ReadyPlanet.com


เปิดตู้พระไตรปิฎก


user image

 

ความสำคัญของพระไตรปิฎก

ก่อนปรินิพพาน พระพุทธเจ้าได้ตรัสทำนองสั่งเสียกับพระอานนท์ว่า เมื่อพระองค์ปรินิพพานล่วงลับไปแล้ว จะไม่ทรงตั้งภิกษุรูปใดแทนพระองค์ หากแต่ให้ชาวพุทธทั้งหลายยึดพระธรรมวินัยเป็นศาสดาแทนพระองค์ ตามพระพุทธพจน์ว่า "โย โว อานนฺท มยาธมฺโม จ วินโย จ เทสิโต ปญฺญตฺโต โส โว มมจฺจเยน สตฺถา" แปลว่า ดู ก่อน อานนท์ ธรรมและวินัยใดที่เราได้แสดงแล้วและบัญญัติแล้วแก่เธอทั้งหลาย ธรรมและวินัยนั้น เป็นศาสดาของเธอทั้งหลาย โดยกาลที่เราล่วงลับไป

     พระพุทธพจน์ นี้แสดงให้เห็นว่า พระธรรมวินัย ถือเป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า จึงเท่ากับเป็นองค์พระศาสดาและเป็นตัวแทนพระพุทธศาสนา และพระธรรมวินัยทั้งหลายนั้นล้วนได้ประมวลอยู่ใน พระไตรปิฏก ทั้งสิ้น

อาจกล่าวได้ว่า พระไตรปิฏก มีความสำคัญดังนี้ คือ
๑. เป็นที่รวบรวมไว้ซึ่งพระพุทธพจน์ คือคำสั่งของพระพุทธเจ้า
๒. เป็นที่สถิตของพระศาสดาของพุทธศาสนิกชน เราสามารถเฝ้าพระพุทธเจ้า หรือรู้จักพระพุทธเจ้าได้จากพระไตรปิฏก
๓. เป็นแหล่งต้นเดิมหรือแม่บทในพระพุทธศาสนา
๔. เป็นมาตรฐานตรวจสอบคำสอนและข้อปฏิบัติในพระพุทธศาสนา คำสอนและข้อปฏิบัติใดๆ ที่จะถือว่าเป็นคำสอนและข้อปฏิบัติในพระพุทธศาสนาได้ จะต้องสอดคล้องกับพระธรรมวินัยในพระไตรปิฏก
๕. เป็นคัมภีร์ที่ถือเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่เป็นประโยชน์ทางวิชาการ 

**************************** 

 เมื่อท่านเปิดตู้พระไตรปิฎกออก

 
ภาพที่ท่านเห็นคือคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาชุดหนึ่ง 
 
มีจำนวน ๔๕ เล่ม วางเรียงรายกันไปตามลำดับหมายเลขบอกเล่มที่พิมพ์ไว้บนสันปก ตั้งแต่เล่มที่ ๑ เรื่อยไปจนถึงเล่มที่ ๔๕ แบ่งเป็น ๓ หมวด
 
เล่ม ที่ ๑ - ๘ เป็นหมวดที่ ๑ เรียกว่า พระวินัยปิฎก (หมวดพระวินัย)
 
เล่มที่ ๙ - ๓๓ เป็นหมวดที่ ๒ เรียกว่า พระสุตตันตปิฎก (หมวดพระสูตร)
 
เล่มที่ ๓๔ - ๔๕ เป็นหมวดที่ ๓ เรียกว่า พระอภิธรรมปิฎก (หมวดพระอภิธรรม)
 
รวม ๓ หมวดนี้ แหละที่เรียกชื่อรวมว่า พระไตรปิฎก (ไตร แปลว่า ๓ ปิฎก แปลว่า ตระกร้า ในที่นี้หมายถึงหมวด)
 


 
 
พระไตรปิฎก

พระวินัย ปิฏก

คัมภีร์ว่าด้วยระเบียบวินัย

พระสุ ตตันตปิฏก

คัมภีร์ว่าด้วยพระธรรมเทศนาทั่วๆ ไป มีประวัติ และท้องเรื่องประกอบ เน้นความสำคัญในสมาธิ คือการพัฒนาด้านจิตใจ

พระอภิธร รมปิฏก

คัมภีร์ว่าด้วยหลักธรรม และคำอธิบาย ที่เป็นเนื้อหาวิชาการล้วนๆ ไม่มีประวัติและท้องเรื่องประกอบ

 
เนื้อหาโดยสังเขปของพระวินัยปิฎก
 
พระวินัยปิฎก คือประมวลพระพุทธพจน์หมวดพระวินัยที่ว่าด้วยพระพุทธ-บัญญัติเกี่ยวกับระเบียบปฏิบัติ ขนบธรรมเนียมประเพณี วิถีชีวิต และวิธีดำเนินกิจการต่างๆ ของภิกษุสงฆ์และภิกษุณีสงฆ์ แบ่งออกเป็น ๓ หมวด คือ (๑) หมวดวิภังค์ (๒) หมวดขันธกะ (๓) หมวดปริวาร แต่ละหมวดมีเนื้อหาโดยสังเขป ดังนี้
 
๑. หมวดวิภังค์ ว่าด้วยสิกขาบท หรือบทบัญญัติที่มาในพระปาติโมกข์ ซึ่งเรียกว่า อาทิพรหมจริยกาสิกขา แบ่งเป็น ๒ คัมภีร์ คือ (๑) มหาวิภังค์ หรือ ภิกขุวิภังค์ (ภาค ๑ - ๒) ว่าด้วยศีลของภิกษุสงฆ์ (มี ๒๒๗ ข้อ) (๒) ภิกขุนีวิภังค์ ว่าด้วยศีลของภิกษุณีสงฆ์ (มี ๓๑๑ ข้อ)
๒. หมวดขันธกะ ว่าด้วยสังฆกรรม พิธีกรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี ข้อวัตรปฏิบัติ วิถีชีวิต ตลอดจนมารยาทที่ดีงาม เป็นต้น ซึ่งเรียกว่า “อภิสมาจาริกาสิกขา” แบ่งเป็น ๒ คัมภีร์ คือ (๑) มหาวรรค (๒) จูฬวรรค (จุลวรรค)

มหาวรรค มี ๒ ภาค แบ่งเนื้อหาออกเป็น ๑๐ ขันธกะ (ตอน) คือ (๑) มหาขันธกะ ตอนว่าด้วยเรื่องสำคัญ จำนวน ๖๗ หัวข้อ (๒) อุโปสถขันธกะ ตอนว่าด้วยอุโบสถ จำนวน ๓๙ หัวข้อ (๓) วัสสูปนายิกขันธกะ ตอนว่าด้วยวันเข้าพรรษา จำนวน ๑๓ หัวข้อ (๔) ปวารณาขันธกะ ตอนว่าด้วยปวารณา จำนวน ๒๗ หัวข้อ (๕) จัมมขันธกะ ตอนว่าด้วยหนัง จำนวน ๑๓ หัวข้อ (๖) เภสัชชขันธกะ ตอนว่าด้วยยารักษาโรค จำนวน ๒๗ หัวข้อ (๗) กฐินขันธกะ ตอนว่าด้วยกฐิน จำนวน ๑๕ หัวข้อ (๘) จีวรขันธกะ ตอนว่าด้วยจีวร จำนวน ๓๒ หัวข้อ (๙) จัมเปยยขันธกะ ตอนว่าด้วยภิกษุชาวกรุงจัมปา จำนวน ๓๗ หัวข้อ (๑๐) โกสัมพิก-ขันธกะ ตอนว่าด้วยภิกษุชาวกรุงโกสัมพี จำนวน ๑๐ หัวข้อ

จูฬวรรค (จุลวรรค) มี ๒ ภาค แบ่งเนื้อหาออกเป็น ๑๒ ขันธกะ (ตอน) คือ (๑) กัมมขันธกะ ตอนว่าด้วยนิคคหกรรม (การลงโทษ) จำนวน ๕ หัวข้อ (๒) ปาริวาสิกขันธกะ ตอนว่าด้วยระเบียบปฏิบัติเกี่ยวกับปริวาส จำนวน ๕ หัวข้อ (๓) สมุจจยขันธกะ ตอนว่าด้วยประมวลวิธีการออกจากอาบัติสังฆาทิเสส จำนวน ๑๑ หัวข้อ (๔) สมถขันธกะ ตอนว่าด้วยวิธีระงับอธิกรณ์ จำนวน ๙ หัวข้อ (๕) ขุททกวัตถุขันธกะ ตอนว่าด้วยเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ จำนวน ๒ หัวข้อ (๖) เสนาสนขันธกะ ตอนว่าด้วยเสนาสนะ จำนวน ๒๗ หัวข้อ (๗) สังฆเภทขันธกะ ตอนว่าด้วยเรื่องสงฆ์แตกกัน จำนวน ๑๒ หัวข้อ (๘) วัตตักขันธกะ ตอนว่าด้วยวัตร จำนวน ๑๕ หัวข้อ (๙) ปาติโมกขัฎฐปนขันธกะ ตอนว่าด้วยการงดพระปาติโมกข์ จำนวน ๑๑ หัวข้อ (๑๐) ภิกขุนีขันธกะ ตอนว่าด้วยเรื่องของภิกษุณี จำนวน ๓ หัวข้อ (๑๑) ปัญจสติกขันธกะ ตอนว่าด้วยพระอรหันต์ ๕๐๐ รูป ทำสังคายนา จำนวน ๔ หัวข้อ (๑๒) สัตตสติกขันธกะ ตอนว่าด้วยพระอรหันต์ ๗๐๐ รูป ทำสังคายนา ตั้งหัวข้อเป็นภาณวาร จำนวน ๒ ภาณวาร
๓. หมวดปริวาร ว่าด้วยข้อสรุปพระวินัยปิฎกทั้งหมดเป็นแบบถาม - ตอบ ได้แก่ คัมภีร์ปริวาร ซึ่งเป็นคัมภีร์สุดท้ายของพระวินัยปิฎก จัดเป็นคัมภีร์ประกอบหรือคู่มือศึกษาพระวินัยตั้งแต่เล่มที่ ๑ - ๗ มีเนื้อหาสำคัญจำนวน ๒๑ หัวข้อ
 
 
 
เนื้อหาโดยสังเขปของพระสุตตันตปิฎก
 

พระสุตตันตปิฎก คือประมวลพระพุทธพจน์หมวดพระสูตรที่ว่าด้วยพระธรรมเทศนาหรือธรรมบรรยายต่าง ๆ ที่ตรัสยักเยื้องให้เหมาะสมกับบุคคล เหตุการณ์ และโอกาส ตลอดจนบทประพันธ์ เรื่องเล่า และเรื่องราวทั้งหลายที่เป็นชั้นเดิมในพระพุทธศาสนา ซึ่งอยู่ในรูปแบบหรือองค์ต่าง ๆ (มี ๙ องค์ ที่เรียกว่า “นวังคสัตถุศาสน์” เช่น สุตตะ เคยยะ) รวมถึงพระธรรมเทศนาหรือธรรมบรรยายของพระสาวกพระสาวิกาที่กล่าวตามแนวพระพุทธพจน์ในบริบทต่าง ๆ ด้วย
พระสุตตันตปิฎกแบ่งออกเป็น ๕ หมวด เรียกว่า นิกาย คือ (๑) ทีฆนิกาย (หมวดยาว) (๒) มัชฌิมนิกาย (หมวดปานกลาง) (๓) สังยุตตนิกาย (หมวดประมวลเนื้อหา) (๔) อังคุตตรนิกาย (หมวดยิ่งด้วยองค์) (๕) ขุททกนิกาย (หมวดเล็กน้อย) การจัดแบ่งพระสูตรเป็น ๕ นิกายนี้ ถ้าพิจารณาเนื้อหาโดยรวมของแต่ละนิกาย

จะพบว่าท่านอาศัยหลักเกณฑ์ดังนี้
๑. แบ่งตามความยาวของพระสูตร คือรวบรวมพระสูตรที่มีความยาวมากไว้เป็นหมวดหนึ่ง เรียกว่า ทีฆนิกาย รวบรวมพระสูตรที่มีความยาวปานกลางไว้เป็นหมวดหนึ่ง เรียกว่า มัชฌิมนิกาย ส่วนพระสูตรที่มีขนาดความยาวน้อยกว่านั้น แยกไปจัดแบ่งไว้ในหมวดอื่นและด้วยวิธีอื่นดังจะกล่าวในข้อ ๒ ข้อ ๓ และข้อ ๔ ตามลำดับ
๒. แบ่งตามเนื้อหาสาระของพระสูตร คือประมวลพระสูตรที่มีเนื้อหาสาระประเภทเดียวกัน จัดไว้เป็นหมวดเดียวกัน เรียกว่า สังยุตตนิกาย (หมวดประมวลเนื้อหาสาระ) เช่นประมวลเรื่องที่เกี่ยวกับพระมหากัสสปเถระเข้าไว้เป็นหมวดเดียวกัน เรียกว่า กัสสปสังยุต
๓. แบ่งตามลำดับจำนวนองค์ธรรมหรือหัวข้อธรรม คือรวบรวมพระสูตรที่มีหัวข้อธรรมเท่ากันเข้าไว้เป็นหมวดเดียวกัน เรียกว่า อังคุตตรนิกาย (หมวดยิ่งด้วยองค์) และมีชื่อกำกับหมวดย่อยว่า นิบาต มี ๑๑ นิบาต คือหมวดพระสูตรที่มีหัวข้อธรรม ๑ ข้อ เรียกว่า เอกกนิบาต ที่มี ๒ ข้อ เรียกว่า ทุกนิบาต ที่มี ๓ ข้อ เรียกว่าติกนิบาต ที่มี ๔ ข้อ เรียกว่า จตุกกนิบาต ที่มี ๕ ข้อ เรียกว่า ปัญจกนิบาต ที่มี ๖ ข้อ เรียกว่า ฉักกนิบาต ที่มี ๗ ข้อ เรียกว่า สัตตกนิบาต ที่มี ๘ ข้อ เรียกว่า อัฏฐกนิบาต ที่มี ๙ ข้อ เรียกว่า นวกนิบาต ที่มี ๑๐ ข้อ เรียกว่า ทสกนิบาต และที่มี ๑๑ ข้อ เรียกว่า เอกาทสกนิบาต
๔.จัดแยกพระสูตรที่ไม่เข้าเกณฑ์ทั้ง ๓ ข้างต้นไว้เป็นหมวดเดียวกัน เรียกว่า ขุททกนิกาย (หมวดเล็กน้อย) แบ่งตามหัวข้อใหญ่เป็น ๑๕ เรื่อง คือ (๑) ขุททกปาฐะ (๒) ธัมมปทะ (ธรรมบท) (๓) อุทาน (๔) อิติวุตตกะ (๕) สุตตนิบาต (๖) วิมานวัตถุ (๗) เปตวัตถุ (๘) เถรคาถา (๙) เถรีคาถา (๑๐) ชาตกะ (๑๑) นิทเทส (มหานิทเทสและจูฬนิทเทส) (๑๒) ปฏิสัมภิทามรรค (๑๓) อปทาน (๑๔) พุทธวังสะ (พุทธวงศ์) (๑๕) จริยาปิฎก 
 

เนื้อหาโดยสังเขปของพระอภิธรรมปิฎก


พระอภิธรรมปิฎก คือประมวลพระพุทธพจน์หมวดพระอภิธรรมที่ว่าด้วยปรมัตถธรรมหรือปรมัตถสัจ คือ จิต เจตสิก รูป และนิพพาน รวมทั้งปุคคลบัญญัติซึ่งเป็นสมมติสัจ โดยประมวลเป็นหลักวิชาล้วน ๆ ไม่เกี่ยวข้องกับบุคคล เหตุการณ์ และสถานที่ แบ่งเป็น ๗ คัมภีร์ คือ (๑) ธัมมสังคณี (๒) วิภังค์ (๓) ธาตุกถา (๔) ปุคคลบัญญัติ (๕) กถาวัตถุ (๖) ยมก (๗) ปัฏฐาน แต่ละคัมภีร์มีเนื้อหาโดยสังเขป ดังนี้

๑. ธัมมสังคณี (บางแห่งใช้สั้น ๆ ว่า สังคณี ก็มี) ว่าด้วยการจัดสรรสภาวธรรมเข้าเป็นหมวดแม่บท เรียกว่า มาติกา แล้วนำไปจำแนกโดยพิสดารพอสมควร สภาวธรรมแม่บท หรือมาติกา นั้นมี ๓ นัย ๒ นัยแรกจัดสรรตามนัยพระอภิธรรม นัยที่ ๓ จัดสรรตามนัยพระสูตร (เรียกว่า สุตตันติกทุกมาติกา)
มาติกาตามนัยพระอภิธรรมนัยที่ ๑ เรียกว่า ติกมาติกา คือหมวดสภาวธรรมแม่บทหมวดละ ๓ บท มี ๒๒ หมวด จำนวน ๖๖ บท เช่น บทที่ ๑ สภาวธรรมที่เป็นกุศล (กุสลา ธมฺมา) บทที่ ๒ สภาวธรรมที่เป็นอกุศล (อกุสลา ธมฺมา) และบทที่ ๓ สภาวธรรมที่เป็นอัพยากฤต (อพฺยากตา ธมฺมา) ทั้ง ๓ บทนี้รวมเป็นหมวดเดียวกัน เรียกว่า หมวดกุสลติกะ
มาติกาตามนัยพระอภิธรรมนัยที่ ๒ เรียกว่า ทุกมาติกา คือหมวดสภาวธรรมแม่บทหมวดละ ๒ บท มี ๑๐๐ หมวด ๒๐๐ บท เช่น บทที่ ๑ สภาวธรรมที่เป็นเหตุ (เหตูธมฺมา) และบทที่ ๒ สภาวธรรมที่ไม่เป็นเหตุ (น เหตู ธมฺมา) รวม ๒ บท เป็นหมวดเดียวกัน เรียกว่า หมวดเหตุทุกะ
สุตตันติกทุกมาติกา คือการนำหมวดสภาวธรรมแม่บทที่เป็นทุกมาติกาจำนวน ๔๒ หมวดไปแสดงตามนัยพระสูตร เช่น วิชชาภาคีทุกะ คือหมวดที่ว่าด้วยธรรมที่มีส่วนแห่งวิชชา (วิชฺชาภาคิโน ธมฺมา) และธรรมที่มีส่วนแห่งอวิชชา (อวิชชาภาคิโน ธมฺมา)
การจำแนกมาติกาดังกล่าวแบ่งเป็น ๔ กัณฑ์ (ตอน) คือ (๑) จิตตุปปาทกัณฑ์ ตอนที่แสดงเรื่องจิตและเจตสิก (๒) รูปกัณฑ์ ตอนที่แสดงเรื่องรูป (๓) นิกเขปกัณฑ์ ตอนที่แสดงทั้งติกมาติกาและทุกมาติการวมกันด้วยวิธีการที่ไม่ย่อและไม่ละเอียดเกินไป (๔) อัฏฐกถากัณฑ์ ตอนที่แสดงเพื่อเก็บองค์ธรรมของมาติกา ตามนัยพระอภิธรรมทั้ง ๒ นัย

๒. วิภังค์ ว่าด้วยการจำแนกมาติกาในคัมภีร์ธัมมสังคณี ทั้งติกมาติกา ๒๒ หมวดและทุกมาติกา ๑๐๐ หมวด โดยพิสดาร แบ่งเป็น ๑๘ วิภังค์ เช่น (๑) ขันธวิภังค์ จำแนกขันธ์ (๒) อายตนวิภังค์ จำแนกอายตนะ (๓) ธาตุวิภังค์ จำแนกธาตุ (๔) สัจจวิภังค์ จำแนกสัจจะ (๕) อินทริยวิภังค์ จำแนกอินทรีย์ (๖) ปฏิจจสมุปปาทวิภังค์ จำแนกปฏิจจสมุปบาท (๗) สติปัฏฐานวิภังค์ จำแนกสติปัฏฐาน

๓. ธาตุกถา ว่าด้วยคำอธิบายเรื่องขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ และธาตุ ๑๘ โดยนำมาติกาของคัมภีร์นี้จำนวน ๑๐๕ บท และมาติกาจากคัมภีร์ธัมมสังคณีจำนวน ๒๖๖ บท (ติกมาติกา ๖๖ บท ของ ๒๒ หมวด และทุกมาติกา ๒๐๐ บท ของ ๑๐๐ หมวด) มาแสดงด้วยนัยต่าง ๆ (จำนวน ๑๔ นัย) เพื่อหาคำตอบว่าสภาวธรรมบทนั้น ๆ สงเคราะห์เข้าได้กับขันธ์เท่าไร เข้าได้กับอายตนะเท่าไร และเข้าได้กับธาตุเท่าไร เข้าไม่ได้กับขันธ์เท่าไร เข้าไม่ได้กับอายตนะเท่าไร และเข้าไม่ได้กับธาตุเท่าไร

๔. ปุคคลบัญญัติ ว่าด้วยการบัญญัติ (การประกาศ แสดง หรือชี้แจง) ในเรื่อง ๖ เรื่อง คือ (๑) ขันธบัญญัติ การบัญญัติเรื่องขันธ์ (๒) อายตนบัญญัติ การบัญญัติเรื่องอายตนะ (๓) ธาตุบัญญัติ การบัญญัติเรื่องธาตุ (๔) สัจจบัญญัติ การบัญญัติเรื่องสัจจะ (๕) อินทริยบัญญัติ การบัญญัติเรื่องอินทรีย์ (บัญญัติทั้ง ๕ เรื่องนี้เป็นปรมัตถสัจ ท่านแสดงไว้เฉพาะในภาคอุทเทสเท่านั้น ไม่นำไปจำแนกรายละเอียดในภาคนิทเทส) (๖) ปุคคลบัญญัติ การบัญญัติเรื่องบุคคล ซึ่งเป็นสมมติสัจ ท่านแสดงไว้ทั้งในภาคอุทเทสและภาคนิทเทส

๕. กถาวัตถุ ว่าด้วยการโต้วาทะเพื่อชี้แจงแสดงเหตุผลให้เห็นว่า วาทกถา (คำแสดงลัทธิ) ของฝ่ายปรวาที (พวกภิกษุในนิกายที่แตกไปจากเถรวาท ในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช) จำนวน ๒๒๖ กถา ล้วนผิดพลาดคลาดเคลื่อนจาก พระพุทธพจน์ดั้งเดิมที่ภิกษุฝ่ายเถรวาทยึดถือปฏิบัติอยู่ วิธีการโต้วาทะใช้หลักตรรกศาสตร์ที่น่าสนใจมาก นับเป็นพุทธตรรกศาสตร์ที่สมบูรณ์แบบที่สุด และมีในที่นี้เท่านั้น

๖. ยมก ว่าด้วยการปุจฉา - วิสัชนา สภาวธรรม ๑๐ หมวด ด้วยวิธีการ ยมก คือการถาม - ตอบ เป็นคู่ ๆ ซึ่งเป็นวิธีการเฉพาะของคัมภีร์ยมก สภาวธรรม ๑๐ หมวด ได้แก่ (๑) หมวดมูล (สภาวธรรมที่เป็นเหตุ) (๒) หมวดขันธ์ (๓) หมวดอายตนะ (๔) หมวดธาตุ (๕) หมวดสัจจะ (๖) หมวดสังขาร (๗) หมวดอนุสัย (๘) หมวดจิต (๙) หมวดสภาวธรรมในกุสลติกะ เรียกสั้น ๆ ว่าหมวดธรรม (๑๐) หมวดอินทรีย์ สภาวธรรม ๑๐ หมวดนี้ ทำให้แบ่งเนื้อหาของคัมภีร์ยมกออกเป็น ๑๐ ยมก เรียกชื่อตามหมวดสภาวธรรมที่เป็นเนื้อหา คือ (๑) มูลยมก (๒) ขันธยมก (๓) อายตนยมก (๔) ธาตุยมก (๕) สัจจยมก (๖) สังขารยมก (๗) อนุสยยมก (๘) จิตตยมก (๙) ธัมมยมก (๑๐) อินทริยยมก แบ่งออกเป็น ๒ ภาค ภาค ๑ ว่าด้วย ยมกที่ ๑ - ๗ ภาค ๒ ว่าด้วยยมกที่ ๘ - ๑๐ วิธีการยมก ซึ่งเป็นการถาม - ตอบ เป็นคู่ ๆ นั้น ประกอบด้วยการถาม - ตอบ ๒ แบบ คือ (๑) อนุโลมปุจฉา(ถามตามลำดับ) และวิสัชนา (๒) ปฏิโลมปุจฉา (ถามย้อนกลับ) และวิสัชนา เช่นอนุโลมปุจฉา : สภาวธรรมเหล่าใดเป็นกุศล สภาวธรรมเหล่านั้นทั้งหมดเป็นกุศลมูลใช่ไหม วิสัชนา : กุศลมูลมี ๓ อย่างเท่านั้น (คือ อโลภะ อโทสะ และอโมหะ) สภาวธรรมที่เหลือ (เช่น ผัสสะ) เป็นกุศล แต่ไม่เป็นกุศล มูล ปฏิโลมปุจฉา : สภาวธรรมเหล่าใดเป็นกุศลมูล สภาวธรรมเหล่านั้นทั้งหมดเป็นกุศลใช่ไหม วิสัชนา : ใช่

๗. ปัฏฐาน ว่าด้วยการจำแนกสภาวธรรมแม่บทหรือมาติกา ทั้ง ๑๒๒ หมวด ๒๖๖ บท ของคัมภีร์ธัมมสังคณี ด้วยปัจจัย ๒๔ ชนิด มีเหตุปัจจัย เป็นต้น ตามวิธีการของปัฏฐานโดยเฉพาะ (ประกอบด้วยนัยและวาระต่าง ๆ มีรายละเอียดมาก) เพื่อแสดงความเป็นปัจจัยอาศัยกันของมาติกาแต่ละบท ซึ่งเกิดขึ้นด้วยอำนาจปัจจัยแต่ละชนิด เนื้อหาของปัฏฐานแบ่งออกเป็น ๒๔ ปัฏฐาน แบ่งเป็นภาคได้ ๖ ภาค (ภาคละ ๑ เล่ม) ดังนี้ ภาคที่ ๑ ว่าด้วยอารัมภกถาและปัฏฐานที่ ๑ (ตอนต้น) ภาคที่ ๒ ว่าด้วยปัฏฐานที่ ๑ (ตอนปลาย) ภาคที่ ๓ - ๔ ว่าด้วยปัฏฐานที่ ๒ ภาคที่ ๕ ว่าด้วย ปัฏฐานที่ ๓ - ๖ และภาคที่ ๖ ว่าด้วยปัฏฐานที่ ๗ - ๒๔ (ดูรายละเอียดในบทนำของพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่มที่ ๔๐) ความส่งท้าย

เนื้อหาโดยสังเขปของพระไตรปิฎกที่แนะนำมาข้างต้นนั้น เป็นเพียงความรู้เบื้องต้นก่อนเปิดอ่านในเล่มแต่ละปิฎก ถ้าท่านมีพระไตรปิฎกภาษาไทยฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยอยู่ข้างหน้าท่าน ขอให้เปิดอ่านบทนำของแต่ละเล่ม แต่ละปิฎก ก็จะได้ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับพระไตรปิฎกกว้างขวางกว่าที่แนะนำมาแล้วอีกมาก อย่างไรก็ตาม ในหนังสือที่อยู่ในมือของท่านขณะนี้ยังมีบทความอื่น ๆ แนะนำความรู้ในส่วนลึกและรายละเอียดของแต่ละเล่มแต่ละปิฎกอีกหลายเรื่อง ขอเชิญเปิดไปอ่านให้ทั่วถ้วนเถิด แล้วท่านจะได้ความรู้เรื่องพระไตรปิฎกกว้างขวางยิ่งขึ้นก่อนจะเปิดอ่านพระไตรปิฎกแต่ละเล่มต่อไป

กล่าวโดยสรุป พระพุทธพจน์ทั้งหมด ท่านจัดแบ่งเป็นปิฎกไว้ ๓ ปิฎก คือ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก และพระอภิธรรมปิฎก จัดแบ่งเป็นองค์ไว้ ๙ องค์ คือ สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาตกะ อัพภูตธรรม และเวทัลละ และจัดแบ่งเป็นธรรมขันธ์ไว้ ๘๔,๐๐๐ ธรรมขันธ์ จึงเป็นหน้าที่ของชาวพุทธทุกคนที่จะต้องศึกษาพระไตรปิฎกให้เข้าใจแล้วนำไปปฏิบัติเพื่อประโยชน์ตน และธำรงรักษาพระธรรมวินัยในพระไตรปิฎกนี้ไว้ให้ยืนนานสืบไป

ขอให้เปิดตู้พระไตรปิฎกออกอ่านบ่อย ๆ เถิด จะได้ไม่ขัดสนความรู้

ดังคำพังเพยที่ว่า มีความรู้อยู่ในสมุดสุดขัดสน อนุโมทนาสาธุการครับ

ที่มา : http://watmai.atspace.com/tipitaka3.htm 

http://doolawwdee.com/index.php/2010-07-29-22-29-29/35/59



ผู้ตั้งกระทู้ โฆษิต ควรหาเวช (kosit-dot-koanhavej-at-nectec-dot-or-dot-th) กระทู้ตั้งโดยสมาชิก โพสต์และแสดงความเห็นเฉพาะสมาชิกเท่านั้น :: วันที่ลงประกาศ 2011-08-13 23:04:53


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (1563715)

 โมทนาครับ  พี่โฆษิต

ผู้แสดงความคิดเห็น คมกริช นามมงคุณ (เบลล์) (komkom-dot-ko-at-hotmail-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-08-14 01:18:43


ความคิดเห็นที่ 2 (1563770)

ขออนุโมทนา

ด้วยค่ะ พี่โฆษิต สาธุ สาธุ สาธุ

ผู้แสดงความคิดเห็น นิพาดา กะตะศิลา (tee-ged-at-hotmail-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-08-14 14:57:06


ความคิดเห็นที่ 3 (1563805)

 

 

 

 ณัชชาขออนุโมทนากับคุณโฆษิต และทุกๆท่านด้วยนะคะ สาธุ สาธุ สาธุ

ผู้แสดงความคิดเห็น ณัชชา พรหมทองแก้ว (hun_ny18-at-hotmail-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-08-14 21:12:55


ความคิดเห็นที่ 4 (1563846)
image

*************************************

การสังคายนาพระพุทธศาสนาทำให้เกิดพระไตรปิฎก

การสังคายนา หมายถึง การประชุมตรวจชำระสอบทานและจัดหมวด หมู่คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า วางลงเป็นแบบแผนอันหนึ่งอันเดียวกัน การสังคายนาพระพุทธศาสนา ครั้ง ที่ ๑ ถึง ครั้งที่ ๕ มีความเป็นมาดังนี้          

 

  สถานการณ์พระพุทธศาสนาบางอย่าง มีความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ก่อนพุทธปรินิพพาน ซึ่งตอนปลายพุทธสมัยมีเหตุการณ์ที่น่าสนใจหลายประการเช่น
          พระมหาเถรผู้ใหญ่อย่าง พระสารีบุตรเถระ พระโมคคัลลานะเถระ เป็นต้น ได้นิพพานไปก่อนการปรินิพพานของพระพุทธเจ้าทำให้โฉมหน้าพระพุทธศาสนาเปลี่ยนแปลงไป เพราะตามหลักฐานในจาตุมสูตร พระพุทธเจ้าทรงยกย่องพระอัครสาวกทั้งสองว่า อยู่ในฐานะที่จะบริหารคณะสงฆ์เสมอด้วยประองค์ หากพระอัครสาวกทั้งสองไม่นิพพานไปก่อนระบบการปกครองอาจจะเป็นแบบของศาสนาคริสต์ก็ได้
          เมื่อพระอัครสาวกทั้นสองนิพพานไปแล้วพระมหาเถระรูปอื่นไม่รับยกบ่องในฐานะดังกล่าว รูปการปกครองพระพุทธศาสนาจึงต้องให้พระสงฆ์ยึดถือพระธรรมวินัยที่พระองค์ทรงบัญญัติแสดงแล้ว เป็นศาสดาแทนพระองค์อย่างที่เป็นอยู่

          ฝ่ายคฤหัสถ์ที่มีบทบาทสำคัญในการอุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนา เช่น พระเจ้าพิมพิสาร พระเจ้าปเสนทิโกศล พระเจ้าสุทโธทนะได้สวรรคตและนิพพานไปก่อนไม่นานนัก ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีนางอุตราอุบาสิกาเป็นต้น ก็ได้สิ้นชีวิตไปก่อนพระพุทธเจ้าทำให้ผู้อุปถัมภ์พระพุทธศาสนาขาดไปหลายท่าน

          พระพุทธศาสนาได้เผยแพร่ออกไปไกลมาก ทำให้การติดต่อสอบทามความรู้ความเข้าใจในพระธรรมวินัยไม่สะดวกเท่าที่ควร ทั้งคนที่เข้ามาบวชก็มีเจตนาแตกต่างกัน ทำให้เรื่องเสื่อมเสียบางอย่างเกิดขึ้นและมีคนบางพวกที่ต้องการเป็นพระ แต่ไม่ยินดีที่จะปฏิบัติตามพระธรรมวินัย คนเหลานั้นได้แสดงความคิดเห็นของตนออกมาในโอกาส ต่าง ๆ แต่ความแตกแยกอย่างรุนแรงคงไม่เกิดขึ้นหรือถึงแม้จะเกิดขึ้นก็สามารถระงับลงไปได้ ทั้งนี้มิได้หมายความว่า คนพวกนี้จะหมดไปก็หาไม่ เป็นเพียงสงบอยู่ชั่วคราวเท่านั้นเอง

          พระเถระทั้งหลายในสมัยพุทธกาลและหลังพุทธกาล มีความรับผิดชอบต่อพระพุทธศาสนาสูง ได้พยายามรักษาป้องกันพระธรรมวินัยไว้ด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่นพระจุนทเถระ ปรารภการนิรวาณของท่านมหาวีระจนสาวกแตกแยกกันเป็นสองฝ่าย ได้เสนอให้มีการสังคายนาพระธรรมวินัยจนพระสารีบุตรเถระ ได้รับพุทธานุมัติให้จัดทำ แต่ทำไม่สำเร็จเพราะท่านนิพพานเสียก่อน

          หลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพานเพียง ๗ วัน คนที่ต้องการเป็นพระในพระพุทธศาสนา แต่ไม่ยินดีปฏิบัติตามพระธรรมวินัยก็แสดงตัวออกมา จนเป็นเหตุนำไปสู่สังคายนาครั้งที่ ๑ 
 


 

การสังคายยานาครั้งที่ ๑
หลังพุทธปรินิพาน ๓ เดือน
ณ ถ้ำสัตตบรรณคูหา ภูเขาเวภารบรรพต
เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ

          การสังคายนาครั้งที่ ๑ ปรารภเรื่องสุภัททภิกษุผู้บวชเมื่อแก่ได้กล่าวจ้วงจาบพระธรรมวินัย และปรารถที่จะทำให้พระธรรมรุ่งเรืองอยู่สืบไปพระอรหันต์ ๕๐๐ รูปมีพระมหากัสสปะเป็นประธานและเป็นผู้ถามพระอุบาลีเป็นผู้วิสัชนาพระวินัย พระอานนท์เป็นผู้วิสัชนา พระธรรมประชุมสังคายนาที่ถ้ำสัตตบรรณคูหา ภูเขาภารบรรพต เมืองราชคฤห์แคว้นมคธ เมื่อหลังพุทธปรินิพพาน ๓ เดือน โดยพระเจ้าอชาตศัตรูเป็นศาสนูปถัมภก์ สิ้นเวลา ๗ เดือนจึงเสร็จ

          เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานผ่านไปได้ ๗ วัน พระมหากัสสปะเถระพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ ๕๐๐ รูป ได้ทราบจากปริพาชกท่านหนึ่งว่า พระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานได้ ๗ วันแล้ว ขณะที่ท่านและภิกษุสงฆ์ทั้งหลายเดินทางจากเมืองปาวาใกล้มาถึงนครกุสินารา ภิกษุทั้งหลายเมื่อได้ทราบข่าวต่างก็แสดงตัวออกมาแตกต่างกันคือ

          ท่านที่เป็นพระอริยบุคคล มีสติอดกลั้นด้วยคิดว่า สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง คนจะได้สิ่งที่เที่ยงจากสังขารทั้งหลายแต่ที่ได้ ฝ่ายท่านที่ยังมีราคะ โทสะ โมหะ อยู่ได้แสดงความเศร้าโศกเพราะปิยวิปโยคอย่างหนักว่า

          "พระผู้มีพระภาคเจ้าปรินิพพานเร็วนัก พระสุคตเสด็จปรินิพพานเร็วนัก จักษุแห่งโลกหายไปจากโลกเร็วนัก"

          ในขณะที่พระอริยบุคคลทั้งหลายได้แสดงความจริงแห่งสังขารเพื่อให้ภิกษุเหล่าวนั้นยอมรับตามพระพุทธดำรัสความว่า
          "ท่านทั้งหลายอย่าเศร้าโศกร่ำไรไปเลย พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไว้ก่อนแล้วมิใช่หรือว่า ความเป็นต่าง ๆ ความเว้น ความเป็นอย่างอื่นจากสัตว์และสังขารที่รักที่ชอบใจทั้งปวง ย่อมไม่อาจจะหาสิ่งที่เที่ยงจากสังขารทั่งหลาย สิ่งใดเกิดมาแล้มีแล้ว อันปัจจัยปรุงแต่งแล้ว ต้องมีความแตกสลายไปเป็นธรรมดา การที่เราจะปรารถนาว่า ขอสิ่งนั้นอย่าสลายเลย ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้"

          เวลานั้นมีภิกษุรูปหนึ่งบวชเมื่อแก่ ชื่อสภัททะ มีจิตดื้อด้านด้วยสันดานพาลชน เป็นอลัชชีมืดมนย่อหย่อนในพระธรรมวินัยกลับกล่าวขึ้นว่า

          "พวกเราพ้นจากมหาสมณะนั้นด้วยดีแล้ว เพราะเมื่อก่อนท่านได้เบียดเบียนเรา ด้วยการตักเตือนว่า นี่ควร นี่ไม่ควร สำหรับพวกเธอทั้งหลาย บัดนี้พวกเราสบายแล้ว พวกเราต้องการทำสิ่งใดก็ทำสิ่งน้นไม่ต้องการทำสิ่งใดก็ไม่ทำสิ่งนั้น"

          คำพูดของสุภัททภิกษุถือว่าเป็นการกล่าวจ้วงจาบขาดความเคารพต่อพระธรรมวินัย ทั้ง ๆ ที่ตนเองเป็นพุทธสาวก เสมือนผู้แสดงตนเป้นขบถต่อพระพุทธศาสนา แต่เนื่องจากเป็นเวลาที่ใกล้ถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ พระมหากัสสปะจึงไม่ได้กล่าวอะไรในขณะนั้น

          หลังจากถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระแล้ว พระมหากัสสปะเถระจึงนำเรื่องนี้เข้าที่ประชุมสงฆ์ พร้อมกับเสนอให้มีการสังคายนาพระธรรมวินัยโดยให้เหตุผลว่าถ้าปล่อยนานไป "สิ่งที่ไม่ใช่ธรรมไม่ใช่วินัยจักเจริญ สิ่งที่เป็นธรรมเป็นวินัยจะเสื่อมถอย พวกอธรรมวาที อวินัยวาทีได้พวกแล้วจักเจริญ ฝ่ายธรรมวาทีวินัยวาทีจะเสื่อมถอย"

          นอกจากนี้พระมหากัสสปะเถระยังมีเหตุผลส่วนตัวท่าน ที่จะต้องพิทักษ์ศาสนธรรมอันเป็นตัวแทนของพระศาสดาไว้ คือท่านได้รับยกย่องจากพระพุทธเจ้าว่า มีธรรมเครื่องอยู่เสมอด้วยพระองค์ และทรงเปลี่ยนผ้าสังฆาฏิของพระองค์กับท่าน อันเปรียบเหมือนพระเจ้าจักพรรดิทรงเปลื้องเกราะมอบให้แก่เชฏฐโอรส เพื่อเป็นเครื่องหมายว่าพระราชโอรสจะเป็นผู้รับผิดชอบราชการแผ่นดินต่อไป หลังจากพระองค์สวรรคตไปแล้วฐานะที่ทรงยกย่องพระมหากัสสปะเถระทั้ง ๒ นี้ไม่เคยยกย่องพระสาวกรูปอื่นเลย

          ในที่สุดมติที่ประชุมของเถระทั้งหลายในคราวนั้น กำหนดให้มีการสังคายนาพระธรรมวินัย โดยใช้การสงฆ์ (สงฆ์ผู้กระทำ) ๕๐๐ รูปเป็นพระอรหันต์ล้วน ๆ เพื่อประกอบกันเป็นสังคีติกาจารย์ และกำหนดให้ทำสังคายนาที่สัตตบรรณคูหา ข้างเวภารบรรพต กรุงราชคฤห์เมื่อพระมหากัสสปะเถระเลือกพระอรหันต์ทั้งหลายอยู่นั้น เลือกไปได้ครบ ๔๙๙ รูป ก็เกิดปัญหาคือสังคายนาครั้งนี้จะขาดพระอานนท์เถระไม่ได้ เพราะท่านทรงจะพระธรรมวินัยได้ทั้งหมด แต่ถ้จะเลือกท่านเข้าร่วมด้วยผิดมติที่ประชุมเพราะท่านยังเป็นพระโสดาบันอยู่ ในที่สุดประชุมจึงเสนอให้พระมหากัสสปะเถระเลือกพระอานนท์เถระเข้าไปด้วยโดยให้เหตุผลว่า

          แม้พระอานนท์เถระจะเป็นพระเสขบุคคล (พระอริยบุคคลที่ยังไม่บรรลุอรหัตตผล เป็นผู้ยังต้องศึกษา)

แต่ท่านไม่ลำเอียงด้วยอคติ ๔ ประการ

อันได้แก่

๑. ความลำเอียงเพราะความรัก 
๒. ความลำเอียงเพราะความชัง 
๓. ความลำเอียงเพราะความหลง 
๔. ความลำเอียงเพราะความกลัว 

          พระอานนท์เถระ เป็นเหมือนคลังพระสัทธรรม (ธรรมที่ดีธรรมที่แท้) เพราะได้สดับจากพระพุทธเจ้ามากว่าพระเถระทั้งหลายเป็นอันมาก

          พระมหากัสปะเถระจึงเลือกพระอานนท์เถระเข้าร่วมในการสังคายนาและประกาศด้วยญัติทุตยกรรมวาจาให้พระสงฆ์ทั้งปวงยอมรับมติ ๓ ประการคือ

          ๑. ยอมรับให้พระเถระจำนวน ๕๐๐รูป ที่คัดเลือกตามมติสงฆ์เป็นพระสังคีติกาจารย์ มีหน้าที่ในการสังคายนาพระธรรมวินัย
          ๒. ใช้สัตบรรพต ข้างเวภารบรรพต กรุงราชคฤห์ เป็นที่ทำสังคายนา
          ๓. ห้ามพระอื่นนอกจากพระสังคีติกาจารย์ เข้าจำพรรษาในกรุงราชคฤห์ เพื่อสะดวกแกการบิณฑบาต และป้องกันผู้ไม่หวังดีทำอันตรายต่อการสังคายา

          เมื่อพระสงฆ์ทั้งปวงลงมติยอมรับเป็นเอกฉันท์แล้วพระสังคีติกาจารย์ทั้งหลายก็เดินทางเข้ากรุงราชคฤห์ ขอพระบรมราชูปถัมภ์ จากพระเจ้าอชาตศัตรู เรื่องการซ่อมวิหาร ๑๘ ตำบล สร้างสถานที่ทำสังคายนา ซึ่งพระเจ้าอชาตศัตรูทรงรับภาระเกี่ยวกับด้านราชอาณาจักรทุกประการ พระอานนท์เถระได้บำเพ็ญเพียรจนบรรลุอรหัตก่อนการทำสังคายนา จึงเป็นอันว่าการทำสังคายนาในคราวนั้นทำโดยพระอรหันต์ล้วนทั้ง ๕๐๐ องค์ โดยเริ่มลงมือทำหลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพานแล้วได้ ๓ เดือน พระมหากัสสปะทำหน้าที่ปุจฉาพระวินัยและพระธรรม พระอุบาลีเถระกับพระอานนท์เถระทำหน้าที่วิสัชชนาพระวินัยและพระธรรมตามลำดับ โดยที่ประชุมกำหนดให้สังคายนาพระวินัยก่อน เพราะถือว่าพระวินัยเป็นรากแก้วของพระพุทธศาสนาเมื่อพระวินัยยังดำรงอยู่ พระพุทธศาสนาย่อมชื่อว่าดำรงอยู่

          ในชั้นแรก พระมหากัสสปะเถระ พระอุบาลีเถระ พระอานนท์เถระได้ประกาศสวดสมติตน เพื่อทำหน้าที่ปุจฉาและวิสัชชานาพระวินัยและพระธรรม ตามหน้าที่ซึ่งได้รับมอบหมายจากสงฆ์ ต่อแต่นันพระมหากัสสปะเถระจะสอบถมพระวินัยแต่ละข้อในส่วนที่เกี่ยวกับ สัตถุนิทาน บุคคล บัญญัติ อนุบัญญัติ อาบัติ อนาบัติ เป็นต้นแห่งสิกขาบทแต่ละสิกขาบท เมื่อพระอุบาลีตอมไปตามลำดับแล้ว พระสงฆ์ที่ประชุมกันจะสวดพระวินัยข้อนั้น ๆ พร้อมกัน เมื่อตรงกันไม่ผิดพลาดแล้วสงฆ์รับว่าถูกต้อง จึงถาข้ออื่นต่อไป ทำกันโดยนัยนี้จนจบพระวินัยปิฎกแบ่งเป็นหมวดใหญ่ได้ ๕ หมวด คือทิกกรรม ปาจิตตีย์ มหาวรรคจุลวรรค และบริวาร (ปัจจุบันพิมพ์ออกมาเป็นหนังสือขนาดใหญ่ถึง ๘ เล่ม เรียกว่า เป็นหัวใจพระวินัยว่า อา.ปา.ม.จุ.ป.)

          ในด้านพระสูตรนั้นท่านเริ่มสังคายนาจากพระสูตรขนาดยาวก่อน คือ พรหมชาลสูตร สามัญญผลสูตร เป็นต้น สิ่งที่พระมหากัสสปะเถระ ถามคือ นิทาน บุคคล เนื้อหาแห่งพระสูตรนั้นเมื่อพระอานนท์เถระตอบแล้ว พระสงฆ์ทั้งปวงก็สาธยายพระสูตรนั้น ๆ พร้อมกันจนจบพระสูตรทั้งหมด โยแบ่งออกเป็น ๕ นิกาย การสังคายนาครั้งนี้ใช้เวลา ถึง ๗ เดือนจึงสำเร็จ

          หลังจากเสร็จการสังคายนาแล้ว พระอานนท์เถระได้แจ้งให้สงฆ์ทราบว่า ก่อนจะปรินิพาพาน พระพุทธเจ้ารับสั่งไว้ว่า

          "เมื่อเราล่วงไปสงฆ์ยังอยู่ จะพึงถอนสิกขาบทเล็ก ๆ น้อย ๆ เสียบ้างก็ได้"
          แต่พระอานนท์เถระไม่ได้กราบทูลว่า สิกขาบทเล็กๆ น้อยๆ นั้นคือสิกขาบทอะไรบ้าง กังสงฆ์ไม่อาจหาข้อยุติได้ว่า สิกขาบทเช่นไรชื่อว่าเล็กน้อย พระมหากัสสปะเถระจึงเสนอเป็นญัตติในที่ประชุมว่าด้วยญัตติทตุยกรรมวาจาความว่า
          - สิกขาบททั้งหลายบางอย่างก็เกี่ยวกับชาวบ้าน ชาวบ้านย่อมทราบว่า อะไรควรหรือไม่ควร สำหรับสมณศากยบุตรทั้งหลาย
          - หากจะถอนสิกขาบทบางข้อ ชาวบ้านจะตำหนิว่าพวกเราศึกษาและปฏิบัติตามสิกขาบททั้งหลาย ในขณะที่พระศาสดายังดำรงพระชนม์อยู่เท่านั้น พอพระศาสนานิพพานก็ไม่ใส่ใจที่จะปฏิบัติ
          - ขอให้สงฆ์ทั้งปวงอย่าเพิกถอนสิกขาบทที่ทรงบัญญัติไว้ และอย่าได้บัญญัติสิ่งที่พระพุทธมิได้ทรง บัญญัติไว้ สมาทานศึกษาตามสิกขาที่ทรงบัญญัติไว้เท่านั้น

************************************************************************************************* 

ขอให้เปิดตู้พระไตรปิฎกออกอ่านบ่อย ๆ เถิด จะได้ไม่ขัดสนความรู้

ดังคำพังเพยที่ว่า มีความรู้อยู่ในสมุดสุดขัดสน อนุโมทนาสาธุการครับ

ที่มา : http://www.dhammathai.org/buddha/g83.php

 


      

ผู้แสดงความคิดเห็น โฆษิต ควรหาเวช (kosit-dot-koanhavej-at-nectec-dot-or-dot-th) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-08-15 01:03:34


ความคิดเห็นที่ 5 (1563848)
image

 
*************************************

พระอานนท์ท่านบรรลุธรรมเพียงในเวลาคืนเดียว

หลวงพ่อพระราชพรหมยาน ท่านได้เล่าว่า

พระอานนท์ท่านทรงพระโสดาบันมานาน จนกระทั่ง....

 

 คืนก่อนการสังคายนาพระศาสนาครั้งที่ 1 เพียง 1 คืน

ภิกษุทั้งหลายกล่าวว่า ถ้ากระนั้น ขอพระเถระ จงคัดเลือกภิกษุ
ทั้งหลายเถิดขอรับ ครั้งนั้น ท่านพระมหากัสสป จึงคัดเลือกพระอรหันต์ได้ ๕๐๐ รูป
หย่อนอยู่องค์หนึ่ง ภิกษุทั้งหลายได้กล่าวกะท่านพระมหากัสสปว่า ท่านเจ้าข้า ท่าน
พระอานนท์นี้ยังเป็นเสกขบุคคลอยู่ก็จริง แต่ไม่ลุอำนาจฉันทาคติ โทสาคติ โมหาคติ
ภยาคติและท่านได้เรียนพระธรรมและพระวินัยเป็นอันมาก ในสำนักพระผู้มีพระภาค
เพราะเหตุนั้น ขอพระเถระจงคัดเลือกท่านพระอานนท์เข้าด้วยเถิด 
ลำดับนั้นพระมหากัสสปจึงคัดเลือกท่านพระอานนท์เข้าด้วย

ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์คิดว่า พรุ่งนี้เป็นวันประชุม ข้อที่เรายัง
เป็นเสกขบุคคล (พระอริยบุคคลที่ยังไม่บรรลุอรหัตตผล เป็นผู้ยังต้องศึกษา)อยู่

จะพึงไปสู่ที่ประชุมนั้น ไม่ควรแก่เรา

จึงยังราตรีเป็นส่วนมากให้ล่วงไปด้วยกายคตาสติ แต่แม้ท่านจะเพียรพยายามแต่และตั้งใจเพียงใดท่านก็ไม่สามารถบรรลุอรหัตผลได้ เนื่องจากความห่วงนั่นเองเป็นเครื่องร้อยรัด

ในเวลาใกล้รุ่งแห่งราตรีจึงเอนกายด้วยตั้งใจว่า จักนอน
ศีรษะยังไม่ทันถึงหมอนและเท้ายังไม่ทันพ้นจากพื้น ในระหว่างนั้น จิตได้หลุดพ้น
จากอาสวะ เพราะไม่ถือมั่น

ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์ได้บรรลุพระอรหันต์และได้ไปสู่ที่ประชุม ฯ โดยพลันปรากฎกายบนอาสนะที่เตรียมไว้ให้ท่านในกลางที่ประชุม พระอรหันต์เจ้าทั้งหลายจึงได้ทราบโดยทั่วกันว่า พระอานนท์ท่าน สำเร็จธรรมขั้นสูงสุดของพระศาสดาแล้ว

**********************************************************************

ขอให้เปิดตู้พระไตรปิฎกออกอ่านบ่อย ๆ เถิด จะได้ไม่ขัดสนความรู้

ดังคำพังเพยที่ว่า มีความรู้อยู่ในสมุดสุดขัดสน   

อนุโมทนาสาธุการครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น โฆษิต ควรหาเวช (kosit-dot-koanhavej-at-nectec-dot-or-dot-th) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-08-15 01:25:23


ความคิดเห็นที่ 6 (1563851)

คุณโฆษิต

สมแล้ว ที่เป็นมหาบัณฑิต

ปริญญาโท นิด้า

มาเป็นหัวเรี่ยว หัวแรง

สำคัญ อีกแรง

ในการ

ปลุกแกรแส

อ่านพระไตรปิฎก

 

เพราะ

ชาวพุทธ ส่วนใหญ่

ไม่รู้ ไม่เข้าใจ ธรรมะ ที่แท้จริง

ของพระพุทธเจ้า

และ

ไม่สนใจศึกษาด้วย

ทั้งที่

 

สามารถหาคำตอบ

ชีวิต

ได้จาก ธรรมะ ของพระพุทธองค์

 

ชีวิตผู้คนทั้งหลาย

ที่ไม่เชื่อคำสอนของพระองค์

จึง

มีแต่ความทุกข์

ความเดือดร้อน ความวุ่นวาย

 

เพียงแต่

เชื่อ และ ปฎิบัติตาม

พระพุทธเจ้า

ปัญหาทั้งปวง ในโลกหล้า

ก็จะดับลงได้

โดย

ฉับพลันทันที

 

แต่

คนทั้งหลาย

ก็เลือกที่จะไม่ทำ

 

 

กรรม...หนอ

มนุษย์เอ๋ย

 

 

ผู้แสดงความคิดเห็น อ.อุบล ศุภาเดชาภรณ์ (PAMELASOAP-at-YAHOO-dot-COM) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-08-15 01:48:51


ความคิดเห็นที่ 7 (1563859)

ชีวิตผู้คนทั้งหลาย

ที่ไม่เชื่อคำสอนของพระองค์

จึง

มีแต่ความทุกข์

ความเดือดร้อน ความวุ่นวาย

 

เพียงแต่

เชื่อ และ ปฎิบัติตาม

พระพุทธเจ้า

ปัญหาทั้งปวง ในโลกหล้า

ก็จะดับลงได้

โดย

ฉับพลันทันที

 

แต่

คนทั้งหลาย

ก็เลือกที่จะไม่ทำ

 

 

กรรม...หนอ

มนุษย์เอ๋ย

 

สงสัยจะกรรมบังตา บังใจ จริงๆค่ะอาจารย์

รู้ทั้งรู้ว่าเดินทางไหนจะพ้นทุกข์ แต่ก็ไม่คิดจะเดิน

ไม่คิดจะทำ หรือทำบ้างไม่ทำบ้าง ไม่จริงจัง

ไม่เต็มร้อยซักทีก็เลยเห็นผลบ้าง ไม่เห็นผลบ้าง ...

กราบอนุโมทนากับคำสอนจากท่านอ.อุบลด้วยนะคะ สาธุ..

 

อนุโมทนากับคุณโฆษิตด้วยค่ะ

 

หลายๆธรรมทานที่คุณโฆษิต

นำมาฝากพี่น้องบ้านสวนฯ ล้วนแล้วแต่เป็นข้อธรรมที่ลึกซึ้ง

ยังประโยชน์ต่อผู้่อ่านทั้งสิ้น แถมยังนำเสนอได้ลงตัวมากๆ

ทั้งข้อความที่เขียนและรูปแบบที่นำเสนอก็น่าสนใจมากๆ..

อนุโมทนาค๊า..

ผู้แสดงความคิดเห็น ชนิดา เชิงสะอาด/CHANIDA ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-08-15 02:38:41


ความคิดเห็นที่ 8 (1563873)

อนุโมทนากับคุณโฆษิตด้วยค่ะ

และกราบอนุโมทนากับคำสอนเตือนสติ เตือนใจด้วยค่ะ

ช่วยกระตุ้นให้รู้ว่ายังมีกรรม

ที่ทำให้ยังไม่ได้ศึกษาค้นคว้าเป็นจริงเป็นจังเสียที

เพื่อความหลุดพ้น เพื่อความสุข เพื่อหนีทุกข์

ตลอดจนเข้าสู่นิพพาน

สาธุ สาธุ

ผู้แสดงความคิดเห็น หญิง < นันทนา แหกาวี > ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-08-15 03:35:46


ความคิดเห็นที่ 9 (1563996)

 อนุโมทนาบุญท่านอ.อุบลค่ะ

อนุโมทนาบุญกับคุณโฆษิตด้วยค่ะ

ผู้แสดงความคิดเห็น สมจิต โพธิ์นิล (shindo_ploy-at-hotmail-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-08-15 19:04:00


ความคิดเห็นที่ 10 (1564068)
image

 
*************************************

อัคคัญญสูตร

กำเนิดจักรวาล โลก มนุษย์ และสรรพสิ่ง

การกำเนิดขึ้นของจักรวาล โลก และสรรพสิ่งนั้น เริ่มจากแต่เดิมนั้นก่อนที่สรรพสิ่งจะเกิดขึ้นนั้น ในท้องจักรวาลไม่มีสิ่งใด ๆ เลย มีเพียงอากาศที่เวิ้งว่างว่างเปล่า โล่งเตียนตลอด
 
อัคคัญญสูตรที่พระพุทธองค์ทรงแสดงนี้ มิได้มีจุดมุ่งหมายที่จะกล่าวถึงการกำเนิดของโลก และมนุษย์ ตลอดจนสรรพสิ่งโดยตรง เพียงแต่พระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่สามเณร ๒รูป คือ วาเสฏฐสามเณรและภารทวาชสามเณร เพื่อจะบอกเหตุอันเป็นความเชื่อในเรื่องของวรรณะที่พวกพราหมณ์ยึดถือต่อ ๆ กันมา เนื่องจากสามเณรทั้ง ๒ นั้นเกิดมาจากวรรณะของพราหมณ์ ซึ่งในยุคสมัยนั้นถือกันว่า วรรณะพราหมณ์เป็นวรรณะสูง จะเป็นรองก็เพียงวรรณะกษัตริย์เท่านั้น แต่ทั้ง ๒ กลับเข้ามาบวชในพระพุทธศาสนาที่พวกพราหมณ์เรียกว่าเป็นสมณะโล้น จัดเป็นวรรณะที่เลวทราม เกิดจากเท้าของพรหม 
 
พระศาสดาเมื่อทรงสดับเช่นนั้น จึงทรงชี้ให้เห็นถึงที่มาที่ไปแห่งการที่เกิดชื่อเรียกของวรรณะต่าง ๆ ขึ้นเพื่อให้สามเณรทั้ง ๒นั้นทราบ โดยทรงหยิบยกเอาเรื่องตั้งแต่การที่จักรวาลยังกลายเป็นน้ำเรื่อยมา จนเกิดมีการสมมติชื่อของวรรณะต่าง ๆ ขึ้น แล้วทรงสรุปว่า การที่บุคคลใดบุคคลหนึ่งจะประเสริฐหรือเลวทราม ก็ด้วยการกำหนดจากธรรมและอธรรมที่เขาประพฤติเท่านั้น หาได้กำหนดจากสิ่งอื่นไม่ ถึงอย่างไรก็ตามแม้พระสูตรจะมิได้มุ่งหมายที่จะกล่าวถึงการบังเกิดขึ้นของโลก มนุษย์ และสรรพสิ่งโดยตรง แต่เนื้อหาของพระสูตรก็ทำให้เราทราบว่ามนุษย์ ตลอดจนสิ่งทั้งหลายทั้งปวง ที่เราต่างก็สงสัยและโต้เถียงกันมายาวนานนั้น มีจุดกำเนิดหรือที่มาอย่างไร 
 
เราได้ทราบแล้วว่า อากาศ เป็นธาตุชนิดหนึ่งซึ่งมีสภาพเป็นที่ว่าง ปราศจากธาตุอื่น ๆ และเป็นธาตุองค์ประกอบหนึ่งที่เป็นจุดกำเนิด และมีอยู่ในทุกสรรพสิ่ง) โดยที่ความว่างเปล่านี้เกิดจากการที่จักรวาลได้เสื่อมและถูกทำลายลง ด้วย ไฟ น้ำ และลม เนื่องจากจักรวาลและโลกนั้นกำเนิดขึ้น และถูกทำลายลงมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน และยังจะต้องถูกทำลาย และก็จะเกิดขึ้นอีกอย่างไม่มีที่สิ้นสุด โดยที่ไม่สามารถจะระบุได้ว่า จุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุดของการเริ่มต้นและสิ้นสุดนี้คือเมื่อใด การกำเนิดของโลกและสรรพสิ่งที่กล่าวถึงในบทเรียนนี้ จึงเป็นช่วงหนึ่งของวัฏจักรที่ไม่มีที่สิ้นสุดนั้น โดยการกำเนิดที่กล่าวถึงนี้ เป็นการกำเนิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่จักรวาลถูกทำลายด้วยไฟ ก่อนที่จะมาถึงกำเนิดขึ้น
                          
หลังจากที่จักรวาลเปล่าร้างปราศจากสิ่งใด ๆ เป็นเวลายาวนาน (นานจนไม่สามารถระบุระยะเวลาได้) ต่อมามีฝนตกลงมาในท้องจักรวาลที่มีเพียงอากาศนั้น น้ำฝนที่ตกลงมาในระยะแรก เป็นฝนที่มีขนาดเล็กมาก จากนั้นจึงมีขนาดที่ใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งขนาดเท่ากับลำของต้นตาล เนื่องจากฝนที่ตกขึ้นนี้ ตกลงมาอย่างต่อเนื่อง ปริมาณน้ำฝนจึงเพิ่มระดับสูงขึ้น จนกระทั่งท่วมเต็มทั่วทั้งจักรวาล  
                                                                  
การที่ฝนทรงตัวอยู่ได้นี้ เป็นเพราะมีลมมารองรับไว้เหมือนภาชนะ จึงทำให้น้ำไม่รั่วไหลกระจัดกระจาย แต่จะรวมตัวเป็นกลุ่มก้อน ด้วยคุณสมบัติของลมทำให้น้ำค่อย ๆ งวดยุบหดลดลงจากเบื้องบน ระดับน้ำได้ลดระดับลงมาเรื่อย ๆ เมื่อระดับน้ำลดลง ทำให้ที่ตั้งของภพต่าง ๆ ปรากฏขึ้น เริ่มตั้งแต่ พรหมชั้นต่าง ๆ เรื่อยลงมาจากชั้นบนสู่ชั้นล่าง จากนั้นสวรรค์ชั้น ต่าง ๆ จึงเกิดขึ้นหลังจากที่ระดับน้ำได้ลงไปจากที่ตั้งของภพสวรรค์ชั้นต่าง ๆ นั้น
 
เมื่อระดับน้ำลดลงมาถึงระดับพื้นดิน ระดับน้ำเริ่มคงที่ไม่ลดลงไปอีก เมื่อน้ำนิ่งจึงเกิดการรวมตัวกันเป็นตะกอนลอยอยู่เหนือผิวน้ำ ซึ่งตะกอนนี้เกิดจากการรวมตัวของธาตุหยาบ (การเกิดขึ้นของภพพรหมและสวรรค์ เป็นการรวมตัวของธาตุละเอียด ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตามนุษย์) ตะกอนที่รวมตัวและลอยอยู่เหนือน้ำนี้ คล้ายกับการลอยของใบบัวที่อยู่เหนือน้ำคือลอยอยู่ได้โดยไม่จม มีสีเหลืองรสหวาน และมีกลิ่นหอม (เรียกว่า ง้วนดิน) ซึ่งต่อมาคือแผ่นดินที่รองรับสิ่งต่าง ๆ โดยตะกอนที่เกิดขึ้นมาก่อนเรียกว่า ศีรษะแผ่นดิน ซึ่งถือว่าเป็นประธานของโลกมนุษย์

 หลังจากแผ่นดินได้เกิดขึ้นแล้ว ต่อมาได้มีต้นไม้เกิดขึ้น ต้นไม้ที่เกิดขึ้นเป็นชนิดแรกคือ ต้นบัว โดยที่เป็นบัวที่มีลักษณะเป็นไม้ยืนต้น และขึ้นบนแผ่นดิน ต่างจากบัวในปัจจุบันที่เป็นไม้ล้มลุกและขึ้นเฉพาะในน้ำ บัวที่เกิดขึ้นนี้จะปรากฏขึ้นทุกครั้งที่โลกกำเนิดขึ้นหลังจากที่ถูกทำลายไป โดยที่ในการเกิดขึ้นของดอกบัวนี้จะออกดอกไม่เท่ากันในแต่ละครั้ง บางครั้งไม่มีดอก บางครั้งมีดอก โดยการออกดอกจะมีตั้งแต่ ๑ ถึง ๕ ดอก แต่จะไม่มากไปกว่านั้น ซึ่งจำนวนของดอกบัวที่เกิดขึ้นนี้จะเป็นสิ่งที่บอกว่า จะมีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบังเกิดหรือไม่บังเกิดขึ้น หรือว่าบังเกิดขึ้นอีกพระองค์ในกัปนั้น (อย่างเช่นในกัปของเรา มีดอกบัวปรากฏเมื่อครั้งกำเนิดโลก ๕ ดอก ก็หมายความว่าจะมีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าขึ้น ๕ พระองค์) บัวนี้จึงมีชื่อว่า บัวพยากรณ์ 

            หลังจากที่แผ่นดินได้เกิดขึ้นแล้ว ได้มีพรหมพวกหนึ่งจุติลงมาเกิดเป็นมนุษย์ โดยเป็นพรหมที่หมดบุญ หรือสิ้นอายุจากชั้นอาภัสสราพรหม  การเกิดมาเป็นมนุษย์ในยุคแรกนี้ เป็นการเกิดเองโดยไม่ต้องอาศัยพ่อแม่ เกิดแล้วมาก็โตเต็มวัยเลย ซึ่งการเกิดชนิดนี้เรียกว่า เกิดแบบโอปปาติกะ
 
            มนุษย์ที่จุติมาจากอาภัสสราพรหมนี้ จะมีรูปร่างและลักษณะเหมือนขณะที่ตอนยังเป็นพรหม คือจะไม่มีเพศ ร่างกายมีแสงสว่างเรือง มีรัศมีสว่าง เหาะไปมาในอากาศได้ และมีปีติเป็นอาหาร ไม่ต้องกินสิ่งอื่นที่อยู่ภายนอกร่างกายเข้าไป
 
            โลกในช่วงที่พรหมลงมาเกิดเป็นมนุษย์นี้ มีสัณฐานแบนและมีจุดเชื่อมต่อกับสวรรค์ (สวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา) โลกกับสวรรค์สามารถไปมาหาสู่กันได้ แต่ต่อมาจึงค่อย ๆ เปลี่ยนรูปทรงและเคลื่อนตัวห่างออกจากสวรรค์ไปตามบาปอกุศลที่มนุษย์สร้าง ทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ จากโลกที่แต่เดิมมีสัณฐานแบน ก็เริ่มฟูขึ้น เมื่อฟูจนได้ระดับหนึ่ง ก็จะหดตัวเข้าเป็นทรงรี แล้วจึงกลายเป็นทรงกลมในที่สุด ซึ่งแต่ละช่วงที่โลกมีการเปลี่ยนแปลงรูปทรงนี้ใช้เวลานานมาก ยุคที่โลกกลมนี้เป็นยุคที่มนุษย์มีอายุต่ำกว่า ๑ แสนปี
 
            มนุษย์ที่เกิดมีชีวิตอยู่เช่นนั้นเป็นเวลายาวนาน จนกระทั่งมีมนุษย์คนหนึ่ง (มนุษย์ที่ลงมาเกิดในยุคนี้มีเป็นจำนวนมาก ไม่ใช่คนเดียวหรือ ๒ คน) เห็นดินที่มีสีสันสวยงาม มีกลิ่นหอม เห็นแล้วก็อยากจะหยิบขึ้นมาลิ้มลอง จึงหยิบใส่ปากเพื่อลิ้มรส แต่เพียงแค่ดินนั้น (ง้วนดิน) สัมผัสเพียงปลายลิ้น รสดินก็แผ่ซาบซ่านไปทั่วร่างกาย มีรสเป็นที่ถูกใจของมนุษย์ผู้นั้น จึงหยิบมาบริโภคอีก มนุษย์อื่นเห็นเช่นนั้นจึงพากันเอาอย่างบ้าง และเนื่องจากง้วนดินที่บริโภคเข้าไปนั้นเป็นอาหารหยาบ จึงทำให้รัศมีกายและแสงในตัวของมนุษย์หายไป ความมืดจึงบังเกิดขึ้น มนุษย์ทั้งหลายเมื่อถูกความมืดปกคลุมจึงพากันตกใจ
 
          เมื่อความมืดบังเกิดขึ้นอยู่นั้นเอง สุริยเทพบุตรพร้อมด้วยดวงอาทิตย์ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยก็บังเกิดขึ้น ทำให้มีแสงสว่างเกิดขึ้นมาขับไล่ความมืด จากนั้นดวงจันทร์และดวงดาวต่าง ๆ ก็เกิดขึ้น ทำให้มีกลางวัน กลางคืน ฤดูกาลต่าง ๆ พร้อมกับการเกิดขึ้นของเขาพระสุเมรุ เขาจักรวาล เขาหิมพานต์ และมหาสมุทร ซึ่งการเกิดขึ้นของสิ่งเหล่านี้ใช้เวลานานมาก

          นอกจากฤทธิ์ของอาหารหยาบที่มนุษย์บริโภคเข้าไป จะทำให้รัศมีกายและความสว่างหายไปแล้ว ยังส่งผลให้มนุษย์มีผิวพรรณที่เศร้าหมองลงไม่ผ่องใสสวยงามเหมือนดังเดิม แต่ความเศร้าหมองที่เกิดขึ้นในมนุษย์แต่ละคนมีไม่เท่ากัน บางคนเศร้าหมองน้อย บางคนเศร้าหมองมาก ขึ้นอยู่กับกรรมเก่าที่เคยทำมาในชาติต่าง ๆ และกิเลสที่เกิดขึ้นในขณะนั้น เมื่อมีความแตกต่างเกิดขึ้น ทำให้มนุษย์มีความยึดมั่นและถือตัวเกิดขึ้น จึงทำให้ร่างกายที่เคยเหาะได้หยาบลง จึงเหาะไม่ได้อีกต่อไป             

          และจากบาปกรรมที่เกิดขึ้นนี้ สิ่งต่างจึงแปรเปลี่ยนไป ง้วนดินที่เคยมีรสอร่อยได้หายไป กลายเป็นสะเก็ดดิน แต่ยังคงมีรสอร่อย และกลิ่นหอม บริโภคได้เหมือนเดิม ยิ่งมนุษย์ถูกกิเลสครอบงำเท่าไร ความประณีตของอาหารก็น้อยลงทุกที จากสะเก็ดดิน กลายเป็นเครือดิน และต่อมาได้กลายเป็นข้าวสาลี

        ข้าวสาลีในยุคนั้นต่างข้าวสาลีในยุคปัจจุบัน โดยเป็นข้าวที่มีเปลือกบางคล้าย ๆ เปลือกของแตงกวา จึงกินได้ทั้งเปลือก มีสีเหลืองอมขาว รู้สึกนุ่มเมื่อเคี้ยว   มีกลิ่นหอม มีคุณค่าทางอาหารครบ และมีความอร่อยอยู่ในตัว เมื่อบริโภคเข้าไปแล้วจะสามารถดับความหิวกระหาย ความเหน็ดเหนื่อยได้ ขนาดของเมล็ดประมาณ ๑ ศอกของมนุษย์ในยุคนั้น(ศอกที่กำมือแล้ว) ๑ เมล็ดสามารถบริโภคได้ ๓- ๕ คน เมื่อจะบริโภคก็นำมาวางไว้บนแผ่นหินชนิดหนึ่ง ข้าวก็จะสุกเอง

 เนื่องจากมนุษย์ยุคนั้นมีร่างกายที่ใหญ่กว่ายุคปัจจุบันมาก ข้าวสาลีจึงมีลำต้นสูงใหญ่มาก โดยสูงประมาณเท่าต้นยางนา (ยางนาสูงโดยเฉลี่ย ๔๐ - ๔๕ เมตร) และสูงกว่ามนุษย์ในยุคนั้น ปกติรวงข้าวจะตั้งตรง แต่ครั้นเมื่อรวงข้าวสุกก็จะโน้มลงมาจนมนุษย์สามารถเก็บได้ เมื่อเก็บแล้วก็จะงอกออกมาใหม่ และขึ้นได้ทั่วไป
 
เนื่องจากคุณภาพของอาหารที่มนุษย์บริโภคเข้าไป มีลักษณะหยาบขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งนี้ก็เป็นเพราะกิเลสที่เพิ่มมากขึ้นของมนุษย์ ทำให้อาหารที่มนุษย์บริโภคเข้าไปนั้นไม่สามารถถูกดูดซึมได้ดังเดิม เกิดมีกากอาหารขึ้นกายเป็นของส่วนเกิดของร่างกาย ร่างกายของมนุษย์จึงปรากฏช่องทางขับถ่ายขึ้นคือทวารหนักและทวารเบา แต่เนื่องจากกรรมที่เคยประพฤติผิดศีลกาเมของชาติในอดีต ส่งผลทำให้มนุษย์มีอวัยวะเพศต่างกัน บางคนเพศหญิงปรากฏ บางคนเพศชายปรากฏ
 
เมื่ออวัยวะเพศปรากฏ และด้วยเหตุว่า มีเพศต่างกันเป็นเพศหญิงเพศชาย ทำให้มนุษย์เพ่งเล็งกันและกัน มีความปรารถนาในกาม มีความสนใจในเพศตรงข้าม จึงต่างเข้าหากันและได้เสพเมถุนธรรมต่อกัน และเนื่องจากการเสพเมถุนธรรมนี้เป็นสิ่งแปลกใหม่ จึงทำให้มนุษย์ส่วนมาก เห็นการที่หญิงชายเสพกามกันนั้นเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ จังพากันห้ามปราม จับแยก รวมทั้งติเตียน ด่าว่า จนกระทั่งพากันขับไล่ โดยในพระสูตรได้พรรณนาถึงอาการขับไล่ไว้ว่า
 
 “สัตว์เหล่าใดเห็นสัตว์เหล่าอื่นกำลังเสพเมถุนกัน ก็โปรยฝุ่นลงบ้าง โปรยขี้เถ้าลงบ้าง โปรยโคมัยลงบ้าง ด้วยกล่าวว่า คนถ่อย เจ้าจงฉิบหาย คนถ่อย เจ้าจงฉิบหายดังนี้ แล้วกล่าวว่า ก็สัตว์จักกระทำกรรมอย่างนี้แก่สัตว์อย่างไรดังนี้...”
 
