนุ่มนวลอ่อนโยน แล้วจิตใจก็เปลี่ยนจากกาม ไปเป็นความเมตตาต่อไก่อันเป็นกุศลจิต และทำให้ง่ายที่จะปฏิบัติธรรมต่อไป

การทำงานศิลปะ การปลูกต้นไม้ การเลี้ยงสัตว์เลี้ยง การเล่นพระเครื่อง การเล่นแสตมป์ การยิงธนู ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ยังแฝงด้วยราคะ หรือมีโลภมูลจิตอยู่ครับ เพราะทำไปด้วยความชอบใจ แต่โทษของมันเบาบางกว่าโทสะ เพราะพระพุทธเจ้าทรงสอนว่า โทสะมีโทษมาก แต่แก้ง่าย ราคะมีโทษน้อย แต่แก้ยาก ส่วนโมหะมีโทษมาก และแก้ยาก

บางคราว การใช้กิเลสก็เป็นอุบายสู้กิเลส โดยเปลี่ยนจากกิเลสที่มีโทษมาก ให้เป็นกิเลสที่มีโทษน้อยลง (แต่ควรอยู่ภายใต้การควบคุมของครูบาอาจารย์) เช่น แทนที่จะหมกมุ่นกับความน้อยเนื้อต่ำใจเสียใจ คับแค้นใจ กลุ้มใจ อันเป็นโทสะซึ่งมีโทษมาก ก็หันมาทำงานอดิเรกที่ชอบใจ จิตใจก็จะสงบลง หายเร่าร้อน แล้วกลับมาปฏิบัติธรรมก็ทำได้ง่ายขึ้น

หรือบางคราวโมหะครอบจิตจนมืดตื้อแกะไม่ออก ยิ่งนั่งดู ก็ยิ่งแย่ลงเรื่อยๆ ซ้ำโทสะก็จะเริ่มเข้าผสมโรง คือหงุดหงิดใจขึ้นมา โมหะมีโทษมาก โทสะก็มีโทษมาก ผมจึงเคยแนะพวกเราบางคนว่า ให้หยุดการปฏิบัติไว้ก่อนชั่วคราว ไปเปลี่ยนอารมณ์เดินดูสิ่งที่สวยๆ งามๆ ให้สบายใจ แล้วถ้าจิตเกิดราคะ ก็ให้รู้ราคะไป อันนี้ก็เป็นอุบายเอาตัวรอดจากกิเลสที่มีโทษมาก ไปเป็นกิเลสที่โทษน้อย แล้วค่อยพลิกกลับมาเป็นกุศลจิตทีหลัง

อันตรายมันอยู่ตรงที่ พลิกกลับไปเป็นกุศลจิตไม่ได้ นี่แหละครับเรื่องอย่างนี้จึงควรอยู่ในสายตาของครูบาอาจารย์ไว้ สำหรับคนที่ชอบปลูกต้นไม้ก็ปลูกไปเถอะครับ จิตใจที่สบายๆ ร่วมกับการที่เราทำทาน รักษาศีลเจริญภาวนาเป็นนิจ เกิดพลาดพลั้งเป็นอะไรไป ถึงชาตินี้อาจจะไม่รู้ธรรม แต่สุคติก็เป็นที่หวังได้ด้วย

อันที่จริงการหาอุบายแบบหนามยอกเอาหนามบ่ง มีได้หลายแบบครับ เช่น การเข้าไปอยู่ในป่าคนเดียว จิตใจเกิดกิเลสคือความกลัว ตอนนั้นกามราคะจะกระโจนหนีแบบไม่รู้ทางไปทีเดียว

ครูบาอาจารย์บางองค์ นั่งสมาธิแล้วชอบหลับ ท่านก็ไปนั่งริมเหว จิตใจกลัวร่างกายจะตาย ก็เลยไม่ยอมหลับใน ดังนั้น ถ้าจะปฏิบัติด้วยอุบายดูสาว ก็ควรรู้บทเรียนต่อไปที่จะแก้กามราคะด้วยนะครับ