เมื่อชายหญิงเหล่านั้น ถูกรังเกียจและขับไล่ จึงเสาะแวงหาหาและสร้างที่มุงบังเพื่อป้องปิดในเวลาเสพเมถุนธรรม ทำให้มีการสร้างบ้านเรือนตามมา เมื่อมนุษย์ต่างก็ซ้องเสพกามกัน ทำให้การเกิดแบบชลาพุชะคือ การเกิดในมดลูกมีการตั้งครรภ์เกิดขึ้น ซึ่งถือได้ว่ามนุษย์ได้เริ่มเกิดจากครรภ์ตั้งแต่ครั้งนั้น หลังจากนั้นก็ไม่มีการเกิดแบบโอปปาติกะในหมู่มนุษย์อีก
 
เมื่อมนุษย์สร้างบ้านเรือน มีที่อยู่อาศัยเป็นหลักแหล่งจึงเกียจคร้านในการออกไปแสวงหาข้าวสาลีบ่อย ๆ เกิดความโลภขึ้น เมื่อออกไปเก็บข้าวสาลีก็นำมาทีละมาก ๆ นำมาสะสมไว้ ยิ่งความโลภมากเท่าไรความประณีตของอาหารก็ยิ่งน้อยลง ข้าวสาลีจึงเริ่มเสื่อมคุณภาพลงไปเรื่อย ๆ ขนาดต้นเล็กลง ปรากฏมีเปลือกขึ้น และเมื่อเก็บไปแล้วก็ไม่งอกออกมาอีก ที่เคยขึ้นอยู่ทั่วไป ก็เริ่มลดน้อยร่อยหรอลงไปเรื่อย หาได้ยากขึ้น
 
            จะเห็นได้ว่าการเปลี่ยนแปลงของพรหมในชั้นอาภัสสราที่ได้เสื่อมจากอัตภาพเดิมกลายมาเป็นมนุษย์ในยุคต้นกัป เพราะอาศัยเหตุคือง้วนดิน หากจะกล่าวอีกนัยหนึ่งง้วนดินก็เป็นวัตถุกามชั้นเลิศ ที่ชักชวนให้พรหมเหล่านั้นหันมาสนใจ เมื่อทดลองลิ้มก็ติดใจ ถูกกิเลสกามคือความอยากที่มีอยู่ในใจแต่เดิมเข้าครอบงำ อุปมาเปรียบง้วนดินได้กับกับดักของนายพราน ที่คอยดักสัตว์ป่าผู้โง่เขลาให้เข้ามาติดนั่นเอง 
 
ถึงแม้ว่าอาภัสสราพรหมจะเป็นมนุษย์ในยุคต้นกัป แต่อายุของมนุษย์นั้นก็ยืนยาวจนมิอาจที่จะนับได้ซึ่งในภาษาบาลี คือ อสงไขยปี เหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่าในสมัยนั้นมิได้มีมลภาวะเช่นปัจจุบัน ดินฟ้าอากาศ ฤดูต่างๆ ก็มิได้แปรปรวนมีแต่ฤดูสบาย ไม่ต้องมีบ้านไว้คอยกันฝน ไม่ต้องมีร่มเงาไว้คอยบังแดด เครื่องนุ่งห่มนั้นก็เป็นเครื่องนุ่งห่มเมื่อครั้งยังเป็นพรหม ไม่ต้องมีการประกอบการงาน สิ่งใดที่เป็นความยากลำบากในยุคนั้นล้วนมิได้มีเลย 
 
โลกในยุคแรกจึงเป็นโลกที่สะดวกสบาย ปราศจากความทุกข์ยากลำบากใดๆ หากจะมีความทุกข์บ้างก็เป็นความทุกข์เล็ก ๆ น้อย ๆ ที่มีสิ่งใดสิ่งหนึ่งมาชดเชยแทน เช่น การเสื่อมจากง้วนดินที่เป็นอาหารอันประณีต กลับกลายมาเป็นต้องรับประทาน    กะบิดินและเครือดินตามลำดับ เป็นต้น 
 
การเปลี่ยนแปลงอย่างหนึ่งที่มีผลกระทบอย่างยิ่งต่อมนุษย์ในยุคนั้น ก็คือเรื่องของผิวพรรณที่มีทั้งงามและทรามควบคู่กันไป เพราะการบริโภคของพวกมนุษย์ในยุคต้นกัปนั้นในสมัยที่ตนยังเป็นพรหมอยู่ก็บริโภคด้วยความต้องการ หาใช่เพราะความจำเป็นไม่ เพราะพรหมนั้นมีปีติเป็นภักษาอยู่แล้ว อาหารอย่างอื่นจึงไม่มีความจำเป็น เมื่อมนุษย์คนใดมีความต้องการมาก ก็จะบริโภคมากมาตั้งแต่สมัยที่ตนยังเป็นพรหม ธาตุหยาบที่มีสั่งสมอยู่ในร่างกายก็จะมากตามไปด้วย เป็นเหตุให้ความประณีตของผิวพรรณลดลง หากมนุษย์คนใดบริโภคเพียงเพื่อต้องการแค่ให้ดำรงอัตภาพได้ธาตุหยาบที่ได้จากอาหารก็จะเข้าไปในร่างกายน้อย ความประณีตของผิวพรรณจึงยังมีอยู่บ้าง ทำให้มีผิวพรรณงามกว่าพวกที่บริโภคมาก 
 
เราอาจจะเปรียบเทียบกับการผสมสีดำลงไปในสีขาว ซึ่งถือว่าเป็นสีที่มีความบริสุทธิ์หากผสมน้อย สีขาวก็จะกลายเป็นสีเทา แต่หากผสมมากไปสีขาวก็จะกลายเป็นสีดำไปในที่สุด เมื่อเป็นเช่นนี้พวกมนุษย์เหล่านั้นจึงดูหมิ่นผิวพรรณของกันและกัน การที่กายของพรหมหมดรัศมีไป รวมไปถึงความกล้าแข็งของกายที่ค่อยมีมากขึ้นเรื่อยๆ
 
ซึ่งเราสามารถเปรียบเทียบปรากฏการณ์เช่นนี้ ได้กับวิธีการทางเคมีของนักวิทยาศาสตร์ โดยนำเอาธาตุองค์ประกอบหลาย ๆ ตัวไปผสมเข้ากับธาตุหลักตัวใดตัวหนึ่ง จนทำให้ธาตุนั้นเกิดปฏิกิริยาการเปลี่ยนแปลง ไปเป็นธาตุตามที่เราต้องการ นี้เป็นหลักพื้นฐานง่าย ๆในวิชาเคมี
 
และเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงที่เป็นไปอย่างช้าๆได้กับการนำน้ำเปล่าเข้าไปแช่ในช่องฟรีส น้ำที่เป็นของเหลวในตอนแรกพอเย็นมากเข้าๆ ก็จะค่อย ๆ กลายเป็นวุ้น และพอถึงความเย็นระดับหนึ่ง ก็จะกลายเป็นก้อนแข็งไปในที่สุด น้ำนั้นมิได้แข็งขึ้นในทันทีทันใด   ร่างกายของพวกพรหมก่อนที่จะกลายเป็นมนุษย์ในยุคต้นกัป ก็จะเปลี่ยนแปลงไปเช่นนั้น ซึ่งจะต้องอาศัยระยะเวลาเป็นล้านๆปี 

               ร่างกายของมนุษย์ในยุคต้นกัปนั้น มีขนาดที่ใหญ่โตและแข็งแรงมาก ถ้าจะยกตัวอย่างจากในพระไตรปิฎก ก็มีในคัมภีร์พุทธวงศ์ที่กล่าวถึงพระพุทธเจ้าพระองค์ต่างๆ ที่มีพระชนมายุ และขนาดของพระวรกายไม่เท่ากัน พระพุทธเจ้าบางพระองค์มีพระวรกายสูงถึง 60 ศอก 

 ***********************************************************

โลกสมมตินี้ประกอบด้วยธาตุ

ดิน น้ำ ลม ไฟ ปราณ และมโนธาตุ ที่มารวมตัวกัน

เมื่อจิตแท้ดั้งเดิมเกิดกิเลส จึงดึงดูดธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ มารวมเป็นกาย

ยิ่งจิตมีกิเลสหรือความอยากมากขึ้นเพียงใด ความหยาบของร่างกายก็มากขึ้นตามนั้น

ยิ่งกิเลสเพิ่มมากขึ้นเท่าใด ระยะห่างระหว่างโลกและสวรรค์ก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น

พระพุทธองค์จึงทรงสอนให้เราทุกคนดับเหตุแห่งการเกิดกิเลส

ตามแนวทางอริยสัจสี่

***********************************

ขอให้เปิดตู้พระไตรปิฎกออกอ่านบ่อย ๆ เถิด จะได้ไม่ขัดสนความรู้

ดังคำพังเพยที่ว่า มีความรู้อยู่ในสมุดสุดขัดสน

อนุโมทนาสาธุการครับ

ที่มา : http://dou_beta.tripod.com/GL101_04_th.html

 

 

 

 

ผู้แสดงความคิดเห็น โฆษิต ควรหาเวช (kosit-dot-koanhavej-at-nectec-dot-or-dot-th) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-08-16 01:26:13


ความคิดเห็นที่ 11 (1564089)

อนุโมทนาค่ะคุณ โฆษิต อ่านเรื่องนี้แล้ว ก็ทำให้คิดไปว่า

จริงๆแล้ว ที่นักวิทยาศาสตร์เค้าค้นพบและตั้งสมมติฐานต่างๆ

เกี่ยวกับการกำเนิดของโลก ด้วยหลักฐานต่างๆที่มีอยู่

ว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ น่าสงสัยเหมือนกันนะคะว่าเค้ารู้จริง

 หรือว่า จริงๆแล้ว เค้าอาจจะได้มาอ่านพระไตรปิฏกก็ได้เนอะ...

เพราะพระไตรปิฏก ก็ได้รับการแปลไปหลายภาษาเหมือนกัน

 

ฉะนั้น ใครที่คิดจะพิสูจน์วิถีและองค์ความรู้ของพุทธ

ด้วยวิธีทางวิทยาศาสตร์่ล่ะก็ คงจะต้องบอกว่า คิดผิดถนัดเชียว

เพราะเห็นกันได้ชัดๆว่า โลกแห่งพุทธะก้าวหน้ากว่าโลก

ทางวิทยาศาตร์เป็นล้านๆปีทีเดียว..

 

เมื่อก่อนชนิดาก็เคยคิดเล่นๆนะว่า ถ้าโลกนี้ไม่มีคน ไม่มีอะไรอยู่เลย

ไม่มีจักรวาล ไม่มีดวงดาว ไม่มีโลก แล้วมันจะเป็นอย่างไร

มีแต่ความว่างเปล่า เวิ้งว้าง  แหม่..คิดว่าตัวเองคิดได้ไร้สาระมากๆ

แต่ตอนนี้ทราบแล้วว่า กว่าที่ทุกสรรพสิ่งในโลกจะถือกำเนิดเกิดมา

มันก็เคยเป็นความว่างเปล่ามาก่อนแล้วนั่นเอง..

 

อ่านแล้วได้ความรู้เพิ่มขึ้นมากมายทั้งทางโลกและทางธรรมเลยค่ะคุณโฆษิต

ขอบคุณนะคะ

ผู้แสดงความคิดเห็น ชนิดา เชิงสะอาด/CHANIDA ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-08-16 03:49:27


ความคิดเห็นที่ 12 (1564296)
image

 
***************************

 
มรรคมีองค์ 8
 
มรรค แปลว่า ทาง, หนทาง มรรคมีองค์ 8 จึงหมายถึง หนทางปฏิบัติหรือข้อปฏิบัติ 8 ประการ เพื่อให้ถึงความดับทุกข์ นั่นคือการได้บรรลุนิพพานนั่นเอง 
         
มรรคมีองค์ 8 เป็นธรรมข้อหนึ่งในอริยสัจ 4 ซึ่งประกอบด้วย
ทุกข์ สมุทัย (เหตุแห่งทุกข์คือตัณหา) นิโรธ (ความดับทุกข์) และมรรค(หนทางดับทุกข์)
 
เมื่อกล่าวถึงมรรคเพียงข้อเดียวแต่ก็มีความหมายเชื่อมโยงไปถึงอริยสัจอีก 3 ข้อที่เหลือด้วย เพราะธรรมทั้ง 4 ข้อมีความเชื่อมโยงสัมพันธ์กัน
 
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสมรรคมีองค์ 8 ไว้ในธัมมจักกัปปวัตตนสูตร1 ซึ่งเป็นพระปฐมเทศนาหรือเทศนาครั้งแรกของพระองค์ พระเดชพระคุณพระภาวนาวิริยคุณ ได้สรุปมรรคมีองค์ 8 ไว้ด้วยภาษาที่เข้าใจได้ง่ายดังนี้

          (1) สัมมาทิฏฐิ คือ ความเข้าใจถูก โดยสามารถตัดสินได้อย่างถูกต้องว่า อะไรถูก-ผิด อะไรดี-ชั่ว อะไรบุญ-บาป อะไรควร-ไม่ควรทำ
          (2) สัมมาสังกัปปะ คือ ความคิดถูก โดยเลือกคิดเฉพาะในสิ่งที่เกิดบุญ ไม่เกิดบาป
          (3) สัมมาวาจา คือ การพูดถูก โดยเลือกพูดเฉพาะในสิ่งที่เกิดบุญ ไม่เกิดบาป
          (4) สัมมากัมมันตะ คือ การทำถูก โดยเลือกทำแต่ในสิ่งที่เกิดบุญ ไม่เกิดบาป
          (5) สัมมาอาชีวะ คือ การเลี้ยงชีพถูก โดยเลือกประกอบอาชีพที่เกิดบุญ ไม่เกิดบาป
          (6) สัมมาวายามะ คือ การเพียรพยายามถูก โดยเพียรละเว้นความชั่ว เพียรทำความดี และเพียรกลั่นใจให้ผ่องใส
          (7) สัมมาสติ คือ ความระลึกถูก โดยพยายามรักษาใจให้มีความสะอาดบริสุทธิ์ในการคิด พูด และทำอยู่เป็นปกติ
          (8) สัมมาสมาธิ คือ ความตั้งมั่นถูก โดยพยายามประคับประคองในขณะทำภาวนาให้หยุดนิ่ง ณ ศูนย์กลางกายอย่างต่อเนื่องถูกส่วนเป็นปกติ จนกระทั่งเกิดความสว่างขึ้นในใจที่นำไปสู่การเห็นธรรมะที่เป็นธรรมชาติบริสุทธิ์อยู่ในตัว
 

***********************************

ขอให้เปิดตู้พระไตรปิฎกออกอ่านบ่อย ๆ เถิด

จะได้ไม่ขัดสนความรู้

ดังคำพังเพยที่ว่า มีความรู้อยู่ในสมุดสุดขัดสน

อนุโมทนาสาธุการครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น โฆษิต ควรหาเวช (kosit-dot-koanhavej-at-nectec-dot-or-dot-th) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-08-17 03:02:14


ความคิดเห็นที่ 13 (1564297)

 อนุโมทนากับคุณโฆษิตด้วยค่ะ

ได้ความรู้ขึ้นมาอีกเยอะเลย

ขออนุญาตก๊อป***เก็บไว้อ่านและเผยแพร่ด้วยนะคะ

เพิ่งมารู้ว่าจริงๆแล้วมนุษย์สมัยนั้น

ก็มีความเป็นทิพย์เหมือนกัน

ด้วยการกระทำต่างๆนาๆ กิเลสตัณหา

เลยทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมาจนถึงยุคปัจจุบัน

และไม่มีการเกิดแบบโอปปาติกเหมือนยุคก่อนอีกต่อไป

เกิดมาใช้เวร เกิดมาใช้กรรม เกิดมาสร้างบุญ

เพื่อไปบ้านที่น่าอยู่กว่าเดิมกันดีกว่าาาา

สาธุ สาธุค่าา

ผู้แสดงความคิดเห็น หญิง < นันทนา แหกาวี > ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-08-17 03:05:29


ความคิดเห็นที่ 14 (1564470)

ขออนุโมทนากับคุณโฆษิตนะคะ

ที่นำทั้งความสำคัญของพระไตรปิฎก

และเนื้อหาดี ๆ มาแบ่งปัน

ดีมาก ๆ เลยคะ ขอบพระคุณมากคะ

และขอบพระคุณอาจารย์อุบลมาก ๆ ด้วยคะ

ที่มอบแนวทางพ้นทุกข์ให้พวกเราทุกคนคะ สาธุ

ผู้แสดงความคิดเห็น พัทธ์ธีรา วังกาวันมณเฑียร (vann_ult-at-hotmail-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-08-17 21:34:18


ความคิดเห็นที่ 15 (1564530)

ทีฆนิกาย  สีลขันธวรรค

(พระไตรปิฎก เล่มที่ ๙)

 

๑.ทิฎฐิ หรือทรรศนะ คือความเห็นต่าง ๆ

    

      คราวหนึ่ง พระพุทธเจ้าพร้อมด้วยภิกษุสาวกจำนวนมากเสด็จพุทธดำเนินระหว่างเมืองราชคฤห์กับเมืองนาลันทา ปริพพาชก(นักบวชลัทธิหนึ่งสมัยพุทธกาล ตั้งสำนักอยู่ประจำบ้าง เที่ยวเร่ร่อนไปบ้าง) คนหนึ่งชื่อ สุปปิยะ กับลูกศิษย์หนุ่มชื่อ พรหมทัต ก็กำลังเดินทางเช่นเดียวกัน ทั้งสองเดินตามพระพุทธเจ้าและภิกษุสงฆ์ แต่สุปปิยปริพพาชกผู้เป็นอาจารย์กล่าวติเตียนพระพุทธเจ้า พระธรรมและพระสงฆ์ ส่วนพรหมทัตมาณพกล่าวสรรเสริญพระพุทธเจ้า พระธรรมและพระสงฆ์ อาจารย์และศิษย์ทั้งสองเดินขัดแย้งกันไปตลอดทาง

 

     ในราตรีนั้น พระพุทธเจ้าและภิกษุสงฆ์ประทับแรม ณ ตำหนักหลวงในพระราชอุทยานอัมพลัฏฐิกา(สวนมะม่วงหนุ่ม) สุปปิยปริพพาชกและศิษย์ก็พักที่นั่นเหมือนกัน และยังคงกล่าวโต้เถียงกันเช่นเดิม เวลาใกล้รุ่งวันนั้น ภิกษุสงฆ์ได้นั่งสนทนากับถึงเรื่องที่ศิษย์และอาจารย์ทั้งสองสรรเสริญและติเตียนพระรัตนตรัยอย่างไร และสนทนากับถึงคุณอันน่าอัศจรรย์ของพระพุทธเจ้าว่า ทรงรู้ทรงเห็นความที่สัตว์ทั้งหลายมีอัธยาศัยอต่างกัน (เช่นอาจารย์และศิษย์ทั้งสองนี้)

 

     พระศาสดาเสด็จมา ทรงทราบความที่ภิกษุเหล่านั้นสนทนากันแล้ว ตรัสเตือนด้วยพระเมตตาว่า "ถ้าใครกล่าวติเตียนพระพุทธเจ้า พระธรรมและพระสงฆ์ ก็อย่าโกรธเคือง อาฆาตขุ่นแค้น เพราะถ้าโกรธเคืองเสียก่อนแล้ว จะรู้ได้อย่างไรว่าเขากล่าวถูกหรือผิด อนึ่ง ถ้าใครกล่าวสรรเสริญพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ก็อย่าเพิ่งยินดี ลิงโลดใจ เพราะถ้ายินดีเสียก่อนแล้ว รีบรับเอาแล้ว จะรู้ได้อย่างไรว่าเขากล่าวถูกหรือผิด  การที่ด่วนโกรธก็ตาม ด่วนพอใจยินดีก็ตาม จะเป็นอันตรายแก่เธอทั้งหลาย ทางที่ถูกต้องก็คือ ควรพิจารณาว่าที่เขากล่าวนั้นเป็นจริงหรือไม่ แล้วชี้แจงให้เขาทราบ ให้เข้าใจตามที่เป็นจริง"

     ต่อจากนั้น  พระพุทธองค์ได้กล่าวตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ปุถุชนสรรเสริญพระองค์ก็แต่เพียงศีลเท่านั้น  ซึ่งเป็นสิ่งเล็กน้อย อันนี้หมายความว่า พระองค์ทรงมีคุณธรรมอื่น ๆ ซึ่งสูงกว่าศีลเป็นอันมาก เช่น สมาธิ ปัญญา และวิมุตติ (ความหลุดพ้นจากกิเลสทั้งปวง) เป็นต้น แต่ปุถุชนหารู้ถึงคุณธรรมเหล่านั้นไม่

 

     ทรงแสดงศีล ๓ ชั้น คือ จุลศีล มัชฌิมศีล และมหาศีล จุลศีล คือศีลอย่างหยาบ เช่น เว้นจากการฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม เป็นต้น มัชฌิมศีล คือ ศีลอย่างกลาง เช่น เว้นจากการสะสมอาหาร เครื่องนุ่งห่ม เว้นจากเดียรัจฉานกถา คือ คำเพ้อเจ้อ ไร้สาระ เป็นต้น มหาศีล คือ ศีลอย่างละเอียด เช่น เว้นจากการเลี้ยงชีพด้วยการหลอกลวงโดยวิธีการต่าง ๆ เช่น การทำนายทายทักนิมิตต่าง ๆ เป็นต้น

 

    ต่อจากนั้น พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงทิฏฐิหรือทฤษฎี หรือทรรศนะต่าง ๆ ซึ่งมีอยู่ในสมัยนั้นถึง ๖๒ ประการ บางพวกเห็นว่าโลกเที่ยง บางพวกว่าไม่เที่ยง บางพวกว่าโลกมีที่สุด มีขอบเขตจำกัด บางพวกว่าไม่มีที่สิ้นสุด คือไม่มีขอบเขตจำกัด บางพวกว่าโลกหน้ามี คือหลังจากตายแล้ว สัตว์ทั้งหลายต้องเกิดอีก บางพวกว่าไม่มี คือตายแล้วสูญ บางพวกว่ามีบ้าง ไม่มีบ้าง บางพวกว่ามีก็ไม่ใช่ ไม่มีก็ไม่ใช่

     ในพวกที่เชื่อว่าตายแล้วเกิด ยังแบ่งออกไปอีกเป็น ๒ จำพวก คือ พวกหนึ่งถือว่าเกิดเป็นอะไรก็เกิดเป็นอย่างนั้นต่อไปทุกชาติ ไม่เปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น อีกพวกหนึ่งถือว่ามีการเปลี่ยนแปลง คือ เกิดเป็นอย่างนั้นบ้าง เป็นอย่างนี้บ้าง  ไม่แน่นอน  ไม่พวกที่เห็นว่าตายแล้วสูญก็เหมือนกัน บางพวกเห็นว่าสูญหมด บางพวกเห็นว่าสูญเฉพาะบางอย่าง เช่นร่างกายสูญไป แต่จิตใจไม่สูญ เป็นต้น บางพวกเห็นว่าจิตใจ (ชีวะ) กับร่างกาย (สรีระ) เป็นอย่างเดียวกัน บางพวกเห็นว่าเป็นคนละอย่าง

 

     ทรรศนะเกี่ยวกับโลกและชีวิตในสมัยนั้นได้เป็นไปอย่างกว้างขวางมาก ได้มีการถกเถียงปัญหาอภิปรัชญา (Metaphysics) กันอย่างเอาจริงเอาจัง เอาแพ้เอาชนะกันจริง ๆ ใครถือทิฏฐิอย่างใด ก็ยึดมั่นในทิฏฐิอย่างนั้น และสั่งสอนชักชวนผู้อื่นให้มีความเห็นและปฏิบัติเช่นนั้นด้วย ตั้งเป็นคณะเป็นสำนักขึ้นมา จนถึงสมัยพุทธกาล ก็ยังมีเจ้าสำนักอยู่เป็นอันมาก แต่เมื่อจะกล่าวโดยสรุปก็พอรวมได้เป็น ๖ ประการ หรือ ๖ ลัทธิ ดังนี้

      ๑. อกิริยทิฏฐิ ความเห็นว่า "ทำก็ไม่ชื่อว่าทำ" เช่น คนทำบุญทำบาปก็ไม่ชื่อว่าทำบุญทำบาป บุญ บาปไม่มี ความดี ความชั่วไม่มี เจ้าลัทธินี้กล่าวกันว่า คือ ปูรณกัสสปะ

      ๒. อเหตุกทิฏฐิ ความเห็นว่า "ไม่มีเหตุ ไม่มีปัจจัย" สัตว์ทั้งหลายจะได้ดีได้ชั่ว ได้สุขหรือทุกข์ก็ได้เอง  ไม่ใช่ได้ดีเพราะทำเหตุดี หรือได้ชั่วเพราะทำเหตุชั่ว อนึ่ง สัตว์ทั้งหลายหลังจากท่องเที่ยวไปในสัสารวัฏ (การเวียนว่ายตายเกิด) แล้วก็บริสุทธิ์ได้เอง หลักลัทธินี้ เรียกอีกย่างหนึ่งว่า สังสารสุทธิกวาทะ เจ้าลัทธินี้ คือ มักขลิโคสาล

      ๓. นัตถิกทิฏฐิ (รวมทั้งอุจเฉททิฏฐิด้วย) ความเห็นว่า "ไม่มีผล" คือ การทำบุญทำทานไม่มีผล การบูชาไม่มีผล เจ้าลัทธินี้ คือ อชิตเกสกัมพล ท่านผู้นี้สอนเรื่องอุจเฉททิฏฐิด้วย คือเห็นว่า สัตว์ทั้งหลายตายแล้วสูญ

      ๔. สัสสตทิฏฐิ ความเห็นว่า "เที่ยง" สิ่งทั้งหลายเที่ยง ยั่งยืนอยู่อย่างนั้น เช่น โลกเที่ยง จิตเที่ยง สัตว์ทั้งหลายเคยเกิดเป็นอย่างไร ก็เป็นอย่างนั้นต่อไปตลอดกาล ดิน น้ำ ลม ไฟ เป็นของเที่ยง เจ้าลัทธินี้ คือ ปกุทธกัจจายนะ ท่านผู้นี้เห็นว่าไม่มีใครฆ่าใคร ไม่มีใครทำลายใคร เพียงแต่เอาศัสตราสอดเข้าไปในธาตุซึ่งยั่งยืนไม่มีอะไรทำลายได้

      ๕. อทราวิกเขปิกาทิฏฐิ ความเห็นที่ "ไม่แน่นอน ซัดส่าย ไหลลื่น" เหมือนปลาไหล เพราะเหตุหลายอย่าง เช่น

            ๕.๑ เพราะเกรงจะพูดปด จึงปฏิเสธว่า อย่างนี้ก็ไม่ใช่

            ๕.๒ เพราะเกรงจะเป็นการยึดถือ จึงปฏิเสธแบบข้อ ๕.๑

            ๕.๓ เพราะเกรงจะถูกซักถาม จึงปฏิเสธแบบข้อ ๕.๑

            ๕.๔ เพราะโง่เขลา จึงปฏเสธแบบข้อที่ ๕.๑ ไม่ยอมรับและไม่ยืนยันอะไรทั้งหมด

     เจ้าลัทธินี้ คือ สัญชัยเวลัฏฐบุตร (อาจารย์เดิมของพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะนั่นเอง

      ๖. อัตตกิลมถานุโยค และอเนกานตวาทะ คือ ลัทธิที่ถือการทรมานกายเป็นทางไปสู่ความพ้นทุกข์ มีความเป็นอยู่อย่างเข้มงวดกวดขันต่อร่างกาย อดข้าว อดน้ำ ตากแดด ตากลม ไม่นุ่งห่มผ้า เช่น พวกนิครนถ์ ตัวอย่างเจ้าลัทธินี้ คือ นิครนถนาฏบุตร หรือ ท่านศาสดามหาวีระ ศาสดาองค์ที่ ๒๔ ของศาสนาเชนนั่นเอง ท่านผู้นี้ยังมีหลักคำสอนแบบ "อเนกานตะวาทะ" อีกด้วย คือ เห็นว่า ความจริงมีหลายเงื่อนหลายแง่ (อเนกะ = มากหลาย + อันตะ = ปลายทางหรือที่สุด) เช่น  เรื่องหนึ่ง  เหตุการณ์หนึ่ง เมื่อพิจารณาในแง่นี้อาจจริง ถูก แต่เมื่อพิจารณาในอีกแง่หนึ่งก็ไม่จริง ไม่ถูก เป็นต้น

 

       ลัทธิทั้ง ๖ นี้ ที่เป็นศาสนายั่งยืนมาจนถึงบัดนี้ มีเพียงลัทธิเดียว คือ ลัทธิของนิครนถนาฏบุตร ที่เรารู้จักกันในปัจจุบันว่า ศาสนาเชน ยังมีผู้นับถืออยู่ในอินเดียหลายล้านคน อยู่ในฐานะเป็นศาสนาหนึ่งของอินเดีย  แต่แพร่ออกจากอินเดียไม่ได้ กล่าวกันว่า เพราะเคร่งครัดเกินไป นักบวชจะขึ้นรถลงเรือก็ไม่ได้

      ว่ากันตามความเป็นจริงแล้ว ลัทธิอีก ๕ ลัทธิ มีลัทธิของปูรณกัสสปะ เป็นต้นนั้น ไม่จะไม่อยู่ในศาสนาอย่างศาสนาเชนก็จริง แต่คนที่มีความเชื่อถือในลัทธิทั้ง ๕ นั้นก็มีประปรายอยู่ทั่วโลก และมีจำนวนไม่น้อยทีเดียว

 

      รวมความเป็นเรื่องทรรศนะเกี่ยวกับโลกและชีวิตของคนสมัยนั้นว่า ใครมีความคิดเห็นอย่างใด เลื่อมใสในลัทธิใด ด็ดำเนินชีวิตไปตามลัทธิความเชื่อนั้น (เช่นเดียวกับคนสมัยนี้) การได้เป็นเจ้าลัทธิในสมัยนั้นถือว่าเป็นศักดิ์สูงเทียบด้วยพระเจ้าแผ่นดิน (ราชา) หรือยิ่งกว่า  จึงเป็นที่กระหยิ่มของนักปราชญ์ทั้งหลายที่ใครเป็นเข้าลัทธิ ประกาศตนเป็นผู้นำหมู่ชนในวิถีชีวิตและจิตใจ

 

       ตามหลักฐานทางคัมภีร์แห่งพระพุทธศาสนามีว่า  เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นประกาศพระศาสนาแล้ว  เจ้าลัทธิทั้ง ๖ ก็อับรัศมีลงเป็นอันมาก ถึงกับมีเรื่องจ้างคนมาใส่ร้ายป้ายสีพระพุทธเจ้าอยู่หลายครั้ง เพื่อทำลายชื่อเสียงเกียรติคุณของพระพุทธองค์ แต่ก็หาสำเร็จไม่

 

     ทรรศนะเกี่ยวกับโลกและชีวิตฝ่ายพระพุทธศาสนานั้น พระพุทธองค์ทรงแสดงเป็นกลาง ๆ ว่า สิ่งทั้งหลายเกิดแต่เหตุ เมื่อเหตุดับ สิ่งที่เกิดแต่เหตุก็ย่อมดับไป เหมือนไฟซึ่งเกิดแต่เชื้อ เมื่อสิ้นเชื้อไฟก็ย่อมดับไปเป็นธรรมดา พระพุทธเจ้าทรงแสดงว่าสิ่งทั้งหลายย่อมเป็นไปตามเหตุปัจจัย เป็นปฏิจจสมุทปบาท คือ สิ่งที่อาศัยกันเกิดขึ้น (Dependent Origination or Interaction)  เป็นเหตุเป็นผลของกันและกัน (Causulity)

      เกี่ยวกับสุขทุกข์แห่งชีวิตนั้น พระพุทธเจ้าทรงแสดงสุขทุกข์ว่าเกิดแต่เหตุ เช่น ในอริยสัจ ๔ ทรงแสดงเรื่องทุกข์ เหตุแห่งทุกข์ ความดับทุกข์ (สุข) และทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์

      ในเรื่องจริยธรรม ทรงสอนให้มนุษย์เว้นจากการเบียดเบียนกัน ให้เอื้อเฟื้อช่วยเหลือกัน บำเพ็ญประโยชน์ต่อกัน เพื่ออยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุขในสังคม คนในสังคมใดปฏิบัติตามหลักที่ทรงสอนไว้นี้ สังคมนั้นก็ประสบสันติสุขตามสมควรแก่การปฏิบัติ

      พระพุทธองค์ตรัสต่อไปว่า สัตว์ทั้งหลายถูกทิฏฐิต่าง ๆ ดังกล่าวมาคล้องไว้ หมกอยู่ในทิฏฐิแล้วนั้นเหมือนปลาติดข่าย ไม่อาจดิ้นให้หลุดออกไปได้ พวกเราพอใจ ติดใจในผัสสะแห่งอายตนะต่าง ๆ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ มีความทะยานอยาก มีความยึดมั่นหรือติดใจ ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดทุกข์โทมนัสเป็นอันมาก ส่วนตถาคต (คือ องค์พระพุทธเจ้า) เป็นผู้ตัดตัณหาอันเป็นเหตุให้วนเวียนเกิดในภพน้อยภพใหญ่ได้แล้ว (จึงไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป ไม่มีทิฏฐิใด ๆ คล้องคอไว้ได้ เหมือนปลาที่หลุดออกจากข่าย ว่ายไปได้ตามปรารถนา)

      "ภิกษุทั้งหลาย กายของตถาคต ยังดำรงอยู่ตราบใด เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ย่อมยังสามารถเป็นตถาคตได้อยู่ตราบนั้น แต่เมื่อตถาคตดับขันธ์แล้ว เทวดาและมนุษย์ก็ไม่อาจเห็นตถาคตได้อีก เหมือนมะม่วงที่ติดอยู่กับขั้ว เมื่อขั้วขาดแล้ว พวงมะม่วงก็หลุด หล่นไปไม่อาจติดกันได้อีก"

      พระอานนท์รู้สึกพอใจในพระธรรมเทศนาของพระศาสดาเรื่องนี้มาก ทูลถามว่า ธรรมปริยาย (การกำหนดธรรม ขอบเขตแห่งธรรม) นี้ชื่ออะไร ตรัสตอบว่า จะเรียกธรรมปริยายนี้ว่า อรรถชาละ (ข่ายคือ อรรถหรือประโยชน์) ก็ได้ ธรรมชาละ (ข่ายคือธรรมหรือคุณความดี)ก็ได้ ทิฏฐิชาละ (ข่ายคือทิฏฐิหรือทฤษฎี)ก็ได้ สังคามวิชัย (ชัยชนะในสงคราม) อันยอดเยี่ยมก็ได้

 

ผู้แสดงความคิดเห็น พัทธ์ธีรา วังกาวันมณเฑียร (vann_ult-at-hotmail-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-08-18 12:01:03


ความคิดเห็นที่ 16 (1564590)

๒. ผลแห่งความเป็นสมณะ

     หรือผลแห่งการบำเพ็ญ

     คุณงามความดี

 

      คราวหนึ่ง  พระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ สวนมะม่วงของหมอชีวกโกมารภัจจ์ ใกล้เมืองราชคฤห์ พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์จำนวนมากถึง ๕๐๐ รูป

      คืนหนึ่งเป็นคืนขึ้น ๑๕ ค่ำ พระจันทร์เต็มดวง พระเจ้าอชาตศัตรู ราชาแห่งแคว้นมคธ  ประทับอยู่บนปราสาทชั้นบน แวดล้อมด้วยอำมาตย์ราชบริพารเป็นอันมาก  ทรงปรารภขึ้นว่า ในราตรีเช่นนี้ควรไปหาสนทนากับสมณพราหมณ์ใดดีหนอ  จึงจะทำให้จิตใจร่าเริงผ่องใสได้

       อำมาตย์ราชบริพารต่างก็กราบทูลให้เสด็จไปหาศาสดาคณาจารย์ของตนที่ตนเลื่อมใส  แต่พระราชาทรงนิ่งเสีย  ครู่หนึ่งผ่านไปจึงตรัสถามหมอชีวกโกมารภัจจ์  ซึ่งนั่งเฉยอยู่ว่า ไม่เสนอความเห็นใด ๆ บ้างหรือ  หมอชีวกจึงทูลให้เสด็จไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า (พระพุทธเจ้า) ซึ่งกำลังประทับอยู่ ณ สวนมะม่วงของตน

 

       พระเจ้าอชาตศัตรูทรงรับข้อเสนอแนะของหมอชีวก เสด็จไปเฝ้าพระศาสดาพร้อมด้วยข้าราชบริพารเป็นอันมากในคืนนั้น เมื่อเสด็จเข้าไปใกล้อัมพวัน (สวนมะม่วง) แล้ว ไม่ได้ทรงสดับเสียงใด ๆ เลย อัมพวันคงเงียบสงัดเหมือนไม่มีคนอยู่ พระราชาเกิดสะดุ้งพระทัย  ทรงหวาดกลัวและหวาดระแวงว่าหมอชีวกจะหลอกพระองค์มาปลงพระชนม์ เพื่อแก้เค้นแทนพระเจ้าพิมพิสาร จึงตรัสว่า "ชีวก ท่านไม่หลอกลวงเรานะ ท่านไม่ได้เป็นข้าศึกของเรานะ ไหนว่ามีภิกษุอยู่ด้วยกับพระศาสดาถึง ๕๐๐ ทำไมจึงไม่มีแม้แต่เสียงไอ เสียงจามอะไรเลย"

       หมอชีวกทูลยืนยันว่ามิได้หลอกลวง แต่ภิกษุสงฆ์ซึ่งอยู่กับพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นผู้สงบเสงี่ยมเรียบร้อย  เสด็จเข้าไปเถิดอย่าทรงกลัวเลย พระเจ้าอชาตศัตรูจึงแน่พระทัยและเสด็จเข้าไปเฝ้า  ได้มองเห็นความสงบเสงี่ยมเรียบร้อยของหมู่สงฆ์แล้วทรงอุทานด้วยความเลื่อมใสว่า "ขอให้อุทัยภัทท์ราชกุมารโอรสของข้าพระองค์ พึงสงบเสงี่ยมเรียบร้อยเช่นภิกษุสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าเถิด"

 

       เมื่อประทับนั่งเรียบร้อยแล้วได้ขอโอกาสทูลถามปัญหา เมื่อพระพุทธเจ้าทรงอนุญาตแล้ว จึงทูลว่า ผู้มีศิลปะทั้งหลายย่อมอาศัยศิลปะของตนเลี้ยงชีพ ทำตนให้เป็นสุข เป็นผลแห่งศิลปะที่เขามี ซึ่งเห็นได้ในปัจจุบัน ยังจะเอื้อเฟื้อแก่สมณพราหมณ์ซึ่งจะอำนวยผลให้เขามีสุขต่อไปอีกด้วย พระผู้มีพระภาคพอจะตรัสบอกผลแห่งความเป็นสมณะ (สามัญญผล) ที่เห็นในปัจจุบันได้หรือไม่

       พระพุทธองค์ตรัสถามว่า มหาบพิตรเคยตรัสถามปัญหานี้กับสมณพราหมณ์เหล่าอื่นมาบ้างหรือไม่  พระเจ้าอชาตศัตรูทูลเล่าถวายว่า ได้เคยถามครูทั้ง ๖ มีปูรณกัสสปะ เป็นต้นมาแล้ว แต่ตอบไปคนละเรื่อง คือ ปูรณกัสสปะตอบเรื่องอกิริยทิฏฐิ มักขลิโคสาลกลับตอบเรื่องอเหตุกกทิฏฐิ เป็นต้น เปรียบเทียบเมื่อถามถึงมะม่วง กลับไปตอบเรื่องขนุนหรือกาเสเสีย  ข้าพระองค์ไม่ยินดี ไม่คิดค้าน คำของครูทั้ง ๖ นั้น แต่ไม่ได้ความแจ่มแจ้งอะไรเลย

       พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงแสดงสามัญญผล คือ ผลแห่งความเป็นสมณะหรือผลแห่งการบำเพ็ญคุณงามความดีถวายพระเจ้าอชาตศัตรู ดังต่อไปนี้

       ๑. ผู้ที่เคยเป็นทาส เมื่อบวชแล้วย่อมพ้นจากความเป็นทาส และได้รับการยกย่องนับถือ เคารพกราบไหว้ ให้เกียรติ ถวายปัจจัย ๔ ด้วยความเคารพอ่อนน้อม แม้จากผู้ที่เคยเป็นนาย

       ๒. ผู้ที่เคยทำนาหรือมีอาชีพกรรมกรอย่างอื่น เมื่อบวชแล้ว ก็พ้นจากความเป็นชาวนาหรือกรรมกร และกลับเป็นที่เคารพ ยกย่องให้เกียรติของคนทุกชั้น ตั้งแต่พระราชาลงมา

      สอองประการต้นนี้เป็นผลทางโลกที่เห็นได้ในปัจจุบัน

       ๓. ผู้เป็นคหบดี หรือบุตรของคหบดี ผู้ออกบวชด้วยศรัทธา มีความเลื่อมใสในพระรัตนตรัย สำรวมในศีลดีแล้ว สมบูรณ์ด้วยศีลระดับต่าง ๆ ทั้งจุลศีล มัชฌิมศีล และมหาศีล (ดังกล่าวแล้วในเรื่องที่ ๑) แล้ว สำรวมอินทรีย์ คือ ระวังตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ มิให้ความยินดียินร้ายครอบงำได้ในเวลาเห็นรูป ฟังเสียง เป็นต้น มีสติสัมปชัญญะ (ระลึกได้และรู้ตัวอยู่เสมอในการทำ พูด คิด) มีความสันโดษ ยินดี พอใจด้วยปัจจัย ๔ ตามมีตามได้ ปลีกตนออกไปอยู่ในเสนาสนะอันสงัด บำเพ็ญสมถภาวนาทำให้ใจสงบเป็นสมาธิ ย่อมละนิวรณ์ ๕ ได้ คือ  ละกามฉันท์ (ความพอใจในกาม) พยาบาท (ความคิดปองร้ายผู้อื่น) ถีนมิทธิ (ความง่วงงุน เกียจคร้าน) อุทธัจจกุกกุจจะ (ความฟุ้งซ่านและรำคาญ) และวิจิกิจฉา (ความลังเลสงสัยในกุศลกรรม หรือคุณงามความดี) เสียได้  มีความรู้สึกปลอดโปร่งเบากาย สบายใจ เหมือนคนเคยเป็นหนี้และพ้นจากหนี้  เคยเป็นโรคที่ร้ายแรงแล้วหายจากโรค  เคยติดคุกถูกจองจำแล้วพ้นจากทุกข์ พ้นจากเครื่องจองจำ เคยเป็นทาสแล้วพ้นจากความเป็นทาส  เคยเดินทางไกลกันดารเต็มไปด้วยภัยอันตรายแล้วข้ามพ้นทางไกลกันดาร  ถึงแดนอันเกษม ปลอดภัย ย่อมมีความชื่นชมโสมนัส  ฉันใดก็ฉันนั้น ภิกษุนั้นเมื่อละนิวรณ์ ๕ ได้แล้ว ย่อมบรรลุฌานที่ ๑ อันประกอบด้วยองค์ ๕ คือ วิตก (อาการที่จิตจับอารมณ์ได้ ไม่ฟุ้งซ่านไปที่อื่น) วิจาร (อาการที่จิตเคล้าอยู่กับอารมณ์) ปีติ (ความอิ่มใจ กายเบา) สุข (ความสุขใจ) และเอกัคคตา (ความสงบนิ่งแห่งใจ ความที่ใจเป็นหนึ่ง ตั้งมั่นไม่หวั่นไหว)

       ๔. ได้บรรลุฌานที่ ๒

       ๕. ได้บรรลุฌานที่ ๓

       ๖. ได้บรรลุฌานที่ ๔

       ๗. เมื่อได้ฌานที่ ๔ แล้ว เธอย่อมน้อมจิตไปเพื่อยถาภูตญาณทัสสนะ คือ ความรู้เห็นตามเป็นจริง ย่อมรู้ชัดว่ากายนี้มีความแตกดับเป็นธรรมดาไม่ยั่งยืน ย่อมเห็นวิญญาณว่าอาศัยอยู่ในกายนี้ เหมือนคนตาดีมองเห็นเส้นด้ายสีต่าง ๆ ที่ร้อยอยู่ในแก้วใส (นี่คือวิปัสสนาญาณอันเกิดขึ้นโดยอาศัยสมาธิและญาณเป็นพื้นฐาน)

       ๘. เธอย่อมเนรมิตกายต่าง ๆ ได้ (มโนมยิทธิ)

       ๙. เธอย่อมแสดงฤทธิ์ต่าง ๆ ได้ เช่น คนเดียวทำเป็นหลายคน หลายคนทำเป็นคนเดียว เดินบนน้ำได้ ดำดินได้ เหาะได้เหมือนนก เป็นต้น (อิทธิวิธี)

       ๑๐. เธอย่อมได้หูทิพย์เหนือวิสัยของหูคนธรรมดา (ทิพยโสต)

       ๑๑. เธอย่อมกำหนดรู้ใจผู้อื่นได้ (เจโตปริยญาณ)

       ๑๒. เธอย่อมระลึกชาติได้เป็นแสน ๆ ชาติ เป็นกัป ๆ (ปุพเพนิวาสานุสติญาณ)

       ๑๓. เธอย่อมได้ทิพยจักษุหรือจุตูปปาตญาณ รู้จักความตายและความเกิดของสัตว์ทั้งหลายว่า ตามจากที่นี่แล้วไปเกิดที่ใด เพราะกรรมอะไร เป็นต้น

       ๑๔. เธอย่อมได้ญาณอันเป็นเหตุให้อาสวะ (คือกิเลสที่หมักหมมอยู่) สิ้นไป (อาสวักขยญาณ)

       

        ตั้งแต่ข้อ ๗-๑๔ รวม ๘ ข้อ เรียกว่า วิชชา๘ อันเป็นความรู้ชั้นสูงในพระพุทธศาสนา ถ้าตัดข้อ ๗ และข้อ ๘ ออก ข้อ ๙-๑๔ เรียกว่า อภิญญา๖ อภิญญาคือความรู้ยิ่งหรือความรู้พิเศษของมนุษย์ (Super natural knowledge)

       พระพุทธองค์ทรงแสดงแก่พระเจ้าอชาตศัตรูว่า นี่คือผลแห่งความเป็นสมณะ แต่ละอย่าง ๆ ค่อย ๆ สูงขึ้นไป ประณีตขึ้นไป เป็นผลที่เห็นได้ในปัจจุบัน

 

        พระเจ้าอชาตศัตรูทรงเลื่อมใส ทูลสรรเสริญพระธรรมเทศนาว่าแจ่มแจ้งยิ่งนัก เหมือนหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง ส่องประทีปในที่มืดให้ผู้มีจักษุได้เห็นรูป ทรงปฏิญาณตนเป็นอุบาสกถึงพระรัตนตรัย และทูลขอขมาโทษในการที่ทรงหลงผิด ปลงพระชมน์พระเจ้าพิมพิสาร พระราชบิดา พระศาสดาทรงรับขมาและขอให้ทรงระมัดระวังพระองค์ในการที่จะทำอะไรต่อไป ตรัสว่า การทำผิดพลาดแล้วยอมรับผิดนั้นเป็นโอกาสให้เจริญต่อไป

       เมื่อพระเจ้าอชาตศัตรูทูลลากลับไปแล้ว พระศาสดาตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า ถ้าพระราชามิได้ปลงพระชมน์พระราชบิดาแล้ว  พระองค์จักได้บรรลุโสดาปัตติผลเป็นพระโสดาบันในคราวนี้

        ภิกษุทั้งหลายชื่นชมต่อภาษิตของพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นอย่างมาก

 

        เกี่ยวกับอานิสงค์แห่งการบวชนี้ เป็นที่สนใจของคนทุกยุคทุกสมัย มาถึงสมัยนี้ บางคนมีความเห็นว่าไม่จำเป็นต้องบวชก็ได้ เพราะอยู่เป็นฆารวาสก็ศึกษาธรรมปฏิบัติธรรมได้  และบัดนี้หนังสือธรรมะก็มีแพร่หลายแล้ว การเผยแผ่ธรรมะทางสื่อสารมวลชนก็มีมาก ข้อนี้ก็จริงอยู่  แต่การบวชปลีกตนออกไปจากอารมณ์ยั่วยวนในเพศฆราวาสชั่วคราวหรือตลอดไป ก็ยังเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับบางคน นอกจากนี้การบวชยังเป็นการทดลองการครองชีวิตอีกแบบหนึ่ง ซึ่งแตกต่างจากชีวิตฆราวาสเป็นอันมาก  เป็นการฝึกฝนตนเอง  และหัดควบคุมตนเองให้อยู่ในระเบียบวินัยอันดีงาม ส่วนผลจะได้เพียงไรนั้น ขึ้นอยู่กับสถานที่บวช อุปัชฌายะ อาจารย์ เพื่อนสหธรรมมิก (ผู้ประพฤติธรรมร่วมกัน) และความเอาใจใส่ของตนเอง จริงอยู่เป็นฆราวาสก็ประพฤติธรรมได้ แต่โอกาสย่อมต่างกัน มีหลายอย่างที่เราทำได้ดีเพราะโอกาสดี ส่วนผู้ที่มีโอกาสดีแล้ว แต่ไม่ถือเอาโอกาสนั้นทำความดีให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป ก็เป็นเรื่องที่ช่วยไม่ได้

 

 

ผู้แสดงความคิดเห็น พัทธ์ธีรา วังกาวันมณเฑียร (vann_ult-at-hotmail-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-08-18 17:59:56


ความคิดเห็นที่ 17 (1564591)

เพิ่งอ่านพระไตรปิฎกไปเพียงเล็กน้อย ก็รู้สึกซาบซึ้งในความดีงามของอาจารย์อุบลยิ่งขึ้นอีกคะ เพราะสิ่งที่อาจารย์เป็น สิ่งอาจารย์ทำ และสิ่งที่อาจารย์สอน มาจากในพระไตรปิฎกทั้งหมดเลย  ขอกราบขอบพระคุณอาจารย์อุบลที่ให้โอกาสคนชั่ว บาปหนา หน้าด้าน สันดานหยาบ อย่างหนูได้มองเห็นแสงสว่างคะ

กราบขอบพระคุณพระพุทธเจ้าอย่างมากมายสูงสุด ที่ทรงเมตตาคำสอนที่ประเสริฐสุด และสงฆ์สาวกที่ได้สืบทอดพระธรรมเหล่านี้เป็นเวลานานมาก จนมาถึงพวกเรา ขอบพระคุณทุกพระองค์ที่ให้โอกาสคะ สาธุ

ผู้แสดงความคิดเห็น พัทธ์ธีรา วังกาวันมณเฑียร (vann_ult-at-hotmail-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-08-18 18:08:06


ความคิดเห็นที่ 18 (1564612)
image

 

*************************************

กราบขอบพระคุณท่านอาจารย์อุบล

คุณชนิดา คุณพัทธ์ธีรา น้องเบลล์ น้องหญิง คุณสมจิต 

และทุกท่านที่ได้มาเปิดตู้อ่านพระไตรปิฎกนี้ครับ

 

****************************

เวียนว่ายตายเกิด  

"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เปรียบเสมือนท่อนไม้ที่โยนขึ้นไปในอากาศ บางครั้งก็ตกลงทางโคน บางครั้งก็ตกลงทางกลาง บางครั้งก็ตกลงทางปลาย. สัตว์ทั้งหลายผู้มีอวิชชาเป็นเครื่องกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องผูกมัด วิ่งไป ท่องเที่ยวไปอยู่ บางครั้งก็ไปสู่โลกอื่นจากโลกนี้ บางครั้งก็มาสู่โลกนี้จากโลกอื่น. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สงสาร (การเวียนว่ายตายเกิด) นี้ มีที่สุดอันตามไปไม่พบ ไม่ปรากฏเงื่อนเบื้องต้น เบื้องปลาย ของสัตว์ผู้มีอวิชชาเป็นเครื่องกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องผูกมัด วิ่งไป ท่องเที่ยวไปอยู่. ควรเพื่อจะเบื่อหน่าย คลายกำหนัดในสังขารทั้งปวง ควรที่จะพ้นไปเสีย."

สังยุตตนิกาย นิทานวรรค ๑๖/๒๑๙

*********************************************************

วิปัสสนาแบบธรรมชาติ เพื่อหนีการ "เวียนว่ายตายเกิด"
 

คำเทศนาของหลวงพ่อพระราชพรหมยาน (หลวงพ่อฤาษีลิงดำ)

 

นักวิปัสสนาที่ยังต้องอาศัยเวลาที่สงัด ยังต้องยึดแบบนั้น ท่านว่ายังไกลมรรคผลมาก

นักวิปัสสนาที่เข้าระดับวิปัสสนาจริง

ท่านเอาธรรมชาติที่ปรากฏเฉพาะหน้าเป็นเครื่องพิจารณา

ขั้นแรกจงเข้าใจคำว่า "วิปัสสนาเสียก่อน"

คำว่า "วิปัสสนา แปลว่า รู้แจ้งเห็นจริงตามความเป็นจริง"

วิปัสสนาท่านแปลว่าอย่างนั้น หรือจะพูดเป็นภาษาไทยแท้ก็ได้ความว่า

ยอมรับนับถือกฎธรรมดา เมื่อได้ความอย่างนี้แล้วการเจริญวิปัสสนาก็ไม่มีอะไรยาก

ความจริงวิปัสสนานี้มีวิธีเจริญง่ายมาก ง่ายกว่าระดับสมาธิมาก คือ

ยกอารมณ์ให้เข้าถึงความเป็นจริง คล้อยตามความเป็นจริง ไม่ฝืนความจริง

รับรู้รับทราบตามกฎของความเป็นจริงตลอดเวลา

และไม่พยายามฝ่าฝืน "กฎของธรรมดา"เป็นอันขาด


กฎธรรมดา

กฎของธรรมดามีอย่างนี้ ไม่ว่าอะไรที่เราได้มา หรือเห็นอยู่ ตามกฎที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ก็คือ เมื่อมันเกิดมาใหม่ มันเป็นของใหม่ แต่ต่อไปมันจะค่อยๆ เก่าลงทุกทีตามวันเวลาที่ล่วงไปแล้ว ในที่สุดมันก็ต้องแตกทำลาย สิ่งที่มีชีวิตต้องตาย สิ่งที่ไม่มีชีวิตต้องผุพัง

กฎธรรมดามีเท่านี้

จะเป็นใครก็ตามแม้แต่ตัวเรา ลูกเรา หลานเรา ไม่ว่าท่านผู้วิเศษที่ไหน เป็นอย่างนี้เหมือนกันหมด จำเข้าไว้และคิดคำนึงไว้เป็นปกติ อย่าคิดเฉย พยายามทำอารมณ์จิตให้เข้าระดับจริงๆ คือคิดแล้วปลงด้วย โดยปลงว่า

ก็อะไรๆ มันไม่แน่นอนอย่างนี้ เราควรหรือที่จะยึดจะเกาะสิ่งทั้งหมดที่เห็น ที่มีอยู่และกำลังจะมีว่า มันเป็นเรา เป็นของเรา ถ้าคิดอย่างนั้นมันก็ผิดถนัด เป็นการหลอกหลอนตัวเอง เพราะมันต้องเก่า ต้องทำลาย เมื่อมันมีสภาพอย่างนี้ทั้งหมดโลก ก็การเกิดในโลกที่เต็มไปด้วยความกลับกลอกหลอกหลอนโกหกมดเท็จอย่างนี้ มีอะไรเป็นของน่ารัก น่าทะนุถนอม น่าปรารถนาบ้าง

พยายามคิดๆ ให้เห็นว่า ความจริงมันน่าเบื่อจริงๆ ไม่ว่าคนหรือสัตว์ แม้แต่วัตถุที่ไม่มีวิญญาณ หาอะไรคงสภาพไม่มี พยายามแสวงหาสะสมกันเสียพอแรงแต่แล้วก็ผิดหวัง เมื่อจะหามา เลือกแล้วเลือกอีก เอาสวยๆ งาม ที่สุดเท่าที่จะหาได้

ดูทนทานแข็งแรงที่สุดเท่าที่จะมีในโลกนี้ แล้วมีอะไรเกิดขึ้น เมื่อได้มาแล้วมันจะค่อยๆ คลายความสวยลง แล้วก็เริ่มคร่ำคร่าลงทุกวันทุกเวลา ในที่สุดก็พัง โลกคือความโกรธเต็มไปด้วยความคร่ำคร่าผุพัง น่าเบื่อหน่าย น่าเอือมระอาเป็นที่สุด ต่อมาเมื่ออาการพังทลายปรากฎทำจิตอย่าให้หวั่นไหว เพราะเราทราบแล้วว่ามันต้องเป็นอย่างนั้น ยิ้มรับความสลายตัวของทรัพย์สินด้วยอารมณ์ชื่นบาน และรับทราบมีอารมณ์

ปกติเมื่อความตายมาถึงตน มีความชื่นบานด้วยความคิดว่าดีแล้ว 

โลกที่ศิวิไลซ์ด้วยความปลิ้นปล้อนตลบตะแลง เราสิ้นชาติสิ้นภพกันที

การสิ้นลมปราณคราวนี้ เป็นการสิ้นทุกอย่าง เราจะไม่มีทุกข์อีก

เพราะเราไม่ปรารถนาความเกิดอีก ขึ้นชื่อว่าชาติภพความเกิด จะเกิดในแดนใดเราไม่ต้องการ มีสถานเดียวคือพระนิพพานเท่านั้น เป็นสถานที่เราปรารถนา ทำอารมณ์พอใจในพระนิพพานให้เป็นปกติ สร้างความรู้สึกตามกฎธรรมดา รู้เกิด รู้เสื่อม รู้สลายของของทุกชนิด

จนมีอารมณ์ปกติ ไม่หวั่นไหวในเมื่อมรณภัยมาถึง สมบัติ ญาติ บุตร สามี ภรรยา ในที่สุดแม้แต่ตัวเรา อารมณ์เป็นปกติอย่างนี้ตลอดวัน ไม่ดีใจในเมื่อมีลาภ ได้ยศ รับคำสรรเสริญ มีความสุข ไม่หวั่นไหวใน

เมื่อสิ้นลาภสิ้นยศ ถูกนินทา มีความทุกข์ เท่านี้น่าภูมิใจได้แล้ว ท่านสิ้นภาระในทุกขภัยแล้ว ต่อไปท่านมีพระนิพพานเป็นที่ไปแน่นอน นักวิปัสสนาญาณเจริญอย่างนี้โดยที่เห็นรูปกระทบตลอดวัน ท่านจึงจะนับว่าเป็นนักวิปัสสนาญาณแท้ และเข้าวิปัสสนาจริง

ถ้ายังรอวัน รอเวลาหาที่สงัดอยู่แล้ว ยังหรอกท่าน

ยังไกลคำว่า วิปัสสนามากนัก

ขอยุติวิปัสสนาตามธรรมชาติโดยย่อไว้เพียงเท่านี้
 

อ้างอิง "คู่มือนักปฏิบัติพระกรรมฐาน" ลพ.ฤาษีลิงดำ
ที่มา  เว็บพระรัตนตรัย.คอม
http://www.praruttanatri.com/book.php

***************************************************************************

 

ขอให้เปิดตู้พระไตรปิฎกออกอ่านบ่อย ๆ เถิด จะได้ไม่ขัดสนความรู้

ดังคำพังเพยที่ว่า มีความรู้อยู่ในสมุดสุดขัดสน

หัวใจของพระพุทธศาสนา คือ วิปัสสนา (ท่าน ช.)

 

 

อนุโมทนาสาธุการครับ

 

รรมะจากท่านอาจารย์อุบ

********

สมาธิ ทำให้ มีสติ จิตสงบ

แต่

วิปัสนากรรมฐาน ทำให้มีปัญญา

ฉลาด หลักแหลม

 

รู้จักพิจารณา

หาเหตุผล มองภาพได้กว้าง

กว่า ผู้มีสติ ความสุข

ความสำเร็จ

ทั้ง

ทางโลก ทางธรรม

จึงมีมากกว่า

จ ร้ า

 

แต่

พระพุทธองค์ท่านว่า

 

ก่อนจะมีปัญญาได้

 

ต้องมี สมาธิ ก่อน

 

แต่

 

ก่อนจะมีสมาธิได้

 

ต้องมีศีลก่อน

 

ถ้าขาดศีล ขาดสมาธิ

ปัญญาก็ไม่เกิด

จร้า

 

ดังนั้น

ชีวิตนี้ มันจะเอาดีได้ไง

ถ้าไร้ศีล ไร้สติ

 

อันสตรี ไม่มีศีล ก็สิ้นสวย

บุรุษด้วย ไม่มีศีล ก็สิ้นศรี

พระสงฆ์ ไม่มีศีล ก็สิ้นดี

ข้าราชการ ศีลไม่มี ก็หยาบคาย

 

หวัด ดี ค่า

ผู้แสดงความคิดเห็น โฆษิต ควรหาเวช (kosit-dot-koanhavej-at-nectec-dot-or-dot-th) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-08-18 21:14:52


ความคิดเห็นที่ 19 (1565171)

 

๓. ความประเสริฐของความรู้  และความประพฤติ

 

       สมัยหนึ่ง  พระผู้มีพระภาคเจ้า (พระพุทธเจ้า) ประทับอยู่ที่หมู่บ้านอิจฉานังคละ  อันเป็นหมู่บ้านพราหมณ์แห่งแคว้นโกศล  พร้อมด้วยภิกษุจำนวนมากประมาณ ๕๐๐ รูป

       ครั้งนั้น   พราหมณ์ผู้ใหญ่คนหนึ่งชื่อ  โปกขรสาติ  ได้รับมอบหมายจากพระเจ้าปเสนทิโกศลให้เป็นผู้ปกครองดูแลหมู่บ้านนี้ ซึ่งอยู่ใกล้เมืองอุกกัฏฐาแห่งแคว้นโกศล

       พราหมณ์โปกขรสาติได้ยินกิตติศัพท์อันดีงามของพระพุทธเจ้าฟุ้งขจรไปเป็นอันมาก อยากจะทราบความจริง จึงเรียกอัมพัฏฐมาณพ ผู้เป็นศิษย์ที่มีความรู้เป็นเยี่ยมในสำนักของตน   สั่งให้ไปเฝ้าพระพุทธเจ้า  เพื่อสืบเรื่องราวว่าทรงเก่งจริง ดีจริง ตามที่เขาเล่าลือกันหรือไม่  อัมพัฏฐมาณพรับคำของอาจารย์แล้วไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยมาณพจำนวนมาก

       ขณะนั้นมีภิกษุสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้าจำนวนมาก เดินจงกรม อยู่กลางแจ้ง  อัมพัฏฐมาณพจึงเข้าไปหา  ถามถึงพระพุทธเจ้า  แสดงความจำนงว่าจะเข้าเฝ้า  ภิกษุทั้งหลายเห็นว่าอัมพัฏฐมาณพเป็นผู้มีชื่อเสียงเป็นศิษย์คนสำคัญของโปกขรสาติ  พราหมณ์ผู้ครอบครองหมู่บ้านนี้  คงจะไม่ทำความหนักใจให้พระพุทธเจ้าเป็นแน่  จึงบอกว่าพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่นั่น (ชี้ให้ดู) เข้าไปเถิด แต่อย่ารีบร้อนเข้าไป ขอให้ทำเสียงเบา ๆ เมื่อเข้าไปใกล้ประตูแล้วพึงกระแอมเบา ๆ  เคาะประตูเบา ๆ พระผู้มีพระภาคคงจะเปิดประตูออกมาต้อนรับ อัมพัฏฐมาณพได้ทำตามนั้น

 

       เมื่อได้เข้าเฝ้าแล้ว   อัมพัฏฐมาณพมิได้แสดงอาการเคารพเท่าที่ควร เดินบ้าง ยืนบ้าง จณะสนทนากับพระผู้มีพระภาคเจ้า  พระศาสดาจึงตรัสถามว่า  เมื่อเขาสนทนากับพราหมณ์ผู้ใหญ่  ผู้เฒ่าผู้แก่เขาทำอย่างนี้หรือ  อัมพัฏฐมาณพทูลว่าไม่  เมื่อเขาสนทนากับพราหมณ์ผู้ใหญ่  เขาต้องมีความสำรวมระวัง ธรรมดาพราหมณ์ผู้เดินอยู่ควรจะสนทนากับพราหมณ์ผู้เดินอยู่  ผู้นั่งอยู่ควรจะสนทนากับพราหมณ์ผู้นั่งอยู่ (คือ มีอิริยาบถหรือท่าทาง  กิริยาอาการที่เสมอกัน แสดงความเท่าเทียมกัน) แต่เมื่อสนทนากับสมณะศีรษะโล้นอย่างพระสมณโคดม ซึ่งเป็นคนชั้นต่ำ ข้าพเจ้าก็สนทนาด้วยอาการอย่างนี้

       ผู้ความรู้สึกของพวกพราหมณ์สมัยนั้นว่า คนโกนศีรษะจนโล้นเกลี้ยงเป็นคนชั้นต่ำ เมื่ออัมพัฏฐมาณพเห็นพระพุทธเจ้ามีศีรษะโล้น  จึงเหยียดว่าเป็นคนชั่นต่ำ

 

       พระพุทธองค์ตรัสเตือนอัมพัฏฐมาณพว่า อัมพัฏฐะเองยังไม่จบพรหมจรรย์ คือ ทำความดียังไม่ถึงที่สุดแม้ใรลัทธิของพราหมณ์เอง  แต่สำคัญตนว่าเป็นผู้จบพรหมจรรย์แล้ว อย่างนี้หาควรไม่

       อัมพัฏฐมาณพโกรธมากเมื่อได้ฟังคำนี้  จึงกล่าวขู่พระผู้มีพระภาค  และด่าว่าสกุลศากยะว่าเป็นสกุลไพร่  แต่ไม่เคารพบูชาพวกพราหมณ์

 

       พระศาสดาจึงตรัสถามโดยดีว่า  สกุลศากยะเคยทำผิด ทำความไม่ดีอะไรไว้ อัมพัฏฐมาณพจึงด่าว่าเหยียดหยามถึงขนาดนี้

       อัมพัฏฐมาณพทูลว่า คราวหนึ่งเขาไปธุระบางอย่างตามคำของโปกขรสาติพราหมณ์ผู้เป็นอาจารย์ที่กรุงกบิลพัสดุ์  เขาเข้าไปในสัณฐาคาร(ห้องโถงใหญ่)ของพวกศากยะ  ครั้งนั้น ศากยกุมารเป็นอันมากนั่งอยู่ในสัณฐาคาร  เห็นเขาแล้วต่างก็สะกิดกันแหย่กันเล่นและหัวเราะ  ไม่ได้เชื้อเชิญเขาให้นั่งเลยสักนิดเดียว  นี่เป็นความผิดของของศากยะที่ไม่เคารพนับถือพราหมณ์  พวกศากยะเป็นคนชั้นต่ำ

 

       พระพุทธองค์จึงตรัสปลอบเพื่อให้อัมพัฏฐมาณพคลายความตึงเครียดลงว่า "อัมพัฏฐะ  แม้พวกนกเมื่ออยู่ในรังของมัน มันยังเล่นกันได้ตามปรารถนา ก็กรุงกบิลพัสดุ์นั้นเป็นเมืองรังของพวกศากยะ  เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องเล็กน้อย อย่าเก็บมาเป็นอารมณ์เลย

       อัมพัฏฐมาณพทูลต่อไปว่า วรรณะทั้ง ๔ คือ กษัตริย์ พราหมณ์ ไวศยะ (พ่อค้า) และศูทร(คนงาน กรรมกร) เป็นผู้บำเรอ รับใช้พราหมณ์  จึงเป็นการไม่สมควรอย่างยิ่งที่พวกศากยะซึ่งเป็นคนชั้นต่ำไม่เคารพบูชาพราหมณ์

 

       เมื่ออัมพัฏฐมาณพกล่าวอย่างนี้  พระศาสดาทรงดำริว่า อัมพัฏฐมาณพรุกรานพวกศากยะหนักนักแล้ว  ทรงประสงค์จะให้เขารู้สึกตัวสัยบ้าง  ไม่หลงตัวเองเกินไป  จึงตรัสถามว่า  ตัวเขาเองโคตร(คือสกุล) อะไร อัมพัฏฐมาณพทูลว่า กัณหายนโคตร  พระศาสดาจึงตรัสว่า ต้นสกุลของกัณหายนะเป็นบุตรของทาสีของพระเจ้าโอกากราช ซึ่งเป็นต้นสกุลของศากยะ  นางทาสีของพระเจ้าโอกการาชนั้น ชื่อ ทิสา คอยรับใช้สกุลศากยะทุกอย่าง

 

       เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดังนี้  พวกมาณพที่มาด้วยกันต่างก็ส่งเสียงอื้ออึงขึ้นว่า  พระผู้มีพระภาคไม่ควรรุกรานอัมพัฏฐมาณพว่าเป็นบุตรทาสี  เพราะว่าอัมพัฏฐมาณพเป็นผู้มีกำเนิดดี เป็นกุลบุตร สดับตรับฟังมาก  เป็นบัณฑิต  พระพุทธเจ้าตรัสว่า ถ้าคิดเช่นนั้น ก็ขอให้พวกเขานิ่งเสียให้อัมพัฏฐมาณพพูด

       พระศาสดาตรัสกับอัมพัฏฐมาณพว่า  ขอให้อัมพัฏฐตอบเอง ว่าพระองค์ตรัสถึงต้นตระกูลของเขานั้นเป็นความจริงหรือไม่  อัมพัฏฐมาณพนิ่ง พระองค์ตรัสถามถึง ๓ ครั้ง และทรงย้ำว่าขอให้ตอบเพราะไม่ใช่เวลานิ่ง ถ้าไม่ตอบคำถามซึ่งพระองค์ตรัสถามโดยชอบธรรมแล้ว ศีรษะของเขาจะแตกเป็น ๗ เสี่ยง  อัมพัฏฐมาณพจึงยอมรับว่าเป็นความจริง

       เท่านั้นเองพวกมาณพที่มาด้วยส่งเสียงอื้ออึงขึ้นอีกว่า อัมพัฏฐมาณพมีชาติสกุลไม่ดี  ไม่เป็นกุลบุตร  เป็นบุตรของทาสี พวกเขาแสดงอาการดูหมิ่นและรุกรานอัมพัฏฐมาณพ  และยอมรับว่าพระศาสดาตรัสรู้ถูกต้องเป็นธรรม

 

       เมื่อทรงเห็นเหตุการณ์เปลี่ยนไปเช่นนั้น  พระศาสดามีพระประสงค์จะช่วยเหลือแก้หน้าอัมพัฏฐมาณพไว้ด้วยพระเมตตา  จึงตรัสว่า กัณหะซึ่งเป็นต้นสกุลกัณหายนโคตรนั้น  แม้จะเป็นบุตรทาสีก็จริง แต่ก็เป็นผู้มีความเพียรพยายามไปศึกษาเล่าเรียนมนต์อันประเสริฐ (พราหมมนต์) จนสำเร็จเป็นฤาษี  กลับมาขอพระราชธิดาของพระเจ้าโอกกากราช  แต่พระเจ้าโอกกากราชไม่ทรงยินยอม  ทรงพิโรธขึ้นพระแสงศรจะยิงกัณหะ  แต่ด้วยอำนาจฤทธิ์ของกัณหะ  ทำให้พระเจ้าโอกกากราชไม่อาจแผลงศรและไม่อาจเอาพระแสงศรลงได้ คงง้างอยู่อย่างนั้น

       พวกอำมาตย์ราชบริพารเห็นเหตุการณ์เป็นเช่นนั้นก็สะดุ้ง ตกใจกลัว จึงนอบน้อมแก่กัณหะฤาษี  และขอร้องว่าอย่าได้ทำร้ายพระราชาเลย ขอให้ความสุขสวัสดีจงมีแก่พระราชาเถิด  กัณหะจึงขอให้พระราชามอบพระแสงศรแก่พระราชโอรสองค์ใหญ่เสีย  และขอให้พระราชทานพระราชธิดาชื่อมัททรูปี (ผู้มีรูปงามจนทำให้ผู้เห็นหลงใหลเมามัว) พระราชาก็ทรงพระราชทานตามคำขอร้องของฤาษี

 

       พระศาสดาตรัสกับมาณพทั้งหลายซึ่งเป็นบริวารของอัมพัฏฐมาณพว่า ฤาษีกัณหะ แม้จะเป็นบุตรทาสีก็จริง แต่ด้วยอาศัยวิทยาคุณของตน  ได้เป็นฤาษีที่สำคัญยิ่งใหญ่ในเวลานั้น

 

       พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามอัมพัฏฐมาณพต่อไปว่า  ถ้าชายเกิดในสกุลกษัตริย์  แต่งงานกับหญิงในวรรณะพราหมณ์ เมื่อมีบุตร บุตรของเขาย่อมได้ที่นั่งในหมู่พราหมณ์ (คือ พวกพราหมณ์ไม่รังเกียจ)  ย่อมมีโอกาสเข้ารับเลี้ยงในงานเลี้ยงเพื่อผู้ตาย  ย่อมมีโอกาสได้เรียนมนต์จากพราหมณ์  ไม่ถูกห้ามในเรื่องการแต่งงานกับสตรีพราหมณ์ ใช่หรือไม่ อัมพัฏฐมาณพตอบว่า ใช่  แต่ผู้ชายนั้นควรได้รับการอภิเษกเป็นกษัตริย์หรือไม่ ตอบว่า ไม่ควร เพราะเหตุไร เพราะเขาไม่บริสุทธิ์ทางฝ่ายมารดา

 

       พระศาสดาตรัสต่อไปให้อัมพัฏฐมาณพตอบตามที่เขารู้เห็นว่า สมมติว่า ชายเป็นวรรณะพราหมณ์  หญิงเป็นวรรณะกษัตริย์ เมื่อแต่งานกันแล้วมีบุตร  บุตรของเขาย่อมได้สิทธิทุกอย่างเหมือนที่กล่าวแล้ว เช่นที่นั่งในหมู่พราหมณ์เป็นต้น  จนถึงแต่งงานกับสตรีพราหมณ์ทั้งหลายได้ แต่เขาไม่ควรได้รับอภิเษกเป็นกษัตริย์ เพราะไม่บริสุทธิ์ทางฝ่ายบิดา

       ด้วยเหตุดังกล่าวมาจะเห็นได้ว่า  เมื่อเทียบหญิงกับหญิง ชายกับชายแล้ว  กษัตริย์ยังประเสริฐกว่าพราหมณ์

       คราวนี้เทียบเรื่องคน ๒ พวกถูกเนรเทศเหมือนกัน คือ พราหมณ์ที่ถูกลงโทษโกนศีรษะและถูกเนรเทศ  ย่อมไม่มีสิทธิต่าง ๆ แม้ในหมู่พราหมณ์เอง  แต่คนในวรรณะกษัตริย์ที่ถูกเนรเทศแล้ว ยังมีสิทธิทุกอย่างในหมู่พราหมณ์ได้  เช่น  ได้ที่นั่งในหมู่พราหมณ์ เป็นต้น

       แม้ในเรื่องนี้ก็พิสูจน์ได้ว่า  วรรณะกษัตริย์ประเสริฐกว่าวรรณะ พราหมณ์  แต่พระพุทธองค์ทรงเห็นด้วยกับคำกล่าวของพราหมชื่อ  สนังกุมารว่า

       สำหรับหมู่ชนที่ยังรังเกียจกันด้วยโคตร คือ ยังพงศ์เผ่า เหล่ากออยู่ กษัตริย์นับว่าประเสริฐสุด  แต่ท่านที่สมบูรณ์ด้วยวิชชา(ความรู้) และจรณะ(ความประพฤติดี)  ประเสริฐที่สุดทั้งในหมู่เทวาและมนุษย์

 

       ภาษิตนี้แสดงชัดเจนว่า  พระพุทธเจ้าทรงยกย่องความรู้และความประพฤติว่าประเสริฐกว่าชาติตระกูล  คือคนจะเกิดในวรรณะใด ตระกูลใดไม่สำคัญ  ที่สำคัญคือเขามีความรู้อย่างไร  มีความประพฤติอย่างไร  ตามหลักพระพุทธศาสนาคนจะดีหรือเลวไม่ใช่เพราะชาติตระกูล  แต่เพราะการกระทำว่าทำดีหรือทำเลวอย่างไร

       อัมพัฏฐมาณพทูลถามพระศาสดาว่า  วิชชาและจรณะนั้น เป็นอย่างไร

       พระศาสดาตอบว่า  บุคคลที่ยังถือชาติ ถือโคตร มีความทะนงตน ยังถืออาวาหะและวิวาหะ (เรื่องการแต่งงานของชายหญิง)อยู่  ชื่อว่ายังห่างไกลจากความรู้และความประพฤติอันยอดเยี่ยม ส่วนผู้ใดไม่ถือชาติ ไม่ถือโคตร  ไม่มีความทะนงตน  ไม่เกี่ยวข้องอาวาหะ วิวาหะ  ผู้นั้นย่อมบรรลุถึงความรู้และความประพฤติยอดเยี่ยม  (ในที่นี้หมายถึง ถือการแต่งงาน ว่าจะต้องแต่งกับคนตระกูลนั้นตระกูลนี้เพราะยึดมั่นในวรรณะ  เช่น พราหมณ์ต้องแต่งกับพราหมณ์ เป็นต้น)

 

       อัมพัฏฐมาณพยังไม่สู้จะเข้าใจในพระราชดำรัสของพระศาสดานัก จึงทูลถามซ้ำอีกว่า  วิชชาเป็นอย่างไร  จรณะเป็นอย่างไร (ขอให้ทรงอธิบายเพิ่มเติม) พระพุทธองค์จึงทรงแสดงจุลศีล มัชฌิมศีล และมหาศีล  ความสำรวมอินทรีย์ สติสัมปชัญญะ สันโดษ การอยู่ในเสนะสนะอันสงัด ละนิวรณ์ ๕ ได้ ได้ฌาน ๔ และวิชชา ๘ (โดยนัยที่กล่าวแล้วในเรื่องที่ ๒) นี่คือวิชชาและจรณะอันยอดเยี่ยม  ไม่มีวิชชาและจรณะอื่นจะยิ่งกว่า  ตรัสถามอัมพัฏฐมาณพว่า  ตัวเขาเองและอาจารย์มีวิชชาสมบัติและจรณสมบัติเช่นนี้หรือไม่  อัมพัฏฐมาณพทูลตอบว่าไม่มีเลย  พวกเขายังห่างไกลจากวิชชาสมบัติและจรณสมบัติอย่างนั้นอยู่เป็นอันมาก  ทั้งไม่เคยคิดเลยที่จะปฏิบัติบำรุงท่านผู้สมบูรณ์ด้วยวิชชาและจรณะ

       พระศาสดาจึงตรัสว่า  แม้โปกขรสาติพราหมณ์ผู้เป็นอาจารย์ของอัมพัฏฐมานพก็มีความผิดพลาดมากที่หลงทะนงตนว่ามีความรู้จบไตรเพท (คัมภีร์สำคัญของพราหมณ์) และดูหมิ่นเราตถาคตว่า เป็นสมณะศีรษะโล้นไม่ควรที่เขาจะสนทนาด้วย  โปกขรสาติพราหมณ์นั้น  แม้ได้ครองหมู่บ้านที่พระเจ้าปเสนทิโกศลพระราชทานให้  แต่ก็ไม่ทรงอนุญาตให้เข้าเฝ้าเฉพาะพระพักตร์  เมื่อจะทรงสนทนาด้วยยังต้องมีม่านกั้น  เมื่อเป็นเช่นนี้โปกขรสาติพราหมณ์จะทะนงตนได้อย่างไร

 

       อัมพัฏฐมาณพทูลลาพระศาสดากลับไป  โปกขรสาติพราหมณ์นั่งคอยดูอยู่แล้ว  เมื่อถามเรื่องราวต่าง ๆ แล้ว อัมพัฏฐมาณพเล่าให้อาจารย์ฟังครบถ้วนทุกประการ  โปกขรสาติพราหมณ์โกรธอัมพัฏฐมาณพที่ไปกล่าวรุกรานพระพุทธเจ้าและถูกพระพุทธเจ้าตีโต้กลับมาอย่างไม่เป็นท่าเช่นนั้น  จึงเตะอัมพัฏฐมาณพล้มลงแล้วไปเฝ้าพระพุทธเจ้ากลางคืนคืนนั้นทีเดียว  ทูลถามพระพุทธองค์ถึงเรื่องที่ศิษย์ของตนมารุกรานอย่างไร  พระพุทธองค์ตรัสตอบไปอย่างไรก็ตรงกับที่อัมพัฏฐมาณพเล่าทุกประการ  ประกอบกับเขาได้เห็นพระพุทธลักษณะอันน่าเลื่อมใสอย่างยิ่งของพระบรมครู  จึงทูลอาราธนาไปเสวยที่บ้านของตนในวันรุ่งขึ้น  พระศาสดาทรงรับอาราธนาของพราหมณ์ด้วยอาการดุษณี

 

       วันรุ่งขึ้น   พระพุทธองค์พร้อมด้วยภิกษุเสด็จไปยังบ้านของโปกขรสาติพราหมณ์  เสวยเสร็จแล้วทรงแสดงธรรมชื่อ อนุปุพพิกถา  ทรงพรรณนาเรื่อง ทาน ศีล สวรรค์ (ผลของทานและศีล) โทษของกามและอานิสงค์ของการหลีกออกจากกาม  เมื่อทรงทราบว่าโปกขรสาติพราหมณ์มีจิตสะอาด  อ่อนโยนพอจะรับพระธรรมเทสนาอันสูงขึ้นไปได้แล้ว  ก็ทรงแสดงอริยสัจ ๔ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ และมรรคมีองค์ ๘ เมื่อจบพระธรรมเทศนาโปกขรสาติพราหมณ์ได้บรรลุโสดาปัตติผล  ปฏิญาณตนถึงพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งพร้อมด้วยบริวารทั้งปวง

       ความรู้ดีและความประพฤติดีนั้น เป็นสาระสำคัญของคน คนเราจะเกิดในตระกูลใด วรรณะใด หรือมียศศักดิ์อย่างไร  แต่ถ้าขาดความรู้ดีและความประพฤติดีเสียแล้ว ก็เสื่อมความนิยมนับถือและเสื่อมเกียรติ  ในสองอย่างคือความรู้และความประพฤติก็จะเป็นคนฉลาดรอบรู้ที่ไม่น่าไว้วางใจ  เป็นอันตรายได้มาก ทั้งสองอย่างรวมกันจึงให้สำเร็จประโยชน์ได้มาก  ดังแสดงไว้ในเรื่องที่ ๔ ต่อจากเรื่องนี้ไป

 

ผู้แสดงความคิดเห็น พัทธ์ธีรา วังกาวันมณเฑียร (vann_ult-at-hotmail-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-08-21 20:40:29


ความคิดเห็นที่ 20 (1565306)
image

 

นมัสการองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระธรรม พระอริยสงฆ์

หลวงพ่อปาน หลวงพ่อพระราชพรหมยาน
สิ่งศักดิ์สิทธิ์บ้านสวนพีระมิด
ท่านท้าวมหาราชทั้งสี่ องค์ดตาจินิน
องค์ฟาโรห์ของอียิปต์
ท่านอาจารย์มงคล-ท่านอาจารย์อุบล
ที่เคารพอย่างสูงครับ
 
*************************************

กราบขอบพระคุณท่านอาจารย์อุบล

ขออนุโมทนาบุญกับคุณพัทธ์ธีราครับ

และเพื่อให้ตรงกับที่ท่านอาจารย์อุบลได้เคยเมตตาอธิบาย

ในพระสูตรเรื่องนี้ ผมกราบขอนำคำสอนของท่านอาจารย์

ที่แสดงธรรมแก่ลูกหลานในคืนวันที่ 6 ส.ค. 54 มาไว้ ณ ที่นี้ครับ

************************************************************************

พระไตรปิฏก

 

หมวด 3 ว่าด้วย

วิชา และ จรณะ

คือเรื่อง

ความรู้ และ ความประพฤติ

ที่พระพุทธองค์ทรงโปรดไว้ในกาลก่อน

ซึ่งพระพุทธองค์

มีพุทธบัญชามาในค่ำคืน

วันเสาร์ที่ 6 ส.ค.54

 

ให้ อ.อุบล นำเรื่องนี้

มาให้พวกเรา

พิจารณา

 

ด้วยเหตุว่า

ท่านเห็นว่า ประเทศชาติ

ประเทศไทย

 

คนไทย

 

เพิกเฉย

ต่อการปกป้อง

ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

 

และ

 

ยังเข้าใจธรรมะ

ของพระพุทธองค์ผิดพลาด

คลาดเคลื่อน

 

โดยเฉพาะ

ความหมาย ของคำว่า

อุเบกขา

 

ซึ่งหลายคนตีความว่า

อุเบกขา คือ เฉย ทองไม่รู้ร้อน

ไม่ทำอะไรเลย ดูความเป็นไปของเหตุการณ์

 

เหมือนกับว่า

 

หิวข้าว ก็ไม่ต้อง กินข้าว

ปล่อยให้ ท้อง มันอิ่มเอง

 

ไม่มีเงิน ก็ไม่ต้อง หาเงิน

รอให้เงิน มันมาหาเรา เอง

 

หมาจะกัด ก็ปล่อยให้ มันกัด

ไม่ต้องป้องกัน

 

คนส่วนใหญ่เข้าใจอย่างนั้น

 

จนทำให้คนเข้าใจว่า

พวกอุเบกขา

นี่นะ

 

แสนซื่อบื้อ โง่ เง่า เต่าตุ่น

 

แต่

อุเบกขา

ที่แท้จริง ในความหมาย

ของพระพุทธองค์

ไม่หวั่นไหว

คือ การที่

ใจ

ไม่ทุกข์ ไม่เศร้า ไม่เครียด

ไม่โกรธ ไม่แค้น ไม่อาฆาตร

ไม่พยาบาท  ไม่จองเวร

ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น

 

ก็ให้คิดว่า

มันเป็นธรรมดาโลก

สิ่งเหล่านี้เราเห็นมันเกิดขึ้น

มานานแล้ว ทั้งกับคนอื่น

กับคนใกล้ตัวเรา

 

กับคนที่เรารู้จัก

ไม่รู้จัก แต่ ได้ยิน ได้รู้ข่าวคราว

 

 

ดังนั้น

ทำไมสิ่งเหล่านี้

มันจะเกิดกับเราบ้างไม่ได้

 

ใจ

ของเรา

ไม่ฟูมฟาย ไม่เสียใจ

ไม่ร้องไห้ ไม่มีทุกข์ คือ แรงเสียดทานใด

ไม่มีผล ไม่มีอิทธิพล ต่อใจเรา

ได้เลยนั่นเอง

คือ

อุเบกขา

 

แต่

มิได้หมายความว่า

ให้ปล่อยชีวิต เป็น เกี๊ยลอยน้ำ

ปล่อยไปตามยะถากรรม

อันนี้ไม่ใช่อุเบกขา

 

ใครมาตีหัว ปล่อยให้ตี

อันนี้ไม่ใช่อุเบกขา

 

ใครมารุกราน พังรั้วบ้าน

ปล่อยให้พัง อันนี้ไม่ใช่อุเบกขา

 

ใครมาทำร้ายพ่อ แม่ ลูกเรา

ปล่อยให้ทำ นั่งดู นอนดู

ไม่ต่อสู้ไม่ป้องกัน

อันนี้ไม่ใช่อุเบกขา

 

ใครเข้ามา ข่มขืน ลูกเมีย

พ่อแม่พี่น้อง ปล่อยให้ข่มขืน

ยืนดู นั่งดู นอนดู ไม่ช่วย

อันนี้ ไม่ใช่อุเบกขา

 

อันนี้เรียกว่า

ปัญญาทราม ปัญญาอ่อน

นะจ๊ะพวกเรา

 

ให้ดูตัวอย่าง

พระพุทธเจ้า จากพระไตรปิฎก

(ก็ไม่ค่อยอ่านกัน...ใช่ป่าว)

 

พระพุทธเจ้า

มีมาร มีผู้รุกราน จาบจ้วง ล่วงเกิน

แม้ว่าพระองค์จะเป็น

พระพุทธเจ้า

แล้วก็ตาม

 

มาร

ของพระองค์

ไม่ได้มีแต่เทวทัตเท่านั้น

 

พระองค์

อยากให้พวกเรา

ชาวบ้านสวนพีระมิด

คิดใหม่ ทำใหม่ ชาติไทย

จึงจะรอดได้

 

พระพุทธองค์

จึงทรงให้ดู พระองค์

เป็นแบบอย่าง

 

ถ้าใครมีพระไตรปิฎก

ฉบับที่ทำให้ง่ายแล้ว ก็ให้อ่าน

หน้า 47-56 หมวด 3 นะ

********************************************

ณ บัดนี้

เบื้องบน และ ท้าวเวสสุวรรณ

มีบัญชาลงมา ให้บอกทุกคนว่า

กฎแห่งกรรม ยุติธรรมที่สุด

 

ใคร

มีปัญญาแค่ไหน

 

ชีวิต

ก็จะเป็นไป

ตามปัญญาของตน

แค่นั้น

 

พระพุทธองค์

ท่านทรงมีพุทธญาณ

เล็งแลเห็น

ผู้ที่

 

อ้างว่า

รัก เคารพ นับถือ

พระองค์

 

แต่

ไม่เคยทำตาม

แบบอย่างที่พระองค์ทำไว้

 

ที่บอกว่า

พระองค์ไม่ทุกข์

ไม่เครียด ไม่เศร้า ไม่กลัว

ไม่หนีปัญหา เผชิญทุกปัญหา

ด้วยปัญญา ด้วยจาจา

จัดการผู้ล่วงเกิน ผู้รุกราน

จนกว่าจะชนะ

เมื่อมีภัย มีศรัตรูรุกราน

 

แต่

พวกเราทุกข์

พวกเราเครียด พวกเราเศร้า

พวกเรากลัว พวกเราไม่กล้าเผชิญ

ปัญหา พวกเราไม่ใช้ปัญญา

ไม่ใช้วาจาจัดการ สั่งสอน

ผู้บุกรุก ผู้รุกราน

ไม่หยุด จนกว่าจะชนะ

 

แต่

พวกเรา

หนีปัญหา โดยเฉพาะ

ถ้าไม่ใช่ปัญหาของเรา เราไม่สน

แต่

ถ้าทุกข์นั้น ปัญหานั้น

เป็นของเรา เราก็เดือดร้อน ดิ้นรน

หาคนช่วย แค่ป่วย แค่จน

ก็ดั้นด้นไปหาคนช่วยทั่ว

แค่กลัวตาย ทั้งที่ยังไม่ตาย

ก็ดิ้นรนหาที่ปลอดภัย

เราเป็นยังไงกันแน่

หรือว่า

ใครไม่ได้เป็นอย่างนี้บ้าง

ก็ว่ามา นะจ๊ะ

 

พวกเรา

ได้แต่ทุกข์ แต่ ไม่ลงมือทำ

พวกเรา ได้แต่ เม้าท์

กันเอง แต่ ไม่มีปัญญา

เม้าท์ เพื่อ สยบ มาร

 

เรื่องนินทา เรื่องด่า

เก่ง

 

แต่พอเจอ

ศรัตรู เดินหนี ซะงั้น

ไม่ได้ใช้ปาก ที่เคยทำบาปมา

สร้างกรรมดี ลบล้างกรรมชั่ว

ด้วยการใช้ปาก สั่งสอน

อบรม คนที่หลงผิด

ให้กลับตัวกลับใจ

 

กลับท้อแท้

คิดว่าพอเขาไม่เชื่อ

ก็เลยหยุดพูดกับคนอื่นไปด้วย

 

คนนั้นไม่เชื่อ

หยุดพูดต่อน่ะ ถูกแล้ว

 

แต่ต้องไม่หยุด

ที่จะพูดกับคนอื่นอีกต่อไป

 

คิดว่า

โลกนี้ มีคนแค่ 2-3 คน

หรือไง ที่คุณต้องช่วย

 

 

ท่านพ่อ เวสสุวรรณ

ให้ถามว่า

 

ทุกครั้งที่คุณคิดอะไร

ทำอะไร

 

ขอให้ลองคิดว่า

ถ้า อ.อุบล คิดแบบคุณ

และ

ทำแบบคุณบ้าง

จะดีไหม

 

โดยเฉพาะ

คิดกับคุณ และ ทำต่อคุณ

ลองตอบซิ คนดี

*****************

คนส่วนใหญ่

คิดว่า

 

อุเบกขา

คือ

เฉย ไม่ช่วยใคร

ไม่ว่า พ่อแม่ พี่น้อง ครู

อาจารย์ ผู้มีพระคุณ

จะเดือดร้อน

 

แต่

เวลาเราเดือดร้อน

เราต้องการให้ท่านช่วย

เรา

ไม่ต้องการให้

ท่าน

อุเบกขา

กับ

เฉพาะปัญหาของเรา

 

ใครขาหักมา

อ.อุบล

ก็จะอุเบกขา

ปล่อยให้มันหักมันงอไป

เพราะ

ธรรมดา ทำกรรมมาเอง

อ.อุบล

ก็ไม่ได้ไปทำด้วย

สักหน่อย

ทำไมต้องช่วย

เพราะการช่วยนั้น

เหนื่อย

เสียเวลาทำมาหากิน

เสียความเป็นส่วนตัว

เวลาเรามีค่า

 

เงินทองที่เอามา

เลี้ยงดู มาซื้อที่ ซื้อสิ่ง

ก่อสร้าง เก็บไว้ใช้

เก็บไว้ให้ลูก

เก็บไว้

สะสมไว้ ให้ร่ำรวย

หวงแหนมันไว้ ดีกว่า

เอามาละลาย

จ่ายแจก คนอื่นทำไม

 

อย่างนี้ป่าวนะ

อุเบกขา

 

ใคร ใคร

ที่พาพ่อแม่

ญาติพี่น้องมาหา

อ.อุบล ไปยุ่งเกี่ยวอะไร

ในเมื่อ

ไม่ใช่ญาติพี่น้องเรา

ใครอยากปวดขา

ก็ปวดไป ทำกรรมมาเอง

 

ใครอยากมีหนี้สิน

ก็มีไป ก่อหนี้กันเอง

อ.อุบล ไม่ได้ไปก่อหนี้ให้

ซะหน่อย แล้วทำไม

ต้องช่วย

 

ทำไมไม่อุเบกขา

ทำไมไม่นั่ง นอน ดู

ความเป็ตอนิจจา ของผู้คน

 

สงสัย

อ.อุบล สอบตก

วิชาพระพุทธศาสนา

ที่ว่าด้วย อุเบกขา รึเปล่า

 

ใครก็ได้ตอบที

 

อ.อุบล

คนนี้ จะได้ คิดใหม่

ทำใหม่

 

ทำเหมือนกับ

หลาย หลาย คน

ที่มาหา

อ.อุบล

ที่บ้านสวนพีระมิด

นั่นแหละ

 

อ.อุบล

คงสบาย หายเหนื่อย

 

ขอบคุณ

คุณตั้ม กับ คุณแมว

ที่ขอแลกชีวิต

กับชีวิต

อ.อุบล

 

แต่เสด็จพ่อ

ท้าวเวสสุวรรณ

บอก

 

อันที่จริง

ก็อยากเอาไปอยู่หรอก

แต่ว่า

มันหน้าแก่ ปากเสีย

ไปหน่อย

 

ขาดคุณสมบัติ

 

ส่วน

นังแมวเนี่ย

มันผอมไปหน่อย

 

ขาดคุณสมบัติ

อีกเหมือนกัน

 

ดังนั้น

ไอ้ 2 คนนี้

ให้มันได้ดี ถึงที่สุด

ของความเป็นมนุษย์

จะพึงมี พึงเป็นก่อน

 

ถ้ามันไม่

 

ดีแตก ไปซะก่อน

 

มันต้อง รับบทหนัก

 

หลังภัยพิบัติ

 

ส่วนคนอื่น

 

ข้าขอบอกไว้

 

ว่า

จะมีคนที่รอด

แต่เป็นใบ้

ปาก คอ ฉีก พิการ

 

และมี ที่รอด

แต่ นิ้วขาด มือกุด

แขน ขา ขาด

 

ท่านฝากถาม

ว่า

 

ตอบข้าซิ

 

ทำบุญ ทำดี ขนาดนี้

แล้วทำไมต้อง

เป็นใบ้

นิ้วขาด มือกุด

แขนขาขาด

 

ใครตอบได้

ข้าจะให้รางวัล

จากนิ้วกุดหลายนิ้ว

เหลือ กุดแค่ นิ้วเดียว

 

ที่ว่ามานี้นะ

ไม่ใช่แต่ลูกบ้านสวนนะ

 

ทั่วโลก

จงคอยดู

คนนอกบ้านสวน

 

ก็อยู่ภายใต้กฎแห่งกรรม

เดียวกัน

 

แต่ถ้าทำดี

ผีก็คุ้ม

 

ทำชั่ว

ผีก็ พา ชั่ว สุด สุด

เทวดาไม่รักษา

 

หายนะภัยใหญ่

ใกล้เวลาแล้วนะ ลูกหลาน

อย่ามัวแต่ เห็นแก่ตัว

 

จงนึกถึงส่วนรวม

ให้มากกว่านี้

 

จงรักษาประเทศชาติ

ให้มากกว่านี้

 

จงรักษาศาสนา

ให้มากกว่านี้

 

รักษา สถาบันกษัตริย์

ให้มากกว่านี้

 

รักษา

ผู้มีพระคุณ

ให้มากกว่านี้

 

มิฉะนั้น

 

เราจะสิ้นชาติ

 

เราจะสิ้นศาสนา

 

เราจะไม่มี

ใบบุญ

ของพระมหากษัตริย์

ให้เป็นที่พึ่งพาอาศัย

คุ้มหัว คุ้มภัย

อีกต่อไป

 

เราจะไม่มี

ผู้หลักผู้ใหญ่

ที่ผู้คน(ชั่ว)เกรงใจ

 

เราเอง

ย่อมอยู่ลำบาก

ย่อมถูกละเมิด ถูกรุกราน

แผ่นดิน ย่อมลุกเป็นไฟ

ปฐพีย่อมมอดไหม้

ด้วยภัย และ ไฟ

บรรลัยกัลป์

 

แล้ว

พวกเรา

ที่มัวแต่ห่วงตัวเอง

หาแต่ประโยชน์ใส่ตัวเอง

จะอยู่กันยังไงหนอ

เมื่อวันนั้นมาถึง

(ปีหน้า 55 นี้แล้วนะ)

**************************************

อ่านตั้งแต่

หน้า 47-56 ซีคะ

 

ว่าพระพุทธเจ้า

ตอบโต้กับ มานพ ผู้มาเยือน

ด้วยพุทธพจน์ อย่างไร

 

เช่น

ตอนที่มานพพูดกับ

พระพุทธเจ้า แล้ว มานพผู้นั้น

เดินไป เดินมา ไม่นั่งลง

พระพุทธองค์

จึงทรงถามว่า

 

เวลาที่ท่านคุยกับ

ผู้หลักผู้ใหญ่ในหมู่พรามณ์

ท่านทำกิระยาอย่างนี้หรือ

 

มานพ

ตอบพระพุทธองค์ว่า

ไม่

ถ้าเขาคุยกับผู้ใหญ่ในหมู่พรามณ์

เขาจะสำรวม ถ้าผู้ใหญ่นั่ง

เขาก็จะนั่งลงพูด

 

ถ้าผู้ใหญ่เดิน เขาก็จะเดินพูด

แต่นี่เขากำลังสนทนากับ

คนหัวโล้น ชั้นต่ำ

ความคิดเห็นที่ 21 (1565370)

นมัสการองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระธรรม พระอริยสงฆ์

หลวงพ่อปาน หลวงพ่อพระราชพรหมยาน
สิ่งศักดิ์สิทธิ์บ้านสวนพีระมิด
ท่านท้าวมหาราชทั้งสี่ องค์ดตาจินิน
องค์ฟาโรห์ของอียิปต์
ท่านอาจารย์มงคล-ท่านอาจารย์อุบล
ที่เคารพอย่างสูงครับ
 
*************************************

กราบขอบพระคุณท่านอาจารย์อุบล

ขออนุโมทนาบุญกับคุณพัทธ์ธีราครับ

และเพื่อให้ตรงกับที่ท่านอาจารย์อุบลได้เคยเมตตาอธิบาย

ในพระสูตรเรื่องนี้ ผมกราบขอนำคำสอนของท่านอาจารย์

ที่แสดงธรรมแก่ลูกหลานในคืนวันที่ 6 ส.ค. 54 มาไว้ ณ ที่นี้ครับ

************************************************************************

ตอนที่มานพพูดกับ

พระพุทธเจ้า แล้ว มานพผู้นั้น

เดินไป เดินมา ไม่นั่งลง

พระพุทธองค์

จึงทรงถามว่า

 

เวลาที่ท่านคุยกับ

ผู้หลักผู้ใหญ่ในหมู่พรามณ์

ท่านทำกิระยาอย่างนี้หรือ

 

มานพ

ตอบพระพุทธองค์ว่า

ไม่

ถ้าเขาคุยกับผู้ใหญ่ในหมู่พรามณ์

เขาจะสำรวม ถ้าผู้ใหญ่นั่ง

เขาก็จะนั่งลงพูด

 

ถ้าผู้ใหญ่เดิน เขาก็จะเดินพูด

แต่นี่เขากำลังสนทนากับ

คนหัวโล้น ชั้นต่ำ

จึงไม่จำเป็นต้องสำรวม

ลองคิด แล้ว ตอบ อ.อุบล

หน่อยว่า

 

1.

พระพุทธองค์

โกรธ มานพผู้นี้หรือเปล่า

ที่แสดงท่าที ไม่เคารพพระพุทธเจ้า

 

2.

เหตุใดพระพุทธเจ้า

จึงไม่ทรงนิ่งเฉย ปล่อยให้มานพ

แสดงกิริยา เดินบ้าง นั่งบ้าง

พูดกับพระองค์ โดยไม่แสดงความเคาระ

 

แสดงว่า

พระพุทธเจ้า ไม่มีอุเบกขา

ใช่หรือไม่ ในความคิดพี่มหา

 

3.

เมื่อมานพผู้นี้

ก้าวร้าว รุกรานพระพุทธเจ้า

ด้วยวาจา พร้อมพรรคพวก

ว่าตระกูลของพระพุทธเจ้า

เป็นตระกูลชั้นต่ำ

เหตุใด

พระพุทธเจ้าจึงทรง

ถามถึง ตระกูลมานพผู้นี้ว่า

เป็น ทาสี ของตระกูลศากยะ ของ

พระพุทธเจ้ามาก่อนใช่หรือไม่

 

ที่พระพุทธเจ้า

โต้กลับ แบบ ที่ทำให้มานพ

หน้าหงาย อายพวกพ้อง นั้น

พระพุทธเจ้า ขาดเมตตา หรือว่า

ไม่มีอุเบกขาหรือเปล่า

 

เหตุใดพระพุทธเจ้า

จึงทรง ตอบโต้เช่นนั้น ช่วยตอบที

 

 

4.

เมื่อมานพผู้นี้

นิ่ง

พระพุทธเจ้าถาม 3 ครั้ง

ก็ยังไม่ตอบ พระพุทธเจ้าทรงตรัส

ว่า

ถ้าไม่ตอบ จะทำให้ศีรษะ

ของมานพผู้นี้แตก เป็น 7 เสี่ยง

เขาจึงตอบ

 

สิ่งที่พระพุทธเจ้าทำ

ลองวิเคราะห์หน่อยนะ

พระพุทธเจ้าโกรธหรือไม่

มีอุเบกขาหรือไม่

เหตุใด

 

พระองค์ ไม่ทรงนิ่งเฉย

ปล่อยให้เขาล่วงเกินพระองค์

เพื่อเป็นการแสดง อุเบกขา

 

แต่กลับ

โต้ ทุกเม็ด ไม่เคยปล่อย

ให้การจาบจ้วงล่วงเกินของผู้ใด

ผ่านเลยไป

โดยที่

พระองค์ไม่ได้สั่งสอน

เพราะอะไร

*******************

ขอให้เปิดตู้พระไตรปิฎกออกอ่านบ่อย ๆ เถิด จะได้ไม่ขัดสนความรู้

 

ดังคำพังเพยที่ว่า มีความรู้อยู่ในสมุดสุดขัดสน

หัวใจของพระพุทธศาสนา คือ วิปัสสนา (ท่าน ช.) 

อนุโมทนาสาธุการครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น โฆษิต ควรหาเวช (kosit-dot-koanhavej-at-nectec-dot-or-dot-th) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-08-23 01:11:29


ความคิดเห็นที่ 22 (1565462)

 

๔. ศีลและปัญญาอาศัยกัน

 

       สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จจาริกไปในอังคชนบท คือ แคว้นอังคะ พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ ๕๐๐ รูป เสด็จถึงเมืองจัมปาในแคว้นอังคะ ประทับอยู่ใกล้สระโบกขรณี(สระบัว) ชื่อคัคคราในนครจัมปานั้น

       สมัยนั้นเมืองจัมปากำลังเป็นเมืองมั่งคั่ง อยู่ในการปกครองของพระเจ้าพิมพิสาร  ทรงปกครองทั้งสองแคว้น คือทั้งอังคะและมคธ แต่ทรงมอบหมายให้โสณทัณฑพราหมณ์ครองนครจัมปา

       พราหมณ์และคหบดีชาวนครจัมปาได้สดับเกียรติคุณอันดีงามของพระผู้มีพระภาคเจ้า และทราบว่าเวลานี้เสด็จมายังนครจัมปา ประทับอยู่ริมสสระโบกขรณีคัคครา  จึงเดินกันไปเฝ้าพระพุทธเจ้า

 

       พราหมณ์โสณทัณฑะ  พักผ่อนอยู่บนปราสาทชั้นบนได้มองลงมา  เห็นชาวนครกำลังเดินกันเป็นกลุ่ม ๆ มุ่งหน้าไปยังสระคัคครา จึงถามผู้ใกล้ชิดว่าเขาไปทำอะไรกัน ผู้ใกล้ชิดตอบว่าพวกเขาพากันไปเฝ้าพระสมณโคดมศากยมุนี  ผู้มีพระเกียรติคุณระบือไกลว่า เป็นพระอรหันต์  ตรัสรู้เองโดยชอบ ฯลฯ

       ท่านพราหมณ์จึงให้ผู้ใกล้ชิดไปบอกประชาชนว่า  ขอให้รอก่อน พราหมณ์โสณทัณฑะจะไปด้วย  เวลานั้นมีพราหมณ์ต่างเมืองประมาณ ๕๐๐ คน มาพักอยู่ในนครจัมปาด้วยกิจธุระบางอย่าง  ได้ทราบว่าพราหมณ์โสณทัณฑะจะไปเฝ้าพระสมณโคดม  จึงพากันห้ามด้วยเหตุผลหลายประการที่ไม่ควรไปเฝ้าพระสมณะโคดม เช่น

๑.    ถ้าไปเฝ้า เกียรติยศของโสณทัณฑพราหมณ์จะเสื่อม เกียรติยศของพระสมณโคดมจักรุ่งเรือง

๒.    โสณทัณฑพราหมณ์เป็นอุภโตสุชาต  เกิดดีทั้งสองฝ่าย คือ ทั้งฝ่ายมารดาและฝ่ายบิดา ๗ ชั่วคน

๓.    โสณทัณฑพราหมณ์เป็นผู้มั่งคั่งมีทรัพย์มาก

๔.   โสณทัณฑพราหมณ์เป็นผู้คงแก่เรียน จบไตรเพท (คัมภีร์ทั้ง ๓ ของพราหมณ์)

๕.   เป็นผู้มีรูปงามน่าเลื่อมใส

๖.    เป็นผู้มีศีล

๗.   เป็นผู้มีวาจาไพเราะสละสลวย ทำให้ผู้ฟังเข้าใจเนื้อความได้ชัดเจน

๘.   เป็นอาจารย์และปาจารย์ (คืออาจารย์ของอาจารย์ หรืออาจารย์ใหญ่) ของคนหมู่มาก

๙.   เป็นผู้แก่เฒ่า  เป็นผู้ใหญ่ผ่านวัยมามาก ส่วนพระสมณโคดมยังหนุ่มอยู่

๑๐. เป็นผู้ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของพระเจ้าพิมพิสาร จอมเสนาแห่งแคว้นอังคะและมคธ

๑๑. แม้พราหมณ์ผู้ใหญ่ เช่น โปกขรสาติพราหมณ์ก็ยังเคารพนับถือและยกย่อง

๑๒. เป็นผู้ครองเมืองที่มั่งคั่งสมบูรณ์

 

       ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้แหละ  โสณทัณฑพราหมณ์จึงไม่ควรไปเฝ้าพระสมณโคดม  แต่พระสมณโคดมควรจะมาหาโสณทัณฑพราหมณ์

 

       พราหมณ์โสณทัณฑะกล่าวว่า  ข้าพเจ้าฟังท่านทั้งหลายมามากแล้ว  ขอท่านได้โปรดฟังข้าพเจ้าบ้าง  ข้าพเจ้าก็มีเหตุผลอยู่ในการที่จะไปเฝ้าพระสมณโคดม  เหตุผลของข้าพเจ้าเป็นดังนี้

๑.    พระสมณโคดมทรงเป็นอุภโตสุชาต เกิดดีทั้งฝ่ายมารดา และบิดาสืบต่อกันลงมา ๗ ชั่วคน

๒.    ทรงสละพระญาติวงศ์ออกผนวช

๓.    ทรงสละทรัพย์สินเป็นอันมากออกผนวช

๔.   ทรงกำลังหนุ่มแน่น

๕.   เมื่อพระมารดา (เลี้ยง) พระราชบิดาและพระประยูรญาติคร่ำครวญอยู่นั้น ได้เสด็จออกผนวชแล้ว

๖.    ทรงมีพระรูปงาม

๗.   ทรงสมบูรณ์ด้วยศีล มีศีลอันเป็นกุศล คือมีศีลดี

๘.   มีวาจาไพเราะ มีพระสำเนียงไพเราะ สละสลวย ผู้ฟังเข้าใจได้ดี

๙.   ทรงเป็นอาจารย์และปาจารย์ของคนหมู่มาก

๑๐. ทรงสิ้นกามราคะแล้ว

๑๑.ทรงเป็นกรรมวาที กิรินวาที  คือ ทรงรับรองเรื่องกรรม และผลของกรรม และไม่ทรงมุ่งร้ายต่อพวกพราหมณ์

๑๒. ทรงออกผนวชจากสกุลสูง คือสกุลกษัตริย์

๑๓. ทรงออกผนวชจากสกุลที่มั่งคั่ง

๑๔.ชนต่างแคว้นพากันมาทูลถามปัญหาพระองค์

๑๕. หมู่เทวาก็ยอมรับและถือพระองค์ว่าเป็นที่พึ่ง

๑๖.  ทรงมีพระเกียรติคุณระบือไกลว่าเป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ฯลฯ

๑๗. ทรงสมบูรณ์ด้วยมหาบุรุษลักษณะ ๓๒ ประการ

๑๘.  ทรงมีปกติกล่าวเชื้อเชิญ เจรจาผูกไมตรี ช่างปราศรัย มีพระพักตร์เบิกบาน

๑๙. ทรงเป็นที่เคารพรักของพุทธบริษัททั้ง ๔ ยิ่งนัก

๒๐. ทรงพำนักอยู่ ณ ที่ใด อมนุษย์ทั้งหลายในที่นั้นไม่เบียดเบียนกัน

 

                                     ฯลฯ

       เมื่อโสณทัณฑพราหมณ์กล่าวอย่างนี้จบแล้ว  พวกพราหมณ์ต่างเมืองจึงกล่าวสนับสนุนว่า  ถ้าพระสมณโคดมทรงมีพระคุณสมบัติเช่นนี้ก็ควรไปเฝ้า  แม้จะต้องเดินทางไกลถึงร้อยโยชน์  หรือจะต้องมีเสบียงติดตัวไปก็ควรทีเดียว

 

       โสณทัณฑะพราหมณ์พร้อมด้วยบริวารไปเฝ้าพระศาสดา ขณะที่เดินทางอยู่ท่านมีความวิตกอยู่ว่า ในการเข้าเฝ้าพระสมณโคดมครั้งนี้ มีเรื่องหนักใจอยู่ คือเกรงว่าจะถามปัญหาไม่ถูกต้อง หรือตอบปัญหาไม่ถูกต้อง  พระศาสดาจะทรงทักท้วงหรือติติง เมื่อเป็นเช่นนี้ก็จะขายหน้าหรือเสื่อมเสียเกียรติยศในฐานะเป็นผู้ครองบ้านครองเมือง  เมื่อเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าแล้วก็ยังคิดเช่นนี้อยู่  และคิดต่อไปว่าเมื่อเสื่อมเสียเกียรติยศก็จะเสื่อมความนิยมนับถือ และเสื่อมทรัพย์โดยลำดับ

 

       พระศาสดาทรงทราบวารจิต คือความนึกคิดในใจของพราหมณ์ จึงสนทนาปราศรัยในเรื่องง่าย  ตรัสถามเฉพาะเรื่องที่พราหมณ์ถนัด มีความชำนาญ เช่น ตรัสถามว่า บุคคลประกอบด้วยองค์คุณเท่าใดหรืออย่างไร จึงจะเรียกว่าเป็นพราหมณ์โดยสมบูรณ์

       เมื่อได้ฟังพระดำรัสถามเช่นนี้ พราหมณ์สมใจยิ่งนัก ยืดกายขึ้นมองดูบริวารของตนแล้วกราบทูลว่า

       บุคคลจะเป็นพราหมณ์โดยสมบูรณ์ต้องประกอบด้วยองค์คุณ ๕ อย่าง คือ

๑.    อุภโตสุชาต เกิดดีทั้งสองฝ่าย คือ มีมารดาบิดาเป็นพราหมณ์มาตลอด ๗ ชั่วคน (อุภโตสุชาโต)

๒.    จำมนต์ได้ (มนตธโร) คือ รอบรู้ในไตรเพท อันเป็นคัมภีร์หลักของพราหมณ์

๓.    เป็นผู้มีรูปงาม (อภิรูป) น่าเลื่อมใส

๔.   เป็นผู้มีศีล

๕.   เป็นผู้มีปัญญา

 

       พระศาสดาตรัสถามว่า องค์คุณทั้ง ๕ นี้ จะลดเสียบ้างได้หรือไม่ คือไม่ต้องครบองค์ ๕ ก็เป็นพราหมณ์ได้

       พราหมณ์ทูลตอบว่าได้ ควรลดข้อ ๓ คือข้อมีรูปงามลงได้ก่อน

       ถ้าจะลดลงอีกได้หรือไม่ พระศาสดาตรัสถาม

       ได้ พระเจ้าข้า พราหมณ์ทูลตอบ

       ลดข้อไหน

       ข้อว่าจำมนต์ได้ พระเจ้าข้า

       จะลดลงอีกได้หรือไม่

       ได้ พระเจ้าข้า

       ข้อไหน                                

       ข้ออุภโตสุชาต  พระเจ้าข้า พราหมณ์ทูลตอบ

       เป็นอันว่า  องค์คุณที่สำคัญจริง ๆ สำหรับผู้เป็นพราหมณ์คงมีเพียง ๒ ประการเท่านั้น คือ ศีลและปัญญา

 

       เมื่อโสณทัณฑพราหมณ์กล่าวเช่นนี้  พวกพราหมณ์ผู้เป็นบริวารต่างส่งเสียงอื้ออึงขึ้น ไม่เห็นด้วยและกล่าวว่า โสณทัณฑพราหมณ์กล่าวลบหลู่วรรณะ หรือลักษณะรูปร่างของพราหมณ์ กล่าวลบหลู่มนต์และลบหลู่ชาติตระกูล  คล้อยตามคำสอนของพระสมณโคดมอย่างเดียวตะพึดตะพือ

       พระศาสดาตรัสว่า ถ้าพวกเขาเห็นว่าโสณทัณฑพราหมณ์เป็นคนอ่อนการศึกษา พูดไม่ดี ไม่มีปัญญาแล้ว  ก็ขอให้โสณทัณฑะหยุดเสีย  และพวกเขานั่นแหละจงสนทนากับพระองค์  แต่ถ้าพวกเขาเห็นว่า โสณทัณฑะมีการศึกษาดี มีปัญญา ก็ขอให้พวกเขาหยุดเสีย ปล่อยให้โสณทัณฑะสนทนากับพระองค์

       พราหมณ์โสณทัณฑะได้ทูลขอร้องพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ขอพระองค์อย่าต้องลำบากใจเรื่องนี้เลย  เขาจะสนทนาในเรื่องนี้กับพวกบริวารเอง  และแล้วโสณทัณฑะก็กล่าวกับพวกพราหมณ์ผู้เป็นบริวาร โดยยกอังคกมานพหลานของตนซึ่งนั่งอยู่ในที่นั้นด้วย ขึ้นเป็นตัวอย่างว่า   อังคกมาณพเป็นผู้มีชาติดี  มีรูปงาม  จำมนต์ของพราหมณ์ได้  แต่ถ้าอังคกมาณพจะพึงเป็นคนฆ่าสัตว์  ลักทรัพย์  คบหาภรรยาของผู้อื่น  พูดเท็จและดื่มน้ำเมาแล้ว  ชาติตระกูลก็ดี ความเป็นผู้มีรูปงามก็ดี มนต์ก็ดี จะช่วยอะไรได้ (เขาก็คงเป็นคนเลวอยู่นั่นเอง) แต่ศีลและปัญญาเป็นสิ่งสำคัญซึ่งขาดไม่ได้

       พระศาสดาตรัสถามต่อไปว่า  เมื่อเหลือ ๒ ประการเช่นนี้แล้ว จะลดลงได้อีกหรือไม่  โสณทัณฑะกราบทูลว่า ลดอีกไม่ได้แล้ว  เพราะศีลและปัญญาอาศัยกัน  ศีลช่วยให้ปัญญาบริสุทธิ์  ปัญญาช่วยให้ศีลบริสุทธิ์  ศีลมีในบุคคลใด ปัญญาก็มีในบุคคลนั้น  ปัญญามีในบุคคลใด ศีลก็มีในบุคคลนั้น  ปัญญาย่อมมีแก่ผู้มีศีล และศีลย่อมมีแก่ผู้มีปัญญา  นักปราชญ์ย่อมกล่าวว่าศีลและปัญญาเป็นยอดในโลก ศีลและปัญญาอาศัยกัน ทำให้บุคคลบริสุทธิ์  เปรียบเหมือนบุคคลใช้มือล้างมือ ใช้เท้าล้างเท้า

 

       พระผู้มีพระภาคทรงเห็นด้วยกับโสณทัณฑพราหมณ์ทุกประการ แต่ตรัสถามว่าศีลเป็นอย่างไร  ปัญญาเป็นอย่างไร  ข้อมีพราหมณ์ขอให้พระผู้มีพระภาคเจ้าอธิบาย

       พระพุทธองค์จึงทางแสดงประวัติของพระองค์เล็กน้อยว่า ทรงอุบัติในโลก เพื่อประโยชน์สุขของคนหมู่มาก  ของเทวดาและมนุษย์ ทรงแสดงธรรมงามทั้งเบื้องต้น ท่ามกลางและที่สุด  ต่อมามีผู้ฟังธรรมแล้วเลื่อมใสศรัทธาออกบวชตาม  เขาเป็นผู้มีอาชีพบริสุทธิ์ ถึงพร้อมด้วยศีล สำรวมอินทรีย์ ๖ มีตา เป็นต้น ประกอบด้วย สติสัมปชัญญะ สันโดษ

       ต่อจากนั้น ทรงแสดงจุลศีล มัชฌิมศีล และมหาศีล (ดังกล่าวแล้วในเรื่องที่ ๑) ทรงแสดงวิชชา ๘ ประการ อันเป็นเครือข่ายของปัญญา ซึ่งมีสมาธิเป็นบาทฐาน (ดังกล่าวแล้วในเรื่องที่ ๒)

 

       เมื่อจบพระธรรมเทศนา  โสณทัณฑพราหมณ์ทูลสรรเสริญพระธรรมเทศนาเป็นอันมาก ปฏิญาณตนเป็นอุบาสกถึงพระรัตนตรัยตลอดชีวิต และทูลอาราธนาพระศาสดาพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์เพื่อเสวยภัตตาหารที่นิเวศน์ของตนในวันรุ่งขึ้น  พระศาสดาทรงรับอาราธนาด้วยอาการดุษณี

       วันรุ่งขึ้น  เมื่อโสณทัณฑพราหมณ์ถวายภัตตาหารพระศาสดาและภิกษุสงฆ์เรียบร้อยแล้ว  ได้กราบทูลให้ทราบเงื่อนไขบางประการที่เกี่ยวกับพระผู้มีพระภาคเจ้า คือ ตนเองนั้นเป็นผู้มียศใหญ่ เป็นผู้ครองเมือง ถ้าอยู่ท่ามกลางบริวารเมื่อเห็นพระผู้มีพระภาค ถ้าจะพึงลุกจากอาสนะต้อนรับ  บริวารก็จะดูหมิ่นเป็นเหตุให้เสื่อมยศและเสื่อมทรัพย์ เพราะฉะนั้น ถ้าเขาประคองอัญชลี (ยกมือไหว้) ก็ขอให้ทรงถือว่าเป็นการลุกจากอาสนะ (ที่นั่ง) ถ้าเขาเปลื้องผ้าโพกศีรษะออกก็ขอให้ถือว่าเป็นการอภิวาท (กราบ) ด้วยเศียรเกล้า ถ้าอยู่ในยานพาหนะและยกปฏักขึ้น ขอให้ทรงถือว่าเป็นการลงจากยาน ถ้าอยู่ในยานและลดร่ม ขอให้ทรงถือว่าเป็นการอภิวาทด้วยเศียรเกล้า เช่นกัน

 

       พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับทราบตามนั้น  และทรงแสดงธรรมให้โสณทัณฑพราหมณ์ถือเอาธรรมเป็นทางดำเนินให้อาจหาญในการละทุจริต ประพฤติสุจริต ให้ร่าเริงบันเทิงใจ แล้วเสด็จกลับ

       โสณทัณฑสูตรนี้แสดงความสำคัญของศีลและปัญญาว่าต้องอาศัยกัน  ขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ คนที่ไม่มีศีลเปรียบเหมือนบ้านเรือนที่ไม่สะอาด  คนที่ขาดปัญญาเปรียบเหมือนบ้านเรือนที่ไม่มีแสงสว่าง  ศีลทำให้กาย วาจา สะอาดหมดจด  งดงาม  สมาธิทำให้ใจสงบบริสุทธิ์ตั้งมั่น ปัญญาทำให้ใจสว่าง  รวมเป็นสะอาด สงบและสว่าง   ในพระสูตรนี้มิได้แสดงสมาธิไว้โดยตรง แต่ขอให้ทราบว่า แฝงอยู่ในปัญญาดังพุทธภาษิตว่า

       ฌาน (สมาธิ) ย่อมไม่มีแก่ผู้ไม่มีปัญญา ปัญญาไม่มีแก่ผู้ไม่มีฌาน  ฌานและปัญญามีในบุคคลใด ผู้นั้นย่อมอยู่ใกล้พระนิพพาน

       ฌาน แปลว่า ความเพ่งก็ได้  คือเพ่งพินิจโดยแยบคาย หรือความคิดเป็น   คิดถูกต้องตามที่เป็นจริง  เมื่อคิดถูกต้องก็ได้ปัญญาที่ถูกต้อง  และปัญญาที่ถูกต้องทำให้คิดถูกต้อง  ฌานและปัญญาอาศัยกันและกันอย่างนี้นำไปสู่ความดับทุกข์กับปัญหาต่าง ๆ ซึ่งเผชิญหน้ากับมนุษย์อยู่ทุกวัน ทุกเดือน ทุกปี

 

ผู้แสดงความคิดเห็น พัทธ์ธีรา วังกาวันมณเฑียร (vann_ult-at-hotmail-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-08-23 13:33:16


ความคิดเห็นที่ 23 (1565782)

 

๕. การทำความดี

     ที่ลงทุนน้อยแต่ได้ผลมาก

 

       ครั้งหนึ่ง พระพุทธเจ้าเสด็จจาริกไปในแคว้นมคธ พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่  ได้เสด็จถึงหมู่บ้านพราหมณ์ชื่อขานุมัตตะ  ประทับ ณ สวนอัมพลัฏฐิกา (สวนมะม่วงหนุ่ม) ใกล้หมู่บ้านขานุมัตตะนั่นเอง ซึ่งหมู่บ้านนี้ พระเจ้าพิมพิสารได้พระราชทานให้พราหมณ์กูฏทันตะเป็นผู้ครอบครอง

       ครั้งนั้น  พราหมณ์กูฏทันตะกำลังเตรียมบูชามหายัน  โดยการจับโคผู้ ๗๐๐ ลูกโคผู้ ๗๐๐ ลูกโคเมีย ๗๐๐ แพะ ๗๐๐ แกะ ๗๐๐ รวม ๓,๕๐๐ ตัวไปผูกไว้กับหลักเพื่อบูชายัน