การที่เรามีฐานที่ตั้งของสติยืนพื้นไว้มีประโยชน์มาก เพราะถ้าจิตคลาดไปจากฐานนิดเดียวก็จะรู้ทันเร็ว สิ่งที่ต้องระวังคือ อย่าให้ฐานนั้นกลายเป็นเครื่องจองจำจิตนะครับ คือไม่ได้ทำเพื่อให้จิตหลงจ่อลงที่จุดนั้น จะกลายเป็นสมถะไปทันที แต่ทำเพื่อให้สิ่งนั้นเป็นวิหารธรรม คือเป็นเครื่องรู้ เครื่องอยู่ที่สบายของจิต แล้วเวลากิเลสตัณหาผ่านมา จิตจะรู้ทันได้ไวมากขึ้น

อีกอย่างหนึ่ง การที่เดินรู้เท้าที่กระทบพื้นนั้น ถ้าเห็นว่าจิตมันเบาลง ทุกข์มันน้อยลงไป แล้ว รู้ เท่านั้น ก็คือการเจริญสติสัมปชัญญะอยู่แล้ว เพราะมีปัญญาเห็นความไม่เที่ยงของจิต

แต่ถ้าจิตจดจ่อจมลงในเท้า อันนั้นเป็นสมถะเฉยๆ นะครับ ให้พยายามรู้เท่าทันจิตใจตนเองไปด้วยจะดีกว่า เพราะการเจริญสติสัมปชัญญะนั้น ทำได้ในชีวิตประจำวันครับ ไม่ใช่ว่าในชีวิตประจำวันจะเจริญสติได้อย่างเดียวหรอกครับ

ครูบาอาจารย์ระดับหลวงปู่เทสก์ เวลาญาติโยมเข้าไปกราบท่านคราวละเป็นร้อยเป็นพัน ท่านยังเคยขยับนิ้วไปเรื่อยๆ เป็นเครื่องอยู่เลยครับ ทั้งที่สติสัมปชัญญะของท่านบริบูรณ์แล้ว เราจึงควรมีเครื่องอยู่ เครื่องกระตุ้นสติสัมปชัญญะประจำตัวไว้บ้าง จะช่วยให้จิตใจไม่ห่างไกลธรรม คลุกคลีอยู่กับธรรม และเจริญในธรรมโดยง่าย

ขอเพิ่มเติมเรื่องการถือศีลสักหน่อยครับ คือความรู้สึก หรือทัศนะต่อศีลของชาวบ้านกับผู้ปฏิบัติจะต่างกัน

ชาวบ้านเขาถือว่าศีลคือข้อห้าม ถ้าฝ่าฝืนจะบาป นักปฏิบัติเห็นว่าศีลเป็นเครื่องสบายกายสบายใจ ทำแล้วจิตสงบสบาย

ชาวบ้านจะถือศีล ก็ต้องสมาทานเป็นข้อๆ นักปฏิบัติตั้งใจละอกุศล เจริญกุศลในจิต แล้วเกิดศีลขึ้นมาเอง

ชาวบ้านเห็นว่าศีลทำให้กายและวาจาเรียบร้อย นักปฏิบัติเห็นว่า ใจที่เป็นปกติเรียบร้อย ไม่หลงตามกิเลสคือศีล เมื่อใจเรียบร้อยแล้ว กายวาจาก็เรียบร้อยไปด้วยโดยไม่ต้องควบคุม

ศีลของชาวบ้านจะขาดหรือไม่ ต้องอาศัยการตีความ เช่น จะปาราชิกเพราะเสพเมถุนนั้น อวัยวะต้องล่วงเข้าไปชั่วเมล็ดงาขึ้นไป ฯลฯ ศีลที่ต้องตีความเป็นศีลโลกๆ เหมือนรัฐธรรมนูญที่ต้องตีความกันเรื่องๆ ส่วนศีลเหนือโลกไม่ต้องตีความ เพราะผู้ปฏิบัติที่มีสติสัมปชัญญะย่อมไม่นำตนเข้าสู่ภาวะล่อแหลมต่อการเสียศีล