       ส่วนพราหมณ์และคหบดีชาวขานุมัตตะได้สดับข่าวว่า บัดนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จมาประทับ ณ สวนอัมพลัฏฐิกาแล้ว พระองค์ทรงมีเกียรติคุณระบือไปว่าเป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ฯลฯ จึงชวนกันไปเฝ้า  เดินกันไปเป็นหมู่ ๆ พราหมณ์กูฏทันตะพักกลางวันอยู่บนปราสาท (หมายถึง บ้าน ๒ ชั้น หรือ ๓ ชั้น) ชั้นบนได้เห็นพราหมณ์และคหบดีกำลังเดินกันไปเป็นกลุ่ม ๆ จึงถามคนใกล้ชิด (ทำนองเดียวกับที่กล่าวแล้วในเรื่องโสณทัณฑพราหมณ์)

       พราหมณ์กูฏทันตะคิดว่า  พระสมณโคดมคงจะทราบมหายัญ ๓ ประการ พร้อมด้วยบริขาร ๑๖ (บริขาร คือเครื่องประกอบ) เราควรไปถามพระสมณโคดม เขาจึงไปกับชาวบ้านเหล่านั้น

       เวลานั้นมีพราหมณ์หลายร้อยคนมาพักอยู่ที่หมู่บ้านขานุมัตตะ ด้วยหวังว่าจะบริโภคมหายัญของกูฏทันตพราหมณ์ ได้พากันห้ามเขามิให้ไปเฝ้าพระพุทธเจ้าด้วยเหตุผลเดียวกับที่พราหมณ์พวกหนึ่งได้ห้ามโสณทัณฑพราหมณ์ (ในเรื่องก่อน) และกูฏทันตะก็ตอบทำนองเดียวกับที่โสณทันฑพราหมณ์ตอบ

       ตกลงว่าพราหมณ์กูฏทันตะได้ไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ขอให้ทรงแสดงธรรมเกี่ยวกับเรื่องยัญสมบัติ ๓ ประการ ซึ่งมีบริขาร ๑๖

       พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเล่าเรื่องพระเจ้ามหาวิชิตราช (กษัตริย์ในอดีต) ให้ฟังว่าทรงมั่งคั่งมาก  ทรงปรารภจะบูชายัญเพื่อให้ได้บุญกุศลอันเป็นเหตุให้สมบัติของพระองค์ยั่งยืน  เป็นประโยชน์และความสุขแก่พระองค์ตลอดไป  จึงตรัสเรียกพราหมณ์ปุโรหิต (พราหมณ์ผู้สอนธรรมในราชสำนัก) มาตรัสถามว่าจะทำอย่างไร

       พราหมณ์ปุโรหิตทูลว่า  ให้กำจัดเสี้ยนหนามของบ้านเมืองเสียก่อน  คือปราบโจรผู้ร้าย แต่วิธีปราบนั้นให้ปราบที่ต้นเหตุ คือ จัดการเศรษฐกิจให้ดี ให้ทุกคนมีพอกินพอใช้ตามสมควร  ไม่ขาดแคลนปัจจัยพื้นฐานอันเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับชีวิต  มอบข้าวเปลือกหรือพันธุ์ข้าวที่ดีแก่กสิกรผู้ขยัน มอบทุนแก่พ่อค้าวานิช  และปูนบำเหน็จแก่ข้าราชการตามโอกาสอันควร พระเจ้ามหาวิชิตราชทรงให้ทำตามคำแนะนำของพราหมณ์  ปรากฏว่าได้ผลดี ประชาชนอยู่เย็นเป็นสุข ทุกคนขวนขวายประกอบการงานตามหน้าที่ของตน ไม่มีการเบียดเบียนกัน  บ้านเมืองไม่มีเสี้ยนหนาม  ทรงปรึกษาพราหมณ์ปุโรหิตว่าจะให้ทำอย่างไรต่อไป

       พราหหมณ์ทูลแนะให้ปรึกษาหารือขอความร่วมมือในกิจการต่าง ๆ คือจะทำสิ่งใดก็ปรึกษาหารือขอความยินยอมจากกษัตริย์ผู้น้อย (อนุยนกษัตริย์) อำมาตย์ พราหมณ์ผู้ครองเมืองเล็กเมืองน้อยอยู่ รวมทั้งคหบดีผู้มั่งคั่ง เพื่อความสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน  เมื่อบุคคลเหล่านั้นเห็นด้วยแล้วจึงค่อยทรงกระทำ ทั้ง ๔ พวกนี้เรียกรวมว่า ฝ่ายอนุมัติ ๔ จัดเป็นบริขารหรือบริวารของยัญ

       องค์พระเจ้ามหาวิชิตราชเอง  ทรงประกอบด้วยพระคุณสมบัติ ๘ ประการ คือ

๑.   อุภโตสุชาต

๒.  ทรงมีรูปงาม

๓.  ทรงมั่งคั่ง

๔.  ทรงมีกำลังคน คือ สมบูรณ์ด้วยเสนาทั้ง ๔ เหล่า ซึ่งอยู่ในวินัย คอยปฏิบัติตามพระราชบัญชา ๔ เหล่า คือ กองทัพ ช้าง ม้า รถและพลเดินเท้า (ทหารราบ)

๕.  ทรงมีพระราชศรัทธา หมั่นบริจาค เป็นประดุจบ่อเป็นที่ดื่มของสมณพราหมณ์ คนกำพร้า คนเดินทาง วณิพก (คนขอทานพิการ) ยาจก (คนขอทานยาจก)

๖.  ทรงเป็นพหูสูต (ทรงศึกษามาก)

๗. ทรงทราบความหมายของข้อความที่ทรงศึกษานั้นว่าข้อนี้มีความหมายอย่างนี้ ๆ

๘. ทรงเป็นบัณฑิต เฉียบแหลม

        นี่ก็เป็นบริขาร หรือบริวารของยัญ (รวมเป็น ๑๒)

 

       ฝ่ายพราหมณ์ปุโรหิตประกอบด้วยคุณสมบัติ ๔ ประการ คือ

๑.   เป็นอุภโตสุชาต

๒.  เป็นผู้มีการศึกษาดี จำมนต์ได้ จบไตรเพท

๓.  เป็นผู้มีศีล มีความประพฤติดี

๔.  เป็นผู้มีปัญญา

       นี่ก็เป็นบริขาร หรือบริวารของยัญอีก ๔ ประการ (รวมเป็น ๑๖)

 

      ยัญญสัมปทา คือ ความสมบูรณ์แห่งยัญ ๓ ประการ คือเมื่อทรงทำมหายัญอยู่ มิได้เดือดร้อนพระทัยว่า (๑) ทรัพย์สมบัติของเราจักหมดสิ้นไป (๒) กำลังหมดเปลืองไป (๓) ได้หมดเปลืองไปแล้ว

       นี่คือยัญญสัมปทา ๓ ประการ ประกอบด้วยบริขาร ๑๖ ดังกล่าวมา

       พราหมณ์ปุโรหิตได้แสดงธรรมเพื่อกำจัดความเดือดร้อนพระทัยของพระเจ้ามหาวิชิตราช (หากพึงมี) ต่อไปว่า

       คนที่มาสู่ยัญพิธีของพระเจ้ามหาวิชิตราช  ย่อมมีทั้งคนมีศีลธรรมและคนไม่มีศีลธรรม  ในการนี้ขอให้พระราชาทรงคำนึงถึงแต่ผู้มีศีลธรรมเท่านั้น  ส่วนผู้ไม่มีศีลธรรมจักได้รับผลแห่งกรรมของเขาเอง  เพื่อความสบายพระทัยของพระราชาในการทำมหายัญ (คือ การบริจาคทาน)

       เรื่องนี้เป็นตัวอย่างอันดี สำหรับผู้บริจาคซึ่งรู้สึกตะขิดตะขวงใจในผู้รับว่าจะเป็นผู้มีศีลธรรมหรือไม่

       พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัวกับกูฏทันตพราหมณ์ต่อไปว่า พราหมณ์ปุโรหิตของพระเจ้ามหาวิชิตราชได้ทูลพระราชาว่า  เมื่อทรงบำเพ็ญมหายัญ ๓ ประการ ซึ่งมีบริขาร ๑๖ ดังกล่าวนี้แล้ว  ย่อมไม่มีใครติเตียนได้ในกรณีต่าง ๆ เช่น ทรงทำมหายันเพียงผู้เดียว มิได้ชักชวนอนุยนตกษัตริย์ เป็นต้น และติเตียนไม่ได้ในคุณสมบัติส่วนพระองค์และแม้ในคุณสมบัติของปุโรหิตของพระองค์

       พระศาสดาตรัสต่อไปว่า  ในยัญนั้นไม่ต้องฆ่าสัตว์ชนิดใด ๆ เลย ไม่ต้องตัดต้นไม่มาทำเป็นหลักยัญ เป็นต้น ไม่ต้องมีอาชญาคุกคามต่อทางกรรมกร  ไม่ต้องทำให้เขามีหน้านองด้วยน้ำตา  ร้องไห้ ทำการงานที่เขาไม่ปรารถนาทำ เพราะยัญนั้นสำเร็จได้ด้วยวัตถุเพียง เนยใส น้ำมัน เนยข้น เปรียง น้ำผึ้ง น้ำอ้อย เป็นต้น  พวกอนุยนตกษัตริย์  อำมาตย์  พราหมณ์และคหบดีผู้มั่งคั่งก็ยินดีบริจาคทานตามอย่างพระเจ้ามหาวิชิตราช

       เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว  พวกพราหมณ์บริวารของกูฏทันตะก็ส่งเสียงอื้ออึงขึ้นด้วยความยินดี  ชื่นชมพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคเจ้า  ส่วนกูฏทันตะพราหมณ์นั่งนิ่งเฉย  เมื่อถูกเพื่อนพราหมณ์ถามถึงอาการที่นั่งเฉยนั้นว่าไม่ยินดีหรืออย่างไร  เขาตอบว่ายินดีมาก  แต่กำลังคิดอยู่ว่า  พระเจ้ามหาวิชิตราชพรือพราหมณ์ปุโรหิตของพระองค์ในครั้งนั้นคนใดคนหนึ่งคือพระสมณโคดมในบัดนี้ ใช่หรือไม่  เขาทูลถามพระผู้มาพระภาคเจ้าถึงข้อสงสัยนั้น  พระพุทธองค์ตรัสว่าพราหมณ์ปุโรหิตของพระเจ้ามหาวิชิตราชในครั้งนั้นคือพระองค์เองในบัดนี้ 

       กูฏทันตะพราหมณ์ทูลถามต่อไปว่า  ยัญอย่างอื่นที่ใช้ทรัพย์น้อยกว่า  มีการตระเตรียมน้อยกว่า  แต่มีผลมากกว่ายัญสมบัติทั้ง ๓ ประการ ซึ่งมีบริขาร ๑๖ นี้มีอยู่หรือไม่

 

       พระพุทธองค์ทรงแสดงการบำเพ็ญคุณงามความดีซึ่งใช้ทรัพย์น้อย  มีการตระเตรียมน้อย  แต่มีผลมากโดยลำดับ ดังนี้

๑.  การให้ทานเป็นนิตย์  อุทิศท่านผู้มีศีล เป็นอนุกูลยัญ คือ รักษาธรรมเนียมที่ดีของตระกูลไว้  ยัญเช่นนี้ไม่มีการฆ่า  ไม่มีการเบียดเบียน  พระอรหันต์ทั้งหลายย่อมเข้าไปในยัญเช่นนี้

๒. การสร้างวิหารทาน  คือที่อยู่อาศัยถวายอุทิศสงฆ์ที่จรมาจาก ๔ ทิศ

๓.  การถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ (ไตรสรณคมน์) ว่าเป็นที่พึ่งที่ระลึก  หรือเป็นแสงสว่างนำทางชีวิต  เป็นการนำชีวิตเข้าสู่ทิศทางอันถูกต้อง  ซึ่งจะก้าวเดินไปได้อีกไกลในวิถีทางแห่งชีวิตอันถูกต้องนั้น

๔. การรักษาศีล ๕ ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์

๕. การออกบวชด้วยศรัทธา  เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยศีลของบรรพชิต

       ต่อจากนั้น  พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงจุลศีล มัชฌิมศีล และมหาศีล ฌาน ๔ และวิชชา ๘ ตามลำดับ (โดยนัยที่กล่าวแล้วในเรื่องก่อน)

 

       กูฏทันตพราหมณ์ทูลสรรเสริญพระธรรมเทศนาว่าแจ่มแจ้ง เหมือยหงายของที่คว่ำ เป็นต้น ปฏิญาณตนเป็นอุบาสกถึงพระรัตนตรัยตลอดชีวิต  สั่งให้ปล่อยสัตว์ชนิดต่าง ๆ ที่นำผูกไว้เพื่อบูชายัญทั้งหมด

       พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมแก่พราหมณ์  คือ อนุปุพพิกถา ๕ อันได้แก่ ทาน ศีล สวรรค์ (ผลของทานและศีล) กามาทีนพ (โทษของกาม) และเนกขัมมานิสงค์ (ผลดีของการออกจากกาม) ให้พราหมณ์ทีจิตใจอ่อนโยนพอสมควรแล้ว จึงทรงแสดงอริยสัจ ๔ ต่อ คือ ความจริงอันประเสริฐ ๔ ประการ ได้แก่ ทุกข์ สมุทัย (เหตุให้เกิดทุกข์) นิโรธ (ความดับทุกข์) มรรค (ข้อปฏิบัติซึ่งนำไปสู่ความดับทุกข์)

       พราหมณ์ฟังธรรมแล้วบรรลุโสดาปัตติผลเป็นโสดาบัน สิ้นความเคลือบแคลงสงสัยในคุณพระรัตนตรัย  ไม่ต้องมีผู้อื่นเป็นปัจจัยในคำสอนของพระศาสดา (คือไม่ต้องเชื่อผู้อื่นเหมือนก่อน เพราะได้เห็นด้วยตนเองแล้ว) ทูลอาราธนาพระศาสดาเพื่อเสวยภัตตาหารที่นิเวศน์ของตนในวันรุ่งขึ้น  พระผู้มีพระภาคทรงอาราธนาโดยอาการดุษณี

       วันรุ่งขึ้น  เสด็จพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ไปเสวยที่นิเวศน์ของกูฏทันตะพราหมณ์  เสร็จแล้วทรงแสดงธรรมให้พราหมณ์และบริวารสมาทาน เพื่อความอาจหาญ  ร่าเริงในการปฏิบัติธรรมยิ่ง ๆ ขึ้นไป แล้วเสด็จกลับ

 

       พระสูตรนี้  แสดงถึงสาระสำคัญแห่งการปฏิบัติที่ถูกต้องดีงามหลายอย่างทั้งทางโลกและทางธรรม เช่น

๑.   ทางกำจัดเสี้ยนหนามของบ้านเมือง ต้องกำจัดที่ต้นเหตุ เช่น จัดเศรษฐกิจให้ดี ให้ทุกคนมีงานทำ และให้คนมีศีลธรรมประจำใจ เป็นการกำจัดโจรผู้ร้ายในสังคม

๒.  ผู้ใหญ่จะทำอะไร ควรปรึกษาหารือขอความยินยอมจากผู้น้อยด้วย เพื่อเขาจะได้ร่วมมือด้วยความเต็มใจ

๓.  ผู้เป็นใหญ่ควรมีคุณสมบัติของผู้ใหญ่ มีคุณลักษณะที่ดี เป็นที่ยกย่องยอมรับของผู้น้อย

๔.  ที่ปรึกษาใกล้ชิดของผู้ใหญ่ควรเป็นคนมีศีลธรรมและมีปัญญา มีบุคลิกลักษณะน่านิยมนับถือ

๕.  การบำเพ็ญคุณงามความดีนั้น แม่มีทรัพย์น้อยก็อาจทำได้มาก ถ้าตั้งใจให้ดีและทำเป็น  ไม่ต้องมีทรัพย์เลยก็สามารถบำเพ็ญคุณงามความดีได้สูงกว่าผู้มีทรัพย์เสียอีก  ผู้ขัดสนจนทรัพย์จึงไม่ควรท้อถอยและสิ้นกำลังใจในการทำคุณงามความดี

ผู้แสดงความคิดเห็น พัทธ์ธีรา วังกาวันมณเฑียร (vann_ult-at-hotmail-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-08-24 20:51:46


ความคิดเห็นที่ 24 (1565904)

 

๖. จุดหมายปลายทาง

     แห่งพระพุทธศาสนา

 

       ครั้งหนึ่ง พระพุทธเจ้าเสด็จประทับอยู่ ณ เรือนยอด (กูฏาคารศาลา) ในป่ามหาวัน เมืองเวสาลี ครั้งนั้น พราหมณ์ผู้เป็นทูตชาวมคธและชาวโกศลมาพักอยู่ที่เมืองเวสาลี พราหมณ์ทั้งสองพวกนี้ได้สดับข่าวว่า พระผู้มีพระภาคเจ้ามาประทับอยู่ ณ ศาลาเรือนยอด ในป่ามหาวัน  พระองค์มีพระเกียรติคุณอันระบือไปไกลว่า  ทรงเป็นอรหันต์ตรัสรู้เองโดยชอบ ฯลฯ พราหมณ์ทั้งสองพวกจึงพากันไปเฝ้า ขออนุญาตพระนาคิตะซึ่งเป็นพุทธอุปัฏฐาก (อุปัฏฐาก คือ ผู้ปฏิบัติบำรุงหรือผู้รับใช้ใกล้ชิด) อยู่ในเวลานั้น  แต่พระนาคิตะบอกว่า พระผู้มีพระภาคกำลังหลีกเร้นอยู่ (คือกำลังสงบอยู่) ไม่ควรรบกวน พราหมณ์ผู้เป็นทูตทั้งสองพวกจึงอยู่คอย

       เจ้าลิจฉวี (พวกเจ้าเมืองเวสาลีเรียกกันว่า เจ้าลิจฉวี ทั้งหมด) องค์หนึ่งพระนามว่า โอฐัทธะ (แปลว่า พระโอษฐ์แข็ง พระโอษฐ์หนา) เสด็จไปพร้อมด้วยบริวารเพื่อจะเฝ้าพระผู้มีพระภาค  แต่พระนาคิตะไม่อนุญาตเช่นเดียวกัน

 

       สามเณรรูปหนึ่งชื่อ สีหะ พูดกับพระนาคิตะว่า ควรเข้าไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคเรื่องที่แขกทั้งสองคณะมาคอยเฝ้าอยู่  พระนาคิตะบอกให้สามเณรเข้าไปทูลเองถ้าสามเณรต้องการอย่างนั้น  สามเณรจึงเข้าไปกราบทูลให้ทรงทราบ พระศาสดาจึงรับสั่งให้สามเณรไปจัดที่รับรอง ณ ที่ร่มแห่งหนึ่งหลังที่ประทับของพระองค์

       เป็นอันว่า แขกทั้งสองคณะที่ได้เข้าเฝ้าเพราะความกล้าหาญและความโอบอ้อมอารีของสามเณร  โอฏฐัทธิลิจฉวีได้ทูลว่า มีลิจฉวีคนหนึ่งชื่อสุนักขัตตะเคยพูดกับท่านว่า  เขาอยู่กับพระสมณโคดมไม่ถึง ๓ ปี ก็สามารถเห็นรูปทิพย์ แต่ไม่ได้ยินเสียงทิพย์ อยากจะทูลถามพระสมณโคดมว่า ตาทิพย์ หูทิพย์ มีจริงหรือไม่ พระพุทธองค์ตรัสตอบว่า มีจริง เป็นผลต่อเนื่องของสมาธิภาวนา (คือ ทำสมาธิจนได้ฌาน ๔ แล้วน้อมจิตไปเพื่อได้ฌานทัสนะ คือ ตาทิพย์ หูทิพย์ นั้น)

       ท่านลิจฉวีผู้นั้นจึงทูลถามว่า การประพฤติพรหมจรรย์ในสำนักของพระผู้มีพระภาคก็เพื่อให้ได้สมาธิภาวนาอันมีตาทิพย์ หูทิพย์ เป็นผลเท่านั้นหรือ

       พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ไม่ใช่อย่างนั้น ความดีอย่างอื่นที่สูงกว่านี้ ประณีตกว่านี้ยังมีอยู่อีกมาก เมื่อลิจฉวีทูลถาม ก็ตรัสบอกถึงความเป็นโสดาบันเพราะละสังโยชน์ ๓ อย่างได้ เป็นสกิทาคามีเพราะละสังโยชน์ ๓ อย่างได้ และทำราคะ โทสะ โมหะ ให้เบาบางลง เป็นอนาคามีเพราะละสังโยชน์เบื้องต่ำทั้ง ๕ ได้ และเป็นพระอรหันต์เพราะละสังโยชน์เบื้องสูง ๕ อย่างได้ นี่คือคุณธรรมที่สูงกว่าประณีตกว่าสมาธิภาวนาซึ่งมีหูทิพย์ ตาทิพย์เป็นผล

       โอฏฐัทธลิจฉวีนั้นชื่อเดิมว่า มหาลิ เพราะฉะนั้น เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสเรียกเขาโดยชื่อ ก็ตรัสเรียกว่า มหาลิ มหาลิลิจฉวีได้ทูลถามต่อไปว่า มรรค หรือปฏิปทาเพื่อให้บรรลุธรรมอันสูงกว่าประณีตกว่า หรือธรรมอันเป็นไปเพื่อละสังโยชน์ ๑๐ นั้นมีอยู่อย่างไร  พระพุทธองค์ทรงแสดงอริยมรรค ประกอบด้วยองค์ ๘ คือ ความเห็นชอบ ดำริชอบ วาจาชอบ การกระทำชอบ อาชีพชอบ พยายามชอบ สติชอบ และสมาธิชอบ ว่าเป็นธรรมที่เป็นไปเพื่อละสังโยชน์ ๑๐ หรือเป็นไปเพื่อพระนิพพาน

       พระพุทธองค์ทรงเล่าให้โอฏฐัทธลิจฉวีฟังว่า  คราวหนึ่งพระองค์ประทับอยู่ที่โฆสิตารามเมืองโกสัมพี มีปริพพาชก (นักบวชลัทธิหนึ่งเที่ยวเร่ร่อนไปบ้าง ตั้งสำนักอยู่ประจำที่บ้าง) ๒ คน ชื่อ มัณฑิยะ และชาลิยะเข้าไปเฝ้า ทูลถามถึงปัญหาเรื่องชีวะกับสรีระ คือ คือ จิตกับกายเป็นอย่างเดียวกันหรือคนละอย่าง พระองค์ไม่ทรงตอบปัญหานั้นโดยตรง แต่ตรัสเล่าให้ฟังว่า พระองค์อุบัติมาในโลกเพื่อประโยชน์แก่โลกอย่างไร ทรงแสดงธรรมอันงามทั้งเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุดอย่างไร ผู้เลื่อมใสในพระธรรมเทศนาของพระองค์แล้วออกบวชตาม สำรวมในศีลทั้ง ๓ ชั้น (จุลศีล มัชฌิมศีล และมหาศีล) ได้ฌาน ๔ วิชชา ๘ (ดังกล่าวแล้ว) เมื่อเป็นเช่นนี้ ภิกษุนั้นย่อมไม่สนใจเรื่องชีวะกับสรีระว่าเป็นอย่างเดียวกันหรือไม่ (คือได้พบสิ่งที่สูงกว่าประณีตกว่าเสียแล้ว) ปริพพาชกทั้งสองก็ยอมรับเหมือนกันว่า ถ้าเป็นเช่นนั้น ผู้บวชนั้นย่อมไม่สนใจในเรื่องชีวะกับสรีระว่าเป็นอย่างเดียวกันหรือไม่ เพราะเขาได้พบสิ่งที่สูงกว่าเสียแล้ว

       เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงธรรมจบลง โอฏฐัทธลิจฉวี หรือเจ้ามหาลิทรงพอพระทัยอย่างยิ่ง เมื่อได้เวลาอันสมควรก็ทูลลากลับไป

       เรื่องนี้แสดงสาระสำคัญในทางปฏิบัติหลายอย่าง เช่น สามเณรสีหะ แม้จะเป็นสามเณรอายุยังน้อย แต่มีใจโอบอ้อมอารี รู้จักผ่อนปรนในเรื่องที่ควรผ่อนปรน เห็นใจแขกที่จะมาเฝ้าคอย จึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ทูลให้ทรงทราบ ส่วนพระองค์จะตัดสินพระทัยอย่างไรสุดแล้วแต่พระองค์เอง ปรากฏว่าได้ผลดี ผู้อยู่ใกล้ชิดผู้ใหญ่ควรรู้จักยืดหยุ่นให้พองาม ไม่ตึงเกินไปหรือหย่อนเกินไป

       อีกเรื่องหนึ่งคือ จุดหมายปลายทางของพระพุทธศาสนา ได้แก่ วิมุตติ ความหลุดพ้นจากกิเลสทั้งปวง ไม่ใช่ติดกันอยู่ที่ฤทธิ์เดช ปาฏิหาริย์ มีหูทิพย์ ตาทิพย์ เป็นต้น แม้จะได้หูทิพย์ ตาทิพย์เป็นต้นแล้ว ถ้าไม่ขวนขวายเพื่อความสิ้นกิเลสก็ถือว่ายังหลงทางอยู่ และฤทธิ์เดชเหล่านี้เป็นสิ่งเสื่อมได้ ต้องคอยระวังกันอยู่เสมอ เป็นเพียงผลพลอยได้ของการเจริญสมาธิเพื่อเป็นบาทฐานไปสู่ปัญญา และไปสู่วิมุตติความหลุดพ้นต่อไป  ถ้าได้ปัญญาและวิมุตติแล้ว อภิญญาประเภทหูทิพย์ ตาทิพย์ และฤทธิ์ต่าง ๆ ก็จะมีประโยชน์ในการเผยแพร่พระพุทธศาสนาเป็นอันมาก ใช้เป็นเครื่องมือในการฝึกผู้ที่ยังกระด้าง อวดดี มีทิฏฐิมานะแรงกล้า

       พุทธบริษัทจำนวนไม่น้อยประพฤติปฏิบัติธรรมเพียงเพื่อให้ได้หูทิพย์ ตาทิพย์เหล่านี้แล้วหลงติดอยู่ ชื่นชมกับสิ่งนั้น คนอื่น ๆ ก็พลอยชื่นชม เป็นทางไหลมาแห่งลาภสักการะและชื่อเสียง แต่หาเฉลียวใจไม่ว่า ลาภสักการะและชื่อเสียงเหล่านั้นเป็นทางไหลมาแห่งความเสื่อมของความก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรมอันสูงขึ้นไป ประณีตขึ้นไปจนสามารถทำลายกิเลสได้ เป็นอันติดตันอยู่ที่ฤทธิ์เดช ปาฏิหาริย์ และลาภสักการชื่อเสียงนั่นเอง สิ่งเหล่านี้สู้ความเป็นโสดาบันไม่ได้ แม้ไม่ต้องมีฤทธิ์ใด ๆ เลยก็ตาม

ผู้แสดงความคิดเห็น พัทธ์ธีรา วังกาวันมณเฑียร (vann_ult-at-hotmail-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-08-25 18:10:13


ความคิดเห็นที่ 25 (1565905)

 

๗. จิตกับกาย

      เป็นอย่างเดียวกันหรือไม่

 

       เรื่องของปริพพาชก ๒ คน คือ มัณฑิยะและชาลิยะเข้าไปเฝ้าทูลถามเรื่องชีวะกับสรีระ (จิตกับกาย) เป็นอย่างเดียวกันหรือไม่ ขณะที่พระพุทธองค์ประทับอยู่ที่โฆสิตาราม เมืองโกสัมพี พระพุทธองค์ตรัสกับพวกเขาอย่างที่ทรงเล่าให้โอฏฐัทธลิจฉวีฟังในเรื่องที่ ๖ แล้ว เมื่อตรัสจบลงปริพพาชกทั้งสองคือ มัณฑิยะและชาลิยะก็ชื่นชมยินดีต่อภาษิตของพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นอย่างยิ่ง

 

       ข้อสังเกตในที่นี้ก็คือ เรื่องกายกับจิตเป็นอย่างเดียวกันหรือไม่นี้ เป็นที่สนใจของนักคิดเป็นอันมาก ตั้งแต่สมัยพุทธกาลมาจนถึงบัดนี้ ยังถกเถียงกันไม่ยุติลงได้ ปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาอภิปรัชญา ซึ่งในระยะเริ่มแรกแห่งพระพุทธศาสนาพระพุทธองค์ไม่ต้องการให้เสียเวลาไปกับปัญหาเหล่านี้มากนัก ทรงเน้นเรื่องจริยธรรมมากกว่า หรือทรงสอนสิ่งที่สามารถนำมาปฏิบัติได้ทันที และเป็นประโยชน์กับชีวิตประจำวันของผู้มาถามนั่นเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งทรงสอนเรื่องทุกข์ เหตุแห่งทุกข์ ความดับทุกข์ และทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ทรงเน้นเป็นพิเศษ เพราะความทุกข์เป็นสิ่งที่มนุษย์เผชิญหน้าอยู่ทุกวัน จัดเป็นปัญหาเร่งด่วนที่จะต้องรู้ก่อนและสะสางก่อน ส่วนเรื่องโลกเที่ยงหรือไม่เที่ยง มีที่สุดหรือไม่มี ชีวะกับสรีระเป็นอันเดียวกันหรือไม่นั้น ไม่ใช่ปัญหาเร่งด่วน รู้ก็ได้ ไม่ต้องรู้ก็ได้

       เกี่ยวกับชีวะและสรีระเป็นอันเดียวกันหรือไม่ ปรัชญาตะวันตกสมัยใหม่ก็ยงถกเถียงกันอยู่เหมือนกัน กลุ่มทวินิยม(Dualism) เช่น เดคาร์ท เห็นว่ากายกับจิตแยกกันได้อย่างเด็ดขาด ส่วนกลุ่มเอกนิยม(Monism) เช่น สปิโนซา เห็นว่ากายกับจิตแยกกันไม่ได้ มันเป็นสิ่งเดียวกันที่มี ๒ อาการ เหมือนลำแสงสองลำที่พุ่งออกจากจุดเดียวกัน กลุ่มนี้หมายเอาพระเจ้าเป็นจุดเริ่มต้นหรือกำเนิดของกายและจิต  กายและจิตจึงเหมือนลำแสงสองลำที่พุ่งออกจากจุดเดียวกัน คือ พระเจ้า

       พระพุทธองค์ทรงต้องการกระตุกนักคิดทั้งหลายแม้ในสมัยพระองค์ให้หันมาสนใจปัญหาทางจริยธรรมและทางดับทุกข์ ซึ่งสามารถเห็นได้ในปัจจุบันมากกว่ามัวนั่งล้อมวงเถียงกันในปัญหาอภิปรัชญา  อันอาศัยการเก็งความจริง(Speculation) เป็นมูลฐานและถ้าใครอยากรู้จริง ๆ ก็ทรงเร่งเร้าให้รีบปฏิบัติตามมรรคมีองค์ ๘ (อย่างที่ทรงตอบปริพพาชกทั้งสองในเรื่องนี้) และทรงเร่งเร้าให้รีบเจริญวิปัสสนาทำปัญญาให้รุ่งเรืองแจ่มใส ก็จะสามารถรู้เห็นสิ่งต่าง ๆ ตามเป็นจริงได้เอง เมื่อรู้จริงแล้วก็ไม่แล่นไปติดนั่นติดนี่อันเป็นส่วนสุดโต่งด้านใดด้านหนึ่ง แต่จะเดินอยู่ในทางสายกลาง (มัชฌิมาปฏิปทา) และจะหมดความสงสัยในเรื่องชีวะกับสรีระว่าเป็นอันเดียวกันหรือไม่ไปได้เอง

ผู้แสดงความคิดเห็น พัทธ์ธีรา วังกาวันมณเฑียร (vann_ult-at-hotmail-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-08-25 18:11:56


ความคิดเห็นที่ 26 (1565906)

 

๘. ทรงบันลือสีหนาท

 

       พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับ ณ กัณณกถลมิคทายวัน (อ่านว่า กันนะ กะถะละมิคะ ทายวัน) ใกล้เมืองอุชุญญา อเจลกะ (ชีเปลือย) คนหนึ่งชื่อกัสสปเข้าไปเฝ้าถึงที่ประทับ สนทนาปราศรัยกันในเรื่องอื่น ๆ พอสมควรแล้ว  ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า เขาได้สดับมาว่า  พระสมณโคดมทรงติเตียนการบำเพ็ญตบะทุกอย่าง  ทรงคัดค้านกล่าวโทษผู้บำเพ็ญตบะทั้งปวง เป็นความจริงหรือไม่  เขาเองไม่ปรารถนาจะกล่าวตู่พระสมณโคดม  แต่ต้องการจะทราบความจริงในเรื่องนี้จากพระโอษฐ์ของพระสมณโคดมเอง

      

       ตบะที่อเจลกะกล่าวในที่นี้ คือ การเข้มงวดกับตัวเองเกินไป แบบที่พวกนักพรต หรือฤาษีชีไพรทำกันอยู่ในสมัยของพระพุทธเจ้า และพระองค์เองก็เคยทรงทดลองมาแล้ว และทรงเห็นว่าไม่ใช่ทางแห่งความหลุดพ้นจึงทรงเลิกเสีย

 

       พระพุทธองค์ตรัสตอบว่า พระองค์จะทรงติเตียนตบะโดยส่วนเดียวก็หาไม่  เพราะทรงเห็นด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ว่า ผู้บำเพ็ญตบะบางพวกตายแล้วไปสวรรค์ก็มี บางพวกตายแล้วไปอบายก็มี (อบายภูมิ = ภูมิเสื่อม ไร้ความเจริญ คือ นรก เปรต อสุรกาย เดียรัจฉาน) เขาอยู่เป็นทุกข์ในโลกนี้เพราะบุญน้อย ตายแล้วยังต้องไปอบายภูมิอีก

 

      พระพุทธองค์ตรัสต่อไปว่า เรื่องที่เกียวกับบุญกุศลและบาปอกุศลที่พระองค์ตรัสบอกตรัสสอน ตรงกับที่สมณพราหมณ์เหล่าอื่นพูดก็มี ไม่ตรงกันก็มี ที่ไม่ตรงกันจงยกไว้ก่อน  พูดเฉพาะส่วนที่ตรงกันเทียบเคียงดูว่าของใครบริสุทธิ์บริบูรณ์กว่ากัน และใครประพฤติปฏบัติได้มากกว่ากัน  เทียบครูกับครู  สาวกกับสาวก (สงฆ์) ตรัสว่า วิญญูชนในโลกนี้ (วิญญูชน คือคนที่มีความรู้ดีและความประพฤติดี) เมื่อซักไซ้ไล่เลียงสอบสวนอยู่ดังนี้ โดยมากย่อมสรรเสริญพวกเราพวกเดียวในข้อนี้

       ต่อจากนี้ทรงแสดงมรรคมีองค์ ๘ ว่าเป็นทางอันประเสริฐที่ทำให้ผู้ดำเนินรู้เอง  เห็นเองว่าพระองค์ตรัสความจริง ตรัสตามกาลอันควร  ตรัสถูกต้องตามธรรมวินัย

     

       อเจลกะทูลถามว่า  การบำเพ็ญตบะของสมณพราหมณ์หลายเหล่าหลายพวกเป็นอันมาก เช่น เป็นคนเปลือย ทอดทิ้งมารยาทอันดีงาม  เลียมือเมื่อบริโภคอาหารแทนการล้าง เป็นต้น ถือว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องหรือไม่ ทำให้เขามีคุณแห่งความเป็นสมณะ เป็นพราหมณ์ อย่างถูกต้องหรือไม่

       พระศาสดาตอบว่า  การกระทำเช่นนั้นมิได้ทำให้เขาเข้าใจ รู้แจ้งในเรื่องศีล สมาธิ และปัญญา คือเขามิได้อบรมศีล  อบรมจิต และอบรมปัญญาเลย เมื่อเป็นเช่นนี้  พวกเขาชื่อว่ายังห่างไกลคุณแห่งความเป็นสมณะและเป็นพราหมณ์  สำหรับภิกษุในพระพุทธศาสนาเจริญเมตตาจิตอันไม่มีเวร ไม่มีการเบียดเบียน บรรลุถึง เจโตวิมุตติบ้าง(การที่ใจพ้นจากกิเลสเพราะกำลังฌานข่มกิเลสไว้ ทำให้ใจเป็นอิสระจากกิเลส เหมือนบุคคลเป็นอิสระจากโจรเพราะโจรถูกจับขังไว้แล้ว) ปัญญาวิมุตติ บ้างแล้ว (การที่ใจพ้นจากกิเลสเพราะกำลังปัญญาในอริยมรรค เรียกว่า อริยมรรคปัญญา เป็นการตัดกิเลสได้เด็ดขาดไม่เกิดขึ้นอีก เหมือนโจรถูกฆ่าแล้ว ผู้ระแวงภัยเพราะโจร ย่อมรู้สึกอิสระ ปลอดโปร่งอย่างแท้จริง) ชื่อว่าเป็นสมณะบ้าง เป็นพราหมณ์บ้าง

       อเจลกะทูลว่า  คุณแห่งความเป็นสมณะและคุณแห่งความเป็นพราหมณ์อย่างที่ผู้บำเพ็ญตบะทำกันอยู่นั้นเป็นสิ่งทำได้ยาก พระพุทธองค์ตรัสว่า  ข้อนั้นเป็นธรรมดาของโลก แต่ไม่น่าจะกล่าวว่าทำได้ยากเลย  เพราะคหบดี บุตรคหบดี หรือโดยที่สุดแม้แต่หญิงรับใช้ที่มีหน้าที่ในการตักน้ำมาบำเรอนายก็ทำได้  ถ้าเขาต้องการจะทำ

 

       อเจลกะทูลถามว่า สีลสัมปทา  สมาธิสัมปทา  และปัญญาสัมปทา  คือความสมบูรณ์ด้วยศีล สมาธิ และปัญญา เป็นอย่างไร

       พระพุทธองค์ตรัสอธิบายเรื่องจุลศีล มัชฌิมศีล  และมหาศีล (ดังกล่าวแล้วในเรื่องก่อน) อินทรียสังวร สติสัมปชัญญะ สันโดษ การอยู่ในที่สงัด การได้ฌาน ๔ และวิชชา ๘ โดยละเอียดแล้ว  ตรัสว่า นี่แหละคือ สีลสัมปทา  สมาธิสัมปทา และปัญญาสัมปทา ที่ยิ่งกว่านี้ไม่มีเลย  และตรัสเอาพระองค์เองเป็นพยานว่า ไม่เห็นใครที่จะเสมอพระองค์ในเรื่องศีล สมาธิ ปัญญา และวิมุตติ อย่าว่าแต่จะมีผู้ยิ่งกว่าเลย นี่คือการบันลือสีหนาทของพระองค์ พระองค์ทรงสมบูรณ์อย่างแท้จริงด้วยอธิศีล อธิจิต อธิปัญญา และอธิวิมุตติ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา และวิมุตติอันยอดเยี่ยม

 

       พระพุทธองค์ตรัสต่อไปว่า เป็นไปได้ที่พวกเดียรถีย์ ปริพพาชก (นักบวชนอกพระพุทธศาสนา) จะพึงกล่าวว่า  พระสมณโคดมบันลือสีหนาทแต่ในที่ว่างผู้คน  ไม่ใช่ในชุมนุมบริษัท  บันลือสีหนาทอย่างไม่องอาจ  แม้จะบันลือในบริษัท บันลืออย่างองอาจ แต่เทวดาและมนุษย์มิได้ถามปัญหาท่าน ถึงถามท่านก็ตอบไม่ได้  ถ้ามีคนกล่าวอย่างนี้ ขอให้เจลกะกล่าวห้ามเสียและขอให้กล่าวว่า  พระสมณโคดมย่อมบันลือสีหนาทในชุมนุมชน  บันลืออย่างองอาจ เทวดาและมนุษย์ทูลถามปัญหากับท่าน และท่านก็สามารถตอบปัญหานั้นให้เป็นที่พอใจของเทวดาและมนุษย์เหล่านั้นได้จริง

 

       ดูก่อนกัสสป (ทรงเรียกอเจลกะโดยชื่อของเขา) ครั้งหนึ่งเราอยู่ที่ภูเขาคิชกูฏเมืองราชคฤห์ เพื่อนของท่านคนหนึ่งชื่อนิโครธปริพพาชก  ได้ถามปัญหาเรื่องตบะสำหรับกีดกันกิเลส เราได้ตอบเขา เขาฟังคำตอบแล้วปลื้มใจเหลือเกิน

       อเจลกะทูลรับว่าเป็นความจริง ใครเล่าได้ฟังคำตอบของพระพุทธองค์แล้วจะไม่ปลื้มใจ แม้ตัวเขาเองก็ปลื้มใจเหลือเกิน  และขอถึงพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งตลอดชีวิต พร้อมด้วยขอบรรพชาอุปสมบทในสำนักพระผู้มีพระภาคเจ้า

       พระพุทธองค์ตรัสว่า  ผู้ที่เคยเป็นนักบวชนอกพระพุทธศาสนามาก่อน  เมื่อประสงค์จะบรรพชาอุปสมบทในพระพุทธศาสนาจะต้องอยู่ ติตถิยปริวาส(การอบรมตน ฝึกฝนตนให้คุ้นกับธรรมเนียมของภิกษุเสียก่อน ระหว่างนั้นต้องปฏิบัติภิกษุสงฆ์ด้วย  เมื่อภิกษุทั้งหลายพอใจแล้วจึงบวชได้ แม้จะอยู่ครบ ๔ เดือนแล้ว แต่ความประพฤติไม่เป็นที่พอใจของภิกษุทั้งหลายก็ยังบวชไม่ได้ ระเบียบกฎเกณฑ์ดังกล่าวนี้ยกเว้นพระญาติของพระพุทธเจ้า ไม่ต้องอยู่ติตถิยปริวาส เป็นการที่ทรงบำเพ็ญจริยาอย่างหนึ่งเพื่อพระญาติ เรียกญาตัตถจริยา) ก่อนเป็นเวลา ๔ เดือน เมื่อพ้น ๔ เดือนแล้ว จึงจะบรรพชาอุปสมบทได้ อเจลกะทูลว่า อย่าว่าเพียง ๔ เดือนเลย แม้ ๔ ปีเขาก็จะขออยู่ เมื่อภิกษุทั้งหลายพอใจแล้วจึงค่อยให้บวช

       เป็นอันว่า อเจลกะได้บวชในพระพุทธศาสนา บวชแล้วไม่นาน ก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์องค์หนึ่ง

 

       พระสูตรนี้มีข้อพึงสังเกตพิจารณาหลายประการ คือ

       ๑. พระพุทธศาสนาไม่ส่งเสริมการเข้มงวดกับบตนเองเกินไป ที่เรียกว่า อัตตกิลมถานุโยค และการปล่อยตนให้ย่อหย่อนเกินไปที่เรียกว่า กามสุขัลลิกานุโยค แต่พระพุทธเจ้าทรงแสดงทางสายกลางหรือความพอดี การประพฤติตนอย่างเข้มงวดนั้น ถ้าไม่ประกอบด้วยศีล สมาธิ ปัญญาแล้วก็เป็นสิ่งไร้ประโยชน์  ชาวพุทธเป็นอันมากที่นิยมชมชอบกับพระสงฆ์ที่ เคร่ง ควรจะพินิจสอบสวนด้วยปัญญา และหลักพระพุทธศาสนาด้วยว่า เคร่งถูกหรือเคร่งผิด  พระประเภทอวดเคร่งเพื่อเรียกร้องความเลื่อมใส นิยมนับถือจากมหาชนก็มีอยู่

       ๒. พระพุทธองค์ทรงชี้แจงให้เห็นว่า การอยู่ด้วยเมตตาทั้งทางกาย วาจา ใจ นั่นแหละประเสริฐ กว่าการบำเพ็ญตบะอย่างเข้มงวด  ผู้ที่มีเมตตาทางกายย่อมช่วยเหลือขวนขวายในกิจธุระของผู้อื่นตามกำลังของตน  ผู้มีเมตตาทางวาจาย่อมพูดอะไร ๆ ด้วยความปรารถนาดี และผู้มีเมตตาทางใจย่อมคิดอะไร ๆ ด้วยเมตตา มีความปรารถนาดีต่อผู้อื่นอยู่เสมอ  ที่จริงเมตตานี่แหละคือตบะเผาผลาญความชั่วต่าง ๆ ได้มากมาย

       ๓. เรื่องที่พระองค์ทรงบันลือสีหนาทว่า  พระองค์ทรงสมบูรณ์ด้วยอธิศีล อธิจิต อธิปัญญา และอธิวิมุตติ  ไม่มีใครเสมอเหมือน  อย่าว่าแต่จะยิ่งกว่าเลยนั้น ผู้ไม่เข้าใจพระองค์อาจคิดไปว่า ทรงอวดตัวและยกตนข่มผู้อื่น  แต่อันที่จริงกิเลสอย่างนั้นของพระองค์ไม่มีแล้ว  ทรงแสดงออกตามที่เป็นจริง  ทรงเปิดเผยตามที่เป็นจริง  ใครต้องการพิสูจน์ก็สามารถพิสูจน์ได้หรือทดสอบได้  จึงเป็นการบันลืมสีหนาทอย่างกล้าหาญองอาจทั้งในหมู่เทวดาและมนุษย์  อนึ่ง  ใครได้เข้าใกล้ ฟังพุทธดำรัสในการแสดงพระธรรมก็ดี  ในการโต้ตอบปัญหาก็ดี ก็จะรู้สึกพอใจ  ผู้มีปัญหาข้องใจก็คลายความสงสัยเสียได้  มีความปลื้มใจอย่างนิโครธปริพพาชก และอเจลกะชื่อกัสสปในเรื่องนี้

 

ผู้แสดงความคิดเห็น พัทธ์ธีรา วังกาวันมณเฑียร (vann_ult-at-hotmail-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-08-25 18:12:43


ความคิดเห็นที่ 27 (1566135)

อนุโมทนากับหนูแหวนและคุณโฆษิต ด้วยนะคะ

แหม่..เหมือนตั้งใจนัดกัน นำข้อมูลมานำเสนอเลยนะเนี่ย

เพราะเนื้อหาสอดคล้อง กลมกลืนกัน น่า่อ่านมั่กๆ

 

แต่กระทู้ที่ 24-26 ยังไม่ได้อ่านนะจ๊ะ

แล้วจะหาเวลาเข้ามาศึกษาโดยด่วน...จ๊า..

เป็นประโยชน์อย่างยิ่งยวด ขอบคุณมั่กๆค่ะ

ผู้แสดงความคิดเห็น ชนิดา เชิงสะอาด/CHANIDA ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-08-27 06:23:18


ความคิดเห็นที่ 28 (1566188)

ยินดีมั่ก ๆ คะ

อ่านแล้วยิ่งรักอาจารย์อุบล ยิ่งรักพระพุทธองค์นะคะ

ถ้าพอจะมีประโยชน์บ้าง ก็รู้สึกยินดีคะ พี่สาว...

วันนี้ก็พิมพ์มาเพิ่มอีกคะ

ผู้แสดงความคิดเห็น พัทธ์ธีรา วังกาวันมณเฑียร (vann_ult-at-hotmail-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-08-27 22:29:19


ความคิดเห็นที่ 29 (1566189)

 

๙. ตรัสด้วยภาษาของชาวโลก

     แต่ไม่ทรงยึดถือ

     (อัตตา  ตัวตน)

 

       พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ วัดเชตวัน เมืองสาวัตถี เวลานั้นปริพพาชกคนหนึ่งชื่อโปฏฐปาทะ  พร้อมด้วยปริพพาชกผู้เป็นบริวารจำนวนมากถึง ๓,๐๐๐ คน อาศัยอยู่ในมัลลิการาม ซึ่งมีศาลาหลังเดียวรายล้อมด้วยต้นมะพลับ (มัลลิกา แปลว่า ต้นมะพลับ) เป็นสถานที่ชุมนุมโต้ตอบเรื่องลัทธิความเชื่อถือต่าง ๆ

 

       เช้าวันหนึ่ง พระพุทธเจ้าเสด็จเข้าไปบิณฑบาตในเมืองสาวัตถี  ทรงเห็นว่ายังเช้านักจึงทรงแวะเข้าไปยังมัลลิการามเพื่อสนทนากับโปฏฐปาทปริพพาชก  เวลานั้นโปฏฐปาทะกำลังสนทนากับปริพพาชกทั้งหลายอยู่ด้วยเสียงอื้ออึง เรื่องที่สนทนาก็ล้วนแต่เป็นเรื่องทางโลก เช่น เรื่องกองทัพ เรื่องที่นอน เรื่องดอกไม้ เป็นต้น

 

       เขาเห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จเข้าไปในบริเวณอาราม จึงกล่าวห้ามเพื่อปริพพาชกว่าอย่าส่งเสียงดัง  พระสมณโคดมโปรดเสียงเบา ถ้าได้ยินเสียงเบา ๆ อาจเสด็จเข้ามา  ถ้าเสียงเอะอะตึงตังอาจเสด็จเลยไปเสีย  ปริพพาชกผู้เป็นบริวารจึงสงบเสียงลง

 

       เมื่อพระศาสดาเสด็จเข้าไปใกล้ โปฏฐปาทะก็แสดงอาการต้อนรับด้วยความยินดี เชิญให้ประทับนั่งบนอาสนะ (ที่นั่ง) ที่สูงกว่าตน พระพุทธองค์ตรัสถามว่ากำลังสนทนาเรื่องอะไรกันอยู่

       โปฏฐปาทะกราบทูลว่าเรื่องที่พวกเขาสนทนากันนั้นไม่สำคัญ จะสนทนากันภายหลังก็ได้ เรื่องที่เขาจะทูลถามเป็นเรื่องจำเป็นกว่า คือ เรื่องสัญญา (ความจำได้หมายรู้) อัตตา (ตัวตน) อภิสัญญานิโรธ (ความดับสัญญาอย่างยิ่ง)

       พึงทราบว่า ในสมัยนั้น พวกนักปราชญ์เรียก ชีวิต หรือ จิตใจ ว่า สัญญาบ้าง อัตตาบ้าง ชีวะบ้าง เจตภูตบ้าง ทุกคำล้วนแต่หมายถึงสิ่งหนึ่งซึ่งมีอยู่ในกายมนุษย์และสัตว์ เมื่อสิ่งนั้นมีทำให้มนุษย์หรือสัตว์รู้สึกตัว เมื่อสิ่งนั้นไม่มี มนุษย์หรือสัตว์ก็สลบไสล ไม่รู้สึกตัวหรือตายไป

       โปฏฐปาทะได้ทูลพระศาสดาว่า วันก่อนนี้เจ้าลัทธิต่าง ๆ ได้สนทนากันในเรื่อง อภิสัญญานิโรธ (การดับความรู้สึกอย่างยิ่ง) ว่าอภิสัญญานิโรธเป็นอย่างไร

       สมณพราหมณ์บางพวกว่า อภิสัญญานิโรธ ไม่มีเหตุไม่มีปัจจัย เกิดขึ้นเอง ดับไปเอง เวลาใดสัญญาเกิดขึ้น เวลานั้นมนุษย์ก็มีชีวิต เวลาใดสัญญาดับไป เวลานั้นมนุษย์ก็ไม่มีชีวิต

       อีกพวกหนึ่งว่า  หาเป็นเช่นนั้นไม่ พวกนี้เห็นว่าสัญญานั้นเป็นอัตตา (ตัวตน) ของคน เมื่ออัตตาเข้ามา คนก็มีสัญญา เมื่ออัตตาออกไป คนก็ไม่มีสัญญา

       อีกพวกหนึ่งว่า มีสมณพราหมณ์บางพวกที่มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก บันดาลให้คนมีสัญญาก็ได้ ไม่มีก็ได้

       อีกพวกหนึ่งว่า มีเทพที่มีฤทธิ์มากมีอานุภาพมากเป็นผู้บันดาลให้คนมีสัญญาหรือไม่มีสัญญา

 

       ขณะที่สนทนากันอยู่นั้น โปฏฐปาทะทูลต่อไป ข้าพระองค์หวนระลึกถึงพระผู้มีพระภาคเจ้า เรื่องทำนองนี้ ต้องพระผู้มีพระภาคจึงจะรู้จริงรู้แน่แท้ว่า อภิสัญญานิโรธเป็นอย่างไร ข้าแต่พระองค์ก็อภิสัญญานิโรธเป็นอย่างไรเล่า

 

       พระพุทธองค์ตรัสตอบว่า สัญญาเกิดขึ้นและดับไปเพราะเหตุปัจจัยคือการศึกษา แล้วทรงแสดงเรื่องราวโดยลำดับว่า พระพุทธองค์เสด็จอุบัติขึ้นเพื่อประโยชน์แก่โลกอย่างไร ทรงแสดงธรรมอันไพเราะอย่างไร ผู้เลื่อมใสออกบวชแล้วสำรวมในศีลทั้ง ๓ ชั้น สำรวมอินทรีย์ มีสติสัมปชัญญะ สันโดษ อยู่ในที่ที่สงบสงัด ได้ฌานโดยลำดับจนถึงฌานที่ ๗ คือ อากิญจัญญายตนฌาน (ฌานที่สงบระงับจนถึงกับรู้สึกว่าไม่มีอะไรสักหน่อยหนึ่ง (นตถิ กิญจิ) ซึ่งถือว่าเป็นการดับสัญญาเพราะการศึกษา)

       โปฏฐปาทะทูลถามว่า สัญญาเกิดก่อนญาณ หรือญาณเกิดก่อน หรือว่าเกิดพร้อมกัน พระพุทธองค์ตรัสตอบว่า สัญญาเกิดก่อน ญาณเกิดทีหลัง เพราะสัญญาเกิดขึ้น ญาณจึงเกิดขึ้น

        ทูลถามว่า สัญญาเป็นอัตตาของคน หรือว่าสัญญากับอัตตาเป็นคนละอย่าง  ตรัสถามซ้อมความเข้าใจว่า หมายถึงอัตตาอย่างไหน เขาตอบว่าหมายถึงกายเนื้อที่เห็น ๆ กันอยู่ ตรัสตอบว่า  ถ้าอย่างนั้นก็เป็นคนละอย่าง (เพราะอัตตาเป็นของหยาบ เช่นอัตตาของมนุษย์และเทวดา)

 

       ต่อจากนั้นพระพุทธองค์ทรงแสดงอัตตาอีก ๒ อย่าง คือ อัตตาที่สำเร็จด้วยใจ (มโนมโย อัตตา) คืออัตตาของพวกรูปพราหมณ์และอัตตาที่ไม่มีรูป สำเร็จด้วยสัญญาหรือเกิดจากสัญญา (อรูปีอัตตา สัญญามโย) เช่น อัตตาของอรูปพราหมณ์  ซึ่งก็เป็นคนละอย่างกับสัญญาเหมือนกัน)

      

       โปฏฐปาทะทูลถามเรื่องโลกเที่ยงหรือโลกไม่เที่ยง เป็นต้น ตรัสว่าไม่ทรงตอบปัญหานี้เพราะไม่มีประโยชน์  ไม่เป็นเบื้องต้นของการบำเพ็ญคุณงามความดี (พรหมจรรย์) แต่ตรัสเรื่องทุกข์ เหตุแห่งทุกข์ ความดับทุกข์ และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ เพราะเป็นประโยชน์และเป็นเบื้องต้นของการบำเพ็ญคุณงามความดี ฯลฯ โปฏฐปาทะรับสมอ้างว่าเป็นความจริงอย่างที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสทุกประการ

       พระศาสดาเสด็จกลับ  เมื่อพระศาสดาเสด็จกลับแล้ว พวกปริพพาชกทั้งหลายต่างพากันค่อนขอดโปฏฐปาทะว่า คล้อยตามพระสมณโคดมไปหมดทุกอย่าง  พวกเขาไม่เห็นเข้าใจเรื่องที่พระสมณโคดมพูดเลยสักอย่างเดียว เรื่องโลกเที่ยงหรือไม่เที่ยงก็มิได้ตรัสตอบเลยสักข้อ

       โปฏฐปาทะจึงว่า  ตัวเขาเองก็หาเข้าใจพระดำรัสของพระสมณโคดมไม่ แต่เมื่อพระสมณโคดมทรงสอนข้อปฏิบัติที่ถูกต้องแท้จริงอยู่อย่างนี้ วิญญูชน (ผู้ที่มีความรู้ดีและความประพฤติดี) เช่นเรา จะไม่อนุโมทนาได้อย่างไรเล่า

 

       หลังจากนั้นอีก ๒-๓ วัน โปฏฐปาทปริพพาชกและจิตตหัตถีสารีบุตรไปเฝ้าพระพุทธเจ้า กราบทูลให้ทรงทราบถึงเรื่องที่เขาถูกต่อว่าอย่างไร และได้ตอบไปแล้วอย่างไร

       พระศาสดาทรงอนุโมทนาว่า ในบรรดาปริพพาชกทั้งหมดนั้น โปฏฐปาทะคนเดียวเท่านั้นเป็นคนฉลาด มีปัญญาจักษุพอรู้ได้ว่าอะไรเป็นประโยชน์ อะไรไม่เป็นประโยชน์ ความรู้เรื่องโลกเที่ยงหรือไม่เที่ยง เป็นต้น นั้นไม่เป็นประโยชน์ ส่วนความรู้เรื่องทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ เป็นต้น เป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ เป็นไปเพื่อความสิ้นทุกข์

       พระศาสดาตรัสต่อไปว่า

       สมณพราหมณ์บางพวกมีความเห็นว่า เมื่อตายแล้วตัวตนย่อมมีสุขโดยส่วนเดียว  ไม่มีทุกข์เลย  เมื่อเรราถามเขาว่า  ตัวตนเช่นนั้นมีอยู่หรือ  โลกที่อัตตามีสุขโดยส่วนเดียวมีอยู่หรือ  เขาทราบข้อปฏิบัติเพื่อให้ได้โลกเช่นนั้นหรือ  เขาก็ไม่ทราบอะไรสักอย่าง แม้ถามเขาว่า  เขาเคยได้ยินเสียงเทวดาสนทนากันถึงโลกที่มีสุขโดยส่วนเดียวนั้นบ้างหรือไม่  เขาก็ไม่ทราบ  โปฏฐปาทะ เปรียบเหมือนชายคนหนึ่งพูดว่าเขารักหญิงสาวคนหนึ่ง แต่พอถูกถามว่า หญิงสาวนั้นชื่ออะไร อยู่ที่ไหน พ่อแม่พี่น้องเป็นอย่างไร ลักษณะรูปร่างของหญิงนั้นเป็นอย่างไร ก็ตอบไม่ได้สักอย่าง  เปรียบอีกอย่างหนึ่ง เหมือนคนคนหนึ่งกำลังทำบันไดขึ้นปราสาท แต่เมื่อคนทั้งหลายถามว่า ปราสาทนั้นอยู่ที่ไหน ลักษณะรูปร่างเป็นอย่างไรก็ไม่รู้สักอย่างฉันใด  สมณพราหมณ์บางพวกผู้มีวาทะว่า หลังจากตายแล้ว มีอัตตาที่เป็นสุขล้วนหาโรคมิได้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน  เขาไม่มีความรู้เกี่ยวกับอัตตาเหล่านั้นด้วย

       ต่อจากนั้นพระพุทธองค์ทรงแสดงอัตตา ๓ อย่าง (ดังกล่าวแล้วข้างต้น) และข้อปฏิบัติอันเป็นเหตุให้ได้อัตตาทั้ง ๓ อย่างนั้นว่า ถ้าต้องการอัตตาหยาบควรทำอย่างไร ถ้าต้องการละอัตตาที่หยาบควรทำอย่างไร เป็นต้น ทรงสอนให้ละอกุศลที่เศร้าหมอง และให้เจริญอบรมกุศลธรรมอันผ่องแผ้ว (โวทานิยธรรม) ให้มีสติสัมปชัญญะและปัญญาอยู่เสมอ  เพื่อความอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน เปรียบเหมือนคนที่รักหญิงสาวและรู้จักเธอ  คนที่ทำบันไดขึ้นปราสาทและเห็นปราสาทนั้นอยู่

       จิตตหัตถีสารีบุตรทูลว่า  เมื่อใดได้อัตตาที่หยาบ เมื่อนั้นย่อมไม่มีอัตตาที่สำเร็จด้วยใจหรืออัตตาที่ไม่มีรูป  เมื่อใดได้อัตตาที่สำเร็จด้วยใจ  เมื่อนั้นย่อมได้อัตตาที่หยาบ เป็นต้น ใช่หรือไม่ พระศาสดาทรงรับรองว่าเป็นอย่างนั้น

 

       ในที่สุดทรงสรุปว่า คำว่า อัตตา ดังกล่าวมานั้นเป็นเพียงชื่อที่มีอยู่ในโลก (โลกสมญญา) เป็นภาษาของชาวโลก (โลกนิรุตติโย) เป็นโวหารของโลก (โลกโวหารา) เป็นบัญญัติของโลก (โลกปัญญตติโย) พระองค์ทรงใช้ตามนั้นแต่มิได้ยึดถือ (ว่าเป็นจริงเป็นจังแต่ประการใด)

       เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเช่นนี้ โปฏฐปาทปริพพาชกทูลสรรเสริญพระธรรมเทศนาว่าแจ่มแจ้งยิ่งนัก ทูลปฏิญาณตนเป็นอุบาสกนับถือพระรัตนตรัยจนตลอดชีวิต  ส่วนจิตตหัตถีสารีบุตรขอบรรพชาอุปสมบทในสำนักพระผู้มีพระภาค เมื่อบวชแล้วไม่นานได้บรรลุอรหันตตผลเป็นพระอรหันต์องค์หนึ่ง

 

       คติในโปฏฐปาทสูตรนี้มีหลายอย่าง เช่น

       ๑.พระพุทธเจ้าทรงโปรดเสียงเบา ไม่ทรงโปรดเสียงเอะอะพระองค์  ก็ต้องประพฤติตนเป็นคนมีเสียงเบา แม้พวกนักบวชนอกพระพุทธศาสนา  เมื่อเห็นพระองค์เสด็จมาแต่ที่ไกล ไม่ต้องการให้พระองค์เสด็จเลยไปเสีย ก็ต้องสงบลง บางคราวพวกภิกษุสาวกของพระองค์มาเฝ้า ส่งเสียงอื้ออึง ตรัสตำหนิว่าเหมือนชาวประมงแย่งปลากัน แล้วไม่ยอมให้เข้าเฝ้า  จนเมื่อประพฤติตนสงบเรียบร้อยได้แล้ว  จึงยอมให้เข้าเฝ้า  ด้วยเหตุนี้พุทธบริษัทไม่ว่าเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ควรฝึกฝนอบรมตนให้เป็นผู้สำรวม ถ่อมตน มีเสียงเบาอยู่โดยปกติ ไม่ก่อความรำคาญแก่ผู้ใดเพราะเสียงดังของตน

       ๒. นักบวชนอกพระพุทธศาสนาสมัยพระพุทธเจ้า ติดอยู่ในอัตตา(ตัวตน)  สนใจเรื่องอัตตากันมาก  แต่พระพุทธองค์ทรงมีพระมติว่า ตัวตนเช่นนั้นไม่มี  (คือตัวตนที่เที่ยงยั่งยืนอย่างที่พวกเจ้าลัทธิทั้งหลายเข้าใจ) ทรงแสดงว่าสิ่งทั้งหลายเป็นอนัตตา ไม่มีตัวตน สิ่งทั้งหลายเกิดขึ้นชั่วคราวตามเหตุปัจจัย ทรงสอนให้ถอนอัตตานุทิฏฐิ คือความเห็นว่ามีตัวตนเสีย แต่ก็ทรงใช้คำว่า  อัตตา (ตัวตน) เหมือนกันตามภาษาของโลก แต่มิได้ยึดมั่นว่าเป็นอย่างนั้น เหมือนเราพูดว่า  ดวงอาทิตย์ขึ้นและดวงอาทิตย์ตก  จริง ๆ แล้วการขึ้นการตกของดวงอาทิตย์ไม่มี  เป็นเพียงภาษาของโลก โวหารของโลกเท่านั้น

       ๓. พระพุทธเจ้า โดยปกติแล้วไม่ค่อยทรงสนพระทัยกับปัญหาเรื่องโลกเที่ยงหรือไม่เที่ยง หรือปัญหาที่ไกลตัวเกินไป  แต่ทรงสนพระทัยปัญหาใกล้ตัวที่จะนำไปใช้ได้ทันที  รู้แล้วสามารถแก้ปัญหาชีวิตเกี่ยวกับความทุกข์ซึ่งเผชิญหน้าอยู่ได้  ทรงเห็นว่าปัญหาเรื่องทุกข์และการดับทุกข์เป็นปัญหาหลักของมนุษย์

 

 

ผู้แสดงความคิดเห็น พัทธ์ธีรา วังกาวันมณเฑียร (vann_ult-at-hotmail-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-08-27 22:31:14


ความคิดเห็นที่ 30 (1566190)

 

๑๐. กองธรรมอันประเสริฐ

       (อริยขันธ์ ๓)

 

       เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าปรินิพพานแล้วใหม่ ๆ พระอานนท์มาพักอาศัยอยู่ ณ วัดเชตวัน เมืองสาวัตถี ครั้งนั้นมีมาณพคนหนึ่ง ชื่อสุภะ บุตรของโตเทยยพราหมณ์ พักอยู่ที่เมืองสาวัตถีด้วยกิจธุระบางอย่าง ได้ขอให้มาณพ(เด็กหนุ่ม) อีกคนหนึ่งไปหาพระอานนท์ ขอนิมนต์ไปฉันอาหารที่บ้านของตน พระอานนท์บอกว่าท่านฉันยาถ่าย ท้องยังไม่ปกติ ยังเข้าไปไม่ได้  รอไว้พรุ่งนี้เถิดจะเข้าไป

       วันรุ่งขึ้น  พระอานนท์พร้อมด้วยพระเจตกะ(ผู้ติดตาม) ได้เข้าไปยังนิเวศน์ของสุภมาณพ สุภมาณพเรียนถามท่านว่า เมื่อพระพุทธเจ้ายังทรงพระชมน์อยู่นั้น  ทรงสอนเรื่องอะไรมาก ทรงสรรเสริญคุณธรรมอย่างใด ทรงให้ประชาชนดำรงอยู่ในคุณธรรมเช่นใด ท่านพระอานนท์อยู่รับใช้ใกล้ชิดพระศาสดามานานคงจะทราบเรื่องนี้ดี

 

       พระอานนท์ตอบว่า  พระศาสดาตรัสสรรเสริญขันธ์ ๓ ทรงชักชวนให้ประชาชนดำรงอยู่ในกองธรรมอันประเสริฐ ๓ อย่าง คือ สีลขันธ์อันประเสริฐ (ขันธ์ = กอง) สมาธิขันธ์อันประเสริฐ และปัญญาขันธ์อันประเสริฐ (อริยขันธ์ อริยสมาธิขันธ์ อริยปัญญาขันธ์)

       สุภมาณพถามว่า  สีลขันธ์ สมาธิขันธ์ และปัญญาขันธ์อันประเสริฐนั้น เป็นเช่นไร

       พระอานนท์จึงแสดงจุลศีล มัชฌิมศีล และมหาศีล อันเป็นส่วนสีลขันธ์ อินทรียสังวร สติสัมปชัญญะ สันโดษ การอยู่ในที่สงัด ได้ฌาน ๔ พ้นจากนิวรณ์ ๕ จิตปลอดโปร่งเหมือนคนพ้นจากหนี้ หายโรค เป็นต้น อันเป็นส่วนแห่งสมาธิขันธ์ แสดงวิชชา ๘ มีวิปัสสนาญาณเป็นต้น มีอาสวักขญาณเป็นอันสุดท้าย อันเป็นส่วนแห่งปัญญาขันธ์ อาสวักขยญาณในที่นี้ท่านอธิบายว่า คือการรู้แจ้งในอริยสัจ ๔ เห็นทุกข์ ละสมุทัยได้ ทำให้แจ้งซึ่งนิโรธ และดำเนินตามมรรคมีองค์ ๘ อย่างครบถ้วน จนอาสวะคือกิเลสสิ้นไป (ดังกล่าวแล้วในเรื่องก่อน เช่น สามัญญผลสูตร)

 

       พระอานนท์ได้กล่าวถึงอานิสงค์ของการสมบูรณ์ด้วยศีล ไว้ว่า ภิกษุผู้สมบูรณ์ด้วยศีลเช่นนี้  ย่อมไม่ประสบภัยในที่ไหน ๆ เธอย่อมได้รับความสุขอันปราศจากโทษภายในตน  เหมือนกษัตริย์ผู้ได้รับมูรธาภิเษกแล้วกำจัดราชศัตรูได้แล้ว  ย่อมไม่ต้องระแวงภัยในที่ไหน ๆ เสวยสุขในราชสมบัติด้วยความปลอดโปร่งพระทัย แต่ภิกษุแม้สมบูรณ์ด้วยศีลแล้วก็ยังมีกรณียกิจอื่นอันควรทำให้ยิ่งขึ้นไปอีก  นั่นคือสมาธิ

       ท่านได้พรรณนาความสุขในสมาธิระดับฌานที่ ๓ และความผ่องแผ้วขาวสะอาดของจิตในสมาธิระดับฌานที่ ๔ ไว้ว่า ภิกษุมีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ  เสวยสุขด้วยนามกาย (คือ จิต) เพราะปีติสิ้นไป บรรลุฌานที่ ๓ ที่พระอริยเจ้าทั้งหลายสรรเสริญว่า ผู้ได้ฌานนี้ (ฌาน ๓) เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข กายของเธอย่อมชุ่มชื่นเอิบอิ่ม ซาบซ่านด้วยสุขอันปราศจากปีติ ไม่มีเอกเทศใด ๆ แห่งกายของเธอทั่วทั้งตัวที่สุขอันปราศจากปีติจะไม่ถูกต้อง  เปรียบเหมือนบัวที่ยังจมอยู่ในน้ำไม่มีส่วนใดที่ไม่ถูกน้ำ มันแช่อยู่ในน้ำ กายและใจของภิกษุผู้ได้ฌานที่ ๓ ก็เช่นเดียวกัน เอิบอิ่มอยู่ด้วยความสุข

       เมื่อถึงฌานที่ ๔ เธอไม่มีทุกข์ไม่มีสุข มีแต่อุเบกขาและสติอันบริสุทธิ์อยู่ จิตของเธอบริสุทธิ์ขาวผ่องเปรียบเหมือนบุคคลนั่งคลุมผ้าขาวตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า  ขาวโพลนหมดทั้งตัว  ไม่มีส่วนใดของกายที่ผ้าขาวจะไม่ถูกต้อง  ภิกษุแม้จะสมบูรณ์ด้วยสมาธิเช่นนี้ ก็ยังมีกิจอื่นที่จะต้องทำให้ยิ่งไปกว่านี้

 

       สุภมาณพสรรเสริญว่า สีลขันธ์และสมาธิขันธ์อันบริบูรณ์เช่นนี้มีอยู่ในพระอานนท์  เขาไม่เคยเห็นสีลขันธ์และสมาธิขันธ์อันบริบูรณ์เช่นนี้ในสมณพราหมณ์เหล่าอื่นนอกจากพระพุทธศาสนานี้เลย ถ้าสมณพราหมณ์เหล่าอื่นพึงสมบูรณ์ด้วยศีลขันธ์และสมาธิขันธ์เพียงเท่านี้ เขาก็พึงคิดว่า เขาได้บรรลุถึงคุณแห่งความเป็นสมณะเรียบร้อยแล้ว  ไม่ขวนขวายให้ยิ่งขึ้นไป แต่ท่านพระอานนท์กล่าวว่า ยังมีกิจอื่นที่จะต้องทำให้ยิ่งขึ้นไปกว่านี้

 

       พระอานนท์ได้กล่าวถึงคุณของปัญญาขันธ์อันประเสริฐว่า  เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว ปราศจากอุปกิเลส ควรแก่การงาน ตั้งมั่นไม่หวั่นไหวเช่นนี้แล้ว ภิกษุย่อมน้อมจิตไปเพื่อความสิ้นอาสวะ (กิเลส) ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้สมุทัย นี้นิโรธ นี้มรรค จิตของเธอย่อมหลุดพ้นจากอาสวะทั้งที่เป็นส่วนกาม ส่วนภพ และส่วนอวิชชา เมื่อจิตหลุดพ้นย่อมมีญาณรู้ว่าหลุดพ้นแล้ว ความเกิดสิ้นแล้ว จบพรหมจรรย์ (ระบอบการทำความดี) แล้ว ไม่มีกิจอื่นที่จะต้องทำเพื่อเป็นอย่างนี้อีก  เปรียบเหมือนสระน้ำบนยอดเขาสะอาดไม่ขุ่นมัว บุคคลผู้มีตาดียืนอยู่ที่ขอบสระ  ย่อมสามารถมองเห็น หอย กรวด ทราย และปลาในน้ำนั้นได้อย่างดี ภิกษุนั้นก็เช่นเดียวกัน ย่อมเห็นสิ่งต่าง ๆ ตามความเป็นจริง ด้วยอานุภาพแห่งปัญญานั้น

       ปัญญาขันธ์อันประเสริฐนี่แล พระผู้มีพระภาคทรงสรรเสริญทรงสั่งสอนประชาชนให้ดำรงอยู่ และในพระศาสนานี้ไม่มีกรณียกิจอื่นใดอันจะต้องทำยิ่งไปกว่านี้อีก แปลว่าปัญญาเป็นคุณธรรมอันสูงสุดเพื่อวิมุตติ คือความหลุดพ้นจากกิเลสทั้งปวง

       สุภมาณพสรรเสริญพระอานนท์ว่า  ปัญญาอันบริบูรณ์ที่มีอยู่ในพระอานนท์นั้น เขาไม่เคยเห็นมีในสมณพราหมณ์เหล่าอื่นนอกพระพุทธศาสนา  และสรรเสริญว่าธรรมเทศนาของพระอานนท์แจ่มแจ้งชัดเจน เหมือนหงายของที่คว่ำ เป็นต้น เขาขอถึงพระรัตนตรัยตลอดชีวิต

 

       สุภสูตรนี้ มีคติน่าสนใจหลายประการ เช่น

       ๑. เด็กหนุ่ม (มาณพ) ชื่อสุภะ แสดงความสนใจพระพุทธศาสนารู้ว่าพระอานนท์เป็นผู้เคยรับใช้ใกล้ชิดพระศาสดา  จึงถามปัญหาที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปฏิบัติว่า เมื่อพระพุทธเจ้ายังทรงพระชมน์อยู่นั้นทรงสั่งสอนอย่างไร ทรงสรรเสริญอะไร และทรงแนะนำให้ประชุมตั้งอยู่ในธรรมอะไร เป็นต้น ซึ่งเป็นคำถามที่ผู้สนใจพระพุทธศาสนาควรจะถามและนำเอาคำตอบไปใช้ในชีวิตประจำวัน

       พระอานนท์ได้นำเอาหลักสำคัญแห่งพระพุทธศาสนามาตอบ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา แสดงศีล สมาธิ และปัญญาอย่างเต็มรูปแบบ

 

      ๒. คนบางพวกเมื่อรักษาศีลได้ดีแล้ว ก็พอใจอยู่เพียงเท่านั้น ไม่ขวนขวายในคุณธรรมให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป บางพวกทำสมาธิได้ดีแล้ว ก็พอใจอยู่เพียงเท่านั้น  ไม่ขวนขวายในคุณธรรมให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป พระพุทธศาสนานั้นสอนไม่ให้หยุดอยู่ในคุณธรรมเพียงขั้นศีลหรือสมาธิ  แต่สอนไปถึงปัญญารู้เห็นตามเป็นจริงเพื่อทำลายกิเลสให้หมดสิ้น ไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิดอีก อันเป็นบ่อเกิดแห่งทุกข์ไม่มีที่สิ้นสุด พระพุทธองค์ตรัสว่า ภพแม้เพียงเล็กน้อยก็ยังเป็นทุกข์ เหมือนอุจจาระหรือปัสสาวะแม้เพียงเล็กน้อยก็มีกลิ่นเหม็น  เพราะฉะนั้น พุทธศาสนิกชนจึงไม่ควรติดอยู่เพียงขั้นศีลหรือสมาธิ

 

ผู้แสดงความคิดเห็น พัทธ์ธีรา วังกาวันมณเฑียร (vann_ult-at-hotmail-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-08-27 22:32:49


ความคิดเห็นที่ 31 (1566196)

อนุโมทนาสาธุคับ

ผู้แสดงความคิดเห็น เกรียงศักดิ์ สกุลคลานุวัฒน์(เบน) (koy8870-at-hotmail-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-08-27 23:47:54


ความคิดเห็นที่ 32 (1566871)

 

๑๑. ปาฏิหาริย์

       (ความอัศจรรย์)

        ๓ อย่าง

 

          คราวหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ สวนมะม่วงของปาวาริกเศรษฐี เมืองนาลันทา บุตรของคหบดีคนหนึ่งชื่อ เกวัฏฏะ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ขอให้ทรงชี้ภิกษุสักรูปหนึ่งเพื่อแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ (การแสดงฤทธิ์ต่าง ๆ) เพื่อประชาชนขาวนาลันทาจะได้เลื่อมใสพระผู้มีพระภาคมากขึ้น

 

         พระพุทธองค์ตรัสว่า เรามิได้เคยแสดงธรรมเป็นทำนองชักชวนภิกษุทั้งหลายให้แสดงอิทธิปาฏิหาริย์แด่คฤหัสถ์ แต่เกวัฏฏะก็ยังคงกราบทูลเช่นนั้นอีก ๒ ครั้ง อ้างว่าเพื่อประชาชนชาวนาลันทาซึ่งเลื่อมใสพระผู้มีพระภาคมากอยู่แล้วจะได้เลื่อมใสมากขึ้น  มิได้จำกัดว่าพระพุทธองค์จะต้องทรงแสดงเอง  เพียงแต่ขอให้ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งแสดงเท่านั้น

 

        พระศาสดาตรัสว่า มีปาฏิหาริย์อยู่ ๓ อย่างที่ทรงทำให้แจ้งด้วยปัญญาของพระองค์เองแล้วทรงประกาศให้คนทั้งหลายรู้ คือ

        ๑. อิทธิปาฏิหาริย์ การแสดงฤทธิ์ต่าง ๆ ได้ เช่น คนเดียวทำเป็นหลายคน เหาะเหินเดินอากาศได้เหมือนนก ดำดิน เดินบนน้ำได้ ทะลุฝา ทะลุกำแพงไปได้โดยไม่ติดขัด ฯลฯ

        ๒. อาเทศนาปาฏิหาริย์ การดักใจคนได้ว่าเขาคิดอย่างไร

        ๓. อนุสาสนีปาฏิหาริย์ การสั่งสอน มีเหตุผลที่ผู้ฟังตรองตามแล้วเห็นได้จริง นำไปปฏิบัติแล้วเกิดผลจริง

        ทรงรังเกียจปาฏิหาริย์ ๒ อย่างแรก เพราะคนทั้งหลายผู้ไม่เลื่อมใสจะค่อนขอดได้ว่า  การแสดงฤทธิ์นั้นทำได้เพราะมีวิชชาอย่างหนึ่งที่เรียกว่า คันธารี ส่วนการทายใจได้ก็เพรามีวิชชาชื่อ มณิกา ซึ่งคนในสมัยของพระองค์นิยมใช้กันอยู่ ทรงสรรเสริญนิยมอนุสาสนีปาฏิหาริย์เพราะให้ความสำเร็จประโยชน์ได้จริงแก่ผู้ปฏิบัติตาม

         ต่อจากนั้นได้ทรงแสดงศีล ๓ ชั้น ฌาน ๔ วิชชา ๘ แก่เกวัฏฏะให้เห็นว่า  การได้สำเร็จสิ่งเหล่านี้เป็นอย่างไร  พระองค์ได้รู้แจ้งเห็นจริงมาอย่างไร  แต่ไม่ทรงสรรเสริญปาฏิหาริย์ ๒ อย่างแรก ทรงสรรเสริญประการที่ ๓

        ตรัสเล่าให้เกวัฏฏะฟังต่อไปว่า  เรื่องเคยมีมาแล้ว ในหมู่ภิกษุสาวกของพระองค์นี้เอง  มีภิกษุรูปหนึ่งเกิดความคิดขึ้นว่า  มหาภูตรูป ๔ คือ ดิน น้ำ  ไฟ ลม  ย่อมดับไม่เหลือในที่ใดหนอ  เธอเข้าสมาธิชนิดที่เมื่อจิตตั้งมั่นแล้ว  รู้ทางไปเทวโลกได้  เธอไปเทวโลกเที่ยวถามเทวดาต่าง ๆ ตั้งแต่ชั้นจาตุมหาราชไปจนถึงชั้นพรหม แต่ไม่มีใครรู้เลย  เธอเข้าไปหามหาพรหมถามปัญหานี้เช่นกัน ท้าวมหาพรหมดึงแขนภิกษุนั้นออกไปพูดกันสองต่อสอง  ไม่ให้ใครได้ยิน  ท่านกระซิบว่า  พวกเทวดาชั้นพรหมเหล่านี้เข้าใจว่าท่านรู้ทุกสิ่งทุกอย่าง ที่จริงปัญหาที่ภิกษุนั้นถาม  ท่านไม่รู้ ก็ภิกษุอยู่กับพระผู้มีพระภาค ทำไมจึงไม่ทูลถามปัญหานี้กับพระผู้มีพระภาคเจ้าเล่า

 

        ภิกษุนั้นได้สติ  จึงกลับจากพรหมณ์โลกมาเฝ้าพระองค์  ทูลถามปัญหานั้น  พระพุทธองค์ได้กล่าวเป็นเชิงอุปมากับเธอว่า พวกพ่อค้าเดินเรือทะเล  เขานำนกหาฝั่งติดเรือไปด้วย  เมื่อไปไกลจนมองไม่เห็นฝั่ง อยากทราบว่าฝั่งที่ใกล้ที่สุดอยู่ทิศใด  เขาจะปล่อยนกหาฝั่งไป นกนั้นเที่ยวบินหาฝั่ง  ถ้าเจอฝั่งก็ไม่กลับมาเรือ ถ้าไม่เจอฝั่งก็จะกลับมาหาเรือ เรื่องนี้ฉันใด เรื่องของภิกษุก็ฉันนั้น ในที่สุดก็ต้องกลับมายังสำนักของพระองค์

        ตรัสแนะว่า ปัญหาอย่างนี้ไม่ควรตั้งคำถามอย่างนั้น  แต่ควรตั้งคำถามเสียใหม่ว่า  มหาภูตรูป คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม ย่อมตั้งอยู่ไม่ได้ในที่ใด อุปาทานรูป (เช่น สี รส กลิ่น) ย่อมตั้งอยู่ไม่ได้ในที่ใด นามและรูปย่อมดับโดยไม่เหลือในที่ใด

        เมื่อตั้งปัญหาอย่างนี้ก็จะได้คำตอบดังนี้ คือ

       ธรรมชาติอย่างหนึ่งซึ่งรู้แจ้ง แสดงไม่ได้ เป็นอนันตะ มีรัศมีโดยรอบ ดิน น้ำ ไฟ ลม ไม่ตั้งอยู่ในธรรมชาตินี้ (คือพระนิพพาน)อุปาทายรูปนี้ก็ไม่ตั้งอยู่ในธรรมชาตินี้  นามรูปย่อมดับไม่เหลือในธรรมชาตินี้  เพราะวิญญาณดับนามรูปย่อมดับไม่เหลือในธรรมชาตินี้เหมือนกัน

        ใจความสำคัญก็คือ ธรรมชาติที่กล่าวนี้ คือนิพพานนั่นเอง อันเป็นที่ที่ดิน น้ำ ไฟ ลม ตั้งอยู่ไม่ได้ เป็นที่ดับไม่เหลือของนามรูป

        เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสพระพุทธพจน์นี้จบลง เกวัฏฏะมีความพอใจ ชื่นชมต่อพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล้วลากลับไป

        คติและข้อควรพิจารณาในเกวัฏฏสูตร มีดังนี้

         ๑. คนส่วนมาชอบฤทธิ์เดช ปาฏิหาริย์  อยากให้พระแสดงฤทธิ์ เห็นเป็นของแปลกอัศจรรย์  และนิยมนับถือพระเช่นนั้นว่าเก่งกล้าสามารถ ลาภสักการะและชื่อเสียงก็มักจะไหลมาสู่พระเช่น แต่พระพุทธเจ้าไม่ทรงสรรเสริญ ไม่ทรงนิยม ตรัสว่านักเล่นกลก็ทำได้และไม่เป็นไปเพื่อความสิ้นทุกข์ ทรงนิยมและสรรเสริญอนุสาสนีปาฏิหาริย์ คือคำสั่งสอนที่ชี้บาปบุญคุณโทษ ประโยชน์มิใช่ประโยชน์ ว่าดีกว่า ประเสริฐกว่า บุคคลนำไปปฏิบัติแล้วได้ประโยชน์จริง ทำชีวิตให้ราบรื่น สงบสุขได้จริง พระพุทธศาสนาที่ยั่งยืนมาได้จนทุกวันนี้ก็เพราะความอัศจรรย์แห่งคำสั่งสอนนี่เอง

 

       ๒. พุทธบริษัท คือผู้ที่นับถือพระพุทธศาสนาบางคน บางพวกเที่ยวแสวงหาคำตอบในข้อที่ตนสงใสไปทั่วทุกทิศ  แต่ก็ไม่ได้รับคำตอบเป็นที่พอใจ  ไปสำนักนั้นก็แล้ว  สำนักนี้สำนักโน้นก็แล้วแต่ก็จับหลักอะไรไม่ได้  เหมือนนกหาฝั่ง  ในที่สุดก็กลับมาสู่พุทธสำนัก  คือกลับมาศึกษาหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าอย่างเอาจริงเอาจังและอย่างมีระบบ จึงจับหลักได้ ได้รับความพอใจ สงบและหยุดได้  บางทีคำตอบหรือผู้ที่จะให้คำตอบได้ก็อยู่ใกล้ ๆ ตัวนั่นเอง แต่มองผ่านไปเสีย เหมือนภิกษุอยู่ในสำนักของพระพุทธเจ้า แต่ไม่ทูลถามข้อสงสัยของตนกับพระพุทธเจ้า  เที่ยวไล่ถามเทวดาทุกชั้นก็ไม่มีใครตอบได้

 

       ๓. มหาภูตรูป  คือรูปหรือธาตุที่เป็นหลักใหญ่อยู่ คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม คำว่า ธาตุ ในภาษาธรรมไม่ตรงกับคำว่า ธาตุ ในภาษาวิทยาศาตร์  ในภาษาวิทยาศาสตร์หมายถึงชนิดของสิ่งต่าง ๆ แต่ทางธรรม หมายถึงลักษณะของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เช่น ในธาตุทองคำ (ตามภาษาวิทยาศาสตร์) มีทั้งธาตุดิน น้ำ ไฟ และลม อยู่ในนั้น  คือ ลักษณะที่แข็งเป็นธาตุดิน ลักษณะที่ยึดกุมให้เป็นก้อนจัดเป็นธาตุน้ำ ลักษณะยืดหยุ่นจัดเป็นธาตุลม ลักษณะอบอุ่น ร้อน หรืออุณหภูมิจัดเป็นธาตุไฟ ดังนี้เป็นต้น

 

       ๔. คำว่า วิญญาณ ใช้แทนคำว่า นิพพาน ก็มีเช่นให้พระสูตรนี้ อย่างข้อความว่า ธรรมชาติที่รู้แจ้ง (วิญญาณ) แสดงไม่ได้ ซึ่งดิน น้ำ ไฟ ลม ตั้งอยู่ไม่ได้ ฯลฯ

 

ผู้แสดงความคิดเห็น พัทธ์ธีรา วังกาวันมณเฑียร (vann_ult-at-hotmail-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-08-31 12:20:57


ความคิดเห็นที่ 33 (1566872)

 

๑๒. ศาสดา (ครู)

        ที่ใคร ๆ ทักท้วงไม่ได้

 

          พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จจาริกไปในแคว้นโกศล พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ เสด็จถึงบ้านสาลวติกา ซึ่งพระเจ้าปเสนทิโกศลพระราชทานให้โลหิจจพราหมณ์ครอบครอง

         โลหิจจพราหมณ์มีความเห็นว่า สมณพราหมณ์ในโลกนี้ ควรบรรลุกุศลธรรม คือควรได้กุศลธรรม ครั้นได้บรรลุแล้ว ไม่ควรบอกคนอื่น โลหิจจพราหมณ์เกรงจะเป็นความโลภ คืออยากได้ชื่อเสียง อยากได้ความนิยมนับถือ ความโลภเป็นสิ่งต่ำทราม ผู้บรรลุกุศลธรรมแล้ว ไม่ควรมาติดอยู่กับอกุศลธรรมคือความโลภ ชนิดนี้ ถ้าติดอยู่ก็เปรียบเหมือนผู้ซึ่งหลุดพ้นจากเครื่องจองจำเก่า แล้วมาติดเครื่องจองจำใหม่อีก

         โลหิจจพราหมณ์สดับข่าวว่า พระศาสดาเสด็จมาที่บ้านสาลวติกา จึงให้ช่างกัลบกชื่อโรสิกะไปเฝ้า ทูลอาราธนาไปเสวยที่นิเวศน์ของตนวันรุ่งขึ้น พระศาสดาเสด็จไปยังนิเวศน์ของพราหมณ์

         โรสิกะเป็นผู้ไปรับพระผู้มีพระภาค ได้ตามเสด็จอยู่เบื้องหลัง และได้กราบทูลเรื่องความเห็นของโลหิจจพราหมณ์ให้ทรงทราบ ขอให้พระผู้มีพระภาคช่วยแก้ความเห็นอันไม่ถูกต้องของโลหิจจพราหมณ์ด้วย พระศาสดาตรัสว่า ไม่เป็นไร จะช่วยแก้ความเห็นอย่างนั้นให้

         เมื่อเสวยเสร็จแล้ว พระศาสดาตรัสถามโลหิจจพราหมณ์ถึงความเห็นเช่นนั้นของเขา เขารับว่าเห็นอย่างนั้นจริง พระศาสดาตรัสว่าเป็นความเห็นที่ไม่ถูกต้อง เปรียบเหมือนพระเจ้าปเสนทิโกศลหรือโลหิจจพราหมณ์เองที่ครองบ้านเมือง ได้บริโภคผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการครองบ้านเมืองแต่ผู้เดียวไม่เผื่อแผ่ผู้อื่นบ้าง

 

         ต่อจากนั้น ทรงแสดงเรื่องศาสดา (ครู) ๓ จำพวกที่ใคร ๆ ทักท้วงได้ คือ

        ๑. ศาสดาที่ออกบวชแล้วไม่ได้บรรลุคุณธรรมแห่งผู้บวช กล่าวสั่งสอนศิษย์ ศิษย์ก็ไม่เชื่อฟัง ไม่ปฏิบัติตาม พยายามหลีกเลี่ยง เหมือนบุรุษรุกเข้าไปหาสสตรีซึ่งกำลังถอยหนี

         ๒. ศาสดาที่ออกบวชแล้วไม่ได้บรรลุธรรมแห่งผู้บวช กล่าวสั่งสอนศิษย์ในคุณธรรมนั้น ศิษย์เชื่อฟัง ปฏิบัติตาม ไม่หลีกเลี่ยง ศาสดาเช่นนี้เปรียบเหมือนบุคคลผู้ละเลยนาของตนเสีย แล้วตั้งหน้าตั้งตาทะนุบำรุงแต่นาของผู้อื่น

        ๓. ศาสดาที่ออกบวชแล้วได้บรรลุคุณธรรมแห่งผู้บวช กล่าวสั่งสอนศิษย์ แต่ศิษย์ไม่เชื่อฟัง ไม่ปฏิบัติตาม จึงไม่ได้รับประโยชน์จากการอาศัยอยู่ในสำนักของศาสดา

 

         ศาสดาทั้ง ๓ พวกนี้อันใคร ๆ อาจทักท้วงได้เพราะไม่สมบูรณ์ทั้งฝ่ายศาสดาและฝ่ายศิษย์ โลหิจจพราหมณ์ทูลถามว่า ศาสดาที่ใคร ๆ ทักท้วงไม่ได้มีอยู่ในโลกบ้างหรือไม่

         พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า มี แล้วตรัสถึงเรื่องราวของพระองค์ว่าเสด็จอุบัติขึ้นเพื่อประโยชน์แก่โลกอย่างไร ทรงแสดงธรรมงดงามเพียงไร ผู้ฟังธรรมแล้วมีศรัทธาเลื่อมใสออกบวชสมบูรณ์ด้วยศีล  มีอินทรียสังวร มีสติสัมปชัญญะ สันโดษ อยู่ในที่สงัด ได้ฌาน ๔ และวิชชา ๘ (ดังกล่าวแล้วในสามัญญผลสูตร)

         ศาสดาอย่างนี้และศิษย์อย่างนี้ อันใคร ๆ ไม่ควรทักท้วง  ใครทักท้วงก็เป็นการทักท้วงที่ผิด ไม่เป็นธรรมและประกอบด้วยโทษ

         โลหิจจพราหมณ์ทูลว่า พระผู้มีพระภาคช่วยเขาไว้จากการตกนรก เหมือนบุรุษผู้หนึ่งช่วยคนที่กำลังจะตกเหว  เขาทูลสรรเสริญพระธรรมเทศนาและแสดงตนเป็นอุบาสกถึงพระรัตนตรัยตลอดชีวิต เขาทูลขออภัยโทษที่หลงผิดไปถึงขนาดนั้น

 

ผู้แสดงความคิดเห็น พัทธ์ธีรา วังกาวันมณเฑียร (vann_ult-at-hotmail-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-08-31 12:21:46


ความคิดเห็นที่ 34 (1567179)

 

๑๓. ทางไปสู่ความเป็นพรหม

 

          พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จจาริกไปในแคว้นโกศลพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ เสด็จถึงหมู่บ้านพราหมณ์ชื่อ มนสากตะ เสด็จประทับ ณ สวนมะม่วงแห่งหนึ่งริมฝั่งแม่น้ำอจิรวดี

          สมัยนั้นพราหมณ์มหาศาล (คือพราหมณ์ร่ำรวยและเป็นใหญ่) หลายคนมาพักอยู่ที่หมู่บ้านมนสากตะ เช่น พราหมณ์วังกีตารุกขะ โปกขรสาติ ชาณุสโสณิ  โตเทยยะ  และพราหมณ์มหาศาลอื่น ๆ อีกมาก

          มีมานพคือเด็กหนุ่ม ๒ คน คือ สาเสฏฐะและภารทวาชะ เดินคุยกันไปถึงเรื่องทางและมิใช่ทาง(ไปสู่พรหมโลก) สาเสฏฐะกล่าวว่า ทางที่ท่านโปกขรสาติพราหมณ์บอกไว้เท่านั้นเป็นทางตรง  นำผู้ดำเนินตามไปสู่ความเป็นสหายแห่งพรหม  ส่วนภารทวาชะกล่าวว่า  ทางที่ท่านตารุกขพราหมณ์กล่าวไว้เท่านั้นเป็นทางตรง  นำไปสู่ความเป็นสหายพรหม

         ทั้งสองเดินเถียงกันไป  มิอาจตกลงกันได้  วาเสฏฐมาณพจึงเสนอว่า  ควรเข้าไปถามพระสมณโคดม เพราะมีกิตติศัพท์ว่าทรงเป็นผู้รู้แจ้งโลก  ทั้งสองเข้าไปเฝ้าพระศาสดาทูลถามถึงข้อสงสัยของตน  พระศาสดาตรัสถามว่า  พราหมณ์เหล่านี้ก็ดี  อาจารย์ของพราหมณ์เหล่านี้ก็ดี  ถอยหลังไป ๗ ชั่วคน มีใครเคยเห็นพรหมบ้างหรือไม่  มาณพทั้งสองทูลตอบว่าไม่มีใครเคยเห็น ตรัสถามว่า  พวกฤาษีที่พราหมณ์เคารพเอ่ยชื่อถึงในบทสวดต่าง ๆ นั้นมีใครเคยเห็นพรหมบ้าง ทูลตอบว่าไม่มี  ตรัสว่าถ้าอย่างนั้นก็เหมือนคนคนตาบอดเดินจูงมือกันไปเป็นแถว ๆ หามีใครเห็นอะไรจริงไม่ (คนตาบอดจูงคนตาบอด) เพลงขับต่าง ๆ ที่ขับสรรเสริญกันอยู่ ก็สักแต่ว่าทำตามกันไป  หามีใครรู้จริงไม่  คำของพราหมณ์เหล่านี้จึงเป็นโมฆะสูญเปล่าไม่มีสาระอะไร  เปรียบเหมือนบุรุษผู้กล่าวว่ารักหญิงงามอยู่คนหนึ่ง  แต่พอถูกถามว่านางเป็นวรรณะอะไร ชื่ออะไร  สูงต่ำดำขาวอย่างไรก็ไม่รู้ ตอบไม่ได้ทั้งนั้น 

          พวกพราหมณ์ผู้ปรารถนาความเป็นสหายแห่งพรหมพากันอ้อนวอนอยู่  แต่ไม่รู้ธรรมอันนำไปสู่ความเป็นพรหม  ก็ได้แต่อ้อนวอนอยู่นั่นแหละ  เหมือนคนต้องการจะข้ามไปฝั่งโน้น  แล้วลงนั่งอ้อนวอนให้ฝั่งโน้นมาหาตน  ย่อมไม่สำเร็จฉันใด  พวกพราหมณ์อ้อนวอนอยู่ก็ไม่สำเร็จฉันนั้น  อนึ่งข้อปฏิบัติของพวกพราหมณ์และของพรหมที่เขาเคารพยกย่องก็ห่างไกลกัน เช่น  พรหมไม่ติดข้องในสตรี  ไม่มีจิตเศร้าหมอง  สามารถควบคุมจิตได้  แต่พราหมณ์ยังติดข้องในสตรี  ยังมีใจจองเวร เศร้าหมอง  ไม่สามารถควบคุมจิตได้  เมื่อเป็นเช่นนี้ก็เปรียบได้กับบุคคลที่ต้องการจะข้ามไปฝั่งโน้นแต่เอาเชือกมัดแขนของตนไพล่หลังไว้อย่างหนาแน่น  เขาจะว่ายน้ำไปได้อย่างไร  กามคุณ ๕ เป็นเครื่องผูกมัดของพราหมณ์  พราหมณ์ยังละกามคุณ ๕ ไม่ได้  เขาจะเข้าถึงความเป็นสหายแห่งพรหมได้อย่างไร  ไตรเพทของพวกพราหมณ์นั้นเป็นเหมือนดงกันดารที่ทำให้พวกพราหมณ์หลงวนเวียนอยู่  มีแต่จะทำให้พินาศล่มจมอย่างเดียว

 

         วาเสฏฐมาณพทูลถามว่า  ทรงทราบทางเข้าถึงความเป็นสหายแห่งพรหมหรือไม่  ตรัสว่าทรงรู้จักดีทั้งพรหมและทางปฏิบัติให้เข้าถึงความเป็นพรหม  ต่อจากนั้นทรงแสดงศีล ๓ ชั้น ฌาน ๔ และอัปปมัญญา ๔ คือ เมตตา ความปรารถนาดี กรุณา ความคิดช่วยเหลือผู้อื่นให้พ้นทุกข์  มุทิตา ความพลอยยินดีต่อความสุขความสำเร็จของผู้อื่น  และอุเบกขา ความวางใจเป็นกลาง ไม่ดีใจไม่เสียใจ เมื่อภิกษุเป็นอยู่อย่างนี้ชื่อว่า  มีพรหมวิหารธรรม อันหาประมาณมิได้  เป็นอัปปมัญญา (ไม่มีขอบเขต ไม่มีประมาณ) เธอจึงมีธรรมเสมอด้วยพรหม  เมื่อสิ้นชีพย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งพรหม

          วาเสฏฐและภารทวาชะ  ทูลสรรเสริญพระธรรมเทศนา  ขอถึงพระรัตนตรัยตลอดชีวิต  เป็นอุบาสกในพระพุทธศาสนา

         คติในพระสูตรนี้ก็คือ

         ๑. การอ้อนวอนโดยไม่รู้เรื่องนั้น  ไม่อาจให้ความสำเร็จประโยชน์ได้  เพียงแต่ทำตาม ๆ กันเหมือนคนตาบอดจูงคนตาบอดเดินตามกันไปเป็นแถว ๆ เหมือนมดเหมือนปลวก

         ๒. ต้องการสิ่งใดหรือต้องการเป็นอย่างใด  ต้องศึกษาทำความเข้าใจให้รู้จักสิ่งนั้นโดยแน่ชัด พร้อมทั้งปฏิปทา(ข้อปฏิบัติ) หรือทางดำเนินเพื่อไปให้ถึงสิ่งนั้น  เหมือนคนจะข้ามไปฝั่งโน้นควรจะต้องว่ายน้ำข้ามไปหรือใช้เรือแพข้ามไป  ไม่ใช่นั่งลงอ้อนวอนโดยไม่ลงมือกระทำเหตุให้สมควรแก่ผลที่ต้องการ  จึงล้มเหลว  ไม่บรรลุผลที่ตนปรารถนา

 จบทีฆนิกาย  สีลขันธวรรค

รวม ๑๓ สูตร

 

ผู้แสดงความคิดเห็น พัทธ์ธีรา วังกาวันมณเฑียร (vann_ult-at-hotmail-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-09-01 20:14:36


ความคิดเห็นที่ 35 (1567360)

 

ทีฆนิกาย มหาวรรค

(พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๐)

 

 

๑. เรื่องราวของพระพุทธเจ้า

 

       คราวหนึ่ง  พระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่วัดเชตวัน  เมืองสาวัตถี  ครั้งนั้นภิกษุมากรูปด้วยกันกลับจากบิณฑบาตแล้ว ฉันอาหารเช้าแล้ว  นั่งสนทนากันที่ศาลาทรงกลมใกล้ไม้กุ่มน้ำ  เรื่อง ปุพเพนิวาส  คือเรื่องชาติก่อน หรือเรื่องเก่า ๆ 

พระพุทธเจ้าเสด็จมาตรัสถามว่า  กำลังสนทนาเรื่องอะไรกันอยู่  เมื่อภิกษุทั้งหลายกราบทูลให้ทรงทราบแล้ว  จึงตรัสเล่าให้ฟังถึงเรื่องของพระพุทธเจ้าในอดีตหลายพระองค์ว่าเป็นมาอย่างไร 

ทรงเล่าตั้งแต่พระวิปัสสีสัมมาสัมพุทธเจ้า  ซึ่งเสด็จอุบัติขึ้นเมื่อ ๙๑ กัปผ่านมาแล้ว  พระพุทธเจ้าพระนามว่าเวสสภูก็เช่นเดียวกัน

 

       ส่วนในกัปนี้ (เรียกว่า ภัททกัป) มีพระพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้น ๔ พระองค์ คือ พระพุทธเจ้าพระนามว่า  กกุสันธะ  โกนาคมนะ  กัสสปะ  และโคตรมะ(คือพระองค์เอง)

 

      ต่อจากนั้นทรงเล่าประวัติโดยย่อของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต่าง ๆ มีพระวิปัสสี เป็นต้น  เช่นเกี่ยวกับพระชนมายุที่ต่างกัน ตัวอย่าง

      พระวิปัสสี          พระชนมายุถึง ๘๐,๐๐๐  ปี

      พระสิขี             พระชนมายุถึง ๗๐,๐๐๐  ปี

      พระเวสสภู         พระชนมายุถึง ๖๐,๐๐๐  ปี

      พระกกุสันธะ       พระชนมายุถึง ๔๐,๐๐๐  ปี

      พระโกนาคมนะ    พระชนมายุถึง ๓๐,๐๐๐ ปี

      พระกัสสปะ         พระชนมายุถึง ๒๐,๐๐๐  ปี

      

      ส่วนพระองค์เอง คือ พระโคตะ  มีพระชนมายุน้อย ไม่ถึงร้อยปี (พระองค์มีพระชนมายุเพียง ๘๐ ปี) คนในสมัยของพระองค์มีอายุประมาณ ๑๐๐ ปี น้อยกว่าบ้าง มากกว่าบ้าง  แต่ก็อยู่ประมาณนี้

      เมื่อตรัสเรื่องของพระพุทธเจ้าต่าง ๆ พอสมควรแล้ว  ได้เสด็จเข้าสู่ที่ประทับ  หลังจากนั้นภิกษุทั้งหลายสนทนากันถึงเรื่องความอัศจรรย์ของพระพุทธองค์ ที่ทรงพระปรีชาสามารถระลึกถึงเรื่องในอดีตได้เป็นกัป ๆ ทรงทราบเรื่องของพระพุทธเจ้าทั้งหลายอย่างละเอียด  พระพุทธองค์เสด็จมาอีกและตรัสว่า  ที่พระองค์ทรงสามารถเช่นนี้ก็เพราะทรงรู้แจ้งแทงตลอดธรรมธาตุต่าง ๆ แล้ว มีพระญาณอันไม่มีอะไรขวางกั้น

      ทรงเล่าถึงธรรมดาของพระโพธิสัตว์ในชาติสุดท้าย ที่จะเป็นพระพุทธเจ้าว่า  มีเหตุแปลกประหลาดซึ่งไม่เหมือนคนทั่วไปอยู่เป็นอันมาก เช่น เมื่ออยู่ในพระครรภ์  พระมารดาจะไม่มีอาพาธใด ๆ พระมารดาจะได้รับความสุขสำราญทุกอย่าง  พระมารดายืนประสูติ  เมื่อประสูติแล้ว  พระโพธิสัตว์จะเสด็จดำเนินได้และเปล่งพระวาจาได้ เป็นต้น  สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นธรรมดาของพระพุทธเจ้าทุกพระองค์  พระโพธิสัตว์จะสมบูรณ์ด้วยมหาบุรุษลักษณะ ๓๒ ประการ  ซึ่งเป็นนิมิตรหมายว่า  ถ้าอยู่ครองฆราวาสจะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ  ถ้าเสด็จออกทรงผนวชจะได้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

 

      ต่อจากนั้น  ทรงเล่าเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับพระวิปัสสีสัมมาสัมพุทธเจ้า  คล้ายชีวประวัติของพระองค์เอง  และทรงเล่าพระประวัติของพระองค์เองเล็กน้อยในตอนท้าย

 

      ในพระสูตรนี้มีเรื่องที่น่าพินิจพิจารณาอยู่หลายประการ  ยกมากล่าวเพียง ๒ ประการก่อน คือ

      ๑. เรื่องพระชนมายุของพระพุทธเจ้า ซึ่งมีนับเป็นหมื่น ๆ ปี คือ ๘๐,๐๐๐ ปีบ้าง ลงมาถึง ๒๐,๐๐๐ ปีบ้าง ปัญหาว่าการนับปีนั้นนับอย่างไร  นับเหมือนอย่างที่เรานับเดี๋ยวนี้หรือไม่  หรือว่าเมื่อก่อนโลกหมุนเร็วกว่านี้  คือหมุนรอบตัวเองและหมุนรอบดวงอาทิตย์เร็ว  วันเวลาก็เร็ว  จึงนับได้มากปี  ๘๐,๐๐๐ ปีเวลานั้น จะเท่ากับ ๒๐๐ ปีเวลานี้ ได้หรือไม่  อีกอย่างหนึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับภูมิศาสตร์ เช่น กลุ่มประเทศที่อยู่ขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้  จะมีกลางวัน๖ เดือน กลางคืน ๖ เดือน คือเห็นดวงอาทิตย์อยู่ ๖ เดือนแล้วไม่เห็นอยู่ ๖ เดือน  เมื่อเทียบกับเดือนของกลุ่มประเทศที่อยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตร  เช่นประเทศไทยเรา  กลางวันกลางคืนก็ต่างกันมาก โดยนัยนี้ ๑ ปีของเรา ก็เท่ากับ หนึ่งวันกับหนึ่งคืนของเขา  หากคนเหล่านั้นมีอายุเพียง ๓ เดือน ก็เท่ากับเราอายุ ๙๐ ปี

      ถ้าวันเดือนปีอย่างเวลานี้และคนมีอายุ ๘๐,๐๐๐ ปี นับว่าแปลกมาก เป็นเรื่องที่ควรพิจารณาทีเดียว

      ๒. เรื่องทางแทงตลอดธรรมธาตุของพระพุทธเจ้า  ธรรมธาตุคืออะไร  คือความเป็นธรรมดาของสิ่งต่าง ๆ ที่เป็นเช่นนั้น ๆ ทั้งฝ่ายจิตและฝ่ายวัตถุโลก  คือเป็นธรรมดาของสิ่งนั้นที่จะต้องเป็นเช่นนั้น   เช่นเป็นธรรมดาของเกลือที่จะต้องเค็ม  น้ำตาลหวาน และบอระเพ็ดขม เป็นต้น  เป็นธรรมดาของคนทุกคนที่จะต้องแก่ เจ็บ และตาย  การที่เราเห็นอะไรเป็นสิ่งแปลก อาจเป็นเพราะเราไม่รู้จักธรรมดาของสิ่งนั้นก็ได้  โดยนัยนี้ อาจเป็นธรรมดาของคนสมัยพระพุทธเจ้าพระนามว่า  วิปัสสี เมื่อ ๙๑ กัปนับถอยหลังจากนี้ไป จะมีผู้มีอายุยืนถึง ๘๐,๐๐๐ ปี หรือต่อไปในภายภาคหน้าอันไกล  อาจเป็นธรรมดาของคนสมัยนั้นที่จะมีอายุเพียง ๕ ปีเป็นสูงสุดก็ได้    เรื่องเหล่านี้พระพุทธองค์ทรงทราบด้วยพระญาณซึ่งเป็นธรรมดาของพระองค์เองอีก  แต่เรา ๆ ไม่ทราบเพราะไม่มีญาณเช่นนั้น

 

ผู้แสดงความคิดเห็น พัทธ์ธีรา วังกาวันมณเฑียร (vann_ult-at-hotmail-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-09-02 20:13:53


ความคิดเห็นที่ 36 (1567362)

 

๒. กระบวนการแห่งเหตุปัจจัย

 

       พระพุทธเจ้าประทับ ณ นิคม ชื่อ ธัมมาสทัมมะ  (บางแห่งเป็น ธัมมาสธัมมะ)  ในแคว้นกุรุ (กรุงเดลี ปัจจุบันอยู่ในรัฐ ยู.พี. อุตตรประเทศ)  ครั้งนั้น  พระอานนท์เข้าไปเฝ้า  ทราบทูลว่า  ปฏิจจสมุปบาท (สิ่งที่อาศัยกันเกิดขึ้น) ลึกซึ่งสุดประมาณ ปรากฏเป็นของลึกซึ้ง แต่สำหรับท่านเองแล้วรู้สึกว่าเป็นเหมือนของตื้น ๆ

 

      พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสห้ามว่า  อย่างพูดอย่างนั้น  เพราะปฏิจจสมุปบาทเป็นของลึกซึ้งยิ่งนัก  ปรากฏเป็นของลึกซึ้ง  สัตว์ทั้งหลายต้องยุ่งเหยิง  วุ่นวาย  ต้องเวียนเกิดเวียนตายก็เพราะไม่รู้แจ้งแทงตลอดซึ่งปฏิจจสมุปบาทนี้เอง  และต้องเกิดมาจับยุ่งต้นชนปลายไม่ถูก  เหมือนหญ้าที่เขาตัดแล้วโยนเรี่ยราดอยู่  เหมือนเส้นด้ายที่ขอดกัน  เป็นปมยุ่งเหยิงแก้ให้เป็นระเบียบได้ยาก  เมื่อตายแล้วก็มักไม่พ้นอบายภูมิ  คือ  นรก  เปรต อสูรกาย  และสัตว์เดียรัจฉาน

 

      ต่อจากนั้น  พระพทุธองค์ทรงแสดงปฏิจจสมุปบาท  เริ่มตั้งแต่  ชรา  มรณะ (ความแก่ ความตาย) สาวไปหาต้นว่ามีเพราะมีความเกิด  ถ้าไม่มีความเกิด  ความแก่ ความตาย ย่อมมีไม่ได้  ความเกิดมีเพราะภพ  คือความตั้งใจ  หรือความพอใจในการเกิด (The will to be born) ยังไม่เบื่อหน่ายในการเกิด  ยังอยากเกิดอีก   ความอยากเกิดหรือภพมี  เพราะมีอุปาทาน  ความยึดติดในกาม เป็นต้น ความยึดติดในกามมี  เพราะมีตัณหา ความดิ้นรนทะยานอยาก  มีตัณหาเพราะมีเวทนา  ความรู้สึกสุข ทุกข์  หรือไม่ทุกข์ไม่สุข  มีเวทนาเพราะมีผัสสะ  คือ การกระทบทางตา  หู จมูก  ลิ้น  กาย  และใจ  กับสิ่งเร้าภายนอก มีรูป  เสียง เป็นต้น  มีผัสสะเพราะมีนามรูป  มีนามรูปเพราะมีวิญญาณ  และวิญญาณเป็นปัจจัยให้มีนามรูปด้วย

      ทรงหยุดเพียงเท่านี้  ไม่สาวต่อไปถึงสังขาร (ความคิดปรุงแต่ง)  และอวิชชา(ความไม่รู้จริง ไม่รู้แจ้ง)

      เมื่อถึงตอนที่ว่าด้วยตัณหา  ทรงซอยละเอียดลงไปอีกดังนี้  เพราะอาศัยตัณหาจึงมีการแสวงหา  เมื่อมีการแสวงหาก็ได้ลาภ   เมื่อได้ลาภมาจึงเกิดปักใจ(ว่าเป็นของเรา)  เมื่อเกิดปักใจก็มีความรักใคร่พะวง  เมื่อเกิดความรักใคร่พะวงก็เกิดความยึดถือ-เกิดตระหนี่-เกิดการป้องกันหวงแหน-และเกิดอกุศลต่าง ๆ ขึ้นมากมาย  เช่น  การถือไม้ถือมีด  (ถือปืน) การทะเลาะแก่งแย่ง  วิวาท  การกล่าว  มึง  กู  ส่อเสียด  พูดเท็จ ฯลฯ

      ทรงแสดงว่า  นามรูปคือกายกับใจนี้  เกิดขึ้นเพราะมีเหตุปัจจัยเวียนเกิดเวียนตายอยู่  เป็นเพียงสมมติบัญญัติ  ทำให้เกิดความยึดมั่นในเรื่องอัตตา(ตัวตน) ขึ้น  อันที่จริงไม่ควรยึดมั่นในเรื่องอัตตา  เมื่อไม่ยึดมั่นจึงหลุดพ้น

      พระสูตรนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับปฏิจจสมุปบาท (สิ่งที่อาศัยกันเกิดขึ้น  ปฏิจจะ = อาศัย + สมุปปบาท = เกิดขึ้น)  เรียกอักชื่อหนึ่งว่า  ปัจจยาการ (ปัจจยะ + อาการ) แปลว่า อาการของสิ่งที่เป็นปัจจัย (factor) ของกันและกัน  มีอีกชื่อหนึ่งท่านเรียกชื่อว่า  อิทัปปัจจยตา (อิทะ + ปัจจยตา) แปลว่า ความที่อาศัยสิ่งนี้เป็นปัจจัย  (สิ่งนั้นจึงเกิดขึ้น) เช่น  อาศัยไส้ติ่งอีกเสบเป็นปัจจัย การปวดท้องจึงเกิดขึ้น เป็นต้น

 

      ปฏิจจสมุปบาท  หรือปัจจยาการ หรืออิทัปปัจจยตานี้  ตรงกับคำในภาษาอังกฤษว่า Dependen Origination หรือ Causality คือ ความเป็นเหตุเป็นผลของกันและกัน  เช่น ไก่กับไข่ หรือเม็ดมะม่วงกับต้นมะม่วง เป็นต้น  สิ่งที่เป็นเหตุแล้วกลับมาเป็นผล  เมื่อเป็นผลแล้วกลับไปเป็นเหตุ  อิงอาศัยกัน เช่น เม็ดมะม่วงเป็นเหตุของต้นมะม่วง  ต้นมะม่วงเป็นเหตุให้เกิดเม็ดมะม่วงต่อไป  เวียนกันอยู่อย่างนี้

      ปฏิจจสมุปบาทเป็นกฎครอบจักรวาล (Cosmic Law) สิ่งทั้งปวงที่เกิดขึ้น ปรากฏอยู่ ล้วนเกิดขึ้น ปรากฏขึ้น และดับไปในลักษณะของการอิงอาศัยกันเกิด  อิงอาศัยกันดำรงอยู่  และอิงอาศัยกันดับไปเป็นสัมพันธภาพ (Relativity) ทฤษฎีสัมพัทธ์หรือกฎแห่งสัมพันธภาพของท่านแอลเบิร์ต ไอน์สไตน์  ก็เป็นเรื่องเดียวกับปฏิจจสมุปบาทนี้เอง ท่านกล่าวว่า

      เราไม่อาจรู้ค่าที่แท้จริงของสิ่งทั้งหลายได้  นอกจากค่าสัมพันธ์ของมันเท่านั้น หมายความว่า  สิ่งใดสิ่งหนึ่งจะมีค่าเป็นอย่างไรก็สุดแล้วแต่ความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งนั้นกับสิ่งอื่น  เช่น  น้ำจืดจะมีค่าอย่างยิ่งสำหรับคนผู้กำลังกระหาย  ข้าวปลาอาหารจะมีค่าอย่างยิ่งสำหรับผู้หิว เป็นต้น เรื่องอื่น ๆ ก็ทำนองเดียวกัน

      ปฏิจจสมุปบาทที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงก็ทรงแสดงในทำนองเป็นเหตุปัจจัย เช่น เพราะสิ่งนี้เกิด  สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น...   เพราะสิ่งนี้ดับ สิ่งนี้จึงดับ  ตัวอย่าง เพราะมีตัณหาความทะยานอยาก จึงมีอุปาทานความยึดมั่นถือมั่น เป็นต้น  และอุปาทานนั่นเองจะย้อนกลับมาเป็นเหตุปัจจัยแห่งตัณหาอีก  เป็นเหตุเป็นผลของกันและกัน (Causation หรือ Causality)

      การรู้แจ้งในเหตุปัจจัย  คือ เหตุปัจจัยของสิ่งทั้งหลาย ในฐานะเป็นสิ่งอิงอาศัยกัน  ทำให้เรารู้เห็นสิ่งต่าง ๆ ตามความเป็นจริง  ไม่ใช่ตามที่เรายึดมั่นถือมั่นไว้ด้วยอุปาทาน หรือความเชื่อผิด ๆ ทำให้เข้าใจหลักกว้าง ๆ และหลักสำคัญของพระพุทธศาสนาที่ว่า  สิ่งทั้งหลายย่อมเป็นไปตามเหตุปัจจัย

 

 

ผู้แสดงความคิดเห็น พัทธ์ธีรา วังกาวันมณเฑียร (vann_ult-at-hotmail-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-09-02 20:22:01


ความคิดเห็นที่ 37 (1567753)

โมทนาบุญกับทุกท่านค่ะ

ผู้แสดงความคิดเห็น บุญภิบาล คงเขียว ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-09-05 14:30:10


ความคิดเห็นที่ 38 (1567818)

 

 ๓. การปรินิพพาน

     ของพระพุทธเจ้า

 

       หัวข้อนี้เป็นการเล่าเรื่องของพระพุทธเจ้าตั้งแต่ก่อนปรินิพพาน  ตอนปรินิพพาน  และหลังจากปรินิพพานแล้ว  มีการถวายพระเพลิงหลังจากปรินิพพานแล้ว ๗ วัน เป็นการเล่าเรื่องเกี่ยวกับการปรินิพพานของพระพุทธเจ้าที่ละเอียดลออ  น่าสนใจมาก ขอนำมากล่าวโดยย่อดังนี้

      ก่อนปรินิพพานประมาณ ๑ ปี  พระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่ภูเขาคิชฌกูฏ (มียอดเหมือนนกแร้ง) เมืองราชคฤห์  พระเจ้าอชาตศัตรูผู้ครองแคว้นมคธ ซึ่งมีราชคฤห์เป็นเมืองหลวงนั้น  เตรียมการจะโจมตีแคว้นวัชชี  ซึ่งมีเวสสาลีเป็นเมืองหลวง  แคว้นทั้งสองนี้อยู่ติดกันเพียงแต่มีแม่น้ำคงคาคั่นอยู่ 

      พระเจ้าอชาตศัตรูส่งวัสสการพราหมณ์ ผู้เป็นมหาอำมาตย์ของแคว้นมคธไปเฝ้าพระศาสดา  เพื่อหยั่งเสียงว่าจะทรงมีความเห็นเป็นประการใด  เพราะทรงเชื่อมั่นว่าพระวาจาของพระพุทธเจ้าย่อมเป็นจริงเสมอ  วัสสการพราหมณ์ไปเฝ้าทูลเล่าเรื่องที่พระเจ้าอชาตศัตรูจะโจมตีแคว้นวัชชี

      พระพุทธองค์ทรงสดับแล้ว  ไม่ได้ตรัสอะไรกับวัสสการพราหมณ์  แต่หันพระพักตร์ไปตรัสถามพระอานนท์ ซึ่งยืนถวายงานพัดอยู่เบื้องพระปฤษฎางค์ (ยืนพัดอยู่ข้างหลัง) ว่า

      อานนท์  ชาวแคว้นวัชชียังคงประพฤติวัชชีอปริหานิยธรรม  คือ  ธรรมอันเป็นไปเพื่อความไม่เสื่อม  เป็นไปเพื่อความเจริญโดยส่วนเดียว ซึ่งเราเคยแสดงแก่ชาววัชชีอยู่หรือ

      ยังคงประพฤติอยู่ พระเจ้าข้า พระอานนท์ทูลตอบ

 

      ดูก่อนอานนท์  ชาววัชชีประพฤติมั่นในธรรม ๗ ประการ คือ

      ๑. หมั่นประชุมกันเนืองนิตย์

      ๒. เมื่อประชุมก็พร้อมเพรียงกันประชุม เมื่อเลิกประชุมก็เลิกโดยพร้อมเพรียงกัน  และพร้อมเพรียงกันทำกิจชาววัชชีให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี

      ๓. ชาววัชชีย่อมเคารพเชื่อฟังในบัญญัติเก่าของชาววัชชีที่ดีอยู่แล้ว  ไม่เพิกถอน  และไม่บัญญัติสิ่งซึ่งไม่ดีงามขึ้นมาแทน

      ๔. ชาววัชชีเคารพสักการะนับถือยำเกรงผู้เฒ่าผู้แก่ ผู้ผ่านโลกมานาน  ไม่ลบหลู่ ดูหมิ่น หรือเหยียดหยาม

      ๕. ชาววัชชีประพฤติธรรมในสุภาพสตรี คือ ไม่ข่มเหงน้ำใจสุภาพสตรี

      ๖. ชาววัชชีรู้จักเคารพสักการบูชาปูชนียสถาน

      ๗. ชาววัชชีให้ความอารักขาคุ้มครองพระอรหันต์  สมณพราหมณาจารย์ผู้ประพฤติธรรม  ปรารถนาให้สมณพราหมณาจารย์ผู้มีศีลที่ยังไม่มาสู่แคว้น  ขอให้มา  และที่มาแล้วขอให้อยู่เป็นสุข

      ดูก่อนอานนท์  ตราบเท่าที่ชาววัชชียังประพฤติปฏิบัติวัชชีธรรมทั้ง ๗ ประการนี้อยู่  พวกเขาจะไม่ประสบความเสื่อมเลย  มีแต่ความเจริญมั่นคงโดยส่วนเดียว

 

      แล้วพระพุทธองค์ทรงผินพระพักตร์มาตรัสกับวัสสการพราหมณ์

      พราหมณ์  ครั้งหนึ่งเราเคยพักอยู่ที่สารันทเจดีย์ใกล้กรุงเวสาลี   ได้แสดงธรรมทั้ง ๗ ประการแก่ชาววัชชี  ตราบใดที่ชาววัชชียังประพฤติตามธรรมนี้อยู่  พวกเขาจะหาความเสื่อมมิได้  มีแต่ความเจริญโดยส่วนเดียว

      ข้าแต่พระผู้มีพระภาค วัสสการพราหมณ์ทูล ไม่ต้องพูดถึงว่า  ชาววัชชีจะบริบูรณ์ด้วยธรรมทั้ง ๗ ประการเลย  แม้มีเพียงประการเดียวเท่านั้น  เขาก็จะหาความเสื่อมมิได้  จะมีแต่ความเจริญโดยส่วนเดียว

      เมื่อวัสสการพราหมณ์ทูลลาแล้ว  พระศาสดารับสั่งให้พระอานนท์ประกาศให้พระภิกษุทั้งหมดซึ่งอาศัยอยู่ ณ กรุงราชคฤห์มาประชุมพร้อมกัน  และพระมหาสมณะทรงแสดงอปิหานิยธรรม  โดยเนกปริยาย  เป็นต้นว่า

      ภิกษุทั้งหลาย  ตราบใดที่พวกเธอยังหมั่นประชุมกันเนืองนิตย์พร้อมเพรียงกันประชุม  เคารพในสิกขาบทบัญญัติ  ยำเกรงภิกษุผู้เป็นสังฆเถระ  สังฆบิดร  ไม่ยอมตนให้ตกอยู่ภายใต้อำนาจแห่งตัณหา  พอใจในการอยู่อาศัยเสนาสนะป่า  ปรารถนาให้เพื่อนพรหมจารีมาสู่สำนักและอยู่เป็นสุข  ตราบนั้นพวกเธอจะไม่เสื่อมเลย  มีแต่ความเจริญโดยส่วนเดียว

      ภิกษุทั้งหลาย  ตราบใดที่เธอไม่หมกมุ่นกับงานมากเกินไป  ไม่พอใจด้วยการคุยฟุ้งซ่าน ไม่ชอบใจ ไม่พอใจในการนอนมากเกินควร  ไม่ยินดีในการคลุกคลีด้วยหมู่คณะ  ไม่เป็นผู้ปรารถนาลามก  ไม่ตกอยู่ใต้อำนาจแห่งความปรารถนาชั่ว  ไม่คบมิตรเลว ไม่หยุดความเพียรพยายามเพื่อบรรลุคุณธรรมสูง ๆ ขึ้นไปแล้ว  ตราบนั้นพวกเธอจะไม่มีความเสื่อมเลย  จะมีแต่ความเจริญโดยส่วนเดียว

 

      ทรงแสดงอปริหานิยธรรมอีก ๖ ประการ ซึ่งในที่อื่นทรงแสดงโดยชื่อว่า สาราณียธรรม (ธรรมอันเป็นเหตุให้ระลึกถึงกัน  เป็นไปเพื่อความรัก  ความเคารพต่อกัน  เพื่อสามัคคี เอกีภาพ) คือ

      ๑. มีความเมตตาทางกาย คือ จะทำอะไรก็ทำด้วยเมตตา

      ๒. มีเมตตาทางวาจา คือ จะพูดอะไรก็พูดด้วยเมตตา

      ๓. มีเมตตามโนกรรม คือ จะคิดอะไรก็คิดด้วยเมตตา

      ๔. แบ่งปันลาภผลที่ตนหาได้มาโดยชอบธรรมแก่ผู้อื่นตามสมควร  ไม่หวงไว้บริโภคแต่ผู้เดียว

      ๕. มีศีล มีความประพฤติดีเสมอกัน  ไม่ทำตนให้เป็นที่รังเกียจของผู้อื่น เพราะความประพฤติไม่ดีของตน

      ๖. มีความเห็นร่วมกัน เสมอกันกับเพื่อนภิกษุอื่น ๆ ทั้งในที่แจ้งและในที่ลับ  เป็นความเห็นที่ถูกต้องที่จะนำตนออกจากทุกข์ได้

      เมื่อภิกษุมีอปริหานิยธรรมทั้ง ๖ ประการนี้อยู่เพียงใด เธอย่อมหวังได้ซึ่งความสุขความเจริญส่วนเดียว  ย่อมไม่เสื่อมเลย

 

      ขณะที่ประทับอยู่ ณ ภูเขาคิชฌกูฏนั้น  ทรงแสดงธรรมเน้นเรื่อง ศีล สมาธิ และปัญญาเป็นอันมากกว่า  ศีล สมาธิ  ปัญญาเป็นอย่างนี้ ๆ

สมาธิซึ่งมีศีลเป็นพื้นฐาน  ปัญญาซึ่งมีสมาธิเป็นพื้นฐาน  ย่อมมีผลมาก มีอานิสงค์มาก  จิตซึ่งได้รับการอบรมแล้วด้วยปัญญาเช่นนี้ย่อมหลุดพ้นจากอาสวะ  คือ  กิเลสที่หมักหมมอยู่ในสันดานต่าง ๆ

 

       จากภูเขาคิชฌกูฏเสด็จไปยังพระราชอุทยามชื่อ  อัมพลัฏฐิกา  ประทับ ณ ตำหนักหลวง ทรงแสดงธรรมเรื่องศีล  สมาธิ  ปัญญา  นั่นเอง แก่ภิกษุทั้งหลายอีก จากพระราชอุทยานอัมพลัฏฐิกา  เสด็จยังหมู่บ้านนาลันทา ประทับ ณ สวนมะม่วงชื่อปาวาทิกะ (ปาวาทิกอัมพวัน) ณ ที่นี้เอง พระสารีบุตรเข้าไปเฝ้า  กล่าวอาสภิวาจา คือ ถ้อยคำที่แสดงถึงความเลื่อมใสอย่างยิ่งในพระศาสดาว่า  ท่านมีความเลื่อมใสอย่างยิ่งในพระผู้มีพระภาคเจ้า  เพราะทั้งในอดีต  อนาคต  และปัจจุบัน  ไม่มีสมณะหรือพราหมณ์ใด ๆ เลยที่เป็นผู้รู้ยิ่งไปกว่าพระพุทธองค์ในเรื่องพระสัมโพธิญาณ (การตรัสรู้เอง)

      เสด็จต่อไปถึงปาฏลิคาม (ซึ่งต่อมาเป็นเมืองปาฏลีบุตร  เวลานี้คือเมืองปัตนะ) ณ ที่นี้ อุบาสกอุบาสิกาเป็นจำนวนมากมาเฝ้า  พระพุทธองค์ทรงแสดงโทษแห่ง ศีลวิบัติ (ความวิบัติแห่งศีล) ๕ ประการ คือ

      ๑. ผู้ไร้ศีลย่อมประสบความเสื่อมทางโภคะ

      ๒. ชื่อเสียงทางไม่ดีฟุ้งขจรไป

      ๓. ไม่แกล้วกล้าอาจหาญเมื่อเข้าที่ประชุม หรือท่ามกลางชุมชน

      ๔. เมื่อจวนตาย ย่อมขาดสติสัมปะชัญญะ คุ้มครองสติไม่ได้ เรียกว่า หลงตาย

      ๕. เมื่อตายแล้วย่อมไปสู่ทุคติ

      ส่วนคุณแห่งศีลสมบัติ  คือความสมบูรณ์ด้วยศีล  มีนัยตรงกันข้ามกับศีลวิบัติดังกล่าวแล้ว

 

      ขณะที่ประทับอยู่ ณ ปาฏลิคามนั่นเอง  สุนิธะมหาอำมาตย์กับวัสสการพราหมณ์กำลังเตรียมสร้างปาฏลิคามเป็นเมืองหน้าด่านเพื่อโจมตีแคว้นวัชชี  พร้อมทั้งป้องกันการโจมตีจากแคว้นวัชชีด้วย  พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์ไว้กับพระอานนท์ว่า  ต่อไปภายหน้าปาฏลิคามจะเป็นเมืองใหญ่  เป็นเมืองสำคัญทางการค้าขาย

      สุนิธะและวัสสการพราหมณ์ไปเฝ้าพระศาสดา  ทูลอาราธนาให้เสวยในที่พักของตนให้เช้าวันนั้น  พระพุทธองค์พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์เสด็จไปเสวย ณ ที่พัก (อาวสกะ) ของท่านทั้งสอง  เสร็จแล้วทรงอนุโมทนาอันน่าจับใจว่า

      บัณฑิตอยู่ ณ ที่ใด ย่อมเชื้อเชิญท่านผู้มีศีลมาบริโภค ณ ที่นั้น  อุทิศส่วนบุญให้แก่เทวดาผู้สถิตอยู่ ณ ที่นั้น ๆ เทวดาผู้ซึ่งได้รับการบูชาแล้วย่อมบูชาตอบ  ได้รับความนับถือแล้วย่อมนับถือตอบ  ย่อมอนุเคราะห์บุคคลนั้นเหมือนมารดาบิดาอนุเคราะห์บุตร  ผู้ซึ่งเทวดาอนุเคราะห์แล้วย่อมประสบแต่ความเจริญ

 

      มหาอำมาตย์ทั้งสองตามส่งพระพุทธองค์  ตั้งใจไว้ว่า พระศาสดาเสด็จออกทางประตูใด  เสด็จข้ามแม่น้ำคงคาที่ท่าใด จะตั้งชื่อประตูนั้นว่า  ประตูโคตรมะ และท่านั้นว่า ท่าโคตรมะ

 

       เสด็จข้ามแม่น้ำคงคาถึงโกฏิคาม  ทรงแสดงอริยสัจ ๔ แก่ภิกษุทั้งหลาย  โดยใจความสำคัญว่า เพราะไม่รู้แจ้งแทงตลอดอริยสัจ ๔ เราและเธอทั้งหลายจึงต้องเร่ร่อนไป  ท่องเที่ยวไปในสังสารวัฏอันยาวนาน บัดนี้เราได้รู้แจ้งแทงตลอดอริยสัจ ๔ แล้ว จึงไม่ต้องท่องเที่ยวไป สิ้นภพ สิ้นชาติแล้ว