ความแตกต่างกันนี้เอง ทำให้ชาวบ้านเขาถือศีลได้อย่างกะพร่องกะแพร่ง ส่วนผู้ปฏิบัติที่แท้จริงจะมีศีลโดยไม่ต้องสมาทานและรักษา เพราะสติสัมปชัญญะที่รักษาจิตตนเองนั้นแหละ คือเครื่องทำศีลให้สะอาดบริสุทธิ์ไปในตัว

จิตที่มีสติสัมปชัญญะอยู่อย่างสมบูรณ์ จนเห็นความปรุงแต่งของจิตเกิดขึ้นจัดเป็นมหากุศลจิตครับ มันจะไม่มีความรู้สึกทางเพศหรอกครับ เรื่องนี้เมื่อนานแล้ว มีพระสอนว่าขณะเสพกามก็ให้ดูจิตไปด้วย แล้วผมแสดงความเห็นว่า เป็นไปไม่ได้เลยที่จะทำอย่างนั้น จำได้ว่ามีท่านผู้หนึ่งซึ่งถอนตัวไปจากลานธรรมแล้ว แย้งว่า เป็นไปได้ แต่จนป่านนี้ ผมก็ยังเห็นว่าเป็นไปไม่ได้อยู่ดี เว้นแต่ผู้ชายคนนั้น สามารถเสพกามได้ทั้งที่จิตปราศจากการย้อมของกามราคะ เพราะมหากุศลจิตจากการเจริญสติสัมปชัญญะ กับอกุศลจิตเช่นจิตที่มีกามราคะ มันเกิดพร้อมกันไม่ได้หรอกครับ

จิตที่เป็นกุศลกับอกุศลจะเกิดพร้อมกันไม่ได้ ตัวอย่างเช่น จิตมีอกุศลอยู่ เช่น กำลังหลงเหม่อด้วยอำนาจของโมหะ หรือเผลอเพลินด้วยอำนาจของราคะ แล้วต่อมาเกิดมีสติสัมปชัญญะขึ้นมา จิตที่เป็นอกุศลจะดับทันที เกิดเป็นกุศลจิตในฉับพลัน

ดังนั้น พอรู้ตัวแล้ว ผู้ปฏิบัติจึงไม่ต้องไปพยายามละกิเลส เพราะกิเลสจริงๆ ดับไปแล้ว เหลือแต่ความจำกิเลสได้เท่านั้นเอง ตรงจุดนี้ผู้ปฏิบัติมักจะหลงผิดไปพยายาม "ละ" กิเลส แล้ว "ต่อสู้" กับกิเลสอย่างเอาเป็นเอาตายทีเดียว

ดังนั้น ถ้าเรามีกิเลสอยู่ แล้วเกิดสติสัมปชัญญะรู้ทันว่ามีกิเลส ก็ให้รู้แล้วปล่อยวางเสีย อย่าไปยินร้ายกับกิเลสในอดีตที่ดับไปแล้วนั้น หรือถ้าจิตเกิดความอึดอัดกลัดกลุ้มมากๆ หรือแน่นขึ้นมาเต็มอก ถ้ารู้ด้วยความเป็นกลางไม่ได้ ก็เปลี่ยนอารมณ์เสีย ความรู้สึกอึดอัดเหล่านั้นจะดับไปทันที

เช่น เผลออยู่ (เป็นอกุศลจิต) แล้วเกิดรู้ตัว (เป็นมหากุศลจิต) ว่าเผลอ แล้วเกิดความพยายามดึงความรู้สึกกลับมา ด้วยความหลงผิด (เป็นอกุศลอีกรอบหนึ่ง) ว่าจิตหนีไป ต้องดึงคืนมา หรือพอรู้ตัวว่าเผลอไปแล้ว แทนที่จะยุติอยู่แค่ปัจจุบัน กลับไปห่วงว่า "ทำอย่างไรหนอ เราจะไม่เผลออีกในอนาคต" แล้วก็พยายามควบคุมบังคับจิตตนเอง จนเกิดความรู้สึกแน่นหน้าอก (เป็นวิบากของอกุศลรอบหลัง) ตรงนี้ถ้ารู้ทันด้วยจิตที่เป็นกลาง ความอึดอัดก็จะดับไป แต่ถ้าทำไม่ได้ แค่เปลี่ยนอารมณ์เสียใหม่เช่น หันไปชมนกชมไม้ จิตก็จะโปร่งเบาทันทีเพราะได้ผัสสะที่ชอบใจ ถัดจากนั้นจึงค่อยมาเจริญสติสัมปชัญญะรู้เท่าทันความสุขหรือความพอใจต่อไป