 

       จากโกฏิคามเสด็จถึงนาทิกคาม  ประทับ ณ ที่พักอันก่อด้วยอิฐ ทรงแสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลาย ให้เอาธรรมเป็นกระจกส่องดูตัวเองและพยากรณ์ตนเองได้ว่าภายหน้าจะเป็นอย่างไร  ไม่ต้องทูลถามพระศาสดาให้ทรงลำบาก  ตรัสกับพระอานนท์ว่า ผู้ใดมีคุณสมบัติ ๔ ประการ  คือ เลื่อมใสในพระพุทธเจ้า  ในพระธรรม และในพระสงฆ์ อย่างมั่นคง  ไม่หวั่นไหว  พร้อมด้วยมีศีลบริสุทธิ์  ผู้นั้นย่อมพยากรณ์ตนเองได้ว่าเป็นโสดาบัน  มีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา  ไม่ต้องตกนรก ไม่เกิดในกำเนิดสัตว์เดียรัจฉาน  ไม่ต้องเป็นเปรต  หรืออสุรกาย เป็นการปิดอบายได้โดยสิ้นเชิง

 

       เสด็จเข้าสู่เมืองเวสาลี ประทับ ณ อัมพปาลีวันของนางอัมพปาลีผู้เป็นนครโสเภณี ของนครเวสาลี  ทรงเตือนภิกษุทั้งหลายให้อยู่ด้วยสติสัมปชัญญะอยู่เสมอ  นางอัมพปาลีทราบข่าวว่าพระศาสดาเสด็จมาประทับอยู่ที่สวนมะม่วงของตน  จึงนั่งรถเทียมม้าไปเฝ้า  พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมให้อาจหาญร่าเริงในกุศลธรรมแล้ว  ทูลอาราธนาพระองค์และภิกษุสงฆ์เพื่อเสวยในวันรุ่งขึ้น  พระศาสดาทรงรับ

      พวกลิจฉวีแห่งเมืองเวสาลีก็เสด็จมาเฝ้าเหมือนกัน  สวนทางกับนางอัมพปาลีซึ่งกำลังกลับบ้าน  ทราบเรื่องที่นางอัมพปาลีจะถวายภัตตาหารแด่พระผู้มีพระภาค  พวกเขาขอซื้อการเลี้ยงพระพุทธเจ้าด้วยทรัพย์แสนกหาปณะ (หน่วยเงินตรา ๑ กหาปณะ มีค่าเท่ากับ ๔ บาท) นางอัมพปาลีตอบว่า แถมเมืองเวสาลีกับชนบท     ให้ด้วยก็ไม่เอา

      พระศาสดาทอดพระเนตรเห็นเจ้าลิจฉวีซึ่งแต่งตัวสวยงามมาแต่ไกล  ตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า  ใครไม่เคยเห็นเทพชั้นดาวดึงส์ก็จงดูพวกเจ้าลิจฉวีเหล่านี้แหละ  ทรงแสดงธรรมให้เจ้าลิจฉวีร่าเริงอาจหาญในกุศลธรรมแล้ว  วันรุ่งขึ้นเสด็จยังนิเวศน์ของนางอัมพปาลี  ทรงรับอัมพปาลีวันซึ่งเจ้าของถวายเป็นที่ประทับของพระองค์และภิกษุสงฆ์

 

      ข่าวเรื่องพระเจ้าอชาตศัตรูเตรียมทัพเพื่อโจมตีแคว้นวัชชีนั้น  ทำให้พระพุทธองค์ผู้มีพระมหากรุณาทรงห่วงใยแคว้นวัชชียิ่งนัก  เป็นเวลาเกือบ ๑ ปีที่เสด็จวนเวียนอยู่ใกล้แคว้นวัชชี  ในที่สุดก็เสด็จประทับ ณ เวฬุวคาม (บ้านมะตูม) เมื่อจวนเข้าพรรษามีพระพุทธานุญาติให้ภิกษุทั้งหลายเลือกจำพรรษาได้ตามชอบใจ  ส่วนพระองค์จะประทับจำพรรษา ณ เวฬุวคาม

      การที่ไม่เสด็จเข้าเมืองเวสาลีนั้น  น่าจะเป็นเพราะไม่ทรงปรารถนาด้วยเรื่องการบ้านการเมือง  ถ้าเสด็จเข้าไปอาจเป็นที่ระแวงของพระเข้าอชาตศัตรูว่าทรงเอาพระทัยเข้าข้างเวสาลี  แต่การที่พระองค์ทรงวนเวียนอยู่ในแคว้นวัชชีเป็นเวลาเกือบปีนั้นก็ได้ผลสมพระประสงค์  คือ พระเจ้าอชาตศัตรูมิได้ยาตราทัพเข้าสู่แคว้นวัชชีเลย  พระพุทธองค์ทรงเกื้อกูลหมู่ชนมิใช่เพียงแต่ในทางธรรมเท่านั้น  แต่ทรงบำเพ็ญประโยชน์แก่เทวดาและมนุษย์  แม้ในทางโลกอีกด้วย  สมแล้วที่พระองค์ได้พระนามว่า พระโลกนาถ ผู้เป็นที่พึ่งของโลก แม้ภายหลังเมื่อพระองค์ปรินิพพานแล้วตั้งแต่บัดนั้นจนกระทั่งบัดนี้  มีมนุษย์จำนวนนับไม่ได้ที่ระลึกถึงคำสอนของพระองค์  และได้วางมือจากการประกอบกรรมชั่วแล้วตั้งหน้าทำความดี  พระองค์ยังทรงเป็นที่พึ่งของโลกอยู่

 

      ในพรรษานั้นเอง ซึ่งเป็นพรรษาสุดท้ายแห่งพระชนมชีพ  พระตถาคตเจ้าทรงพระประชวรหนักด้วยโรคปักขันทิกาพาธ  คือมีพระบังคนเป็นโลหิต  เกือบจะปรินิพพาน  แต่ทรงพิจารณาเห็นว่ายังไม่เป็นการอันสมควรที่จะปรินิพพาน   ยังไม่ได้บอกลาภิกษุผู้เป็นอุปัฏฐากและภิกษุสงฆ์  จึงทรงใช้สมาธิอิทธิบาทภาวนาขับไล่อาพาธนั้นด้วยอธิวาสนขันติ (อดทนต่อทุกขเวทนาอาพาธ) เรื่องที่พระพุทธองค์ทรงใช้ความอดทนจนหายอาพาธนั้นเป็นที่ประจักษ์แก่พุทธบริษัททุกหมู่เหล่า

      เมื่อหายอาพาธแล้ว  ตอนเย็นประทับนั่ง ณ ร่มเงาแห่งที่พัก (วิหาร) พระอานนท์เข้าเฝ้า กราบทูลว่า  ได้เห็นความอดทนของพระองค์แล้ว  ตัวพระองนนท์เองมืดมนไปหมด ทำอะไรไม่ถูก  แต่เบาใจอยู่หน่อยหนึ่งว่า  พระผู้มีพระภาคจะยังไม่ปรินิพพาน  ตราบเท่าที่ยังไม่ได้ประชุมสงฆ์ปรารภข้อที่ควรปรารภท่ามกลางมหาสมาคม

      พระพุทธองค์ตรัสว่า  ภิกษุสงฆ์จะหวังอะไรในพระองค์อีก  พระองค์ได้ทรงแสดงธรรมเปิดเผยหมดแล้ว  ไม่มีกำมือของอาจารย์ คือมิได้ปิดบังซ่อนเร้นอะไรไว้เลย  แต่บัดนี้พระองค์ทรงชรามากแล้ว  วัยล่วงมาถึง ๘๐ แล้ว  สังขารร่วงโรย  ทรุดโทรมเหมือนเกวียนหัก  เพียงแต่ได้ไม้ไผ่มากระหนาบคาบค้ำไว้  จะยืนนานไปได้สักเท่าใด  อย่าหวังพึ่งอะไรพระองค์อีกเลย  ขอให้มีตนเองและมีธรรมเป็นที่พึ่งเถิด

      ตรัสในที่สุดว่า ภิกษุของเราผู้ใคร่ต่อการศึกษาจักถึงความเป็นเลิศ

 

      เช้าวันรุ่งขึ้น  พระศาสดาพร้อมด้วยพระอานนท์เสด็จเข้าไปบิณฑบาตในเมืองเวสาลี กลับจากบิณฑบาตแล้ว  เสวยแล้ว  เสด็จไปพักผ่อนกลางวันที่ปาวาลเจดีย์ ณ ปาวาลเจดีย์นี้เอง  พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสกับพระอานนท์ว่า  เมืองเวสาลีนี้น่ารื่นรมย์ อุเทนเจดีย์ โคตมีเจดีย์ สัตตัมพเจดีย์ พหุปุตตเจดีย์ สารันทเจดีย์และปาวาลเจดีย์ ล้วนน่ารื่นรมย์ทั้งสิ้น   อานนท์ ผู้ใดเจริญอิทธิบาท ๔ อย่างดีแล้ว ประสงค์จะมีชีวิตอยู่ ๑ กัปหรือเกิน ๑ กัปก็พออยู่ได้  อานนท์  ตถาคต(คือพระพุทธเจ้า)ได้เจริญอิทธิบาท ๔ มาอย่างดีแล้ว  ถ้าต้องการจะมีชีวิตอยู่ ๑ กัป หรือเกิน ๑ กัปก็ย่อมจะอยู่ได้ แม้เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอยู่อย่างนี้ถึง ๓ ครั้ง พระอานนท์ก็หารู้ทันไม่ จึงมิได้ทูลอาราธนาให้ทรงพระชนม์อยู่ต่อไป

      พระผู้มีพระภาคทรงเห็นดังนั้น จึงรับสั่งให้พระอานนท์ไปพักผ่อนตามอัธยาศัย

      คำว่า อิทธิบาท ซึ่งบุคคลอบรมเจริญดีแล้วในที่นี้ไม่ใช่อิทธิบาทของคนธรรมดา  แต่เป็นอิทธิบาทที่เกี่ยวกับฌาน หรือสมาธิ  ซึ่งท่านเรียกว่า ฉันทสมาธิ วิริยสมาธิ เป็นต้น กล่าวคือ อาศัยฉันทะวิริยะนั่นเองในฌาน  เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า เจโตสมาธิ  หรืออนิมิตตเจโตสมาธิ  ทำให้ต่ออายุไปได้อีก ๑ กัป หรือเกิน ๑ กัป คำว่ากัปในที่นี้ไม่ใช้กัปของโลก  แต่หมายถึงกัปอายุคน  คือประมาณ ๑๐๐ ปี หรือ ๑๒๐ ปีเท่านั้น

       เมื่อพระอานนท์หลีกไปแล้ว พระผู้มีพระภาคก็ทรงปลงพระชนมายุสังขาร  คือตัดสินพระทัยว่าจะปรินิพพานในอีก ๓ เดือนข้างหน้า  ในวันเพ็ญกลางเดือน ๖ วันที่ทรงปลงพระชนมายุสังขารนั้นเป็นวันเพ็ญกลางเดือน ๓ เกิดแผ่นดินไหวขึ้น  พระอานนท์ซึ่งไปนั่งพักผ่อนอยู่โคนต้นไม้ต้นหนึ่งไม่ไกลนัก  เห็นเหตุอัศจรรย์เกิดแผ่นดินไหวเช่นนั้น  สงสัยว่าเป็นเหตุให้แผ่นดินไหว  จึงรีบเข้าเฝ้าพระศาสดาทูลถามเรื่องนั้น

 

      พระพุทธองค์ตรัสว่า เป็นธรรมดาอย่างนี้แหละ  อานนท์ เมื่อตถาคตตรัสรู้ ปลงพระชนมายุสังขาร และนิพพาน  ย่อมเกิดแผ่นดินไหวขึ้น พระอานนท์จึงทราบว่า  บัดนี้พระผู้มีพระภาคทรงปลงพระชนมายุสังขารเสียแล้ว จึงทูลอาราธนาให้อยู่ต่อไปเพื่อประโยชน์แก่ชาวโลก เพื่ออนุเคราะห์โลก  แต่พระพุทธองค์ทรงปฏิเสธ ตรัสว่าช้าเกินไปเสียแล้ว  พระองค์ทรงปลงพระชนมายุสังขารเสียแล้ว ไม่อาจกลับพระทัยได้  ที่จริงได้เคยบอกใบ้อย่างชัดเจน (นิมิตโอภาส) แก่พระอานนท์มาแล้วถึง ๑๖ ครั้ง ๑๖ แห่ง คือ ที่เมืองราชคฤห์ ๑๐ ครั้ง ๑๐ แห่ง เช่น ที่ภูเขาคิชฌกูฏเป็นต้น  และที่เมืองเวสาลีอีก ๖ ครั้ง ๖ แห่ง คือ ที่อุเทนเจดีย์  สัตตัมพเจดีย์  โคตมเจดีย์  พหุปุตตเจดีย์  สารันทเจดีย์  และปาวาลเจดีย์เป็นแห่งสุดท้าย เป็นความบกพร่องของพระอานนท์เองที่มิได่เฉลียวใจทูลให้ดำรงพระชนม์อยู่  ที่จริงถ้าพระอานนท์ทูลให้ดำรงพระชนม์อยู่ ณ สถานที่ดังกล่าวแห่งใดแห่งหนึ่งก็จะทรงห้ามเสีย ๒ ครั้ง พอครั้งที่ ๓ ก็จะทรงรับอาราธนา

      อย่างไรก็ตาม  ได้ทรงปลอบพระอานนท์ให้คลายโศกเศร้าเสียใจว่า อานนท์ เราได้เคยบอกเธอไว้ก่อนแล้วมิใช่หรือว่า  บุคคลย่อมต้องพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รักที่พึงใจเป็นธรรมดา  จะหวังให้ได้ดังใจเสมอไปย่อมไม่ได้  สิ่งที่เกิดขึ้นแล้วย่อมมีการสูญสลายเป็นธรรมดา  จะปรารถนาว่าอย่าต้องทำลายเลยย่อมเป็นไปไม่ได้...

 

      ตรัสดังนี้แล้วชวนพระอานนท์เข้าสู่ป่ามหาวัน  รับสั่งให้พระอานนท์ประกาศให้ภิกษุสงฆ์ทั้งหมดที่อยู่ในเมืองเวสาลีมาประชุมกันที่อุปัฏฐานศาลา  (ที่ปฏิบัติบำรุงสงฆ์  อาจเป็นหอฉัน และใช้เป็นที่ประชุมได้ด้วย)  เมื่อภิกษุสงฆ์ประชุมกันพร้อมแล้วได้ทรงแสดงธรรมซึ่งเรียกชื่อว่า อภิญญาเทสิตธรรม คือ  ธรรมที่ทรงแสดงไว้เพื่อความรู้ยิ่งคือ  สติปัฏฐาน ๔ ความเพียรชอบ ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ และมรรคมีองค์ ๘ รวม ๓๗ ประการ (ทั้งหมดนี้เรียกว่า โพธิปักขิยธรรม ก็มี) ทรงขอร้องให้ภิกษุทั้งหลายศึกษาเล่าเรียนด้วยดี  สนใจ

ความคิดเห็นที่ 39 (1567823)

 

ทรงขอร้องให้ภิกษุทั้งหลายศึกษาเล่าเรียนด้วยดี  สนใจ  อบรมให้มากซึ่งธรรมเหล่านี้  เพื่อความยั่งยืนตั้งอยู่ได้นานแห่งพรหมจรรย์  (คือ  พระพุทธศาสนา)  เพื่อประโยชน์สุขแก่คนหมู่มาก  เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก ตรัสย้ำอีกว่า สังขารทั้งหลายมีความสิ้นความเสื่อมไปเป็นธรรมดา  ขอให้ภิกษุทั้งหลายอยู่ด้วยความไม่ประมาท  พระองค์จักปรินิพพานในอีก ๓ เดือนข้างหน้า  และแล้วตรัสพระพุทธพจน์เป็นทำนองให้เกิดความสังเวชสลดใจ  ปลงได้  และให้มีความอุตสาหะวิริยะเพื่อสิ้นทุกข์ โดยนัยว่า

 

      ทั้งหลายคนหนุ่มแก่  ทั้งพาลและบัณฑิต  ทั้งคนร่ำรวยและคนยากจน  ล้วนบ่ายหน้าไปสู่ความตาย  เหมือนภาชนะดินทุกชนิดย่อมมีการแตกเป็นที่สุด  ชีวิตของสัตว์ทั้งหลายก็เช่นกันมีความตายเป็นที่สุด

       วัยของเราแก่หง่อมแล้ว  ชีวิตของเราน้อยนัก  เราจำต้องละท่านทั้งหลายไป  แต่เราได้ทำที่พึ่งของเราไว้เรียบร้อยแล้ว  ขอเธอทั้งหลายจงเป็นผู้ไม่ประมาท  มีสติ  มีศีลดี  มีจิตใจมั่นคง  คอยรักษาจิตของตนด้วยดี  ผู้ใดไม่ประมาทอยู่ในธรรมวินัยนี้  ผู้นั้นจักละการเวียนว่ายตายเกิด  พ้นทุกข์แน่นอน

       เช้าวันรุ่งขึ้นเสด็จบิณฑบาตที่เมืองเวสาลี   เสวยเสร็จแล้ว เสด็จออกจากเมืองเวสาลี  ทรงเหลียวดูเมืองเวสาลีเป็นนาคาวโลก  คือทรงเหลียวทอดพระเนตรแบบพญาช้าง  คือหมุนกลับไปทั้งพระองค์  พลางตรัสกับพระอานนท์ว่า  การเหลียวดู  หรือการได้เห็นเมืองเวสาลีของพระองค์  เป็นการเห็นครั้งสุดท้ายแล้ว  เสด็จพุทธดำเนินไปยังบ้านภัณฑคาม ณ ที่นั้นตรัสกับภิกษุทั้งหลายถึงอริยธรรม ๔ ประการ คือ  อริยศีล  อริยสมาธิ  อริยปัญญา  และอริยวิมุตติ  ว่า  เมื่อยังไม่รู้แจ้งแทงตลอดอริยธรรมทั้ง ๔ ประการนี้  เราและพวกเธอจึงต้องท่องเที่ยวไปเร่ร่อนไปในสังสารวัฏอันยาวนาน   แต่เมื่อรู้แจ้งแทงตลอดอริยธรรม ๔ ประการนี้แล้ว  เราจึงถอนตัณหาเสียได้  ไม่มีภพใหม่อีก  ไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป

 

      ออกจากภัณฑคาม (ตำราบางเล่มเป็น ภัณฑุคาม) เสด็จต่อไปยังหัตถีคาม อัมพคาม ชัมพุคาม  และโภคนคร ตามลำดับ ประทับอยู่ ณ อานันทเจดีย์ในเขตโภคนครนั้น  ทรงแสดง มหาปเทส (ข้ออ้างใหญ่)  แก่ภิกษุสงฆ์เพื่อการตกลงใจ  ตัดสินว่าอะไรเป็นคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้า อะไรไม่ใช่  ใจความสำคัญว่า

      ถ้ามีใครมาอ้างพระศาสดา  อ้างสงฆ์  อ้างคณะ  หรืออ้างบุคคลก็ดีว่า  เขาได้รับฟังมาจากพระศาสดา  หรือจากสงฆ์  จากพระเถระเป็นจำนวนมากผู้เป็นพหูสูต  ทรงธรรม   ทรงวินัย  (จากคณะ)  หรือจากภิกษุเถระรูปเดียวผู้เป็นพหูสูต  ทรงธรรม  ทรงวินัย (จากบุคคล)  แสดงว่า นี้เป็นธรรม  นี้เป็นวินัย  นี้เป็นคำสอนของพระศาสดา    อย่ารีบรับ หรืออย่ารีบปฏิเสธข้ออ้างนั้น  พึงสอบในพระสูตร  พึงเทียบในวินัย  ถ้าลงกันไม่ได้ก็ขอให้เข้าใจว่า  นั่นไม่ใช่ธรรม  ไม่ใช่วินัย  ไม่ใช่คำสอนของพระศาสดา  ถ้าลงกันได้ก็ขอให้เข้าใจว่า  นั่นเป็นธรรม  เป็นวินัย  เป็นคำสอนของพระศาสดา

 

       จากโภคนครเสด็จเข้าสู่เมืองปาวา  ประทับ ณ สวนมะม่วงของนายจุนทะกัมมารบุตร (บุตรนายช่างทอง)  เจ้าของสวนได้สดับข่าวว่า  พระผู้มีพระภาคเสด็จมาพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์  ประทับอยู่ ณ สวนมะม่วงของตน  จึงมาเฝ้าฟังคำสอนอันเป็นเหตุให้ร่าเริงบันเทิงใจในกุศลจริยา  แล้วทูลอาราธนาพระศาสดาและภิกษุสาวกเพื่อรับภัตตาหารในนิเวศน์ของตน  เมื่อทราบว่าพระศาสดาทรงรับแล้ว  เขารีบกลับบ้าน จัดแจงขาทนียะ (ของควรเคี้ยว) โภชนียาหาร (ของควรบริโภค) และสูกรมัทวะอันเพียงพอแก่ภิกษุสงฆ์

      เช้าขึ้นได้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคและอาราธนาภิกษุสงฆ์ เพื่อเสวยและฉันที่บ้านของตน  พระศาสดาประทับนั่งเรียบร้อยแล้ว  ตรัสถามถึงสูกรมัทวะแด่พระองค์เพียงผู้เดียว ส่วนอาหารอื่น ๆ ให้ถวายพระสงฆ์ได้ สูกรมัทวะที่เหลือให้นำไปฝังดินเสีย  ตรัสว่า  ไม่มีใครในโลกไหน ๆ ที่บริโภคสูกรมัทวะแล้วจะย่อยได้นอกจากพระองค์เอง  นายจุนทะได้ปฏิบัติตามพระพุทธดำรัสทุกประการ

      เสวยเสร็จแล้วทรงอนุโมทนาให้นายจุนทะร่าเริงอาจหาญในกุศลธรรมสัมมาปฏิบัติ  แล้วเสด็จจากไป  หลังจากเสวยสูกรมัทวะของนายจุนทะแล้ว  พระโรคาพาธรุนแรงขึ้น  เสวยเวทนากล้าจวนจะสิ้นพระชนม์  แต่ทรงมีพระสติสัมปชัญญะอดทนต่ออาพาธนั้นอย่างยิ่งยวด  มิได้แสดงพระอาการกระวนกระวายแต่ประการใด  เสด็จบ่ายพระพักตร์ไปสู่นครกุสินารา

      สูกรมัทวะคืออะไร  เป็นปัญหาที่ควรวินิจฉัย  ทำไมพระพุทธองค์จึงรับสั่งให้ถวายเฉพาะพระองค์ผู้เดียว  ทั้ง ๆ ที่นายจุนทะได้เตรียมไว้อย่างเพียงพอหรือเป็นอันมาก  พระพุทธองค์ทรงประชวรหนักลงเพราะเสวยสูกรมัทวะหรืออย่างไร

      สูกรมัทวะ  ตามนัยคัมภีร์สุมังคลวิลาสินี อรรถกถาทีฑนิกายได้อธิบายสูกรมัทวะได้ ๓ นัย คือ

      ๑. เนื้อของสุกรที่ไม่อ่อนเกินไป  ไม่แก่เกินไป อ่อนนุ่มสนิท นายจุนทะตกแต่งปรุงเป็นอาหารอย่างดี

      ๒. อาจารย์บางพวกกล่าวว่า สูกรมัทวะ คือ ข้าวอ่อนที่ปรุงอย่างดีด้วยปัญจโครส (ถือเอาความว่าข้าวหุงอย่างดีด้วยน้ำนมโค)

      ๓. อาจารย์บางพวกกล่าวว่า  สูกรมัทวะเป็นยาชนิดหนึ่ง ปรุงด้วยรสยนวิธี  ซึ่งมีในคัมภีร์รสายนศาสตร์ (คัมภีร์หรือตำรายา) นายจุนทะเตรียมยาชนิดนี้ถวายด้วยหวังจะให้พระพุทธเจ้าทรงหายประชวร  ยังไม่ต้องปรินิพพาน

      รวมความแล้วพระอรรถกถาจารย์  ผู้รจนาคัมภีร์ทีฆนิกาย อธิบายมหาปรินิพพานสูตรนี่เอง  ก็ยังไม่แน่ใจว่าสูกรมัทวะเป็นอะไร

ส่วนคัมภีร์ปรมัตถทีปนี อรรถกถาขุททกนิกาย (ตอนอธิบายปาฏลิคามิยวรรคหรือปาฏลิคามิวรรค  คัมภีร์อุทาน พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕) พระอรรถกถาจารย์ (ท่านธรรมปาละ  รุ่นหลังพระพุทธโฆษาจารย์เล็กน้อย  เป็นชาวอินเดียเหมือนกัน)  ได้แสดงมติที่แปลกจากคัมภีร์สุมังคลวิสาลินีไปบ้าง เช่น แสดงว่า

๑. สูกรมัทวะ คือ เนื้อหมูที่อ่อนนุ่ม (ไม่ระบุว่าเป็นหมูที่อยู่ในวัยใด)

      ๒. อาจารย์บางพวกว่า  สูกรมัทวะไม่ใช่เนื้อหมู  แต่เป็นหน่อไม้ชนิดหนึ่งที่หมูชอบกิน (หรือหมูเหยียบย่ำไป-มา)

      ๓. อาจารย์บางพวกว่า  เป็นเห็ดชนิดหนึ่ง เรียกว่า  อหิฉัตตกะ (มีลักษณะเหมือนงูแผ่แม่เบี้ย)

      รวมความว่าพระอรรถกถาจารย์  ผู้รจนาคัมภีร์ต่าง ๆ ก็ยังไม่แน่ใจว่าสูกรมัทวะคืออะไร

 

      อย่างไรก็ตาม  การที่พระพุทธองค์รับสั่งให้ถวายพระองค์เพียงผู้เดียว  และที่เหลือให้นำไปฝังเสียนั้น  แสดงว่าต้องเป็นสิ่งที่เป็นพิษแน่  ข้อพิสูจน์อีกอย่างหนึ่งว่าเป็นพิษก็คือ  เมื่อพระพุทธองค์เสวยแล้วทรงพระประชวรมากขึ้นจนเกือบจะสิ้นพระชนม์ (ขโรอาพาโธ...   เวทนา วตตนติ  มรณนติกา)

      พระสังคีติกาจารย์ (อาจารย์ผู้ทำสังคายนา) กล่าวไว้ว่า

      ข้าพเจ้าได้ฟังมาว่า  พระผู้มีพระภาคผู้เป็นปราชญ์เสวยอาหารของนายจุนทะแล้ว  ทรงประชวรหนักถึงจวนสิ้นพระชนม์  เพราะลงพระบังคนอย่างแรง  ตรัสกับพระอานนท์ว่า  เราไปเมืองกุสินารากันเถิด

 

      ขณะบ่ายพระพักตร์สู่นครกุสินารานั้น  ทรงเหน็ดเหนื่อยมากจึงทรงแวะพักใต้ร่มไม้ต้นหนึ่ง  รับสั่งให้พระอานนท์ช่วยปูผ้าสังฆาฏิพับเป็น ๔ ชั้น  ประทับนั่งพักผ่อน  ทรงกระหายน้ำ รับสั่งให้พระอานนท์ไปนำน้ำมาถวาย  พระอานนท์ทูลว่า  เกวียนเป็นจำนวนมากเพิ่งผ่านลำธารไป  น้ำขุ่นไม่สมควรจะเสวย  ขอให้เสด็จต่อไปอีกหน่อยก็จะถึงแม่น้ำกกุธา  ซึ่งมีน้ำใสสะอาด  มีท่าลงราบเรียบ  แต่พระพุทธองค์ทรงตรัสยืนยันเช่นนั้นถึง ๓ ครั้ง  พระอานนท์จึงถือบาตรไปตักน้ำซึ่งขุ่นข้นอยู่เดิม  เมื่อพระอานนท์เข้าไปใกล้กลับใสสะอาด  พระอานนท์ได้มองเห็นความอัศจรรย์นั้น  ได้น้ำมาถวายพระศาสดาและกราบทูลว่า  พระตถาคตทรงเป็นผู้มีฤทธิ์มากมีอานุภาพมากเหลือเกิน  พระศาสดาได้เสวยน้ำเพื่อระงับความกระหายแล้ว

     

      เวลานั้นเอง  โอรสของมัลลกษัตริย์แห่งกรุงกุสินารา ชื่อปุกกสะ ออกจากนครกุสินาเพื่อไปนครปาวา  เขาเป็นศิษย์ของอาฬารดาบสกาลามโคตร  (ซึ่งเคยเป็นอาจารย์สอนเรื่องฌานใพ้พระพุทธเจ้าในสมัยเมื่อพระองค์ออกแสวงหาสัจธรรมอยู่)  เขาเห็นพระศาสดาประทับอยู่ใต้ร่มไม้  จึงเข้าไปเฝ้า  กราบทูลว่า  น่าอัศจรรย์จริงที่บรรพชิตมีปกติอยู่อย่างสงบ  เคยทราบว่า  คราวหนึ่งอาฬารดาบสกาลามโคตรนั่งพักอยู่ใต้ร่มไม้ต้นหนึ่ง  ขณะเกวียนเป็นอันมากผ่านไป  ชาวเกวียนคนสุดท้ายแวะเข้าไปหาท่าน ถามว่าเห็นเกวียนเป็นอันมากและได้ยินเสียงเกวียนหรือไม่  ท่านตอบว่าไม่เห็นและไม่ได้ยิน  ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้หลับเลย  ผ้าของท่านก็เปื้อนธุลี  คือ ฝุ่นจากล้อเกวียน  น่าอัศจรรย์จริง ๆ บรรพชิตมีปกติอยู่อย่างสงบ

       พระศาสดาตรัสเล่าให้ฟังว่า  ครั้งหนึ่งพระองค์ประทับอยู่ที่โรงกระเดื่องในเมืองอาตตุมา  เวลานั้นฝนกำลังตกอย่างหนัก  ฟ้าลั่น เสียงสนั่น  ผ่าเปรี้ยง ๆ ลงมาด้วย  ชาวนาสองที่น้องและโคถึก ๔ ตัว ถูกสายฟ้าฟาดใกล้โรงเดื่องนั่นเอง  ชาวบ้านในเมืองอาตุมาพากันออกมาชุมนุมกันเพื่อดูชาวนาสองพี่น้องแลพโคถึก ๔ ตัว  พระองค์เสด็จออกจากโรงเดื่องเสด็จจงกรม (เดินไป-เดินมา)  ใกล้โรงเดื่องนั่นเอง  มีคนคนหนึ่งเข้ามาหาพระองค์  ตรัสถามว่า ประชาชนมาชุมนุมกันเรื่องอะไร  คนผู้นั้นทูลถามว่า  ไม่ได้ยินอะไรเลยหรือ  ฝนตกอย่างหนัก  ฟ้าร้องครืนครั่น  ผ่าเปรี้ยง ๆ จนชาวนาสองพี่น้องตายไป  และโคถึกอีก ๔ ตัวด้วย  ท่านอยู่เสียที่ไหนเล่า

      เราอยู่ที่นี่เอง

      ท่านไม่เห็น  ไม่ได้ยิน  และไม่หลับหรือ

      ไม่เลย

      ชายผู้นั้นรู้สึกแปลกใจมากในเรื่องนี้ และคิดว่าบรรพชิตมีปกติอยู่ด้วยความสงบหนอ  ดูก่อนปุกกุสะ  ท่านคิดว่า  ผู้ที่นั่งอยู่ไม่หลับ  ไม่เห็น  ไม่ได้ยินเสียงเกวียนเป็นอันมากผ่านไป  กับผู้ที่นั่งอยู่ไม่หลับ  ไม่ได้ยินเสียงฟ้าร้อง  ฟ้าผ่า  ในขณะที่ฝนตกอย่างหนัก  อย่างไหนทำได้ยากกว่า  (ใครมีปกติอยู่ด้วยความสงบมากกว่า)

 

      ปุกกุสะเลื่อมใสในพระผู้มีพระภาคเจ้า  ขอถึงพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งตลอดชีวิต  และได้ถวายผ้าเนื้อดีมีสีเหลืองทอง (สิงคิวรรณ) ๒ ผืน  พระพุทธองค์ทรงแนะนำให้ถวายพระอานนท์ผืนหนึ่ง  พระองค์ทรงครองเองผืนหนึ่ง  แล้วทรงแสดงธรรมให้ปุกกุสะอาจหาญร่าเริงในกุศลจริยา  เขาถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้วจากไป

      พระอานนท์มองเห็นพระฉวีวรรณของพระพุทธองค์ผ่องใสยิ่งนัก  ผ้านั้นก็งามรุ่งโรจน์ประดุจถ่านไฟที่ปราศจากเปลว  จึงกราบทูลถึงความประหลาดใจของตนที่เห็นพระผู้มีพระภาคมีพระชนม์มากแล้ว ทรงพระชราแล้ว  ทั้งทรงพระประชวรด้วย  แต่พระฉวีผุดผ่องยิ่งนัก

 

      พระพุทธองค์ตรัสว่า  เป็นอย่างนี้เอง พระฉวีวรรณของพระองค์จะงามผุดผ่องอย่างยิ่งใน ๒ กาล คือ  ในวันที่จะตรัสรู้  และในวันที่จะปรินิพพาน

     เสด็จต่อไปยังแม่น้ำกกุธา  ลงสรงเสวยตามพระอัธยาศัยแล้วเสด็จถึงสวนมะม่วงแห่งหนึ่ง  รับสั่งให้พระจุนทะ  พับผ้าสังฆาฏิเป็น ๔ ชั้นปูถวาย  เพราะทรงเหน็ดเหนื่อยเหลือเกิน  บรรทมแบบสีหไสยาสน์ (ตะแคงขวา) มีพระสติสัมปชัญญะตั้งพระทัยว่าจะลุกขึ้น (อุฏฐานสัญญา)

      ณ ตรงนี้เอง  พระพุทธองค์ทรงหวนระลึกถึงนายจุนทะผู้ถวายสูกรมัทวะ พระกระยาหารมื้อสุดท้าย เกรงว่าใคร ๆ จะติเตียนนายจุนทะ  และนายจุนทะเองจะร้อนใจ  รับสั่งกับพระอานนท์ให้บอกนายจุนทะว่าอย่าร้อนใจเกี่ยวกับเรื่องนี้   อาหารที่มีอานิสงส์มาก มีอานิสงค์เสมอกันมีอยู่ ๒ ครั้ง คือ ครั้งหนึ่งเมื่อพระองค์เสวยแล้วได้ตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ (คือ อาหารที่นางสุชาดาถวาย)  และอีกครั้งหนึ่งเมื่อพระองค์เสวยแล้วปรินิพพาน (คือ อาหารที่นายจุนทะถวาย)  สิ่งที่นายจุนทะทำนั้นเป็นไปเพื่ออายุ วรรณะ สุข ยศ และสวรรค์ และความใหญ่ยิ่งในอนาคต  ตรัสย้ำว่า

     บุญย่อมเจริญแก่ผู้ให้  เวรภัยย่อมไม่มีแก่ผู้สำรวม  ผู้ฉลาดย่อมละบาป  ผู้นิพพานเพราะสิ้นราคะ โทสะ  และโมหะ

      เสด็จต่อไป  ทรงข้ามแม่น้ำหิรัญวดี  ถึงสาลวันอันเป็นที่พักผ่อนของมัลลกษัตริย์แห่งนครกุสินารา  รับสั่งให้พระอานนท์ตั้งเตียงหันศีรษะไปทางทิศอุดรระหว่างไม้สาละทั้งคู่  ทรงบรรทมอย่างสีหไสยา  ซ้อนพระบาทให้เหลื่อมกันเล็กน้อย  (ไม่ใช่ยืดตรงจนเกร็ง) ทรงมีพระสติสัมปชัญญะ

 

      เวลานั้น  ไม้สาละผลิดอกสะพรั่งนอกฤดูกาล  ร่วงหล่นโปรยปรายลงยังสรีระของพระตถาคต  ดอกไม้ทิพย์ของหอมอันเป็นทิพย์ก็ร่วงหล่นลงมาเพื่อบูชาพระสรีระของพระศาสดา  ดนตรีทิพย์ก็บรรเลงอยู่เพื่อบูชาพระตถาคต

      พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงปรารภการบูชานี้และตรัสกับพระอานนท์ว่า ผู้ที่ได้ชื่อว่าบูชาพระองค์อย่างแท้จริงนั้น  คือ ผู้ปฏิบัติธรรม ปฏิบัติชอบ หรือปฏิบัติถูกต้อง (ตามฐานะของตน ๆ ) ถ้าทำได้อย่างนั้น ชื่อว่าเคารพนับถือ บูชาพระองค์ด้วยการบูชาอย่างยิ่ง

ผู้แสดงความคิดเห็น พัทธ์ธีรา วังกาวันมณเฑียร (vann_ult-at-hotmail-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-09-05 23:09:11


ความคิดเห็นที่ 40 (1567837)
image

 

นมัสการองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระธรรม พระอริยสงฆ์

องค์หลวงพ่อปาน หลวงพ่อพระราชพรหมยาน

สิ่งศักดิ์สิทธิ์บ้านสวนพีระมิดทุกพระองค์

องค์ดตาจินิน องค์ฟาโรห์ของอียิปต์

ท่านท้าวมหาราชทั้งสี่ เทพบริวาร

และท่านอาจารย์มงคล-ท่านอาจารย์อุบล

ที่เคารพอย่างสูงครับ

 ****************************************************************  

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๓๓  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๒๕
ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๒ -พุทธวังสะ-จริยาปิฎก
 

เอตทัคคมหาเถรี ผู้เลิศทางปัญญา 

เขมาเถริยาปทานที่ ๘
พระเขมาภิกษุณีบังเกิดในราชสกุล ตระกูลกษัตริย์ พระบิดา พระนามว่า พระเจ้ามัททราช กรุงสาคละ แคว้นมัททะ มีพระนาม ว่า พระนางเขมา ทรงมีพรรณะดั่งทอง มีพระฉวีเสมือนทอง
 
พระนางเจริญวัยเป็นราชกุมารีแล้ว ก็ไปเป็นพระเทวีของ พระเจ้าพิมพิสาร ครั้งเมื่อพระศาสดาประทับอยู่ ณ พระเวฬุวันก็ยังเป็น ผู้มัวเมาในพระรูปพระโฉม ทรงเกรงว่าพระศาสดาจะทรงแสดงโทษในรูป จึงไม่เสด็จไปเฝ้าพระศาสดา
 
พระราชาโปรดสั่งให้ผู้คนทั้งหลายเที่ยวประกาศพรรณนาพระเวฬุวัน ทำให้พระเทวีทรงเกิดความคิดที่จะไปชมพระวิหาร เมื่อพระเทวีทรงดำริว่า จำเราจักชมพระวิหาร ก็ทรงสอบถามพระราชา
 
พระราชาตรัสว่า เธอไปพระวิหาร
ไม่พบพระศาสดาก็อย่าได้กลับมา
 
แล้วทรงให้สัญญาแก่พวกราชบุรุษว่า
พวกท่านจงให้พระเทวีเฝ้าพระทศพล โดยพลการให้จงได้
 
พระเทวี เสด็จไปวิหาร เวลาล่วงไปครึ่งวัน
ไม่ทรงพบพระศาสดาเริ่มเสด็จกลับ
 
ลำดับนั้น ราชบุรุษทั้งหลาย นำพระเทวีแม้ไม่ทรงปรารถนา
เข้าไปเฝ้าพระศาสดาจนได้
 
พระศาสดาทรงเห็นพระเทวีนั้นกำลังเสด็จมา
ทรงเนรมิตหญิงคล้ายนางเทพอัปสรด้วยฤทธิ์
ทำให้ถือพัดใบตาลถวายงานพัดอยู่
 
พระนางเขมาเทวีทรงเห็นหญิงนั้น ทรงดำริว่า
หญิงนี้มีส่วนเปรียบด้วยนางเทพอัปสร ยืนอยู่ไม่ห่างพระผู้มีพระภาคเจ้า
 
เราไม่พอที่แม้แต่จะเป็นหญิงรับใช้ของหญิงเหล่านั้นได้เลย
เราต้องเสียหายด้วยอำนาจจิตชั่ว เพราะเหตุเล็ก ๆ น้อย ๆ
ทรงถือเอานิมิตประทับยืนมองดูหญิงนั้นคนเดียว
เมื่อพระนางกำลังทอดพระเนตรดูอยู่
 
หญิงนั่นก็ล่วงปฐมวัย มัชฌิมวัย ถึงปัจฉิมวัยแล้ว ฟันหัก ผมหงอก หนังเหี่ยว ล้มกลิ้งลงพร้อมกับพัดใบตาล ด้วยพระกำลังอธิษฐานของพระศาสดา
 
พระนางเขมาทอดพระเนตรเห็นเหตุนั้นแล้วทรงพระดำริว่า
 
สรีระแม้อย่างนี้ ยังถึงความวิบัติเช่นนี้ สรีระของเราก็จักมีคติอย่างนี้เหมือนกัน
 
ลำดับนั้น พระศาสดาทรงทราบวาระจิตของพระนางแล้ว ก็ตรัสพระคาถาว่
 
ชนเหล่าใด กำหนัดอยู่ด้วยราคะ ย่อมตกไปสู่
กระแสตัณหา เหมือนแมลงมุมตกไปยังใยที่ตัวเองทำ
ไว้ฉะนั้น ชนเหล่านั้นตัดกระแสตัณหานั้นเสียได้แล้ว
เป็นผู้หมดอาลัยละกามสุขได้ ย่อมงดเว้นกิจคฤหัสถ์
[บวช] อยู่.
 
ในอรรถกถาว่า จบคาถาพระนางเขมานั้น บรรลุพระอรหัตพร้อมด้วยปฏิสัมภิทา
 
ส่วนในอปทานว่า ฟังคาถานี้แล้ว ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล
ทรงขอให้พระเจ้าพิมพิสารทรงอนุญาตแล้ว ทรงผนวชได้ ๗ เดือนแล้วบรรลุพระอรหัต
 
เป็นผู้ชำนาญในฤทธิ์ในทิพโสตธาตุและเจโตปริยญาณ
รู้ชัดปุพเพนิวาสญาณชำระทิพจักษุให้บริสุทธิ์ มีอาสวะทั้งปวงหมดสิ้นแล้ว
 
บัดนี้ภพใหม่ไม่มีอีก ญาณอันบริสุทธิ์ของดิฉัน
ในอรรถะธรรมะ นิรุติและปฏิภาณ เกิดขึ้นแล้วในพระพุทธศาสนา
ดิฉันเป็นผู้ฉลาดในวิสุทธิทั้งหลาย คล่องแคล่วในกถาวัตถุ
รู้จักนัยแห่งอภิธรรม ถึงความชำนาญในศาสนา
 
ภายหลัง พระราชสวามีผู้ฉลาดตรัสถามปัญหาละเอียดในโตรณวัตถุ
ดิฉันได้วิสัชนาโดยควรแก่กถา
 
ครั้งนั้น พระราชาเสด็จเข้าเฝ้าพระสุคตเจ้าแล้ว
ทูลสอบถามปัญหาเหล่านั้น (ในเขมาเถรีสูตร ในสังยุตตนิกาย)
พระพุทธเจ้าทรงพยากรณ์เป็นอย่างเดียวกันกับที่ดิฉันวิสัชนาแล้ว
พระพิชิตมารผู้อุดมกว่านรชน อยู่ด้วยผลสุข นิพพานสุข
ก็ปรากฏว่าเป็นผู้มีปัญญามาก เพราะเมื่อพระขีณาสวเถรีรูปอื่น ๆเกิดปัญญาไพบูลย์
แต่ท่านก็บำเพ็ญบารมีมาแล้วในข้อนั้นจริงอย่างนั้น ทรงพอพระทัยในคุณสมบัตินั้น
 
พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่งท่ามกลางหมู่พระอริยะ ณ พระเชตวันมหาวิหาร
กำลังทรงสถาปนาภิกษุณีทั้งหลายไว้ในตำแหน่งตามลำดับ
ก็ทรงสถาปนาพระเถรีนั้นไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะ
เพราะเป็นผู้มีปัญญามากกว่า และเป็นอัครสาวกเบื้องขวา
 
ดังความในพระสูตรว่า
 
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เขมาเป็นเลิศของภิกษุณีสาวิกาของเราผู้มีปัญญามาก.
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าแม่ออกบวชก็ขอจงเป็นเช่นพระเขมาภิกษุณี
และอุบลวรรณาภิกษุณีเถิด
 
ดูกรภิกษุทั้งหลาย บรรดาภิกษุณีผู้เป็นสาวิกาของเรา
เขมาภิกษุณีและอุบลวรรณาภิกษุณี เป็นดุลเป็นประมาณเช่นนี้

ขอให้เปิดตู้พระไตรปิฎกออกอ่านบ่อย ๆ เถิด จะได้ไม่ขัดสนความรู้

ดังคำพังเพยที่ว่า มีความรู้อยู่ในสมุดสุดขัดสน

อนุโมทนาสาธุการครับ

 

ผู้แสดงความคิดเห็น โฆษิต ควรหาเวช (kosit-dot-koanhavej-at-nectec-dot-or-dot-th) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-09-06 01:40:52


ความคิดเห็นที่ 41 (1568017)

 

 ๓. การปรินิพพาน

     ของพระพุทธเจ้า(ต่อ)

 

ขณะนั้นพระอุปวาณะ  ยืนถวายงานพัดอยู่ตรงเบื้องพระพักตร์ของพระศาสดา  ทรงรับสั่งให้พระอุปวาณะถอยออกไปเสีย  พระอานนท์สงสัยว่า  พระอุปวาณะปฏิบัติบำรุงพระศาสดามาเป็นเวลานาน  เหตุไฉนในวาระเช่นนี้พระพุทธองค์จึงรับสั่งให้ถอยออกไปเสีย  จึงทูลถามความสงสัยนั้น  พระศาสดาตรัสว่า  พวกเทวดาในหมื่นโลกธาตุมาเฝ้ากันมาก  เพื่อบูชาพระองค์ในวันปรินิพพาน  บริเวณโดยรอบ ๑๒ โยชน์จากที่ประดับไป  ไม่มีช่องว่างแม้เพียงเล็กน้อย (เท่าปลายขนทราย = ขนสัตว์ประเภทเนื้อ) ที่เทวดาผู้มีศักดิ์ต่าง ๆ จะไม่สถิตอยู่  เทวดาเหล่านั้นนึกตำหนิพระอุปวาณะอยู่ว่า  พวกเขาตั้งใจมาถวายบังคมพระศาสดา  มาเห็นพระศาสดา  แต่ภิกษุรูปนั้นยืนบังเสียดังนี้

      พระอานนท์ทูลถามถึงอาการของเทวดาเหล่านั้นว่าเป็นอย่างไร ตรัสตอบว่า เทวดาบางพวกเศร้าโศกมาก  บางพวกที่ปราศจากราคะแล้ว (พวกพรหมชั้นสุทธาวาสได้อนาคามีแล้ว  ละกามราคะได้แล้ว) ก็ปลงธรรมสังเวชว่า สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง จะหวังให้เที่ยงได้อย่างไรเล่า

      ต่อจากนั้น  พระอานนท์เริ่มทูลถามข้อข้องใจต่าง ๆ ของท่าน เพื่อว่าเมื่อพระศาสดาปรินิพพานแล้วจะได้ชี้แจงแก้ผู้สงสัยได้ถูกต้อง มีตามลำดับดังนี้

      ๑. สังเวชนียสถาน  พระอานนท์ทูลถามว่า เมื่อก่อนนี้ เมื่อออกพรรษาแล้วภิกษุทั้งหลายต่างก็จาริกมุ่งหน้ามาเฝ้าพระศาสดา  หลังจากพระผู้มีพระภาคเจ้าปรินิพพานแล้ว ภิกษุเหล่านั้นควรจะไปที่ใด  พระศาสดาตรัสตอบว่า  ควรไปยังสถานที่ ๔ แห่ง คือ สถานที่พระองค์ประสูติ สถานที่ตรัสรู้ สถานที่ทรงแสดงธรรมจักร และสถานที่ปรินิพพาน เมื่อจาริกไปยังสถานที่เหล่านี้  มีจิตเลื่อมใส สิ้นชีพลงก็จักไปสู่สุคติโลกสวรรค์

       ๒. เรื่องการปฏิบัติเกี่ยวกับสตรีเพศ (มาตุคาม) พระอานนท์ทูลถามว่า ควรปฏิบัติต่อมาตุคามอย่างไร ตรัสตอบว่า การไม่ดูไม่เห็นเสียได้เป็นการดี  ถ้าจำเป็นต้องดู ต้องเห็น ต้องพบ ก็อย่าสนทนาด้วย  ถ้าจำเป็นต้องสนทนาด้วยก็ให้มีสติไว้ สนทนาอย่างมีสติ (อย่าปล่อยให้หลงใหลในรูป เสียง เป็นต้น ของสตรี)

       ๓. เรื่องการปฏิบัติในพระพุทธสรีระ เกี่ยวกับเรื่องนี้ พระพุทธองค์ตรัสตอบพระอานนท์ว่า  พวกเธออย่าได้ขวนขวายเพื่อบูชาสรีระของตถาคตเลย แต่จงมีความเพียรพยายามให้เป็นไปติดต่อในประโยชน์ของตน ๆ จงเป็นผู้ไม่ประมาท ทำความเพียรอย่างไม่หยุดหย่อนเพื่อให้บรรลุประโยชน์ของตนเถิด สำหรับสรีระของพระองค์นั้นปล่อยให้เป็นหน้าที่ของกษัตริย์ พราหมณ์ คหบดี ผู้เลื่อมใสในพระองค์จะพึงทำกัน

 

      พระอานนท์ทูลถามว่า เขาเหล่านั้นควรปฏิบัติต่อพระพุทธสรีระอย่างไร ตรัสตอบว่า  ให้ปฏิบัติอย่างเดียวกับที่ปฏิบัติต่อพระสรีระของพระเจ้าจักรพรรดิ คือ ห่อด้วยผ้าใหม่และซับด้วยสำลี ทำเป็น ๕๐๐ ชั้น แล้วเชิญพระสรีระลงในรางเหล็กซึ่งเต็มด้วยน้ำมัน ครอบด้วยรางเหล็ก ทำจิตกาธาน(เชิงตะกอน) ด้วยไม้หอมล้วน ถวายพระเพลิงพระสรีระแล้วสร้างสถูป(บรรจุพระอัฐิ) ไว้ที่หนทางใหญ่ ๔ แพร่ง สรีระของพระเจ้าจักรพรรดิอันบุคคลพึงปฏิบัติอย่างไร  ควรปฏิบัติต่อสรีระของพระองค์อย่างนั้น  จักเป็นไปเพื่อประโยชน์และความสุขแก่ผู้มีจิตเลื่อมใสบูชาสักการะตลอดกาลนาน

       ต่อจากนั้นได้ทรงแสดงบุคคล ๔ จำพวก ซึ่งควรแก่การบรรจุอัฐิไว้ในสถูปและเป็นที่บูชาสักการะของมหาชน  เรียกบุคคล ๔ จำพวกนี้ว่า ถูปารหบุคคล คือพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า พระสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า (ที่เป็นพระอริยะบุคคลโดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ พระอรหันตสาวก) และพระเจ้าจักรพรรดิธรรมิกราช ทั้งนี้ด้วยเหตุผลว่า  เป็นผู้มีคุณธรรมควรแก่การบูชา  และทำให้ผู้บูชาสักการะประสบผลดีนานาประกา  มีความสุข และไปสู่สุคติสวรรค์เมื่อสิ้นชีพแล้ว

 

       เมื่อไม่มีอะไรจะทูลถามแล้ว  พระอานนท์ก็ถอยออกไป  ไปยืนเกาะลิ่มประตู (ซึ่งทำเป็นรูปศีรษะวานร-กปิสีสัง) ร้องไห้อยู่  ด้วยรำพึงว่า  พระศาสดาซึ่งเป็นที่พึ่งของตนจักปรินิพพานเสียแล้ว ตัวท่านเองยังไม่สิ้นกิเลสโดยสิ้นเชิง  ยังมีอาสวะอยู่ ต่อไปจักได้ใครเป็นผู้แนะนำเพื่อความสิ้นกิเลส   เมื่อพระอานนท์หายไปนาน  พระศาสดาตรัสถามหา  ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่าไปยืนร้องไห้อยู่ รับสั่งให้เข้าเฝ้า  ตรัสปลอบใจว่า อย่าเศร้าโศกเสียใจไปนักเลย  เราได้เคยบอกเธอไว้แล้วมิใช่หรือว่า  บุคคลจะต้องพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รักที่พอใจเป็นธรรมดา  สิ่งทั้งหลายไม่ยั่งยืน  ต้องแตกดับสลายเป็นธรรมดา  การปรารถนาว่าจงอย่าแตกสลายอย่าดับนั้นย่อมไม่อาจจะหวังได้  อานนท์! เธอได้ปฏิบัติคถาคตด้วยดีตลอดมา  ปฏิบัติด้วยเมตตาทั้งทางกาย  ทางวาจา  ทางใจ  ได้บำเพ็ญประโยชน์แก่ตถาคตมานาน  อย่างไม่มีใครเสมอเหมือน  ไม่มีประมาณทีเดียว อานนท์ ! ทำความเพียรต่อไปเถิด เธอเป็นผู้มีบุญ จักสิ้นกิเลสโดยกาลไม่นานนัก

 

      และแล้วพระผู้มีพระภาคได้ตรัสยกย่องพระอานนท์แก่ภิกษุทั้งหลายว่า  ภิกษุทั้งหลาย  พระอรหันตสัมสัมพุทธเจ้าทั้งอดีตและอนาคตที่มีภิกษุอุปัฏฐากนั้นจะไม่เกินพระอานนท์ไปได้เลย  อย่างมากที่สุดก็จะได้ภิกษุผู้มีคุณสมบัติเพียงพระอานนท์เท่านั้น  ภิกษุทั้งหลาย อานนท์เป็นบัณฑิต ย่อมรู้จักกาลเวลาอันควรว่าใครควรจะเข้าเฝ้าตถาคตเวลาใด  ภิกษุทั้งหลาย  อานนท์มีคุณอันน่าอัศจรรย์ ๔ ประการ คือ พุทธบริษัททั้ง ๔ ต้องการเข้าไปหาพระอานนท์  เมื่อได้เห็นพระอานนท์ก็มีความชื่นชมยินดี  เมื่อพระอานนท์แสดงธรรมก็พอใจฟัง  เมื่อพุทธบริษัทยังไม่อิ่มไม่เบื่อในการฟังธรรมของท่าน  พระอานท์ก็หยุดการแสดงธรรม (คือ หยุดก่อนที่คนฟังจะเบื่อ) ทำนองเดียวกับขัตติยบริษัท  พราหมณบริษัท  คหบดีบริษัท  และสมณบริษัท  ต้องการเข้าเฝ้าพระเจ้าจักรพรรดิ  เมื่อได้เข้าเฝ้าก็มีความชื่นชมยินดี  พอใจพระราชดำรัสของพระเจ้าจักรพรรดิ  และเมื่อคนทั้งหลายยังไม่อิ่มไม่เบื่อในพระราชดำรัสนั้น พระเจ้าจักรพรรดิก็หยุดเสีย

      พระอานนท์ทูลว่า  ไม่ควรปรินิพพานที่เมืองเล็กเมืองน้อยเช่นกุสินารานี้  ควรเสด็จไปปรินิพพานที่เมืองใหญ่ ๆ เช่น เมืองจัมปา ราชคฤห์ สาวัตถี สาเกต โกสัมพี หรือพาราณสี เพื่อกษัตริย์มหาศาล  พราหมณ์มหาศาล และคหบดีมหาศาล  ผู้เลื่อมใสพระองค์จะได้บูชาพระพุทธสรีระ (ให้สมพระเกียรติ)

      ตรัสว่า  เมืองกุสินารานี้ก็เคยเป็นเมืองใหญ่มาแล้ว  ชื่อกุสาวดี ผู้ครองเมืองนี้ก็เป็นถึงจักรพรรดิ พระนามว่า มหาสุทัสสนะ นครนี้เคยมั่งคั่งรุ่งเรือง มีผู้คนหนาแน่น  สุขสบายประดุจเทพนคร ชื่ออาลกมันทาราชธานี

      ตรัสดังนี้แล้ว  ทรงให้แจ้งข่าวแก่มัลลกษัตริย์แห่งเมืองกุสินาราว่า พระองค์จักปรินิพพานในปัจฉิมยามแห่งราตรีนี้ ขอให้รีบมาจะได้ไม่ร้อนใจภายหลังว่า  พระตถาคตเจ้าเสด็จมาปรินิพพาน ณ ดินแดนของตน  แต่มิได้เข้าเฝ้า  มิได้เห็นพระตถาคตเป็นครั้งสุดท้าย

      พระอานนท์ถือบาตรและจีวรของตนเข้าสู่เมืองกุสินาราแต่เพียงผู้เดียว  เวลานั้นมัลลกษัตริย์กำลังประชุมกันอยู่ ณ สัณฐาคาร (ห้องประชุม) เมื่อได้รับข่าวจากพระอานนท์แล้วก็เศร้าโศกเสียใจว่า ทำไมพระพุทธองค์ด่วนปรินิพพานนัก  ดวงตาของโลกจักอันตรธานเสียแล้ว พวกเขารีบไปเฝ้าพระศาสดา

      พระอานนท์คิดว่า ถ้าให้มัลลกษัตริย์เข้าเฝ้าถวายบังคมทีละองค์แล้วจะเสียเวลามาก จนรุ่งแจ้งก็คงไม่เสร็จ  จึงจัดให้เข้าเฝ้าทีละสกุลโดยลำดับ เพียงปฐมยามเท่านั้นก็เสร็จเรียบร้อย

      ครั้งนั้น  มีปริพพาชกคนหนึ่งชื่อสุภัททะอยู่ในเมืองกุสินาราได้ยินได้ฟังจากปริพพาชกผู้เฒ่าว่า  พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าจะปรินิพพานเสียแล้ว  จึงมาเฝ้าเพื่อทูลถามข้อสงสัยของตน  แต่พระอานนท์ขอร้องว่าอย่าได้รบกวนพระผู้มีพระภาคเจ้าเลย  พระองค์กำลังจะปรินิพพาน เสียงขอร้องและเสียงห้ามได้ยินถึงพระผู้มีพระภาค  พระผู้มีความกรุณาดุจห้วงมหรรณพตรัสกับพระอานนท์ว่าให้อนุญาตให้สุภัททปริพพาชกเข้าเฝ้าพระองค์ได้  สุภัททะเข้าเฝ้าทูลถามว่า  ครูทั้ง ๖ คน อันเป็นที่เคารพนับถือของคนเป็นอันมาก  มีปูรณกัสสปะเป็นต้น  ได้เป็นสัพพัญญู  ตรัสรู้จริงตามคำปฏิญาณของตนหรือไม่

      พระศาสดาตรัสห้ามเสียว่า อย่าได้ถามปัญหาอย่างนี้เลย  ถ้าไม่มีข้อสงสัยอื่นพระองค์ก็จะแสดงธรรมให้ฟัง  และแล้ว  พระพุทธองค์ก็ตรัสกับสุภัททะว่า  ในธรรมวินัยใด  ไม่มีอริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘  ในธรรมวินัยนั้นย่อมไม่มีสมณะที่ ๑ (พระโสดาบัน) สมณะที่ ๒ (พระสกทาคามี)  สมณะที่ ๓ (พระอนาคามี) และสมณที่ ๔ (พระอรหันต์) ส่วนในธรรมวินัยใด มีมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ ในธรรมวินัยนั้นย่อมมีสมณะที่ ๑-๒-๓ และ ๔ โดยลำดับ  ก็ในธรรมวินัยนี้มีอริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ ธรรมวินัยนี้จึงมีสมณะอย่างแน่นอน  ลัทธิอื่น ๆ ว่างจากสมณะ ผู้รู้ทั่วถึง ดูก่อน สุภัททะ  ถ้าภิกษุพึงเป็นอยู่โดยชอบไซร้  โลกก็น่าจะไม่ว่างจากพระอรหันต์

      สุภัททะเลื่อมใสขอบรรพชาอุปสมบท ตรัสว่า ผู้เคยบวชในลัทธิอื่นมาก่อนเมื่อประสงค์จะบวช  ต้องอยู่ปริวาส ๔ เดือนก่อน (คือ อยู่ฝึกฝนตนเองให้เคยชินกับภาวะแห่งผู้บวชในธรรมวินัยนี้)  แต่ทรงรู้ข้อแตกต่างแห่งบุคคลในเรื่องนี้  สุภัททะทูลว่าสมัครใจจะอยู่ถึง ๔ ปี อย่าว่าแต่ ๔ เดือนเลย

      เมื่อทราบแน่ชัดดังนั้น  พระพุทธองค์จึงรับสั่งให้พระอานนท์จัดการบวชให้สุภัททะ  ท่านสุภัททะบวชแล้วไม่นานก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ (ในคืนนั้นเอง) นับเป็นพระอรหันต์องค์สุดท้ายในระหว่างที่พระศาสดายังทรงพระชนม์อยู่

      พระพุทธองค์ตรัสกับพระอานนท์ต่อไปว่า  เมื่อพระองค์ล่วงลับไป  ให้ภิกษุทั้งหลายถือเอาพระธรรมวินัยเป็นศาสดาแทน  ให้ภิกษุผู้อ่อนกว่าเรียกผู้แก่กว่าว่า ภันเต  หรือ  อายัสมา  (แปลว่า ท่าน) ให้ภิกษุผู้แก่กว่าเรียกผู้อ่อนกว่าว่า อาวุโส (แปลว่า คุณ)  หรือจะเรียกชื่อหรือโคตรก็ได้  เวลานี้ภิกษุทั้งหลายยังเรียกกันและกันว่า  อาวุโส ๆ อยู่เสมอกัน  เมื่อสงฆ์เห็นพร้อมกันและถอนสิกขาบทเล็กน้อยเสียบ้างก็ได้  และให้ลงพรหมทัณฑ์ (การลงโทษอย่างประเสริฐ  ลงโทษอย่างผู้ใหญ่) พระฉันนะ(ภิกษุผู้ดื้อ) โดยการปล่อย  ไม่ต้องว่ากล่าวตักเตือนอะไร

      พระศาสดาตรัสต่อไปว่า  ภิกษุรูปใดสงสัยในพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์  ก็ขอให้ถามเสีย  เพื่อจะได้ไม่เสียดายภายหลังว่าอยู่เฉพาะพระพักตร์ของพระศาสดาแล้วมิได้ทูลถามข้อสงสัยตน  แม้สงสัยในมรรคหรือข้อปฏิบัติต่าง ๆ ก็ขอให้ถามได้  พระพุทธองค์ตรัสถึง ๓ ครั้ง  ภิกษุสงฆ์ก็คงนิ่งเงียบไม่มีใครถาม  พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า  ที่พวกเธอไม่ถามอาจเป็นเพราะเคารพในศาสดาก็ได้  จะบอกให้เพื่อถามแทนก็ได้เช่นกัน  ถึงกระนั้นภิกษุทั้งหลายก็คงนั่งเงียบ

      พระอานนท์แสดงความเลื่อมใสในสงฆ์ว่า  ในภิกษุสงฆ์จำนวนทั้งหมดนี้  ไม่มีใครเคลือบแคลงสงสัยในพระรัตนตรัย  ในมรรคและในข้อปฏิบัติเลย (ช่างน่าอัศจรรย์จริง ๆ ) พระศาสดาตรัสว่า  ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะในหมู่ภิกษุสงฆ์เหล่านี้  อย่างน้อยที่สุดก็เป็นโสดาบัน

      เมื่อทุกท่านเงียบอยู่

      พระศาสดาตรัสกับภิกษุทั้งหลายเป็น ปัจฉิมโอวาท ว่า

      ภิกษุทั้งหลาย  บัดนี้เราขอเตือนท่านทั้งหลายว่า  สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไป  สิ้นไปเป็นธรรมดา  ขอท่านทั้งหลายจงมีชีวิตอยู่ด้วยความไม่ประมาทเถิด

       นี่คือพระวาจาสุดท้ายของพระผู้มีพระภาคเจ้า

ผู้แสดงความคิดเห็น พัทธ์ธีรา วังกาวันมณเฑียร (vann_ult-at-hotmail-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-09-06 21:02:38


ความคิดเห็นที่ 42 (1568018)

 

ต่อไปนี้เป็นอาการหรือลีลาที่พระพุทธเจ้าปรินิพพาน มีรายละเอียดดังนี้

      ทรงเข้าฌานที่ ๑ ออกจากฌานที่ ๑ ทรงเข้าฌานที่ ๒ ดังนี้ เรื่อยไปจนถึงสัญญาเวทยิตนิโรธ คือ สมาบัติที่ดับสัญญาและเวทนา  พระอานนท์ถามพระอนุรุทธเถระผู้เลิศทางทิพยจักษุว่า  พระผู้มีพระภาคปรินิพพานแล้วหรือ  พระอนุรุทธะตอบว่ายังไม่ปรินิพพาน  พระองค์เข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ

      ลำดับนั้น  พระศาสดาออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติแล้ว  เข้าฌานถอยหลังเรื่อยมาจนถึงฌานที่ ๑ ออกจากฌานที่ ๑ เข้าฌานที่ ๒  ออกจากฌานที่ ๒ เข้าฌานที่ ๓ ออกจากฌานที่ ๓ เข้าฌานที่ ๔  ออกจากฌานที่ ๔  แล้วเสด็จดับขันธปรินิพพาน (สิ้นลม  สิ้นพระชนม์)  ในระหว่างฌานที่ ๔ กับฌานที่ ๕ นั่นเอง  เป็นเวลาปัจฉิมยามแห่งราตรี

 

      เมื่อพระผู้มีพระภาคปรินิพพานแล้ว  เกิดแผ่นดินไหว  มีผู้กล่าวแสดงความสังเวชสลดใจหลายท่านด้วยกัน  ภิกษุและพุทธบริษัทเหล่าอื่นที่ยังมีกิเลสอยู่ก็ร้องไห้คร่ำครวญ ส่วนผู้ที่ปราศจากราคะ สิ้นกิเลสแล้วก็ปลงธรรมสังเวชว่า  สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง  มีความสิ้นความเสื่อมไปเป็นธรรมดา

 

      พระอนุรุทธเถระได้ประกาศปลอบใจพุทธบริษัทมิให้เศร้าโศกคร่ำครวญเกินไป  ท่านทั้งสองคือพระอนุรุทธะและพระอานนท์ได้แสดงธรรมปลอบใจพุทธบริษัทจนสว่าง

      เมื่อสว่างแล้ว  พระอนุรุทธะขอร้องให้พระอานนท์เข้าไปแจ้งข่าวการปรินิพพานของพระศาสดาแก่มัลลกษัตริย์ในเมืองกุสินารา  มัลลกษัตริย์ทราบความแล้วพากันเศร้าโศก  ถือดอกไม้ของหอมและผ้า ๕๐๐ คู่  ไปยังสาลวัน  เตรียมการเกี่ยวกับพระพุทธสรีระอยู่จนเย็น  มีการบูชาพระพุทธสรีระด้วยความเคารพอย่างยิ่ง  วันที่ ๒ วันที่ ๖ ก็เช่นเดียวกัน

      พอถึงวันที่ ๗ มัลลปาโมกข์ (มัลลกษัตริย์ชั้นผู้ใหญ่ เป็นหัวหน้า เป็นประธาน) ๘ คน แต่งกายอย่างดี  นุ่งผ้าใหม่เตรียมอัญเชิญพระพุทธสรีระไปถวายพระเพลิงนอกนครกุสินารา  ออกทางประตูทิศทักษิณ  แต่ยกพระพุทธสรีระไม่ขึ้น  จึงต้องถามพระอนุรุทธะว่าเพราะเหตุไรจึงเป็นเช่นนั้น

      พระอนุรุทธะตอบว่า  เทวดาต้องการให้นำพระพุทธสรีระออกทางทิศอุดร (เหนือ) แล้วนำเข้ามาทางเดิม  ตั้งไว้กลางพระนครก่อน  แล้วอัญเชิญออกทางทิศบูรพา (ตะวันออก) ถวายพระเพลิง ณ มกุฏพันธรเจดีย์ ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกของเมืองกุสินารา

      มัลลปาโมกข์ได้ปฏิบัติตามนั้น  นำพระพุทธสรีระไปตั้ง ณ มกุฏพันธนเจดีย์  มัลลปาโมกข์ ๔ องค์ เตรียมถวายพระเพลิงแต่จุดไฟไม่ติด  จุดเท่าไหร่ก็ไม่ติด  จึงเรียนถามพระอนุรุทธะ

 

      พระอนุรุทธะตอบว่า  เป็นความประสงค์ของเทวดาที่จะให้พระมหากัสสปะพระสาวกผู้ใหญ่เดินทางมาถึงก่อน  เวลานี้พระมหากัสสปะพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ประมาณ ๕๐๐ รูปกำลังเดินทางมาจากเมืองปาวาสู่นครกุสินารา เพื่อถวายบังคมพระพุทธสรีระ

      วันเดียวกันนั้นเอง  พระมหากัสสปะพร้อมด้วยภิกษุผู้เป็นบริวารประมาณ ๕๐๐ รูป เดินทางจากเมืองปาวามุ่งหน้าสู่กุสินารา ขณะที่นั่งพักอยู่ใต้ร่มไม้ต้นหนึ่ง  เห็นอาชีวก (นักบวชลัทธิหนึ่ง) เดินมา มือถือดอกมณฑารพด้วย  พระมหากัสสปะถามถึงพระศาสดา  อาชีวกตอบว่า  ปรินิพพานมาได้ ๗ วันแล้ว  ภิกษุทั้งหลายได้ฟังข่าวนี้แล้ว บางพวกก็เศร้าโศกคร่ำครวญถึงพระศาสดา  บางพวกก็ปลงธรรมสังเวช

      ในจำนวนภิกษุเหล่านั้น  มีรูปหนึ่งชื่อ  สุภัททะ  ผู้บวชเมื่อแก่  นั่งอยู่กับภิกษุทั้งหลายด้วย  กล่าวขึ้นว่าจะเศร้าโศกเสียใจไปทำไมกัน  พระพุทธเจ้าปรินิพพานเสียก็ดีแล้ว   เมื่อท่านมีชีวิตอยู่ท่านก็เบียดเบียนพวกเราด้วยการคอยห้ามปรามนานาประการ   บัดนี้เราเป็นอิสระแล้ว ปรารถนาจะทำสิ่งใดก็ทำสิ่งนั้น  ไม่ปรารถนาจะทำสิ่งใดก็ไม่ต้องทำสิ่งนั้น  ส่วนพระมหากัสสปะปลอบใจภิกษุทั้งหลายให้คลายโศกด้วยธรรม  คือการพิจารณาว่า  เราจะต้องพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รักที่พอใจเป็นธรรมดา เป็นต้น

      และแล้ว  ท่านรีบนำบริวารไปสู่มกุฏพันธนเจดีย์  นอกเมืองกุสินารา  ทำผ้าห่มเฉวียงบ่า  ประคองอัญชลีเดินเวียนขวา ๓ รอบ แล้วเปิดพระพุทธสรีระทางพระบาทแล้วถวายบังคับด้วยเศียรเกล้า  แม้ภิกษุ ๕๐๐ รูปก็ทำเช่นนั้นเหมือนกัน  เมื่อพระมหากัสสปะและบริวารถวายบังคับพระพุทธสรีระแล้ว  ไฟในจิตกาธานก็ลุกโพลงขึ้งเอง  เผาไหม้พระพุทธสรีระ   แปลกที่ไม่มีขี้เถ้าหรือเขม่าปลิวออกเลย  อย่างอื่นไฟไหม้หมด  เหลือแต่พระธาตุ  สำหรับผ้า ๕๐๐ ชั้นนั้น ไฟไหม้ไปเพียง ๒ ผืนเท่านั้น  คือผืนในที่สุดกับผืนนอก  นอกจากนั้นไฟไม่ไหม้

     

      เมื่อถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระแล้ว  ก็มีปัญหาเรื่องพระบรมสารีริกธาตุ (พระอัฐิของพระพุทธเจ้า) อีกเล็กน้อย คือ มีกษัตริย์และผู้ครองนครเป็นจำนวนมากถึง ๗ นคร  ได้ส่งทูตมายังเมืองกุสินารา เพื่อขอแบ่งพระบรมสารีริกธาตุ  โดยอ้างว่า  พวกเขาเลื่อมใสพระผู้มีพระภาคเจ้าเช่นเดียวกับพวกมัลลกษัตริย์เมืองกุสินารา  กษัตริย์ที่ส่งราชทูตมาทั้ง ๗ นคร คือ

      ๑. พระเจ้าอชาตศัตรู     แห่งนครราชคฤห์

      ๒. กษัตริย์ลิจฉวี          แห่งนครเวสาลี

      ๓. กษัตริย์ศากยะ         แห่งเมืองกบิลพัสดุ์

      ๔. กษัตริย์ถูลี             แห่งเมืองอัลลกัปปะ

      ๕. กษัตริย์โกลิยะ         แห่งเมืองรามคาม

      ๖. พราหมณ์ผู้ครองเมืองเวฏฐทีปกะ

      ๗. กษัตริย์มัลละ          แห่งเมืองปาวา

 

      แต่เจ้ามัลละแห่งเมืองกุสินาราไม่ยอมแบ่งพระบรมสารีริกธาตุ  อ้างว่าพระศาสดาตั้งพระทัยมาปรินิพพานในเมืองของตน  เรื่องทำท่าจะไปกันใหญ่  แต่ได้อาศัยโทณพราหมณ์ผู้มีวาจาเฉียบแหลมได้กล่าวเกลี้ยกล่อมว่า

      พระบรมศาสดาของเรา  ทรงสรรเสริญขันติ (และเมตตา)  การที่พวกเราจะมารบราฆ่าฟันกันเพราะแย่งพระพุทธสรีระนั้น  หาสมควรไม่  ไม่เป็นการดีเลย  พวกเราควรจะยินยอมพร้อมใจกันแบ่งพระบรมสารีริกธาตุออกเป็น ๘ ส่วน ๆ ละเท่า ๆ กัน  เพื่อพระสถูปจะได้แพร่หลายไปในที่ต่าง ๆ เพราะผู้เลื่อมใสพระผู้มีพระภาคมีจำนวนมากด้วยกัน

      เมื่อโทณพราหมณ์กล่าวเช่นนี้  พวกมัลลกษัตริย์ก็โอนอ่อนผ่อนตาม  และขอให้โทณพราหมณ์เป็นผู้แบ่ง  เมื่อแบ่งเสร็จแล้วโทณพราหมณ์ก็เอ่ยปากขอทะนาน (ตุมพะ) ที่ใช้ตวงพระบรมสารีริกธาตุเพื่อตนจะได้นำไปบรรจุไว้ในสถูปสักการบูชาต่อไป มัลลกษัตริย์ก็ยินยอมให้

 

      ต่อมามีเจ้าโมริยะแห่งเมืองปิปผลิวัน  ทราบข่าวการปรินิพพานแห่งพระศาสดา  ได้ส่งทูตไปขอพระบรมสารีริกธาตุเช่นเดียวกัน  แต่ไม่ได้เพราะเขาแบ่งกันหมดแล้ว  ได้แต่พระอังคาร (ขี้เถ้า) ไป

 

      เป็นอันว่า  พระสถูปที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุในครั้งนั้นมี ๘ แห่ง บรรจุตุมพะ  คือทะนานที่ตวงพระธาตุ ๑ แห่ง บรรจุพระอังคาร ๑ แห่ง รวมเป็น ๑๐ แห่ง ด้วยประการฉะนี้

ผู้แสดงความคิดเห็น พัทธ์ธีรา วังกาวันมณเฑียร (vann_ult-at-hotmail-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-09-06 21:03:48


ความคิดเห็นที่ 43 (1568758)

 

๔. พระเจ้ามหาสุททัสสนะ

 

            เรื่องนี้สืบเนื่องมาจากข้อความในมหาปรินิพพานสูตรที่พระอานนท์กราบทูลว่า  พระพุทธองค์ควรจะเสด็จไปปรินิพพาน ณ เมืองใหญ่ ๆ ไม่ควรปรินิพพานในเมืองเล็กเมืองน้อย เช่น  กุสินารา  พระพุทธองค์ตรัสว่า  กุสินาราเคยเป็นเมืองใหญ่มาแล้ว  ผู้ครองกุสินาราเล่าก็เป็นถึงจักรพรรดิ คือ พระเจ้ามหาสุทัสสนะ

     

      พระสูตรนี้ จึงเป็นส่วนขยายแห่งมหาปรินิพพานสูตรนั่นเอง

      ดำเนินความว่า  พระพุทธองค์ตรัสกับพระอานนท์ว่า  กุสาวดีราชธานีนั้นใหญ่โต มั่งคั่ง  มีกำแพงเมืองถึง ๗ ชั้น ล้วนเป็นกำแพงอย่างดี  ประตูเมือง  เสาประตู  ล้วนสวยงามใหญ่โตทั้งสิ้น

 

      พระเจ้ามหาสทัสสนะเล่าก็สมบูรณ์ด้วยแก้ว ๗ ประการ คือ

๑.             จักรแก้ว

๒.             ช้างแก้ว เป็นช้างเผือก ตระกูลอุโบสถ

๓.            ม้าแก้ว สีขาว ชื่อวลาหก (ลม)

๔.            แก้วมณี เป็นชนิดแก้วไพฑูรย์ สว่างดีมาก

๕.            นางแก้ว รูปงาม สัมผัสนุ่มนวล

๖.             ขุนคลังแก้ว (คหปติรัตนะ)

๗.           ขุนพลแก้ว

 

คำว่า แก้ว ในที่นี้ คงเป็นสำนวนทำนองเดียวกับที่ใช้ในสำนวนไทย เช่น ลูกแก้ว แม่แก้ว พ่อแก้ว ถือเอาความว่าเป็นสิ่งที่ดีเลิศนั่นเอง

      จักรแก้ว นั้น  น่าจะหมายถึงทรงมีเครื่องใช้  เครื่องมือที่ดีเลิศ  พูดอย่างสมัยใหม่ก็คือ  ทรงมีเครื่องมือทางเทคโนโลยีอย่างดีเลิศ นั่นเอง อย่างน้อยก็ดีกว่ากษัตริย์อื่น ๆ ในสมัยเดียวกัน

      ช้างแก้ว ม้าแก้ว น่าจะหมายความว่า ทรงมีช้าง ม้าอย่างดี ไว้ใช้ส่วนพระองค์  ใช้ได้อย่างใจ ส่วนแก้วมณี นั้นน่าจะหมายถึง เครื่องราชูปโภคส่วนพระองค์  ล้วนแต่เป็นของมีราคาแพง  มีค่าสูง ไม่เหมือนของสามัญชนทั่วไป  ในคัมภีร์ได้พรรณนาคุณลักษณะของแก้วมณีไว้ว่า  สุกใส  แวววาว สมส่วน แสงสว่างแผ่ไปโดยรอบได้โยชน์หนึ่ง  เมื่อพระเจ้ามหาสุทัสสนะต้องการทดลองว่าแก้วสว่างปานใด  ทรงยกแก้วไว้ปลายธง ์ได้พรรณนาคุณ(ธงรบ) แล้วเสด็จไปยืนในที่มืดเวลากลางคืน  แก้วนั้นให้แสงสว่างจนชาวบ้านที่อยู่โดยรอบบริเวณนั้นเข้าใจว่าเป็นเวลากลางวัน

      นางแก้ว นั้น  พรรณนาไว้ว่ รูปงาม น่าดู น่าเลื่อมใส ผิวพรรณผุดผ่องยิ่งนัก  สัมผัสนุ่มเหมือนปุยนุ่นหรือปุยฝ้าย ฤดูร้อนตัวเย็น ฤดูหนาวตัวร้อน  กลิ่นจันทน์ฟุ้งออกจากกาย กลิ่นอุบลออกจากปาก  และเป็นผู้ปรณนิบัติดีอย่างยิ่ง  ถือเอาความก็คือเป็นหญิงดีนั่นเอง

      ขุนคลังแก้ว  น่าจะหมายว่า  ทรงมีผู้สามารถในการจัดพระราชทรัพย์ให้เพิ่มพูนขึ้น  ดูแลรักษาพระราชทรัพย์ที่มีอยู่แล้วให้มั่งคง  สามารถดำเนินการได้ตามพระราชประสงค์  ในคัมภีร์เล่าว่าคหบดีแก้วนั้นมีตาทิพย์  เป็นผลแห่งกุศลกรรม  สามารถมองเห็นทรัพย์สินที่มีเจ้าของหรือไม่มีเจ้าของได้  บางคราวพระเจ้ามหาสุทัสสนะต้องการทดลองขุนคลังแก้ว  โดยลงเรือไปด้วยกัน  ขณะประทับอยู่ในเรือนั้น ตรัสว่าพระองค์ต้องการเงินและทอง  คหบดีแก้วหรือขุนคลังแก้ว  ขอให้เทียบเรือเข้าตลิ่ง  เอามือจุ่มลงในน้ำเท่านั้นก็สามารถยกหม้อเงินหม้อทองขึ้นมาได้

      ถอดความว่า  เป็นผู้มีความรู้ความสามารถในการหาเงินทองอย่างยอดเยี่ยม  สามารถหาเงินทองให้พระเจ้าแผ่นดินได้ทุกหนทุกแห่ง

      ขุนพลแก้ว  (ปริณายกรัตนะ) มีลักษณะเป็นบัณฑิต  เฉียบแหลม มีปัญญา  มีความสามารถดี  แนะนำพระเจ้าแผ่นดินให้เว้นสิ่งควรเว้น  ดำเนินสิ่งควรดำเนิน  คงมีความสามารถในการจัดกองทัพด้วย  จึงเรียกว่า  ขุนพลแก้ว

      ในข้อนี้ถือเพียงว่า  ทรงมีบัณฑิตแก้ว แม้ไม่ต้องมีขุนพลก็ได้กระมัง  เพราะดูเหมือนอะไร ๆ ก็เกิดขึ้นและเป็นไปด้วยบุญญาธิการอยู่แล้ว

 

      นอกจาก ๗ ประการนี้แล้ว  พระเจ้ามหาสุทัสสนะยังประกอบด้วยฤทธิ์คือความสำเร็จในชีวิตอีก ๔ ประการ คือ

๑.             ทรงมีรูปงามยิ่งกว่ามนุษย์คนอื่น

๒.             ทรมีอายุยืนยิ่งกว่ามนุษย์คนอื่น

๓.            ทรงมีพระโรคน้อย

๔.            ทรงเป็นที่รักของประชาชน

 

ในข้อที่ ๔ นี้ เล่าไว้ในคัมภีร์ว่า  ทรงเป็นที่รักใคร่ของประชาชน ประดุจบุตรธิดารักธิดา  หรือประดุจบิดารักบุตร  เมื่อเสด็จประพาสประชาชนจะมารับเสด็จและกราบทูลว่า  อย่าด่วนเสด็จเลยไป  พวกเขาอยากชมพระบารมีนาน ๆ ฝ่ายพระเจ้ามหาสุทัสสนะก็รับสั่งให้สารถีขับรถ(เทียมม้า) อย่างช้า ๆ เพื่อให้ประชาชนชมพระบารมี

ทรงมีสระโบกขรณีอันน่ารื่นรมย์  สวยงามยิ่ง  ทรงอนุญาตให้คนอื่นใช้ได้ด้วย  ทรงตั้งกองทานไว้ริมสระโบกขรณี  มีของที่จำเป็นทุกอย่างเพื่อสนองความต้องการของผู้จำเป็น

 

       พระเจ้าสุทัสสนะทรงดำริว่า  ที่ทรงมีฤทธิ์มาก  มีอานุภาพมากอย่างนี้  ก็เพราะผลแห่งกรรมดี ๓ ประการ คือ

๑.            ทาน การแบ่งปัน  การเสียสละ

๒.           ทมะ การฝึกจิต หรือฝึกอินทรีย์ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย

๓.            สัญญมะ  การฝึกจิต  หรือการสำรวมจิต

 

ทรงดำริเห็นอานิสงส์แห่งธรรมดังนี้แล้ว  มีพระประสงค์จะบำเพ็ญกุศลธรรมยิ่ง ๆ ขึ้นไป  จึงทรงระงับกามวิตก (ความตรึกเรื่องกาม) พยาบาทวิตก (ความตรึกเรื่องพยาบาท) และวิหิงสาวิตก (ความตรึกเรื่องเบียดเบียน) ทรงบำเพ็ญฌานจนได้ฌาน ๔ คือ ทรงแผ่เมตตา  กรุณา  มุทิตา  และอุเบกขา  อันไม่มีขอบเขตไม่มีประมาณไปยังสัตว์ทั้งหลายทั่วทุกทิศ

พระนางสุภัททาเทวี  อัครมเหสีทรงเห็นพระเจ้ามหาสุทัสสนะทรงใฝ่พระทัยแต่ในทางธรรมในทางสงบเช่นนั้น  จึงเข้าเฝ้าขอให้ทรงเห็นแก่ชีวิตที่มีความสุขสำราญ  อย่าได้ทรงหมกมุ่นในทางธรรมและในทางสงบนักเลย  แต่พระเจ้ามหาสุทัสสนะกลับทรงขอให้พระนางขอร้องเวียใหม่  คือ  ควรจะขอว่า  อย่าได้เห็นแก่ทรัพย์สมบัติ และอย่าได้เห็นแก่ชีวิตเลย  เพราะสิ่งเหล่านี้มีการต้องพลัดพราก และแตกดับเป็นธรรมดา

 

      หลังจากนั้นไม่นานนัก  พระเจ้ามหาสุทัสสนะก็สิ้นพระชนม์  ทรงดำรงอยู่ในเพศคฤหัสถ์ประพฤติพรหมจรรย์  คือคุณงามความดีต่าง ๆ เมื่อสิ้นพระชนม์แล้วก็เข้าถึงพรหมโลก  คือไปเกิดเป็นพรหม เพราะทรงได้ฌาน ๔ และเจริญพรหมวิหาร เป็นอัปปมัญญาอยู่เป็นประจำ

 

      เรื่องของพระเจ้ามหาสุทัสสนะนี้  เป็นตัวอย่างหนึ่งของพระมหากษัตริย์ที่ทรงมั่งมีเหลือล้น   แต่ไม่ทรงติดในทรัพย์สมบัติ  แต่กลับมุ่งประพฤติปฏิบัติในคุณงามความดีเป็นแก่นสารกว่า  มีคุณภาพดีกว่า  ควรเป็นเยี่ยงอย่างแห่งผู้มั่งมีทั้งหลาย

 

       พระพุทธองค์ตรัสกับอานนท์ว่า  อย่าคิดว่าพระเจ้ามหาสุทัสสนะในครั้งนั้นเป็นคนอื่น  ที่แท้คือพระองค์เอง  และตรัสเป็นเชิงสั่งสอนให้สังเวชสลดใจว่า  บรรดาสิ่งต่าง ๆ ซึ่งพระเจ้ามหาสุทัสสนะมีอยู่อย่างละเป็นจำนวนพันเป็นจำนวนหมื่นนั้น  เมื่อจะบริโภคใช้สอยเพียงคราวละอย่างหรือคราวละหมื่นเท่านั้น  หาบริโภคใช้สอยทรัพย์พร้อมกันทั้งหมดได้ไม่

 

       ดูเถิดอานนทน์  สิ่งทั้งหลายเหล่านั้นล่วงไปหมดแล้ว  สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง  ไม่ยั่งยืน  ไม่น่ายินดี  ควรจะเบื่อหน่าย  คลายความพอใจ  และหลุดพ้นไปเสีย  อานนท์ เรารู้  เราเคยทอดทิ้งร่างกายไว้เป็นครั้งที่ ๗ แล้ว

      พระพุทธองค์ตรัสในที่สุด

 

 

ผู้แสดงความคิดเห็น พัทธ์ธีรา วังกาวันมณเฑียร (vann_ult-at-hotmail-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-09-11 11:13:02


ความคิดเห็นที่ 44 (1568759)

 

๕. ยักษ์ชนวสภะ

 

            คราวหนึ่ง  พระพุทธองค์ประทับอยู่ที่โรงพักคนเดินทาง ทำด้วยอิฐในหมู่บ้านนาทิกะ (ตอนจะปรินิพพานนั่นเอง)  ได้ตรัสพยากรณ์ (ตรัสบอก หรือตอบ ไม่ใช่ทำนายทายทักแบบโหราศาสตร์) บุคคลผู้เลื่อมใสในพระพุทธเจ้า  พระธรรม  พระสงฆ์  ปฏิบัติบำรุงพระพุทธเจ้าเป็นต้นด้วยดี  เมื่อสิ้นชีพแล้วไปเกิดในที่ต่าง ๆ คนเหล่านั้น เป็นชาวบ้านนาทิกะบ้าง  เป็นชาวชนบทรอบ ๆ หมู่บ้านนาทิกะบ้าง  นอกจากนี้ยังได้ทรงพยากรณ์บุคคลในแคว้นต่าง ๆ อีกมาก เช่น แคว้นโกศล  แคว้นกาสี  แคว้นวัชชี  แคว้นมัลละ ฯลฯ ว่าตายแล้วไปเกิดที่ใด

 

      ชาวบ้านนาทิกะได้สดับข่าวดังนี้  พากันปลื้มใจว่า  ชาวบ้านนาทิกะเป็นจำนวนมากผู้เลื่อมใสในพระพุทธ  พระธรรม  พระสงฆ์ ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ  ตายแล้วไปสู่สุคติโลกสวรรค์  ชาวบ้านนาทิกะกว่า ๕๐ คนเป็นอนาคามี ชาวบ้านนาทิกะกว่า ๙๐ คนเป็นสกทาคามี และกว่า ๕๐๐ คนเป็นโสดาบัน  พวกเขาพากันปลื้มใจ - ปลื้มใจนักหนาที่พระผู้มีพระภาคตรัสให้ทราบดังนี้

 

      พระอานนท์ได้ทราบเรื่องนี้แล้วดำริว่า  คนในแคว้นมคธก็มีจำนวนมากที่เลื่อมใสพระรัตนตรัย  และปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ  แม้พระเจ้าพิมพิสารจอมเสนาแห่งมคธเองก็ทรงดำรงอยู่ในธรรม  ทรงประพฤติประโยชน์เกื้อกูลแก่พหูชน  ทรงเลื่อมใสอย่างยิ่งในพระผู้มีพระภาคเจ้า  แต่เหตุไฉนหนอพระพุทธองค์จึงไม่ทรงพยากรณ์คติของพระเจ้าพิมพิสาร  และชาวมคธเป็นอันมาก  เมื่อคิดดังนี้  เวลาใกล้รุ่งจึงเข้าเฝ้าพระศาสดา  ทูลถามถึงข้อสงสัยของท่าน  ทูลแล้วยังไม่ได้รับคำตอบจากพระผู้มีพระภาค  พระอานนท์ก็กราบลาไป

 

      เมื่อพระอานนท์ทูลลาไปแล้ว  พระศาสดาเสด็จไปบิณฑบาตเสวยเสร็จแล้ว  เสด็จเข้าที่พักซึ่งกอ่ด้วยอิฐ  ทรงพิจารณาถึงคติของชาวมคธ  ทรงทราบโดยตลอดว่าคติของชาวมคธเป็นอย่างไร  ตกเย็นเสด็จออกจากที่พักซึ่งก่อด้วยอิฐ  ประทับ ณ ร่มเงาภายนอกของที่พักนั้น  พระอานนท์เข้าไปเฝ้ากราบทูลว่า  สีพระพักตร์ของพระองค์ผ่องใสยิ่งนัก  มีพระอาการสงบระงับ  คงจะอยู่ด้วยธรรมอันสงบระงับเป็นแน่แท้

 

      พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามพระอานนท์ว่า  เคยได้ยินชื่อขนวสภะหรือไม่  พระอานนท์ทูลตอบว่าไม่แน่ใจว่าเคยได้ยินชื่อนี้หรือไม่  แต่พอได้ยินชื่อนี้ก็รู้สึกว่าขนลุกชูชันทีเดียว  ผู้มีนามบัญญัตินี้คงไม่ใช่ผู้มีฐานะต่ำ ๆ เป็นแน่

 

      พระศาสดาตรัสว่า อานนท์  ยักษ์  ผู้มีผิวพรรณผุดผ่องยิ่งนักมาหาเราวันนี้เอง  เปล่งเสียงบอกว่า  ข้าพระพุทธเจ้านามว่า  ชนวสภะ  ข้าพระพุทธเจ้านามว่าพิมพิสาร  อานนท์  พระเจ้าพิมพิสารนั่นเองไปเกิดเป็นยักษ์ชื่อชนวสภะ  พระเจ้าพิมพิสาวในภพแห่งเทพชั้นจาตุมหาราชบอกให้เราทราบว่า  ถ้าจุติจากภพนี้แล้วไปเกิดใหม่ในหมู่มนุษย์จะได้เป็นพระราชาอีก  ที่ไปเกิดเป็นเทพชั้นจาตุมหาราช นับเนื่องในหมู่ยักษ์นั้นก็เพราะเป็นภพที่เคยเกิดมา ๗ ครั้งแล้ว  ได้บอกให้เราทราบว่า  รู้มานานแล้วว่าเป็นผู้ไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา  (เป็นโสดาบันแล้ว) และได้ตั้งความหวังไว้ว่าจะได้เป็นพระสกทาคามี

 

      อานนท์  นอกจากนี้ยักษ์ชื่อชนวสภะได้เล่าด้วยว่า  ตนเคยเข้าประชุมร่วมกับเทพต่าง ๆ ที่ธรรมสภาชั้นดาวดึงส์  ได้เห็นเทพต่าง ๆ ที่เคยบำเพ็ญคุณงามความดีในศาสนาของเรา  แล้วไปเกิดเป็นเทพรุ่งเรืองกว่าเทพอื่น ๆ ทั้งโดยวรรณะและโดยยศ  ตัวท่านเองก็เหมือนกัน  เลื่อมใสในตถาคต  บำเพ็ญคุณงามความดีในศาสนาของตถาคต  แล้วไปเกิดเป็นเทพ  ซึ่งมีวรรณะรุ่งเรืองยิ่ง  และแล้วได้ประกาศความเลื่อมใส เลื่อมใสอย่างยิ่งในตถาคต  ที่มาเฝ้าตถาคตนี้ ก็ด้วยท้าวเวสสวัณขอร้องให้ไปธุระบางอย่างในสำนักของท้าววิรุฬหก  ผ่านมาทางนี้  เห็นเราตถาคตเข้าไปในที่พักซึ่งก่อด้วยอิฐ  ทราบว่าเรากำลังพิจารณาคติหรือภพหน้าของชาวมคธอยู่  จึงแวะมาเฝ้า  และกราบทูลให้ทราบว่าพระองค์มีคติอย่างไร

 

      อานนท์  ชนวสภะผู้มีศักดิ์  ยังได้เล่าถึงภาษิตต่าง ๆ ของสนังกุมารพรหม  (พรหมผู้นี้มีความรู้ทางธรรมสูง  มักจะกล่าวคติธรรมเสมอ)  ในธรรมสภานั้นด้วยว่า ผู้ถึงพระพุทธเจ้า  พระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่พึ่ง คือ  ผู้เลื่อมใสในพระรัตนตรัยนั่นเอง  ตายแล้วย่อมไปเกิดเป็นเทพชั้นต่าง ๆ มากมาย  ตั้งแต่ชั้นสูงสุดถึงต่ำสุด  สนังกุมารพรหมกล่าวสรรเสริญคุณธรรม คือ อิทธิบาท ๔ กล่าวคือ  ฉันทะ-ความพอใจ   วิริยะ-ความเพียร   จิตตะ-การเอาใจฝักใฝ่   วิมังสา-การใช้ปัญญาพิจารณา  ว่าเป็นคุณธรรมให้สำเร็จฤทธิ์ หรือให้ประสบความสำเร็จประการต่าง ๆ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงความสุขสำหรับมนุษย์ไว้หลายชั้น  ตั้งแต่ชั้นกามสุข  ฌานสุข(สุขในฌาน) และนิพพานสุข(สุขเพราะสิ้นกิเลส) พระผู้มีพระภาคทรงแสดงสติปัฏฐาน ๔ ไว้ดีแล้ว  สติปัฏฐาน ๔ คือ  การตั้งสติ  พิจารณากาย  พิจารณาเวทนา คือความรู้สึกสุข ทุกข์ ไม่สุขไม่ทุกข์ พิจารณาจิตว่าเศร้าหมองหรือผ่องแผ้ว เป็นต้น  พิจารณาธรรมที่เป็นกุศลบ้าง  เป็นอกุศลบ้าง  สติปัฏฐาน ๔ นี้ ย่อมนำผู้ปฏิบัติให้ข้ามพ้นทุกข์โศกได้จริง  ธรรม ๗ ประการ คือความเห็นชอบ (สัมมาทิฏฐิ) ความดำริชอบ วาจาชอบ  การกระทำชอบ เลี้ยงชีพชอบ  ความเพียรชอบ และสติชอบ เป็นบริขาร หรือบริวารของสมาธิ  เป็นไปเพื่อให้สมาธิเจริญ  เพื่อให้สมาธิสมบูรณ์  อนึ่ง  สัมมาสมาธิซึ่งบริบูรณ์เต็มที่แล้วย่อมเป็นไปเพื่อสัมมาญาณ (ความรู้ชอบ)  และสัมมาญาณอันบริบูรณ์แล้วย่อมเป็นไปเพื่อสัมมาวิมุตติ (ความหลุดพ้นชอบ)

 

      อานนท์  ยักษ์ชื่อชนวสภะเล่าว่า  สนังกุมารพรหมกล่าวในธรรมสภาด้วยเสียงอันประกอบด้วยองค์ ๘ คือ แจ่มใส  ชัดเจน  นุ่มนวล  น่าฟัง  กลมกล่อม  ไม่พร่า  ลึก  มีกังวาน  ผู้ใดมีเสียงประกอบด้วยองค์ ๘ นี้  ท่านเรียกว่ามีเสียงดังเสียงพรหม

 

      อานนท์  สนังกุมารพรหมกล่าวในที่ประชุมธรรมสภาว่า ชาวมคธผู้เลื่อมใสในพระรัตนตรัย  ปฏิบัติธรรมตามคำแนะนำของพระผู้มีพระภาค เป็นโสดาบันถึง ๒ ล้าน ๔ แสนคน  ท่านเหล่านั้นทำกาละล่วงลับไปแล้วล้วนไปเกิดเป็นเทพผู้มีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา  จะต้องได้บรรลุธรรมที่สูงขึ้นไปอย่างแน่นอน  ท่านเกรงว่าจะกล่าวเท็จจึงไม่อาจบอกได้ว่า  ชาวมคธเป็นสกทาคามีเท่าใด

 

       อานนท์  ทั้งหมดนี้  ยักษ์ชื่อชนวสภะเป็นผู้เล่าให้ตถาคตทราบ  และได้เล่าต่อไปว่า  เมื่อสนังกุมารพรหมกล่าวอยู่อย่างนี้  ท้าวเวสสวัณได้กล่าวขึ้นว่า  น่าอัศจรรย์จริงหนอ  ไม่เคยมีมาหนอ  ที่มีพระศาสดาผู้มีพระคุณอย่างยิ่งเห็นปานนี้  มีการแสดงธรรมอันยิ่งเห็นปานนี้  และมีการบรรลุคุณวิเศษอันยิ่งเห็นปานนี้

 

       พระสูตรนี้มีคติน่าสนใจเป็นอันมาก เช่น

      ๑. พระอานนท์ช่างมีน้ำใจเอื้อเฟื้อเสียจริง ๆ นึกถึงคนนั้นคนนี้อยู่เสมอ  เช่นในเรื่องนี้  เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้ามิได้ทรงพยากรณ์ชาวมคธ  ท่านก็ระลึกถึงชาวมคธมีพระเจ้าพิมพิสารเป็นต้น  แล้วเข้าไปเฝ้าพระศาสดาทูลเลียบเคียงให้ระลึกถึงชาวมคธ

      ๒. พระพุทธองค์ก็ทรงเป็นผู้น่ารักน่าบูชา  เมื่อพระอานนท์ทูลเลียบเคียงเช่นนั้น ก็ทรงตั้งพระทัยระลึกถึงชาวมคธว่ามีคติเป็นอย่างไร  ภพหน้าเป็นอย่างไร

      ๓. เทพ หรือเทวดาทั้งหลายก็มีภารกิจที่จะต้องไปมาหาสู่กัน เหมือนพวกเราที่เป็นมนุษย์ ตัวอย่างในเรื่องนี้ที่ยักษ์ (เทพ) ชื่อชนวสภะไปธุระบางอย่างผ่านมาทางนาทิกคาม  ได้เห็นพระผู้มีพระภาคกำลังทรงดำริคติของชาวมคธอยู่ จึงแวะเข้าไปเฝ้าในฐานะที่ตนเป็นชาวมคธผู้หนึ่ง  อนึ่ง คติไทยที่พูดกันอยู่เสมอว่า แม้มนุษย์ไม่เห็น เทวดาก็เห็น  นั้นเป็นเรื่องจริงที่ควรคำนึงทีเดียว

      ๔. มีเทพหรือเทวดาจำนวนไม่น้อยที่มีความรู้ทางพระพุทธศาสนาอย่างดี เช่น สนังกุมารพรหม เป็นต้น คนที่มีความรู้ดีทางพระพุทธศาสนาเมื่อสมัยเป็นมนุษย์ล่วงลับไปเป็นพรหม  ความรู้นั้นก็ยังอยู่และจะรู้ดียิ่งขึ้น  เพราะมีโอกาสได้ย่อยประสบการณ์ อนึ่งในพระสูตรนี้ได้บอกไว้ด้วยว่าผู้มีเสียงไพเราะเหมือนเสียงพรหมนั้นเป็นอย่างไร

      ๕. เป็นอันว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงตอบข้อข้องใจของพระอานนท์ไปเสร็จเรียบร้อยว่า  คติสัมปรายภพของชาวมคธมีพระเจ้าพิมพิสารเป็นต้นเป็นอย่างไร  อนึ่ง  พระเจ้าพิมพิสารแม้เป็นโสดาบันแล้ว  แต่ไปเกิดเป็นเทพในหมู่ยักษ์ (ท้าวมหาราชทั้ง ๔) ก็เพราะเป็นภพที่เคยเกิดเคยอยู่มาหลายชาติแล้ว  ทรงท่องเที่ยวเป็นมนุษย์และเทวดาอยู่หลายชาติ  เมื่อมาเป็นมนุษย์ก็เป็นพระราชา  เมื่อเป็นเทวดาก็ไปเกิดในที่นั้น

ผู้แสดงความคิดเห็น พัทธ์ธีรา วังกาวันมณเฑียร (vann_ult-at-hotmail-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-09-11 11:13:42


ความคิดเห็นที่ 45 (1574817)
image

ธรรมะสมเด็จองค์ปฐม

ทุกอย่างในพระไตรปิฏก

เป็นคำสอนที่มุ่งเกี่ยวกับบารมี ๑๐ ให้เต็มทั้งสิ้น

เจ้าจงพิจารณาให้เกิดปัญญา

เพราะเมื่อบารมี ๑๐ เต็ม

ศีล-สมาธิ-ปัญญาก็ย่อมเต็ม

การถือบวชทางใจ

เนกขัมมะบารมี

ตามโอวาทปาฏิโมกข์

ก็เต็มได้ตามปัญญา

ที่พิจารณาธรรมนั้น ๆ

 

ผู้แสดงความคิดเห็น โฆษิต ควรหาเวช (kosit-dot-koanhavej-at-nectec-dot-or-dot-th) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-09-27 00:31:42


ความคิดเห็นที่ 46 (1575048)

อานิสงส์สร้างพระไตรปิฎก

พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า

ดูกรท่านสารีบุตร

ถ้าชนทั้งหลายมีจิตศรัทธาเลื่อมใสเช่นนั้นแล้ว

เมื่อตายไปก็จักได้เสวยราชสมบัติ

เป็นพระเจ้าจักรพรรดิราชถึง ๘ หมื่น ๔ พันกัลป์

 

ใช่แต่เท่านั้น

เมื่อเคลื่อนจากความเป็นพระเจ้าจักรพรรดิแล้ว

ก็จะได้เป็นพระราชา มีอนุภาพอีก ๙ อสงไขย

ต่อจากนั้นก็ได้เสวยสมบัติในตระกูลต่าง ๆ

เป็นลำดับไป

คือ ตระกูลพราหมณ์มหาศาล

ตระกูลเศรษฐีคฤหบดี

และเป็นภูมิเทวดาอากาศเทวดา

อย่างละ ๙ อสงไขย

ต่อแต่นั้นก็จะได้เสวยในสวรรค์ทั้ง ๖ ชั้น

เป็นลำดับไปชั้นละ ๘ อสงไขย

เมื่อจุติจากชั้นเทวโลกแล้ว

มาถือกำเนิดเกิดเป็นมนุษย์

ก็จะมีร่างกายบริสุทธิ์ผุดผ่อง

เป็นที่รักใคร่แก่คนทั้งหลาย

ที่ได้พบเห็นทั้งน้ำใจ

ก็บริสุทธิ์สุจริตปราศจากบาปกรรม

อกุศลทั้งปวง และเป็นผู้มีปัญญาเฉลียวฉลาด

รอบรู้ทั้งทางโลกและทางธรรม

ดังนี้เป็นต้น

ดูกรท่านสารีบุตร

เมื่อตถาคตสร้างบารมีอยู่

ได้เกิดเป็นอำมาตย์ของพุทธบิดา

แห่งสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

พระนามว่า ปุราณโคดม

ได้สร้างพระไตรปิฎกไว้

ให้สืบองค์ได้ตั้งความปรารถนา

ขอตรัสเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

พระองค์หนึ่งเถิด

ในอนาคตกาลโน้น

สมเด็จพระปุราณโคดมบรม
ศาสดาทรงพยากรณ์ไว้ว่า

อำมาตย์ผู้นี้ต่อไปภายภาคหน้า

จะได้ตรัสเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง

มีพระนามว่า พระสมณโคดม

ก็คือพระตถาคต เรานี้เองดังนี้แล

ก็สิ้นสุดพระกระแสธรรมเทศนาที่
พระบรมศาสดาทรงแสดงแก่

พระสารีบุตรเถระเจ้าแต่เพียงเท่านี้

ผู้แสดงความคิดเห็น โฆษิต ควรหาเวช (kosit-dot-koanhavej-at-nectec-dot-or-dot-th) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-09-28 00:25:51


ความคิดเห็นที่ 47 (1576726)

ก่อนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะดับขันธปรินิพพาน

พระอานนท์ทูลถามพระองค์ว่า

“ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ

หลังจากพระองค์ปรินิพพานแล้ว

พระองค์จะทรงตั้งใครเป็นศาสดาแทนพระเจ้าข้า”

 

พระพุทธเจ้าตรัสตอบเป็นภาษาบาลีว่า

“โย โว อานนฺท มยา ธมฺโม จ วินโย จ เทสิโต

ปญฺญตฺโต โส โว มมจฺจเยน สตฺถา”

แปลว่า. ดูก่อนอานนท์ ธรรมและวินัยใด

ที่เรา ได้แสดงแล้วและบัญญัติแล้ว

แก่เธอทั้งหลาย ธรรมและวินัยนั้น

จักเป็นศาสดาของเธอทั้งหลาย

ในเมื่อเราล่วงลับไป

หมายความว่า

พระพุทธเจ้าตรัสสั่งให้

คำสั่งสอนของพระองค์

เป็นศาสดาแทนพระองค์

ผู้แสดงความคิดเห็น โฆษิต ควรหาเวช (kosit-dot-koanhavej-at-nectec-dot-or-dot-th) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-10-06 00:33:33


ความคิดเห็นที่ 48 (1576948)

อริยสัจ 4

 

หมายถึงความจริง 4 ประการคือ

การมีอยู่ของทุกข์ เหตุแห่งทุกข์

ความดับทุกข์ และ หนทางไปสู่ความดับทุกข์

ทุกข์

คือ การมีอยู่ของทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ และตาย

ล้วนเป็นทุกข์ ความเศร้าโศก ความโกรธ ความอิจฉาริษยา

ความวิตกกังวล ความกลัวและความผิดหวังล้วนเป็นทุกข์

การพลัดพรากจากของที่รักก็เป็นทุกข์ ความเกลียดก็เป็นทุกข์

ความอยาก ความยึดมั่นถือมั่น ความยึดติดในขันธ์ทั้ง 5

ล้วนเป็นทุกข์

สมุทัย

คือ เหตุแห่งทุกข์ เพราะอวิชา

ผู้คนจึงไม่สามารถเห็นความจริงของชีวิต

พวกเขาตกอยู่ในเปลวเพลิงแห่งตัณหา ความโกรธ

ความอิจฉาริษยา ความเศร้าโศก ความวิตกกังวล

ความกลัว และความผิดหวัง

นิโรธ

คือ ความดับทุกข์ การเข้าใจความจริงของชีวิต

นำไปสู่การดับความเศร้า โศกทั้งมวล อันยังให้เกิดความสงบ

และความเบิกบาน

มรรค

คือ หนทางนำไปสู่ความดับทุกข์

อันได้แก่ อริยมรรค 8 ซึ่งได้รับการหล่อเลี้ยงด้วยการดำรงชีวิต

อย่างมีสติความมีสตินำไปสู่สมาธิและปัญญา

ซึ่งจะปลดปล่อย ให้พ้นจากความทุกข์

และความโศกเศร้าทั้งมวล

อันจะนำไปสู่ความศานติและ ความเบิกบาน

พระพุทธองค์ได้ทรงเมตตานำทางพวกเรา

ไปตามหนทางแห่งความรู้แจ้ง

ขอให้เปิดตู้พระไตรปิฎกออกอ่านบ่อย ๆ เถิด จะได้ไม่ขัดสนความรู้

ดังคำพังเพยที่ว่า มีความรู้อยู่ในสมุดสุดขัดสน อนุโมทนาสาธุการครับ

ที่มา : www.learntripitaka.com/

อนุโมทนาสาธุครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น โฆษิต ควรหาเวช (kosit-dot-koanhavej-at-nectec-dot-or-dot-th) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-10-07 00:21:31


ความคิดเห็นที่ 49 (1577144)

 อนุโมทนากับคุณโฆษิตและพี่แหวนด้วยค่ะ

ยังทยอยอ่านลงมาเรื่อยๆค่ะ

ให้ทั้งข้อคิด คติเตือนใจ

และธรรมะดีๆอีกด้วย

 

สาธุ สาธุด้วยค่ะ

ผู้แสดงความคิดเห็น หญิง < นันทนา แหกาวี > ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-10-08 04:01:50


ความคิดเห็นที่ 50 (1577156)

อ่านถึงกระทู้ที่ 36 แล้ว

(ขอมาร์คไว้ก่อน.....

เดี๋ยวทะยอยมาอ่านต่อเรื่อยๆ)

 

อนุโมทนากับหนูแหวน

และคุณโฆษิตด้วยนะคะ สาธุ

ผู้แสดงความคิดเห็น ชนิดา เชิงสะอาด/CHANIDA (nhongjung-at-hotmail-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-10-08 07:22:50


ความคิดเห็นที่ 51 (1579495)

 

วันนี้หนีบรรยากาศเครียด ๆ เรื่องน้ำท่วม

มาฟังนิทานในพระไตรปิฏกกันดีกว่า เรื่องแรกที่จะเล่าให้ฟังในวันนี้

แต่น แต๊น

หมูเจ้าสำราญ

กาลครั้งหนึ่ง สมัยก่อนพุทธกาล ณ เมืองพาราณสี แคว้นกาสี

ตรงกับรัชสมัยพระเจ้้าพรหมทัต ในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง มีชายเศรษฐี

เลี้ยงวัวไว้ใช้งานสองตัวกับหมูเจ้าสำราญตัวหนึ่งชื่อ "มุณิกะ"   

ครั้งนั้น พระพุทธเจ้าของเราเกิดเป็นวัวชื่อ "มหาโลหิตะ"

พระอานนท์เกิดเป็นวัวชื่อ "จูฬโลหิตะ" 

            วัวมหาโลหิตะกับวัวจูฬโลหิตะ ต่างก็เป็นพี่น้องกัน
วัวมหาโลหิตะเป็นพี่ วัวจูฬโลหิตะเป็นน้อง
วัวทั้งสองมีเจ้าของเป็นคนเดียวกันกับหมูมุณิกะ
 
            วัวกับหมูแม้จะอยู่กับเจ้าของคนเดียวกัน
แต่ความเป็นอยู่นั้นแตกต่างกันมาก
วัวมหาโลหิตะกับวัวจูฬโลหิตะถูกใช้ให้ทำงานหนัก
กลางแดดกลางฝนเกือบทั้งวัน
เวลาถึงคราวกินก็ได้กินแต่ข้าวลีบ
 
ส่วนหมูมุณิกะไม่ต้องทำงานหนัก
นอนพลิกไปพลิกมาอยู่ตามใต้ถุนบ้าน
หรือไม่ก็ออกไปหากินนอกบ้านตามสบาย
ถึงเวลาอาหารที่บ้านก็ได้กินอาหารดีดี
 
            ในวันหนึ่ง ขณะวัวทั้งสองกำลังพักผ่อนอยู่
วัวจูฬโลหิตะผู้น้อง พูดขึ้นว่า 
            "พี่มหาโลหิตะ น่าอิจฉาเพื่อนมุณิกะนะ
ขณะที่เราทั้งสองต้องทำงานหนัก แต่เขากลับสบาย" 
            "อย่าอิจฉาเขาเลยน้องจูฬโลหิตะ
เรากับเขาเกิดต่างเผ่าพันธ์กัน
เราเกิดมาเพื่อทำงานหนัก แต่เขาเกิดมาเพื่อกินแล้วก็นอน
อย่าคิดอะไรเลย ทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุดดีกว่า"

 

            วัวทั้งสองพี่น้องมักคุยกันอย่างนี้อยู่เสมอ
ซึ่งฝ่ายที่เริ่มต้นคุยก่อนมักเป็นวัวจูฬโลหิตะ
ทั้งนี้เป็นเพราะเห็นหมูมุณิกะแล้ว
อดนำมาคิดเปรียบเทียบไม่ได้
วัวมหาโลหิตะเข้าใจความรู้สึกของวัวน้องชายได้ดี
จึงคอยปลอบอยู่ตลอดเวลา 
            เจ้าของวัวกับหมูมีฐานะความเป็นอยู่ถึงขั้นเศรษฐี
 
ส่วนภรรยาของเขาได้คอยปรนนิบัติรับใช้
ตามหน้าที่ของภรรยาที่ดี 
            สองสามีภรรยามีลูกสาวอยู่คนหนึ่ง
รูปร่างสวยงาม อายุเพิ่งรุ่นสาว
ได้รับการอบรมเลี้ยงดูมาเป็นอย่างดี
ขยันขันแข็งช่วยทำงานบ้านงานเรือนมิได้ขาด
เป็นที่รักไคร่ของพ่อแม่มาก แม้แต่คนในหมู่บ้านที่ได้รู้เห็น
ยังกล่าวสรรเสริญถึงความดีงามของลูกสาวเศรษฐีอยู่เสมอๆ
 
            อยู่มาวันหนึ่งมีเศรษฐีอีกตระกูลได้ยินข่าวร่ำลือของนาง
ต้องการอยากได้นางมาเป็นลูกสะใภ้
จึงเดินทางมาสู่ขอนางให้กับลูกชายของตน 
            "เพื่อน ตระกูลของเราก็ทัดเทียมกัน ท่านเป็นเศรษฐี
ข้าพเจ้าก็เป็นเศรษฐี ท่านมีลูกสาว ข้าพเจ้ามีลูกชาย
หากตระกูลของเราทั้งสอง ได้เกี่ยวดองกัน เราจะยิ่งใหญ่ไม่แพ้ใคร"
 
เศรษฐีจากต่างตระกูลเปิดฉากเจรจา 
            "เราสองคนเป็นผู้ใหญ่อาจจะมองว่าดีแต่ในแงของเรา
แต่ไม่รู้ว่าเด็กๆ เขาจะคิดกันยังไง"
เศรษฐีลูกสาวสวยแบ่งรับแบ่งสู้ 
"ลูกสาวท่านคิดยังไงไม่รู้
แต่ลูกชายข้าพเจ้าแอบรักลูกสาวท่านมานานแล้ว
ที่มาวันนี้ก็จะมาขอลูกสาวท่านให้ลูกชายข้าพเจ้า"  
 
            "ข้าพเจ้าคิดว่าให้เด็กได้รู้จักกันมากกว่านี้ ไม่ดีหรือ" 
            "โฮ่ย... เขารู้จักกันมามากพอแล้ว เห็นกันมาตั้งแต่เล็ก
เราเองก็ไปมาหาสู่กันอยู่เสมอ
ไม่ใช่คนแปลกหน้าที่ไหน ถึงจะมาดูใจกันอีก"

 

            เศรษฐีลูกสาวสวย เมื่อเห็นเศรษฐีจากต่างตระกูลรุกหนัก
และไม่ทราบว่าจะตัดสินใจอย่างไร
จึงบอกให้คนรับใช้เรียกลูกสาวมาหา 
            "ลูกพ่อ ลุงเศรษฐีมาขอลูกให้แต่งงานกับลูกชายเขา
ลูกจะว่ายังไง"
เศรษฐีบอกลูกสาวพลางมองดูหน้าหล่อน 
 
            "คุณพ่อ" ลูกสาวเศรษฐีพูดกับบิดา
"หนูเป็นสมบัติของคุณพ่อ
แล้วแต่คุณพ่อจะตัดสินใจ หนูทำตามคุณพ่อได้ทุกอย่าง" 
 
            เศรษฐีลูกสาวสวยยิ้มที่มุมปาก
หลังจากได้ยินลูกสาวให้โอกาสตนเช่นนั้น
เขามองหน้าลูกสาวแล้วหันมาทางเศรษฐีจากต่างตระกูล
พร้อมกับพูดว่า 
            "ท่านเศรษฐี เมื่อลูกสาวให้ข้าพเจ้าตัดสินใจ
ข้าพเจ้าก็ยินดียกเธอให้แก่ลูกชายท่านตามที่ท่านขอ" 
            เศรษฐีจากต่างตระกูลดีใจมาก
ที่ขอลูกสาวเศรษฐีให้ลูกชายได้สำเร็จ
เขาจับมือเศรษฐีนั้นไว้แน่นพลางกล่าวขอบคุณ
และให็สัญญาว่าจะไม่ทำให้ผิดหวัง 
 
            จากนั้น เศรษฐีทั้งสองก็ตกลงหมั้นหมายกัน
และกำหนดวันแต่งงานไว้เสร็จสรรพ
ครั้นแล้วเศรษฐีจากต่างตระกูลก็ลากลับไป

 

            ฝ่ายเศรษฐีลูกสาวสวย ครั้นเศรษฐีจากต่างตระกูลกลับแล้ว
ก็เรียกภรรยามาปรึกษาหารือกัน
ถึงเรื่องการจัดงานแต่งงานให้สมกับฐานะของตน
"วันแต่งงานของลูกสาวเรา
ซึ่งจะมีขึ้นในอีกสองเดือนข้างหน้าจะมีคนมาเยอะ
ควรที่ต้องจัดหาอาหารอย่างดีมาเลี้ยงรับรองแขกเหรื่อที่มางาน" 
            เศรษฐีผู้สามีกล่าวกับภรรยา
"ดังนั้นพี่ขอมอบงานด้านการจัดทำอาหารให้น้องดูแล" 
            "แล้วเราจะทำอาหารอะไรเลี้ยงเขาดีล่ะ" 
 
            "น้องว่าทำแกงมัสมั่นหมูเลี้ยงคงจะดี" ภรรยาเสนอแนะ 
            "พี่ว่าเข้าท่าดีเหมือนกัน" เศรษฐีเห็นด้วย 
           
เมื่อตกลงกันเช่นนั้นแล้ว
สองสามีภรรยาก็ช่วยกันเลี้ยงหมูให้ดีขึ้นกว่าแต่ก่อน
โดยให้กินอาหารชนิดซึ่งเมื่อกินแล้วจะทำให้ได้เนื้อขึ้น
หมูมุณิกะเองก็นึกกระหยิ่มอยู่ในใจที่ได้กินอาหารชนิดดี
โดยที่ตัวเองหารู้ไม่ว่าจะถูกฆ่าเอาเนื้ออยู่อีกไม่นานแล้ว

 

            "พี่มหาโลหิตะ เวลานี้สังเกตเห็นหมูมุณิกะไหม
เดี๋ยวนี้ อ้วนพีขึ้นเรื่อยๆ
แต่ละมื๊อเห็นกินอาหารดีๆ" วัวจูฬโลหิตะฟ้องมหาโลกหิตะ 
            "จูฬโลหิตะน้องรัก..." วัวมหาโลหิตะปลอบวัวจูฬโลหิตะ "
น้องอย่าริษยาหมูมุณิกะเลย
เพราะขณะนี้เขากำลังกินอาหารที่เป็นเหตุให้ตัวเองต้องตาย
พี่อยากให้น้องพอใจในสิ่งที่เป็นอยู่ในเวลานี้เถิด
เราได้กินข้าวลีบกันเป็นประจำมันก็ดีแล้ว
เพราะมันจะทำให้น้องอายุยืน" 
            วัวจูฬโลหิตะไม่เข้าใจความหมายที่วัวมหาโลหิตะบอกนัก
แต่ก็ไม่ได้เซ้าซี้ถาม เพราะเคารพในพี่ชายนั่นเอง
 
แต่หลังจากนั้นมาใกล้ถึงวันงาน
วัวจูฬโลหิตะก็เข้าใจ
เพราะได้เห็นคนฆ่าหมูมาจับหมูมุณิกะไปฆ่า
แล้วชำแหละเอาเนื้อไปปรุงอาหารเลี้ยงแขก
ที่มางานวันแต่งงานของลูกสาวเศรษฐี 
            "พี่มหาโลหิตะ น่าสงสารหมูมุณิกะจังเลยนะ
อยู่ดีดี ก็ถูกเขาจับฆ่ากิน"
วัวจูฬโลหิตะปรารถกับวัวมหาโลหิตะ 
            "น้องรัก..." วัวมหาโลหิตะเอ่ยขึ้น
"น้องเข้าใจตามที่พี่บอกแล้วใช่ไหม
เศรษฐีเลี้ยงหมูมุณิกะจนอ้วนก็เพราะต้องการเนื้อ
ดังนั้นอาหารที่หมูมุณิกะกินเข้าไป
เท่ากับไปช่วยเร่งให้ตัวเองอายุสั้น"
            "เข้าใจแล้วพี่มหาโลหิตะ"
วัวจูฬโลหิตะรับคำก่อนที่จะก้มหน้ากินข้าวลีบ
หญ้าแห้ง และฟางแห้งอย่างที่เคยกินมาต่อไป

 

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า                      
 
1. อย่าหลงระเริงอยู่กับความสุขสบายที่ได้รับจนเกินไป
 
เพราะความสุขสบายนั้น อาจนำภัยพิบัติมาให้ได้
 
2. อย่ามองอะไรอย่างผิวเผิน เข้าใจไปเอง ควรมองด้วยเหตุผล
 
บางอย่างต้องใช้เวลา จึงจะทราบความจริง 
 
3.  กินเพื่ออยู่ ไม่ได้อยู่เพื่อกิน 
 
ผู้แสดงความคิดเห็น โฆษิต ควรหาเวช (kosit-dot-koanhavej-at-nectec-dot-or-dot-th) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-10-21 17:12:28


ความคิดเห็นที่ 52 (1579531)

สาธุ

อนุโมทนากับคุณโฆษิตด้วยคะ

อ่านนิทานแล้วได้ทั้งความสุข

ได้ปัญญา และคลายเครียดได้จริงคะ

 

และอนุโมทนากับน้องหญิง และพี่ชนิดา

ที่ขยันมาเติมความรู้ทุก ๆ วันด้วยนะคะ สาธุ

ผู้แสดงความคิดเห็น พัทธ์ธีรา วังกาวันมณเฑียร (vann_ult-at-hotmail-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-10-21 21:18:11


ความคิดเห็นที่ 53 (1579580)


ได้ทั้งธรรมะ และเนื้อหาสาระเหมือนอ่านนิทานเลยค่ะ

แต่มาจากเรื่องจริง รูปการ์ตูนหมูน่ารักมากๆค่ะ ฮิฮิ

************

ก่อนที่พระพุทธองค์จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า

พระองค์ก็ทรงได้เกิดมาแล้วไม่รู้กี่ชาตินะคะ

แม้นได้เกิดเป็นสัตว์ก็เป็นสัตว์ที่มี จิตใจสูงส่ง

ไม่เหมือนสัตว์ธรรมดาทั่วไป

 อนุโมทนาสาธุกับคุณโฆษิตด้วยค่ะ

 

 

 

ผู้แสดงความคิดเห็น หญิง < นันทนา แหกาวี > ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-10-22 04:55:41


ความคิดเห็นที่ 54 (1579639)

 

 

เรื่องที่สองที่จะเล่าให้ฟังในวันนี้

แต่น แต๊น

ปลาขอฝน

 

 

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว

ที่ห้วยแห่งหนึ่ง มีเถาวัลย์รกรุงรัง

พระโพธิสัตว์เกิดเป็นปลาช่อนตัวหนึ่ง

อาศัยอยู่ในห้วยนั้น

สมัยนั้น เกิดภัยแล้งฝนไม่ตกเช่นเดียวกัน

ฝูงปลาต่างดิ้นรนเอาชีวิตรอด

ด้วยเปลือกตม

ฝูงนกการุมจิกกินหมู่ปลา

ปลาช่อนนั้นเห็นความพินาศของหมู่ญาติ

จึงทำสัจกิริยาให้ฝนตก

ด้วยการแหวกออกจากเปลือกตม

มองดูอากาศแล้ว

บันลือเสียงแก่เทวราชปัชชุนนะว่า

" หมู่ปลาเดือดร้อนมาก

ข้าพเจ้ารักษาศีล

ไม่เคยกินปลาด้วยกันตลอดชีวิต

ด้วยความสัตย์นี้

ขอท่านจงให้ฝนตกลงมาเถิด "

แล้วกล่าวคาถาว่า

" ปัชชุนนเทพ

ท่านจงคำรณคำรามให้ฝนตกมา

ทำลายขุมทรัพย์ของฝูงกา

ทำฝูงกาให้ได้รับความเศร้าโศก

และช่วยปลดเปลื้องข้าพเจ้าและหมู่ญาติ

ให้พ้นจากความเศร้าโศกเถิด "

ฝนห่าใหญ่จึงตกลงมา

ช่วยชีวิตสัตว์ให้รอดพ้นจากความตายได้

 

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
 
คุณของศีลสามารถ
ช่วยเหลือชีวิตของผู้อื่น
ให้รอดพ้นจากความตายได้  

 

ผู้แสดงความคิดเห็น โฆษิต ควรหาเวช (kosit-dot-koanhavej-at-nectec-dot-or-dot-th) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-10-22 17:58:39


ความคิดเห็นที่ 55 (1579710)

" หมู่ปลาเดือดร้อนมาก

ข้าพเจ้ารักษาศีลไม่เคยกินปลาด้วยกันตลอดชีวิต

ด้วยความสัตย์นี้ขอท่านจงให้ฝนตกลงมาเถิด "

***********************

แม้นพระพุทธองค์ทรงเกิดเป็นปลา

พระองค์ก็ยังไม่กินปลาด้วยกัน

แล้วเหตุไฉนเล่า เราจึงจะมากินเพื่อนร่วมโลกของเรา

การทำความดีไม่ได้ส่งผลถึงแค่ตัวเรา

แต่ความดีที่เราทำนั้น

สามารถส่งผลถึงคนรอบข้าง และผู้คนรอบโลกด้วย

เพื่อช่วยให้พ้นทุกข์ ภัยต่างๆ

ดังนั้นเราหันมาทำความดี รักษาศีล ให้เคร่งครัดกันเถอะค่ะ

ดังเช่นที่อาจารย์แม่ได้สอนพวกเรามา

เพื่อช่วยเพื่อนมนุษย์ และสัตว์ สิ่งมีชีวิต

ในโลกใบนี้ ให้พ้นภัยพิบัติที่ใกล้เข้ามาทุกที

อนุโมทนากับนิทานสอนใจของคุณโฆษิตด้วยนะคะ

สาธุ สาธุ

ผู้แสดงความคิดเห็น หญิง < นันทนา แหกาวี > ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-10-23 02:50:45


ความคิดเห็นที่ 56 (1579834)

ภาษิตคติธรรม

" ตาก็แตก ผ้าก็หาย

ทั้งยังทะเลาะกัน

ในเรือนของเพื่อนบ้าน"

สองผัวเมียชาวประมง

ผัวตกเบ็ดติดตอ นึกว่าได้ปลาใหญ่

เกรงว่าเพื่อนบ้านจะขอ

จึงสั่งให้ลูกไปบอกกับเมีย

ให้ไปเที่ยวทะเลาะกับเพื่อนบ้าน

ตัวเองดึงสายเบ็ด แต่ดึงไม่ขึ้น

จึงเปลื้องผ้าทิ้งไว้บนฝั่ง

ลงไปงมถูกตอตำ ตาแตก

ครั้นขึ้นมา ก็ไม่มีผ้าจะนุ่ง

เพราะมีใครขโมยไปแล้ว

ทางบ้านก็แตกกับเพื่อนบ้านหมด

เพราะเมียไปทะเลาะตามคำสั่ง

เรียบร้อยแล้ว

(อุภโตภัฏฐชาดก)

ไม่รู้จะบรรยายยังไง

กับ

ความโลภ

ของสองผัวเมียคู่นี้

เพราะคงทำบุญเสมอกันมา

ทำบุญร่วมกันมา

จึงได้มาเป็นคู่กัน

แต่ยังมีความดีอย่างหนึ่งที่ซ่อนไว้

นั่นคือ

ชาวประมงคนนี้โชคดี

เพราะได้ภรรยาที่อยู่ในโอวาท

ไม่ขัดแย้งกัน

และไม่ทำเกินเลยหน้าที่

สวัสดี มีความสุขทุกคนครับ

 

ผู้แสดงความคิดเห็น โฆษิต ควรหาเวช (kosit-dot-koanhavej-at-nectec-dot-or-dot-th) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-10-23 21:35:11


ความคิดเห็นที่ 57 (1581143)

 

เรื่องที่สามที่จะเล่าให้ฟังในวันนี้
แต่น แต่น แต๊น
เต่าตายเพราะรักหนองน้ำ
 
 
อรรถกถา กัจฉปชาดกว่าด้วย เรื่อง เต่า        
   
          พระศาสดาเมื่อประทับอยู่พระเชตวันมหาวิหาร
ทรงปรารภผู้รอดจากอหิวาตกโรคคนหนึ่ง
ตรัสพระธรรมเทศนานี้มีคำเริ่มต้นว่า
 
ชนิตํเมภวิตํเมดังนี้.
มีเรื่องเล่าว่าที่กรุงสาวัตถีได้เกิดอหิวาตกโรคขึ้น
ในตระกูลหนึ่งมารดาบิดาจึงบอกแก่บุตรว่า
 
ลูกเจ้าอย่าอยู่ในเรือนนี้เลยจงพังฝาหนีไปเสียในที่ใดที่หนึ่ง
รักษาชีวิตไว้ภายหลังจึงค่อยกลับมาขุดทรัพย์
ซึ่งฝังไว้มีอยู่ในที่นี้แล้วเก็บทรัพย์ไว้เลี้ยงชีพให้เป็นสุขเถิด
 
บุตรรับคำของมารดาบิดาแล้วพังฝาหนีไป
เมื่อโรคของตนหายดีแล้วจึงกลับมาขุดเอาทรัพย์ที่ฝังไว้
อยู่ครองเรือนอย่างเป็นสุข
 
ทรงนำเรื่องในอดีตมาตรัสเล่า
ในอดีตกาลครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติ
อยู่ในกรุงพาราณสีพระโพธิสัตว์อุบัติในตระกูลช่างหม้อ
ใกล้หมู่บ้านแห่งหนึ่งทำการปั้นหม้อเลี้ยงบุตรภรรยา
 
ในครั้งนั้นใกล้กรุงพาราณสีได้มีสระใหญ่ต่อเนื่อง
กับแม่น้ำใหญ่สระนั้นมีน้ำไหลถึงแม่น้ำในคราวน้ำมาก
เมื่อน้ำน้อยก็แยกกัน
ปลาและเต่าย่อมรู้ว่าปีนี้ฝนดีปีนี้ฝนแล้ง
 
ครั้นต่อมาปลาและเต่าที่เกิดในสระนั้นรู้ว่า
ในปีนี้ฝนจะแล้ง
ครั้นถึงเวลาน้ำไหลต่อเนื่องกันเป็นอันเดียว
จึงพากันออกจากสระไปสู่แม่น้ำ
แต่เต่าตัวหนึ่งไม่ยอมไปด้วยคิดเสียว่า
นี้เป็นที่เกิดของเราเป็นที่เติบโตของเรา
เป็นที่ที่พ่อแม่ของเราเคยอยู่
เราไม่อาจจะละที่นี้ไปได้
ครั้นถึงคราวหน้าแล้งน้ำแห้งผาก
เต่านั้นขุดคุ้ยดินเข้าไปอยู่ในที่ดินของพระโพธิสัตว์.
 