หรืออย่างนักปฏิบัติส่วนมากจะติดสมถะ จิตหลงไปเกาะอารมณ์อันเดียวนิ่งอยู่ พอรู้ตัวว่าหลงไปแล้ว ก็ควรพอใจแค่นั้น เพราะนั่นเป็นการรู้เท่าทันแล้วในปัจจุบัน ไม่ต้องกังวลไปถึงอนาคตว่า "ทำอย่างไรหนอ เราจะไม่หลงเพ่งอีกในอนาคต" ถ้ากังวลและพยายามบังคับจิตไม่ให้หลงใหลไปเกาะอารมณ์นิ่งๆ นั้น จะเกิดอึดอัดทันที ตรงนี้แก้ง่ายมาก แค่หยุดเพ่งเสีย จิตก็หลุดออกมาแล้ว (ความจริงไม่ใช่จิตหลุดออกมา แต่จิตที่เพ่งมันดับไป เกิดจิตที่ไม่เพ่งแทน)

การที่เรารู้เท่าทันกลไกการทำงานของจิตมากๆ นั้น จะช่วยให้การปฏิบัติราบรื่นเข้าทุกที ซึ่งการจะรู้ทันก็อาจทำได้ด้วยการศึกษาปริยัติธรรมบ้าง ด้วยการศึกษาจากครูบาอาจารย์บ้าง แต่ถึงจะรู้ปริยัติหรือฟังครูบาอาจารย์มามากเพียงใด เวลาลงมือปฏิบัติจริงก็มักจะพลิกตำราไม่ทัน จะไม่เหมือนกับความรู้ที่ได้จากประสบการณ์ของตนเอง ที่ยิ่งปฏิบัติก็ยิ่งชัดเจนและเรียบง่ายเข้าทุกทีๆ

ความจริงเมื่อจิตเกิดสติสัมปชัญญะนั้น จะเกิดมหากุศลจิตขึ้นมาทันที อำนาจของการเจริญสติสัมปชัญญะจะทำให้กิเลสทำงานไม่ได้ เมื่อนานเข้า อนุสัย ซึ่งเป็นกิเลสละเอียดที่ซ่อนตัวอยู่ในจิตใต้สำนึกจะอ่อนกำลังลง เพราะมันไม่สามารถเจริญงอกงามเป็นกิเลสหยาบๆ ขึ้นมาได้ (เปรียบเหมือนต้นไม้ที่มีหัวอยู่ใต้ดิน) ถ้าเราคอยตัดยอดทิ้งไปเรื่อยๆ ไม่ให้ปรุงอาหารได้ หัวของมันก็จะค่อยๆ ฝ่อไปเพราะขาดอาหาร)

เมื่อกำลังของสติ สมาธิ และปัญญาแก่รอบจริงๆ แล้ว สติสมาธิและปัญญาจะรวมกำลังกันเข้าเป็นหนึ่ง แล้วขุดคุ้ยเข้าไปทำลายกิเลสละเอียดที่ฝังซ่อนอยู่ในกมลสันดานเอง

โดย พระอาจารย์ปราโมทย์ ปาโมชโช วัดสวนสันติธรรม


ข้อมูลเดิม :
http://www.manager.co.th/Dhamma/View...D=6713&Page=19

คัดลอกจาก
www.phuttawong.net


ผู้ตั้งกระทู้ เกรียงศักดิ์ สกุลคลานุวัฒน์(เบน) (koy8870-at-hotmail-dot-com) กระทู้ตั้งโดยสมาชิก โพสต์และแสดงความเห็นเฉพาะสมาชิกเท่านั้น :: วันที่ลงประกาศ 2011-07-01 01:32:38


Copyright © 2010 All Rights Reserved.