พระโพธิสัตว์ได้ไปที่นั้นด้วยประสงค์ว่า
จักเอาดินจึงเอาจอบใหญ่ขุดดินสับถูกเต่าแล้ว
เอาจอบงัดมันขึ้นคล้ายก้อนดินทิ้งกลิ้งอยู่บนบก
ต่านั้นได้รับเวทนาจึงพูดคร่ำครวญว่า
เราไม่อาจละที่อยู่ได้จึงถึงความพินาศอย่างนี้แล้ว
ได้กล่าวคาถาเหล่านี้ว่า :-
 
เราเกิดที่นี่เติบโตที่นี่เพราะเหตุนี้
เราจึงได้อาศัยอยู่ที่เปือกตม
เปือกตมกลับทับถมเราให้ทุรพล
 
ดูก่อนท่านภัคควะ
ขอท่านจงฟังคำของข้าพเจ้าเถิด

        บุคคลได้รับความสุขในที่ใด
จะเป็นในบ้านหรือในป่าก็ตาม
ที่นั้นเป็นที่เกิดเป็นที่เติบโตของบุรุษผู้รู้จักเหตุผล
บุคคลพึงเป็นอยู่ได้ในที่ใดก็พึงไปในที่นั้น
ไม่พึงให้ที่อยู่ฆ่าตนเสีย
 
        เต่าเมื่อพูดกับพระโพธิสัตว์อย่างนี้ก็ตาย
พระโพธิสัตว์จับเอาเต่าไปแล้ว
ให้ชาวบ้านทั้งหมดมาประชุมกัน
เมื่อจะสอนมนุษย์ทั้งหลายจึงกล่าวอย่างนี้ว่า
 
พวกท่านจงดูเต่านี้
ในขณะที่ปลาและเต่าอื่นๆไปสู่แม่น้ำใหญ่
เต่านี้ไม่อาจตัดความอาลัยในที่อยู่ของตน
ได้ไม่ไปกับสัตว์เหล่านั้น
เขาไปนอนยังที่ขนดินของเรา
ครั้นเราขนดินได้เอาจอบใหญ่สับหลังมัน
เหวี่ยงมันลงบนบกเหมือนก้อนดิน
เต่านี้จึงเปิดเผยกรรมที่ตนกระทำคร่ำครวญ
ด้วยคาถาสองคาถาแล้วก็ตาย
มันทำความอาลัยในที่อยู่ของตนถึงแก่ความตาย
 
แม้พวกท่านก็อย่าได้เป็นเช่นเต่าตัวนี้
ตั้งแต่นี้ไปพวกท่านจงอย่ายึดด้วยอำนาจตัณหา
ด้วยอำนาจเครื่องอุปโภคและบริโภคว่า
รูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะของเรา
บุตรของเราธิดาของเราทาสีและทาสเงินทองของเราแท้
สัตว์ผู้เดียวนี้เท่านั้นวนเวียนไปในภพสาม

      
พระโพธิสัตว์ได้ให้โอวาทแก่มหาชน
ด้วยพุทธสีลาด้วยประการฉะนี้
โอวาทนั้นแผ่ไปทั่วชมพูทวีป
ดำรงอยู่ตลอดเวลาประมาณเจ็ดพันปี
มหาชนตั้งอยู่ในโอวาทของพระโพธิสัตว์ทำบุญมีทาน
ทำทางสวรรค์ให้บริบูรณ์ในคราวสิ้นอายุ

      
พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้วทรงประกาศ
อริยสัจทรงประชุมชาดก
เมื่อจบอริยสัจกุลบุตรนั้นตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล

       เต่าในครั้งนั้นได้เป็นอานนท์ในครั้งนี้
      
ส่วนช่างหม้อคือเราตถาคตนี้แล.

 
อรรถกถากัจฉปชาดกจบ

ผู้แสดงความคิดเห็น โฆษิต ควรหาเวช (kosit-dot-koanhavej-at-nectec-dot-or-dot-th) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-10-30 10:41:43


ความคิดเห็นที่ 58 (1581160)

ขออนุโมทนาด้วยคนคนนะคะ

อ่านแล้วดีมาก ๆ เลยค่ะ ขอนุญาตคัดลองนิทานเก็บไว้สอนเด็ก ๆ นะคะ

ขอบคุณค่ะ

ผู้แสดงความคิดเห็น มยุรฉัตร สุดจิตต์ (mayurachut-dot-ch-at-rd-dot-go-dot-th) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-10-30 14:10:00


ความคิดเห็นที่ 59 (1581708)
เรื่องที่สี่ที่จะเล่าให้ฟังในวันนี้
แต่น แต่น แต๊น
 
คนชั่วสรรเสริญกันเอง
 
 
 
 

ในสมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้า

ประทับอยู่วัดเชตวันเมืองสาวัตถี

ทรงปรารภพระเทวทัต

กับพระโกกาลิกะต่างสรรเสริญกันเอง

ได้ตรัสอดีตนิทานมาสาธก ว่า…

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว

พระโพธิสัตว์เกิดเป็นรุกขเทวดา

ประจำอยู่ที่ต้นละหุ่ง

ในบริเวณบ้านหลังหนึ่ง

วันหนึ่งมีโคแก่ตัวหนึ่งในบ้านนั้นได้ตายลง

เจ้าของบ้านได้ลากซากศพมันไปทิ้ง

เป็นอาหารสัตว์ไว้ที่ข้างต้นละหุ่งนั้น

ต่อมาไม่นานมีสุนัขจิ้งจอกตัวหนึ่ง

มาแทะกินเนื้อโคนั้นอยู่

และมีกาตัวหนึ่งบินมาจับที่ต้นละหุ่งนั้น

ด้วยหวังจะกินเนื้อโคนั้นเช่นกัน

จึงพูดยกย่องสุนัขจิ้งจอกขึ้นว่า

” ท่านพญาเนื้อ ผู้มีร่างกายเหมือนโคถึก

มีความองอาจดังราชสีห์

ข้าพเจ้าขอนอบน้อมแก่ท่าน

ทำอย่างไร ข้าพเจ้าจักได้อาหารสักหน่อยหนึ่ง ”

สุนัขจิ้งจอกได้ฟังคำยกย่องนั้นแล้วชื่นใจพูดตอบว่า

” กุลบุตรย่อมสรรเสริญกุลบุตรด้วยกัน

ท่านกาผู้มีสร้อยคองามเด่นเช่นนกยูง

เชิญท่านลงมาจากต้นละหุ่ง

มากินเนื้อให้สบายใจเถิด”

รุกขเทวดาเห็นกากับสุนัขจิ้งจอก

กล่าวยกย่องกันตามที่ไม่เป็นจริง จึงกล่าวคาถาว่า


” บรรดามฤคชาติทั้งหลาย

สุนัขจิ้งจอกเป็นสัตว์เลวที่สุด
บรรดาปักษีทั้งหลาย กาเป็นสัตว์ที่เลวที่สุด

และบรรดารุกขชาติทั้งหลาย

ต้นละหุ่งเป็นต้นไม้ที่เลวที่สุด
ที่สุด ๓ อย่าง มาประจวบกันเข้าแล้ว ”

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า


คนเลวยกย่องกันเอง

ชื่อเสียงมักไม่ปรากฏ

คนดียกย่องคนดีเหมือนกัน

ชื่อเสียงย่อมปรากฏ

ผู้แสดงความคิดเห็น โฆษิต ควรหาเวช (kosit-dot-koanhavej-at-nectec-dot-or-dot-th) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-11-02 13:59:56


ความคิดเห็นที่ 60 (1583375)

ข้อคิดเรื่องความขัดแย้ง

จากพระไตรปิฎก

เรื่องของชาวกบิลพัสด์กับชาวโกลิยะ

เรื่องมีอยู่ว่า
เมืองทั้งสองได้ใช้น้ำในแม่น้ำโรหิณีร่วมกัน
และมักจะมีการประชุมร่วมกัน
 
วันหนึ่งชาวโกลิยะคิดว่า
หากแบ่งน้ำให้ทั้งสองฝ่าย
น้ำก็คงจะไม่พอทำนาสำหรับทั้งสองเมืองแน่ๆ
จึงขอใช้น้ำทั้งหมดเอง
 
ส่วนชาวเมืองกบิลพัสด์ ก็กล่าวแบบเดียวกัน
และจะขอใช้น้ำทั้งหมดเช่นกัน
 
ในเมื่อเกิดความคิดเห็นที่ตรงข้ามกันสุดขั้ว
ย่อมจะไม่สามารถตกลงกันได้
ทำให้ทะเลาะกันและชกต่อยกัน
มีการถากถางถึงชาติตระกูลและพฤติกรรมต่างๆ
 
จากการทะเลาะกันในระดับชาวบ้าน
ก็เริ่มลามไปถึงอำมาตย์ และถึงพระราชา
จนทำให้ทั้งฝ่ายคิดจะทำสงครามประหัตประหารกัน
 
ในตอนนั้นเองพระพุทธเจ้าได้เสด็จมาโปรด
แล้วทรงถามเหล่าราชตระกูลทั้งหลายว่า
จะทำสงครามกันด้วยเหตุใด
 
เหล่าราชตระกูลต่างๆตอบว่าไม่ทราบ
(รู้แต่ว่าไม่พอใจกัน)
 
จึงถามอำมาตย์ อำมาตย์ก็ไม่ทราบ
แล้วถามกันไปเรื่อยๆ
จนถึงพวกทาสและกรรมกร
 
จึงทราบว่าทะเลาะกันเพราะแย่งน้ำ
 
พระพุทธเจ้าจึงถามว่า "น้ำตีราคาเท่าไหร่"
 
พระราชาตอบว่ามีค่าน้อยมาก
 
พระพุทธเจ้าจึงตรัสถามว่า
 
การที่พวกท่านจะถึงความฉิบหายของชีวิตกัน
ก็เพราะน้ำที่มีค่าน้อย
เป็นเรื่องเหมาะสมแล้วหรือ
 
พระราชาเหล่านั้นได้ฟังก็คิดได้
และได้หยุดทำสงครามที่ไร้ประโยชน์นี้ลง
  
เรื่องนี้สะท้อนถึงปัญหาของการทะเลาะเบาะแว้งกัน
โดยที่ไม่ได้คำนึงผลประโยชนของส่วนรวม
 
เช่น ปัญหาการรื้อคันกั้นน้ำท่วม
บริเวณจุดที่หวงห้าม
ในกรุงเทพฯและจังหวัดปทุมธานีในขณะนี้
 
โดยเฉพาะ การรื้อคันกั้นน้ำ
ในส่วนที่กั้นน้ำไม่ให้ไหลลงคลองประปา
 
ซึ่งจะทำให้ในที่สุด
ประชาชนโดยส่วนรวม
รวมทั้งผู้ที่รื้อคันกั้นน้ำเอง
 
ต่างได้รับผลกระทบในทางลบ
ด้วยกันทั้งสิ้น
 
 
ที่มา : www.nutpobtum.com/index.php
ผู้แสดงความคิดเห็น โฆษิต ควรหาเวช (kosit-dot-koanhavej-at-nectec-dot-or-dot-th) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-11-13 20:56:30


ความคิดเห็นที่ 61 (1584187)

ว่าด้วยภัยและความขลาดกลัว

[๗๔๐] ....ความว่า ภัยก็ดี ความขลาดกลัวก็ดี

โดยอาการก็อย่างเดียวกัน

สมจริง ตามที่พระผู้มีพระภาคเจ้า

ทรงตรัสว่า

ภัย ความขลาดกลัวนี้นั้น ย่อมมีมาแน่.

ภัยนั้นท่านกล่าวว่ามีวัตถุภายนอกเป็นอารมณ์

คือ ราชสีห์ เสือโคร่ง เสือเหลือง หมี เสือดาว

หมาป่า โค กระบือ ช้าง งู แมลงป่อง ตะขาบ

โจร คนที่ทำกรรมชั่ว คนที่เตรียมจะทำกรรมชั่ว.

อนึ่ง โดยอาการอื่น ความกลัว กิริยาที่กลัว

ความหวาดหวั่น ความเป็นผู้มีขนลุก

อันเกิดแก่จิตในภายใน ความหวาดเสียว

ความสะดุ้งแห่งจิต ภัยแต่ชาติ ภัยแต่ชรา

ภัยแต่พยาธิ ภัยแต่มรณะ ภัยแต่พระราชา

ภัยแต่โจร ภัยแต่ไฟ ภัยแต่น้ำ

ภัยแต่ความติเตียนตน

ภัยแต่ความติเตียนแห่งผู้อื่น

ภัยแต่อาชญา ภัยแต่ทุคติ ภัยแต่เคลื่อน

ภัยแต่จระเข้ ภัยแต่วังวน ภัยแต่ปลาร้าย

ภัยแต่การเลี้ยงชีพ ภัยแต่ความติเตียน

ภัยแต่ความครั่นคร้ามในประชุมชน

ความขลาด ความหวาดหวั่น

ความเป็นผู้มีขนลุก ความหวาดเสียว

ความสะดุ้งแห่งจิต

เรียกว่า "ภัย"


พระไตรปิฎก ฉบับบาลีสยามรัฐ

(ภาษาไทย) เล่มที่ ๒๙
พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๒๑

ขุททกนิกาย มหานิทเทส
หน้าที่ ๓๕๑/๔๙๔

หัวข้อที่ ๗๓๘ - ๗๔๐

ที่มา : board.palungjit.com

ผู้แสดงความคิดเห็น โฆษิต ควรหาเวช (kosit-dot-koanhavej-at-nectec-dot-or-dot-th) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-11-18 14:35:52


ความคิดเห็นที่ 62 (1584191)

ผู้ก้าวล่วงภัย ๕ ประการ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย

ก็กำลัง คือ การสงเคราะห์เป็นไฉน

สังคหวัตถุ ๔ ประการนี้ คือ

ทาน ๑ เปยยวัชชะ ๑

อัตถจริยา ๑ สมานัตตตา ๑

ดูกรภิกษุทั้งหลาย

ธรรมทานเลิศกว่าทาน ทั้งหลาย

การแสดงธรรมบ่อยๆ แก่บุคคลผู้ต้องการ

ผู้เงี่ยโสตลงสดับนี้

เลิศกว่า

การพูดถ้อยคำอันเป็นที่รัก

การชักชวนคนผู้ไม่มีศรัทธา

ให้ตั้งมั่นดำรงอยู่ในศรัทธาสัมปทา

ชักชวนผู้ทุศีลให้ตั้งมั่นดำรงอยู่ในศีลสัมปทา

ชักชวนผู้ตระหนี่

ให้ตั้งมั่นดำรงอยู่ในจาคสัมปทา

ชักชวนผู้มีปัญญาทรามให้ตั้งมั่น

ดำรงอยู่ในปัญญาสัมปทานี้

เลิศกว่าการประพฤติประโยชน์ทั้งหลาย

พระโสดาบันมีตนเสมอกับพระโสดาบัน

พระสกทาคามีมีตนเสมอกับพระสกทาคามี

พระอนาคามีมีตนเสมอกับพระอนาคามี

พระอรหันต์มีตนเสมอกับพระอรหันต์

นี้เลิศกว่าความมีตนเสมอทั้งหลาย นี้

เรียกว่ากำลัง คือ การสงเคราะห์

ดูกรภิกษุทั้งหลาย กำลัง ๔ ประการนี้แล ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวก

ผู้ประกอบด้วยกำลัง ๔ ประการนี้แล

ย่อมก้าวล่วงภัย ๕ ประการ

ภัย ๕ ประการเป็นไฉน คือ

อาชีวิตภัย ๑ อสิโลกภัย ๑ปริสสารัชภัย ๑

มรณภัย ๑ ทุคติภัย ๑

ดูกรภิกษุทั้งหลาย

อริยสาวกนั้นแลพิจารณาเห็นดังนี้ว่า

เราไม่กลัวต่อภัยอันเนื่องด้วยชีวิต

ไฉนเราจักกลัวต่อภัยอันเนื่องด้วยชีวิตเล่า

เรามีกำลัง ๔ ประการ คือ

กำลังปัญญา กำลังความเพียร

กำลังการงานอันไม่มีโทษ

กำลังการสงเคราะห์

คนที่มีปัญญาทรามแล

จึงกลัวต่อภัยอันเนื่องด้วยชีวิต

คนเกียจคร้าน

จึงกลัวต่อภัยอันเนื่องด้วยชีวิต

คือ กลัวต่อภัยอันเนื่องด้วยชีวิตเพราะ

การงานทางกาย

ทางวาจาและทางใจที่มีโทษ

คนที่ไม่สงเคราะห์ใคร

ก็กลัวต่อภัยอันเนื่องด้วยชีวิต

เราไม่กลัวต่อภัย

คือ การติเตียน ฯลฯ

เราไม่กลัวต่อภัย

คือการสะทกสะท้านในบริษัท ...

เราไม่กลัวต่อภัยคือความตาย ...

เราไม่กลัวต่อภัยคือทุคติ

ไฉนเราจักกลัวต่อภัย คือ ทุคติเล่า

เพราะเรามีกำลัง ๔ ประการ คือ

กำลังปัญญา กำลังความเพียร

กำลังการงานอันไม่มีโทษ กำลังการสงเคราะห์

คนที่มีปัญญาทรามแล จึงกลัวต่อภัยคือทุคติ

คนเกียจคร้านแล จึงกลัวต่อภัยคือทุคติ

คือ กลัวต่อภัยคือทุคติเพราะการงานทางกาย

ทางวาจา และทางใจที่มีโทษ

คนที่ไม่สงเคราะห์ใคร ก็กลัวภัยคือทุคติ

image

ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ประกอบ
ด้วยกำลัง ๔ ประการนี้แล

ย่อมก้าวล่วงภัย ๕ ประการนี้ ฯ

จบสูตรที่ ๕

พระไตรปิฎก ฉบับบาลีสยามรัฐ

(ภาษาไทย) เล่มที่ ๒๓
พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๕ อังคุตตรนิกาย

สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต
หน้าที่ ๒๙๓/๓๗๙ หัวข้อที่ ๒๐๙


ที่มา : board.palungjit.com

ผู้แสดงความคิดเห็น โฆษิต ควรหาเวช (kosit-dot-koanhavej-at-nectec-dot-or-dot-th) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-11-18 14:52:46


ความคิดเห็นที่ 63 (1584856)

 

คำคมในพระไตรปิฎก

ไม่เข้าใกล้ แม้ด้วยใจ

  

ในพระไตรปิฎก และอรรถกถานั้น 

พูดถึงเรื่องการคบคนพาลว่า

ไม่คบด้วยการเข้าใกล้

แม้ด้วยใจ

เราสังเกตดูได้ว่า ขณะที่คิดถึงคนพาลนั้น

ส่วนใหญ่เป็นอกุศลทั้งสิ้น

ทุกคนคิดทุกวัน คิดเกือบตลอดเวลา 

จนบอกไม่ได้ว่าคิดเรื่องอะไรบ้าง  

 

 

ดังนั้น เราจึงต้องหมั่นระวังความคิด

ด้วยการไม่เข้าใกล้สิ่งที่ไม่ดี

สำรวมทั้งกาย วาจา แม้กระทั่งทางใจ

เพื่อให้แต่ละวันเรามีความคิด

ที่เป็นในทางที่เป็นกุศลมากกว่าอกุศล

เพื่อให้แต่ละวัน

เราคิดดี ทำดี และพูดดี

เริ่มต้นที่การระวังความคิด

เราต้องไม่คิดในทางที่ทำให้เป็นคนพาล

ที่มา:www.dhammahome.com/front/webboard/show.php

 

ผู้แสดงความคิดเห็น โฆษิต ควรหาเวช (kosit-dot-koanhavej-at-nectec-dot-or-dot-th) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-11-22 13:17:48


ความคิดเห็นที่ 64 (1584906)

ไม่เข้าใกล้ แม้ด้วยใจ

อนุโมทนาบุญสำหรับธรรมทาน

ที่เข้าใจได้ง่ายมาก ๆ ของคุณโฆษิตด้วยค่ะ

สาธุ ....

กรรมทางความคิดนี่น่ากลัวที่สุดเลยค่ะ

คุณโฆษิต

เพราะว่าเผลอแค่นิดเดียวก็เกิดกรรมแล้วค่ะ

หากแต่ชีวิตจริงนี่สิค่ะ

มันเลี่ยงยากจังเลยค่ะสำหรับการพยายามไม่พาจิต

ของตัวเองไปเข้าใกล้เรื่องที่ไม่ดี

เพราะผัสสะที่กระทบอยู่เนือง ๆ นี่มันเยอะมากต่อวัน

นี่ขนาดน้องทรายพยายามมาก ๆ ที่จะไม่พูดคุยกับ

ผู้อื่นให้มากเพราะกลัวว่าคำพูดจะไปทำร้ายคนอื่นเข้า

และแถมแต่ละคนก็มีเรื่องมาเล่าสู่กันฟัง

มากมายเหลือเกินค่ะ

ก็เลยพยายามเลี่ยงด้วยการไม่ฟัง

ไม่อยากรู้

ไม่อยากถาม

ก็จะได้ไม่ต้องคิดตามคนอื่น

ซึ่งทำให้เกิดกรรมทางความคิดโดยไม่รู้ตัว

เพียงแต่ตอนนี้รู้เท่าทันอารมณ์ของตัวเองมากขึ้นกว่าเดิมมานิดนึง

ก็เลยติดเบรกตัวเองแบบสุด ๆ แล้วคร้าบบบ

 

ผู้แสดงความคิดเห็น น้องทราย (นางสาวลักขณา ศรประสิทธิ์) (lukkana_1234-at-windowslive-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-11-22 20:00:39


ความคิดเห็นที่ 65 (1586045)

พระอภิธรรมปิฎก 

       

พระอภิธรรมปิฎก หมายถึง

หลักธรรมสำคัญอันยิ่งใหญ่

เป็นธรรมะเหนือโลก เป็นหลักธรรมหัวข้อธรรมะ

หลักวิชาธรรมะล้วน ๆ

เป็นอมตะธรรมไม่มีข้อกล่าวอ้างบุคคล

พาดพิงเหตุการณ์เรื่องราวต่าง ๆ

เป็นธรรมะที่จริงแท้ ที่ทำให้จิตฉลาดสว่างไสว

เป็นจิตของพระอริยสาวก

เข้าถึงจุดมุ่งหมายของชีวิต คือ

พระนิพพานได้ง่ายรวดเร็ว

ชาวพุทธส่วนใหญ่ยังมีความเข้าใจผิดคิดว่า

พระอภิธรรมปิฎกนั้นและยากที่จะเข้าใจได้

ความจริงพระอภิธรรมนั้น

มีอยู่ในตัวเรานี้เอง คือ

กายกับจิต หรือขันธ์ 5 กับจิต

และอภิธรรม ก็มีอยู่ทั้งในพระวินัยก็คือ ศีล

ทั้งในพระสูตรและในธรรมชาติ

ถ้าจิตเราฉลาดสะอาดเป็นกุศล

จะเข้าใจมองโลกในทางเป็นจริง

คือ มีแต่ทุกขัง อนิจจัง อนัตตา

เปลี่ยนแปลงสึกหรอ

มีเรื่องให้แก้ไขปัญหาตลอดเวลา

แล้วผุพังสูญสลายไปในที่สุดนั้น

ก็ คือ อภิธรรม นั่นเอง

พระอภิธรรมตามแบบพระเดชพระคุณ

หลวงพ่อพระราชพรหมยาน

ท่านได้สรุปสั้น ๆดังนี้

ในพระอภิธรรมทั้ง 9 ปริเฉท

จุดสำคัญจริง ๆมี 3 อย่างคือ
       

1. กุสลาธัมมา

ธรรมะที่ดีที่เป็นบุญกุศล

มีผลเป็นสุข ตายแล้วไปเสวยสุขเป็น

มนุษย์สมบัติ สวรรค์ พรหม
       

2. อกุสลาธัมมา

ธรรมะที่เป็นโทษเป็นทุกข์เป็นบาป

ทำแล้วมีผลเกิดความทุกข์กายทุกข์ใจ

ตายแล้วไปอบายภูมิ
       

3. อัพยากตาธัมมา

ธรรมะเป็นอัพยากฤต คือ

เป็นธรรมะที่สูงเหนือบุญเหนือบาป

เป็นอมตะธรรม

เป็นอนุตตรธรรมที่เหนือ

อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

คือ พระนิพพาน

ที่มา : guru.google.co.th/guru/thread

ผู้แสดงความคิดเห็น โฆษิต ควรหาเวช (kosit-dot-koanhavej-at-nectec-dot-or-dot-th) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-11-28 22:16:26


ความคิดเห็นที่ 66 (1586056)

ท่านพาหิยะ

ผู้จบหลักสูตรพระอภิธรรมปิฎก

บรรลุอรหัตตผลได้ง่ายและเร็วที่สุด

 

ในสมัยพุทธกาล

มีพระที่ท่านบรรลุอรหัตตผลรวดเร็วที่สุด

คือ ท่านพาหิยะเถระ

 

ท่านพาหิยะเป็นพ่อค้า เดินทางค้าขายด้วยเรือสินค้าขนาดใหญ่

ต่อมาเรือแตกท่านโชคดีรอดชีวิตมาเพียงผู้เดียว

ในสภาพไม่ผิดอะไรกับชีเปลือย

ต่อมาแม้มีชาวบ้านนำจีวร ดอกไม้ ธูปเทียน ของกิน

และลาภสักการะมาให้ ท่านก็ปฏิเสธ

โดยให้เหตุผลว่า เป็นสิ่งเกินความจำเป็น

กินอยู่เพื่อรักษาชีวิตเท่านั้น

ต่อมาท่านได้ข่าวว่า

องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรากฎขึ้นแล้วในโลก

อยู่ที่เมืองสาวัตถี ท่านเกรงว่าท่านมีอายุมากแล้ว

อาจจะตายเสียก่อนได้ฟังธรรมะจากพระพุทธเจ้า

ท่านจึงเดินทางจากเมืองไกล

ไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าทั้งคืนไม่ยอมพักจนรุ่งเช้า

เมื่อมาถึงเมืองสาวัตถี ท่านทราบว่า

พระพุทธเจ้าองค์ทรงบิณฑบาตอยู่

ก็วิ่งตามหาจะเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า

เพื่อขอฟังขอรับพระธรรมคำสอน

วิชาพ้นทุกข์จากการเวียนว่ายตายเกิด

 

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบ

ท่านพาหิยะเดินทางไกลยังเหนื่อยอยู่

และมีปิติมากเกินไปที่ได้เห็นพระพุทธเจ้า

จึงตรัสให้ท่านรออยู่ก่อน

พระพุทธองค์จะบิณฑบาตรให้เสร็จก่อน

 

จากนั้นองค์พระบรมศาสดา

จึงตรัสหัวข้อธรรมะอภิธรรมข้อเดียวคือ

ดูกร พาหิยะ ในกาลใดแล

เมื่อท่านเห็นจักเป็นสักว่าเห็น

เมื่อฟังจักเป็นสักว่าฟัง

เมื่อทราบจักเป็นสักว่าทราบ

เมื่อรู้แจ้งจักเป็นสักว่ารู้แจ้ง

ในกาลนั้นท่านย่อมไม่มี ในกาลใดท่านไม่มี

ในกาลนั้นท่านย่อมไม่มีในโลกนี้

ย่อมไม่มีในโลกหน้า

ย่อมไม่มีในระหว่างโลกทั้งสอง

นี้แลเป็นที่สุดแห่งทุกข์ฯ

(คือการมีสติรู้เท่าทันทุกขณะจิต

จิตก็จะไม่หลงไปตามสิ่งต่างๆที่เข้ามากระทบ

เห็นทุกสิ่งตามที่เป็นจริง

เห็นผัสสะทั้งหมดเป็นอนัตตา

เข้าถึงสภาวะแห่งพุทธะ คือ

เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน)      

เพียงเท่านี้ ท่านพาหิยะ เข้าใจธรรมะแจ่มแจ้ง

จิตของท่านพาหิยะก็หลุดพ้น

เป็นอิสระจากรูปร่างกาย

กิเลส ตัณหา อุปาทาน มีวิชชา

ทันใดนั้นจิตท่านบรรลุเป็น

จิตพระอรหันต์ปฏิสัมภิทาญาณทันที

 

ท่านจึงเป็นพระสาวก

ที่เลิศทางบรรลุอรหัตตผลเร็วที่สุด

 

เพราะจิตท่านตั้งใจเต็มเปี่ยม มีศรัทธาเต็ม

มีวิริยะเต็มอดทนเดินทาง

มีขันติบารมี

มีอธิษฐานคือ ตั้งจิตมั่นในพระพุทธองค์เต็ม

มีสัจจะคือความจริงใจที่จะฟังธรรม

มีปัญญาเห็นว่า

พระพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมทางพ้นทุกข์จริง

มีอุเบกขาวางเฉยในขันธ์ 5

  

ร่างกายท่านแม้จะเหน็ดเหนื่อยยากก็วางเฉย

ไม่ร้อนใจ บารมี 10 ท่านเต็ม

ก็เข้าใจในพระธรรมได้ง่ายรวดเร็ว

เป็นพระอรหันต์ขีณาสพได้ง่ายเร็วที่สุด

ที่มา : guru.google.co.th/guru/thread

และ board.palungjit.com/f10/พาหิยะ-ผู้ตรัสรู้เร็ว-303457.html

ผู้แสดงความคิดเห็น โฆษิต ควรหาเวช (kosit-dot-koanhavej-at-nectec-dot-or-dot-th) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-11-28 23:07:15


ความคิดเห็นที่ 67 (1586060)

เป็นธรรมะที่จริงแท้ ที่ทำให้จิตฉลาดสว่างไสว

เป็นจิตของพระอริยสาวก

-*-*-*-*-*-*-*-

ชอบประโยคนี้จังค่ะ คุณโฆษิต

จิตของพระอริยสาวก เป็นจิตที่มีธรรมชาติ

ที่สว่างไสว ฉลาด...ว่าด้วยความจริง

-*-*-*-*-*-*-*-

ขอฝาก ธรรมสำหรับวันนี้ด้วยคน

อัตตาธิปไตย  หมายถึง การถือตนเองเป็นใหญ่

นักบริหารที่เป็นอัตตาธิปไตย ถือตนเองเป็นศูนย์กลาง

ของการตัดสินใจ เขาเชื่อมั่นตนเองสูงมาก

คิดว่าตัวเองฉลาดว่าใคร

จึงไม่รับฟังความคิดเห็นของใคร 

เขาไม่อดทนต่อการวิพากษ์วิจารณ์

 

 โลกาธิปไตย  หมายถึง การถือคนอื่นเป็นใหญ่

นักบริหารประเภทนี้มีวิธีทำงานที่ตรงกันข้าม

กับประเภทแรกนั่นคือ นักบริหารโลกาธิปไตยไม่มีจุดยืน

เป็นของตัวเอง เขาขาดความเชื่อมั่นในตนเอง 

ไม่สามารถตัดสินใจอะไร

ถ้านั่งเป็นประธานอยู่ในที่ประชุม

เขาจะฟังทุกฝ่ายก็จริง แต่เมื่อฝ่ายต่างๆ พูด

ขัดแย้งกัน เขาจะไม่ตัดสินชี้ขาด

แต่เปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายทุ่มเถียง 

ทะเลาะกันเอง 

ใครเสนอความคิดอะไรมา

เขาเห็นคล้อยตามด้วยจนไม่ย่อมตัดสินใจเด็ดขาดลงไป

ว่า ฝ่ายไหนถูกหรือผิด

ในที่สุดลูกน้องต้องวิ่งเต้นเข้าหา

นักบริหารประเภทนี้อยู่เรื่อยไป

ผลลงเอยด้วยลูกน้องตีกันเอง

เพราะนักบริหารไม่ยอมวินิจฉัยชี้ขาดว่า

จะทำตามข้อเสนอของใคร

นักบริหารประเภทนี้ได้คนแต่เสียงาน

นั่นคือ ทุกคนชอบเขา 

เพราะเขาเป็นคนอ่อนผู้ไม่เคยตำหนิใคร

  ลูกน้องจะทำงานหรือทิ้งงานก็ได้

เขาไม่กล้าลงโทษ เขาสุภาพกับทุกคน

แต่องค์การวุ่นวายไร้ระเบียบ และไม่มีผลงาน

 

 ธรรมาธิปไตย หมายถึง การถือธรรมหลักการเป็นสำคัญ

และยึดเอาความสำเร็จของงานเป็นที่ตั้ง 

เพื่อทำงานให้สำเร็จ เขายินดีรับฟังคำแนะนำจากทุกฝ่าย

ซึ่งรวมทั้งคนที่ไม่ชอบเขาเป็นส่วนตัว 

เขาแยกเรื่องงานออกจากความขัดแย้งส่วนตัว

 เขายอมโง่เพื่อศึกษาความรู้

จากผู้เชี่ยวชาญ ดังที่ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (ติสฺสมหาเถร) นิพนธ์ไว้ว่า

นิคฺคณฺเห   นิคฺคหารหํ

กำราบคนที่ควรกำราบ

ปคฺคณฺเห   ปคฺคหารหํ

ยกย่องคนที่ควรยกย่อง

 

ผู้แสดงความคิดเห็น แมว ประวีณา แค้มป์ (prawinakamp-at-gmail-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-11-28 23:13:55


ความคิดเห็นที่ 68 (1586420)

 

 

 

วุฏฐิสูตร - ว่าด้วยฝน

[๒๐๔] เทวดาทูลถามว่

บรรดาสิ่งที่งอกขึ้น อะไรหนอประเสริฐ
บรรดาสิ่งที่ตกไป อะไรหนอประเสริฐ
บรรดาสัตว์ที่เดินด้วยเท้า สัตว์ใดประเสริฐ
บรรดาชนผู้แถลงถ้อยคำ ใครเป็นผู้ประเสริฐ

[๒๐๕] เทวดาองค์หนึ่งแก้ว่า

บรรดาสิ่งที่งอกขึ้น พืชประเสริฐ
บรรดาสิ่งที่ตกไป ฝนเป็นสิ่งที่ประเสริฐ
บรรดาสัตว์ที่เดินด้วยเท้า โคเป็นสัตว์ประเสริฐ
บรรดาชนผู้แถลงถ้อยคำ บุตรเป็นสัตว์ประเสริฐ

image

[๒๐๖] พระผู้พระภาคเจ้าตรัสตอบว่า

บรรดาสิ่งที่งอกขึ้น ความรู้ประเสริฐ
บรรดาสิ่งที่ตกไป ความไม่รู้ประเสริฐ
บรรดาสัตว์ที่เดินด้วยเท้า พระสงฆ์เป็นผู้ประเสริฐ
บรรดาชนผู้แถลงถ้อยคำ พระพุทธเจ้าเป็นผู้ประเสริฐ
วุฏฐิสูตรที่ ๔ จบ

 

บรรดาคำเหล่านั้น คำว่า

ความรู้ (วิชฺชา) ได้แก่ ความรู้ในมรรค ๔.

เพราะว่าความรู้นั้นเมื่อเกิด

ย่อมถอนขึ้นซึ่งอกุศลธรรมทั้งปวง

ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า

บรรดาสิ่งที่งอกขึ้น ความรู้ประเสริฐ.

คำว่า ความไม่รู้ (อวิชฺชา) ได้แก่

ความไม่รู้ใหญ่อันเป็นมูลแห่งวัฏฏะจริงอยู่

บรรดาสิ่งที่ตกไป คือจมลงไปทั้งหลาย

ความไม่รู้ใหญ่นั้นแล เป็นสิ่งประเสริฐ.

คำว่า บรรดาสัตว์ที่เดินด้วยเท้า (ปวชฺชานานํ)

ได้แก่ บรรดาสัตว์ผู้ไปด้วยเท้า คือผู้ไปด้วยลำแข้ง.

พระสงฆ์ผู้เป็นนาบุญอันไม่ทรามเป็นผู้ประเสริฐ

เพราะว่า สัตว์ผู้มีจิตเลื่อมใส

เห็นพระสงฆ์นั้นในที่นั้นๆ แล้ว ย่อมถึงความสวัสดี.

คำว่า พระพุทธเจ้า (พุทฺโธ) อธิบายว่า

บรรดาชนผู้แถลงถ้อยคำ

ไม่ว่าจะเป็นบุตรหรือคนอื่น

พระพุทธเจ้าเป็นผู้ยอดเียี่ยม.

เพราะว่าเหล่าสัตว์หลายแสน

อาศัยการแสดงธรรมของพระองค์แล้ว

ย่อมหลุดพ้นจากเครื่องผูกได้ ดังนี้แล

ที่มา : board.palungjit.com/f45/ฝน-205057.html

 

 

ผู้แสดงความคิดเห็น โฆษิต ควรหาเวช (kosit-dot-koanhavej-at-nectec-dot-or-dot-th) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-11-30 21:45:54


ความคิดเห็นที่ 69 (1586778)
image

การบำรุงมารดาบิดาเป็นอุดมมงคล 

"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย

บุคคล ๒ จำพวก คือ มารดาและบิดานี้ 

เราไม่กล่าวว่า

จะตอบแทนคุณให้สิ้นสุดได้ง่าย"

ในอรรถกถา

ท่านแยกการบำรุงมารดาออกจากการบำรุงบิดา 

เพื่อให้ครบมงคล  ๓๘ 

แต่ตามความเป็นจริงแล้ว 

บุตรพึงบำรุงมารดาบิดา

ให้เป็นสุขเท่าเทียมกัน 

เพราะมารดาบิดาเป็นผู้ให้ชีวิตแก่บุตร 

ให้บุตรได้มีโอกาสเกิด

มาดูโลกนี้  ถ้าปราศจากมารดาบิดาแล้ว 

บุตรจะมีโอกาสเกิดขึ้นมาดูโลกนี้

ได้อย่างไร 

เพียงเท่านี้ก็นับว่าท่านทั้งสอง

มีบุญคุณแก่ลูกอย่างล้นเหลือแล้ว

 

พระพุทธองค์ตรัสว่า 

การที่บุตรจะตอบแทนบุญคุณของมารดาบิดา 

นั้นไม่ใช่ง่าย 

คือ  ยากที่จะตอบแทนให้หมดสิ้นได้ 

หากว่าจะประคองมารดาไว้บนบ่าข้างหนึ่ง 

ประคองบิดาไว้บนบ่าอีกข้างหนึ่ง 

ตลอดเวลา  ๑๐๐  ปีที่ลูกมีชีวิตอยู่ 

ปรนนิบัติท่านด้วยความรัก  ความเอาใจใส่ 

ยอมให้มารดาบิดาถ่ายอุจจาระปัสสาวะ

บนบ่าทั้งสองของเขานั่นแหละ 

ถึงกระนั้นก็ยังไม่ชื่อว่าอันบุตรทำแล้ว

หรือทำตอบแทนแล้วแก่มารดาบิดาเลย 

หรือแม้บุตรจะสถาปนาแต่งตั้งมารดาบิดา

ไว้ในตำแหน่งพระเจ้าจักรพรรดิ  

เป็นใหญ่ในแผ่นดิน  

บุตรก็ยังไม่ได้ชื่อว่า

ทำตอบแทนแล้วแก่มารดาบิดาเลย  

เพราะมารดาบิดามีอุปการะมากแก่บุตร  

 ]

แต่ถ้าบุตรคนใดได้กระทำมารดาบิดา

ผู้ไม่มีศรัทธา  ให้มีศรัทธา 

ไม่มีศีล  ให้มีศีล  ไม่มีจาคะ  ให้มีจาคะ 

ไม่มีปัญญา  ให้มีปัญญา 

การกระทำอย่างนี้เท่านั้นจึงจะได้ชื่อว่า 

บุตรได้ทำตอบแทนมารดาบิดาแล้วอย่างแท้จริง

บิดามารดานี่

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ถือว่าเป็นพรหมของบุตร

คำว่า พรหม ก็คือ ผู้ประเสริฐ

พรหมทรงคุณธรรม ๔ ประการ คือ

๑. เมตตา ความรัก

๒. กรุณา ความสงสาร

๓. มุทิตา มีจิตอ่อนโยน ไม่อิจฉาริษยา

เมื่อลูกได้ดี พลอยยินดีด้วย พ่อแม่ไม่เคยอิจฉาลูก

๔. อุเบกขา

ถ้าบังเอิญลูกเพลี่ยงพล้ำไปด้วยประการใด

บิดามารดาไม่เคยซ้ำเติมมีแต่คอยช่วยเหลือ

นี่ความดีของบิดามารดามีถึงเพียงนี้

พระพุทธเจ้าจึงทรงเรียกว่า

ท่านเป็นพรหมของลูก

อีกนัยหนึ่งท่านเรียกว่า

เป็นอรหันต์ของบุตร

หมายความว่า ท่านมีความดีไม่เคยมีจิต

คิดอาฆาตพยาบาทคิดจองล้างจองผลาญลูก

มีแต่ความเมตตาปรานี

ถ้าลูกคนใดอกตัญญูไม่รู้บุญคุณบิดามารดา

เป็นลูกทรพีคิดทำลายพ่อแม่ ฆ่าพ่อ ฆ่าแม่

ท่านกล่าวว่า

มีโทษเท่ากับฆ่าพระอรหันต์

คนเราทุกวันนี้มีวิชาความรู้มาก

ยิ่งไกลจากพ่อแม่มาก 

ยิ่งศึกษาสูงเท่าไร 

ยิ่งทอดทิ้งพ่อแม่มากขึ้นเท่านั้น 

ต่อไปพ่อแม่จะต้องเดียวดาย 

เพราะเขาไม่ศึกษาธรรมะ 

เขาไม่ศึกษาเรื่องพระพุทธศาสนา

เรื่อง  กตัญญูรู้คุณ 

เขามัวศึกษาแต่ความเจริญทางวัตถุ 

เขาจะต้องทอดทิ้งให้เราเป็นคนแก่ที่ไร้สาระ 

ถูกทอดทิ้งให้ลำบาก

รูปภาพ

สมัยก่อน 

คนเราไม่ได้มีการศึกษาอะไรกันมาก 

คนจะรักพ่อรักแม่  ดูแลพ่อแม่ยันตา 

ถ้าเราศึกษามากเท่าไร

เราต้องศึกษาธรรมะมากเท่านั้น 

ให้ธรรมะเจริญในใจของเรา

จนเกิดความรู้ความเข้าใจ 

เราจะได้ไม่ทอดทิ้งผู้มีพระคุณ

ความสบายใจที่พ่อแม่ต้องการ 

เราให้ท่านหรือยัง

ถ้าเราไม่อยากให้

เป็นกงเกวียนกำเกวียน 

ก็ต้องไม่ว่าพ่อแม่ 

นิ่งเฉยเสีย  ยอมอดทน 

ถือว่าเป็นเรื่องของคนแก่

เป็นพ่อคนแม่คนก็ต้องบ่นอย่างนี้เอง 

เพราะความรักความห่วง 

ถ้าไม่รักไม่ห่วงไม่มีบ่นเลย 

ที่บ่นที่ด่าลูกก็เพราะ

ความรักความห่วง 

กลัวลูกจะไม่ได้ดี


เมื่อเราคิดได้อย่างนี้

เราจะทะนุถนอมพ่อแม่เหมือนเรารักลูกเลย 

เราทะนุถนอมลูกของเราเท่าไร 

เราก็ทะนุถนอมพ่อแม่ของเราเท่านั้น 

 

อันนี้จึงว่าเป็นบุคคลฉลาด 

เป็นบุคคลประเสริฐ

ที่รู้บาปบุญคุณโทษว่า

พ่อแม่รักเราอย่างไร

________________________


ที่มา : 84000.org/tipitaka/book/bookpn06.html#11

จาก หนังสือ พรหมวิหาร ๔ (หลวงพ่อพระราชพรหมยาน)

จาก วิธีทำบุญง่าย ๆ แต่ได้บุญมาก (เว็ปพลังจิต ดอท คอม)

ผู้แสดงความคิดเห็น โฆษิต ควรหาเวช (kosit-dot-koanhavej-at-nectec-dot-or-dot-th) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-12-02 21:06:02


ความคิดเห็นที่ 70 (1589048)

การครองตนเป็นพลเมืองที่ดี

        มาจากขุททกนิกายชาดก พระสุตตันตปิฎก 

    พระไตรปิฎก เล่มที่ 28 ข้อ 949 หน้า 332  

มีใจความสำคัญสรุปได้ดังนี้
 
       การครองตนเป็นพลเมืองที่นำชีวิตและครอบครัว 
 
ไปสู่ความสงบสุขความและเจริญ และเป็นพลเมืองที่ดี
 
สามารถทำได้ โดยประพฤติดังนี้
 
1.      ไม่คบชู้สู่ชาย มั่วหมกมุ่นในทางเพศ
 
2.      ไม่ใจแคบเสพสิ่งเลิศรสผู้เดียว
 
3.      ไม่พร่าเวลาถกถ้อยที่เลื่อนลอยไร้สาระ
 
4.      ประพฤติดี มีวินัย ตั้งอยู่ในศีล 5
 
5.      ปฏิบัติกิจหน้าที่สม่ำเสมอ โดยสม่ำเสมอ
 
6.      ไม่ประมาท กระตือรือร้นทุกเวลา
 
7.      มีวิจารณญาณ ทำการโดยใช้ปัญญา
 
8.      สุภาพ ไม่ดื้อกระด้าง ยินดีรับฟังผู้อื่น
 
9.      เสงี่ยมงาม รักความประณีตสะอาดเรียบร้อย
 
10. พูดจาน่าฟัง ทั้งใจกายก็อ่อนโยน ไม่หยาบคาย
 
11. มีน้ำใจเอื้อเฟื้อ สงเคราะห์ต่อมิตรสหาย
 
12. เผื่อแผ่แบ่งปัน ช่วยเหลือคนทั่วไป
 
13. รู้จักจัดการงานให้เรียบร้อยและได้ผลดี
 
14. บำรุงพระสงฆ์ผู้ทรงความรู้ ทรงศีล และทรงธรรม

ทีมา : www.kr.ac.th/ebook2/julaporn/03.html

ผู้แสดงความคิดเห็น โฆษิต ควรหาเวช (kosit-dot-koanhavej-at-nectec-dot-or-dot-th) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-12-18 22:51:01


ความคิดเห็นที่ 71 (1593285)
image

นิพพานคือนิพพาน

พระธรรมเทศนาโดยหลวงตามหาบัว

 

คำว่าจิตบริสุทธิ์เต็มที่นี้เป็นธรรมทั้งดวงไปแล้วนะ

หมายถึงว่าธรรมทั้งดวงกับจิตทั้งดวงเป็นอันเดียวกันแล้ว

นั่นเรียกว่าจิตกับธรรมเป็นอันเดียวกัน

ถึงจุดนี้แล้วขาดสะบั้นหมด

เรื่องสมมุติทั้งมวลนี้ไม่มีอะไรมาเกี่ยวข้อง

เป็นอฐานะ คือ ให้เป็นไปอย่างไรอีกไม่ได้แล้ว

จะบังคับให้ติดก็ไม่ติดเมื่อถึงขั้นของมันแล้ว

เมื่อยังไม่ถึงขั้นบังคับให้ถอนมันก็ไม่ยอมถอน

มันยึดมั่นถือมั่นของมัน

พอถึงขั้นของมันแล้วมันถอนของมันเอง

เมื่อถอนเต็มส่วนแล้วทีนี้จะบังคับให้ติดก็ไม่ติด

เป็นหลักธรรมชาติแล้ว เรียกว่าเป็นอฐานะ

ให้เป็นอย่างอื่นไปไม่ได้แล้ว

ทีนี้เวลาถึงขั้นนั้นแล้ว นั่นละท่านเรียกว่าขั้นอัศจรรย์

อัศจรรย์โลกสมมุติเรานี้เป็นอันหนึ่งนะ

 

ที่ว่าอัศจรรย์ของธรรมแท้จิตแท้ เรียกว่าจิตเป็นธรรม ธรรมเป็นจิต

เรียกว่าธรรมธาตุก็ไม่ผิด ท่านให้ชื่อว่านิพพาน ธรรมธาตุ

จิตกับธรรมเป็นอันเดียวกันแล้วพระพุทธเจ้าทรงให้ชื่อว่านิพพาน

จะแยกเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ คำว่านิพพานเป็นคำเดียวเท่านั้น

 

อันไหนไม่เหมือน อันไหนไม่ถูก

อย่างที่ว่าไว้ มีผู้มาอ้างในพระไตรปิฎกก็มีนี่นะ

ว่าพระไตรปิฎกท่านแสดงไว้ว่านิพพานเป็นอนัตตา

หึย ว่าอย่างนี้เลยเรานะ

อ้าวจริง ๆ มันยันกันเลยทันที มันเดินให้เห็นอยู่ชัด ๆ นี่นะ

นิพพานเป็นอนัตตาได้ยังไง นิพพานคือนิพพาน

เป็นอนัตตาได้ยังไง

อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา นี้เรียกว่าไตรลักษณ์เข้าใจไหม

เราพิจารณาเพื่อพระนิพพาน ต้องเดินไปตาม

อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา

เมื่อพิจารณาอันนี้รอบแล้วปล่อย ๆ พอถึงขั้น อนัตตา เต็มส่วน

แล้วปล่อย อนัตตา ปุ๊บถึงนิพพาน

แล้ว อนัตตา ทำไมจะไปเป็นนิพพาน

 

ถ้า อนัตตาเป็นนิพพาน นิพพานก็เป็นไตรลักษณ์ล่ะซีเข้าใจไหม

นี่ละว่าเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ อัตตา ก็เป็นส่วนสมมุติ

อัตตา คือความยึดถือ อัตตา ตนจะไปเป็นนิพพานได้ยังไง

อัตตา ความถือตนถือตัว อตฺตานุทิฏฺฐึ อูหจฺจ

 

พระองค์แสดงไว้แล้วว่า

สุญฺญโต โลกํ อเวกฺขสฺสุ โมฆราช สทา สโต

แล้วก็ อตฺตานุทิฏฺฐึ อูหจฺจ เอวํ มจฺจุตฺตโร สิยา เอวํ

โลกํ อเวกฺขนฺตํ มจฺจุราชา น ปสฺสติ

คือ ดูก่อนโมฆราช เธอจงเป็นผู้มีสติ ดูโลกให้เห็นเป็นของว่างเปล่า

ถอนอัตตานุทิฏฐิเสียได้ อัตตาฟังซิ ถอนอัตตานุทิฏฐิ

อัตตานุทิฏฐิก็เป็นทางเดิน ถอนอัตตานุทิฏฐิเสียแล้ว

พญามัจจุราชจะติดตามเธอไม่ทันอีกแล้ว

 

นั่นท่านให้ถอนอัตตานุทิฏฐิ แล้วยังทำไม

อัตตา จะมาเป็นนิพพานเสียเอง

 

เอาพิจารณาซิ ยันกันอย่างนั้นซิ อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา

ก็เป็นทางเดินเพื่อก้าวสู่พระนิพพาน อัตตาความยึดมั่นถือมั่น

ก็ต้องพิจารณาอัตตานี้ เพื่อให้ผ่านอัตตานี้ไปได้แล้ว

จึงไปเป็นพระนิพพานได้

เหตุใดพระนิพพานจึงจะมาเป็นอัตตาเป็นอนัตตาเสียเอง

เอาพิจารณาซิ

ที่มา : www.dhammada.net/2011/02/04/7264/

ผู้แสดงความคิดเห็น โฆษิต ควรหาเวช (kosit-dot-koanhavej-at-nectec-dot-or-dot-th) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2012-01-18 22:48:12


ความคิดเห็นที่ 72 (1595449)
ภัยจากความเสน่หา
 
 
 

ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ใน กรุงพาราณสี

พระโพธิสัตว์ถือกำเนิดในตระกูลเศรษฐี มีแม่โคนมหลายพันตัว

ซึ่งโคบาลนำไปเลี้ยงไว้ในป่าแห่งหนึ่ง

ในฤดูข้าวกล้า

ครั้งนั้นนายโคบาลนำน้ำนมโคมาให้

เมื่อเศรษฐีเห็นน้ำนมโคใสผิดปกติ

จึงถามถึงสาเหตุ นายโคบาลเล่าว่า

พวกแม่โคนมกลัวราชสีห์ตัวหนึ่ง

ซึ่งอยู่ในบริเวณป่าใกล้ๆ

ทำให้ซูบผอมผิดปกติ

พระโพธิสัตว์ถามว่าราชสีห์นั้น

มีความสนิทสนมกับสัตว์ประเภทใด

ก็ได้รับคำตอบว่าสนิทสนม

กับแม่เนื้อตัวหนึ่ง

จึงสั่งให้จับแม่เนื้อตัวนั้น

ทายาพิษทั่วร่างให้แห้ง

แล้วทาซ้ำๆ อีก

ให้ขังแม่เนื้อไว้ ๒ - ๓ วัน

แล้วจึงค่อยปล่อยแม่เนื้อนั้นไป

พอปล่อยแม่เนื้อไปไม่ทันใด

ราชสีห์ ก็รีบมาคลอเคลีย

และเลียที่ร่างของแม่เนื้อ

ด้วยความเสน่หา

และสิ้นชีวิตลงในเวลาต่อมา

เมื่อเศรษฐีโพธิสัตว์ทราบเหตุนั้นแล้ว

จึงได้กล่าวเป็นสุภาษิตออกมาว่า

 

" บุคคลไม่ควรไว้วางใจ
ในผู้ที่ยังไม่คุ้นเคยกัน
แม้ผู้ที่คุ้นเคยกันแล้ว
ก็ไม่ควรไว้วางใจ
ภัยย่อมมาจากผู้ที่คุ้นเคยกัน
เหมือนภัยของราชสีห์
เกิดจากแม่เนื้อ ฉะนั้น "

 

จบ อรรถกถาวิสสาสโภชนชาดกที่ ๓

เอกนิบาต ลิตตวรรค ข้อ ๙๓

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย
เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒
 
ผู้แสดงความคิดเห็น โฆษิต ควรหาเวช (kosit-dot-koanhavej-at-nectec-dot-or-dot-th) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2012-02-02 00:37:35


ความคิดเห็นที่ 73 (1595658)

 

พระพุทธเจ้า

มีมาร มีผู้รุกราน จาบจ้วง ล่วงเกิน

แม้ว่าพระองค์จะเป็น

พระพุทธเจ้า

แล้วก็ตาม

 

มาร

ของพระองค์

ไม่ได้มีแต่เทวทัตเท่านั้น

 

พระองค์

อยากให้พวกเรา

ชาวบ้านสวนพีระมิด

คิดใหม่ ทำใหม่ ชาติไทย

จึงจะรอดได้

 

พระพุทธองค์

จึงทรงให้ดู พระองค์

เป็นแบบอย่าง

 

ถ้าใครมีพระไตรปิฎก

ฉบับที่ทำให้ง่ายแล้ว ก็ให้อ่าน

หน้า 47-56 หมวด 3 นะ

 

********************************************

ณ บัดนี้

เบื้องบน และ ท้าวเวสสุวรรณ

มีบัญชาลงมา ให้บอกทุกคนว่า

กฎแห่งกรรม ยุติธรรมที่สุด

 

ใคร

มีปัญญาแค่ไหน

 

ชีวิต

ก็จะเป็นไป

ตามปัญญาของตน

แค่นั้น

 

พระพุทธองค์

ท่านทรงมีพุทธญาณ

เล็งแลเห็น

ผู้ที่

 

อ้างว่า

รัก เคารพ นับถือ

พระองค์

 

แต่

ไม่เคยทำตาม

แบบอย่างที่พระองค์ทำไว้

 

ที่บอกว่า

พระองค์ไม่ทุกข์

ไม่เครียด ไม่เศร้า ไม่กลัว

ไม่หนีปัญหา เผชิญทุกปัญหา

ด้วยปัญญา ด้วยจาจา

จัดการผู้ล่วงเกิน ผู้รุกราน

จนกว่าจะชนะ

เมื่อมีภัย มีศรัตรูรุกราน

 

แต่

พวกเราทุกข์

พวกเราเครียด พวกเราเศร้า

พวกเรากลัว พวกเราไม่กล้าเผชิญ

ปัญหา พวกเราไม่ใช้ปัญญา

ไม่ใช้วาจาจัดการ สั่งสอน

ผู้บุกรุก ผู้รุกราน

ไม่หยุด จนกว่าจะชนะ

 

แต่

พวกเรา

หนีปัญหา โดยเฉพาะ

ถ้าไม่ใช่ปัญหาของเรา เราไม่สน

แต่

ถ้าทุกข์นั้น ปัญหานั้น

เป็นของเรา เราก็เดือดร้อน ดิ้นรน

หาคนช่วย แค่ป่วย แค่จน

ก็ดั้นด้นไปหาคนช่วยทั่ว

แค่กลัวตาย ทั้งที่ยังไม่ตาย

ก็ดิ้นรนหาที่ปลอดภัย

เราเป็นยังไงกันแน่

หรือว่า

ใครไม่ได้เป็นอย่างนี้บ้าง

ก็ว่ามา นะจ๊ะ

 

พวกเรา

ได้แต่ทุกข์ แต่ ไม่ลงมือทำ

พวกเรา ได้แต่ เม้าท์

กันเอง แต่ ไม่มีปัญญา

เม้าท์ เพื่อ สยบ มาร

 

เรื่องนินทา เรื่องด่า

เก่ง

 

แต่พอเจอ

ศรัตรู เดินหนี ซะงั้น

ไม่ได้ใช้ปาก ที่เคยทำบาปมา

สร้างกรรมดี ลบล้างกรรมชั่ว

ด้วยการใช้ปาก สั่งสอน

อบรม คนที่หลงผิด

ให้กลับตัวกลับใจ

 

กลับท้อแท้

คิดว่าพอเขาไม่เชื่อ

ก็เลยหยุดพูดกับคนอื่นไปด้วย

 

คนนั้นไม่เชื่อ

หยุดพูดต่อน่ะ ถูกแล้ว

 

แต่ต้องไม่หยุด

ที่จะพูดกับคนอื่นอีกต่อไป

 

คิดว่า

โลกนี้ มีคนแค่ 2-3 คน

หรือไง ที่คุณต้องช่วย

 

 

ท่านพ่อ เวสสุวรรณ

ให้ถามว่า

 

ทุกครั้งที่คุณคิดอะไร

ทำอะไร

 

ขอให้ลองคิดว่า

ถ้า อ.อุบล คิดแบบคุณ

และ

ทำแบบคุณบ้าง

จะดีไหม

 

โดยเฉพาะ

คิดกับคุณ และ ทำต่อคุณ

ลองตอบซิ คนดี

*********

กราบเสด็จพ่อ ท้าวเวสสุวรรณ

อาจารย์แม่อุบล

ลูกจะตั้งใจทำความดีต่อไป 

จะไม่ท้อแท้ 

สาธุ สาธุ สาธุ

ผู้แสดงความคิดเห็น เบ็ญจากาญจน์ ศุภศิริว้ฒนา(วิ) (aungpao-dot-benjy-at-gmail-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2012-02-03 08:53:15


ความคิดเห็นที่ 74 (1596620)

 

พุทธพยากรณ์

พระศรีอริยเมตไตรย

พระไมเตรยโพธิสัตว์ ศิลปะคันธารราษฏร์ ราวพุทธศตวรรษที่ 7-8 (คริสต์ศตวรรษที่ 2)

พระไมเตรยโพธิสัตว์ ศิลปะคันธารราษฏร์
ราวพุทธศตวรรษที่ 7-8 (คริสต์ศตวรรษที่ 2)
 

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในเมื่อมนุษย์มีอายุ ๘๐,๐๐๐ ปี

พระผู้มีพระภาคทรงพระนามว่าเมตไตรย์

จักเสด็จอุบัติขึ้นในโลก พระองค์เป็นอรหันต์

ตรัสรู้เองโดยชอบ ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ

เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลก

เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึกไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า

เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย

เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกพระธรรม

เหมือนตถาคตอุบัติขึ้นแล้วในโลก

ในบัดนี้เป็นอรหันต์

พระผู้มีพระภาคพระนามว่าเมตไตรย์พระองค์นั้น

จักทรงทำโลกนี้พร้อมทั้ง

เทวโลก มารโลก พรหมโลก

ให้แจ้งชัดด้วยพระปัญญาอันยิ่ง

ด้วยพระองค์เองแล้ว

ทรงสอนหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์

เทวดาและมนุษย์ให้รู้ตาม

เหมือนตถาคตในบัดนี้

พระผู้มีพระภาคพระนามว่า

เมตไตรย์

พระองค์นั้นจักทรงแสดงธรรมงามในเบื้องต้น

งามในท่ามกลาง งามในที่สุด

ทรงประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถ

พร้อมทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง

เหมือนตถาคตในบัดนี้

พระผู้มีพระภาคพระนามว่าเมตไตรย์พระองค์นั้น

จักทรงบริหารภิกษุสงฆ์หลายพัน

เหมือนตถาคตบริหารภิกษุสงฆ์หลายร้อย

ในบัดนี้ฉะนั้น ฯ

ที่มา :  จากพระไตรปิฎกเล่มที่ 11 พระสุตตันตปิฎก เล่ม 3

ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค จักกวัตติสูตรซึ่งเป็นพระไตรปิฎกของพระพุทธศาสนานิกายเถรวาท

th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A8%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B8%AD%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%A2%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%95%E0%B9%84%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%A2

ผู้แสดงความคิดเห็น โฆษิต ควรหาเวช (kosit-dot-koanhavej-at-nectec-dot-or-dot-th) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2012-02-09 00:22:32


ความคิดเห็นที่ 75 (1596874)

ขอบคุณ คุณโฆษิต

ที่ค้นหา คุณสมบัติของ

พระศรีอาริยเมตไตรย์ มาให้อ่าน

 

ซึ่งเป็นช่วงเวลา

ที่พวกเรา ต้องตามหา

พระองค์ ให้เจอ

 

จะได้ไม่มีใคร

มาสงสัย อ.อุบล กันอีก

 

ขอให้ทุกท่าน

ค้นหา พระศรีอาริย์ ด้วยกัน

ถือเป็น วาระ เร่งด่วน

เพราะ

 

ปีนี้ มีภัยใหญ่ มาแล้ว

มาก่อนกำหนด

ถ้าเราพบ พระศรีอาริย์ก่อน

ทุกอย่าง จะบันเทา

เบาบาง

 

ฟ้า จะ สว่าง

ด้วย

แสงทอง ผ่องอำไพ

โลก

จะเต็มไป ด้วยความ

สงบสุข

ผู้แสดงความคิดเห็น อ.อุบล ศุภาเดชาภรณ์ (pamelasoap-at-yahoo-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2012-02-09 23:14:43


ความคิดเห็นที่ 76 (1597755)
คำสอนท่านอาจารย์อุบล
 
 
ขอให้เข้าใจคำนี้
เพียงสามพยางค์ว่า
 
รักผู้อื่น
 
นั่นเป็นหัวใจ
ของศาสนาทุกศาสนา
 
และ
 เมื่อใดที่ปฏิบัติตาม
หลักหัวใจอันนั้น
 
โลก
พระศรีอริยะเมตไตร
ก็จะเกิดขึ้นในทันที
ที่นั่นและเดี๋ยวนั้น

อนุโมทนาสาธุครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น โฆษิต ควรหาเวช (kosit-dot-koanhavej-at-nectec-dot-or-dot-th) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2012-02-16 00:50:43


ความคิดเห็นที่ 77 (1598857)

มหาสมัยสูตร

พระสุตตันตปิฎก เล่ม ๒

ทีฆนิกาย มหาวรรค - ๗. มหาสมัยสูตร

 

 

 

 

 

เนื้อหาโดยย่อ ตำนานมหาสมัยสูตร


รวบรวมโดย พระมหาเหลา ประชาษฎร์

มหาสมัยสูตร

ปรากฎความในพระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกามหาวรรค

ภายหลังการบรรลุอนุตราสัมมาสัมโพธิญาณ

ของพระบรมศาสดา

พระองค์ได้เสด็จจาริกไปในสถานที่ต่าง ๆ

เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก

และเมื่อทราบทราบว่า

พระเจ้าสุทโธทนะพระพุทธบิดาประชวรหนัก

จึงเสด็จกลับสู่กรุงกบิลพัสดุ์อีกครั้ง

เพื่อเยี่ยมอาการพระพุทธบิดา

พร้อมด้วยพระสงฆ์สาวกเป็นจำนวนมาก

ทรงถวายพยาบาลพระพุทธบิดาตามพุทธวิสัย

และโปรดให้พระพุทธบิดาได้บรรลุพระอรหันต์

พร้อมปฏิสัมภิทาทั้งหลาย

ในกาลต่อมาพระพุทธบิดาก็ปรินิพพาน

บนพระแท่นบรรทมภายใต้เศวตฉัตรนั้งเอง

ภายหลังถวายพระเพลิงพระศพพระพุทธบิดา

พระพุทธองค์ตรัสว่า

"บุคคลใดมีจิตปรารถนาพระโพธิญาณ

จงอุตสาหะภิบาลบำรุงบิดามารดา

ประพฤติกุศลสุจริตธรรม

จักสมปรารถนาทุกประการ" 



รุ่งขึ้น
ขณะที่พระองค์ประทับอยู่ที่นิโครธาราม

กรุงกบิลพันดุ์ เหล่าพระญาติข้างฝ่ายศากยะ

และโกลิยะที่ตั้งหลักแหล่งอยู่สองฝั่งแม่น้ำโรหิณี

ได้วิวาทกันเรื่องแย้งน้ำทำนา

กษัตริย์ทั้งสองจึงยกกองทัพออกไป

จะทำสงครามกัน เพราะไม่สามารถตกลงกันได้

พระพุทธองค์ทรงทราบเหตุการณ์นั้นด้วยพระญาณ

ทรงถือบาตรและจีวรด้วยพระองค์เอง

ไม่ทรงแจ้งให้ใคร ๆ ทราบ

เสด็จพุทธดำเนินแต่เพียงพระองค์เดียว

ไปประทับนั่งขัดบัลลังก์ระหว่าง

กองทัพกษัตริย์ทั้งสองนคร 

ครั้นกองทัพชาวเมืองกบิลพัสดุ์

และชาวเมืองโกลิยะเห็นพระองค์นั้น

ต่างก็คิดว่าพระศาสดาผู้เป็นพระญาติ

ผู้ประเสริฐของพวกเราเสด็จมา

จึงทิ้งอาวุธเขาไปเฝ้าพระพุทธองค์

ทั้งที่พระองค์ทรงทราบสถานการณ์ขณะนั้นดี

แต่ก็ตรัสถามเรื่องราวที่เกิดขึ้น แล้วตรัสสอนว่า

มหาบพิตร พวกพระองค์อาศัยน้ำที่มีค่าน้อยแล้ว

ทำให้กษัตริย์ซึ่งหาค่ามิได้ให้ฉิบหายทำไมกัน 

ครั้นแล้ว พระพุทธองค์ได้ตรัส ผันทนชาดก

ทุททุภายชาดก และลฏุกิกชาดก

เพื่อระงับการวิวาทของพระญาติทั้งสองฝ่าย

และตรัสรุกขธรรมชาดก และวัฏฏชาดก

เพื่อให้เกิดความสามัคคีพร้อมเพรียงกันว่า

"หมู่ญาติยิ่งมากยิ่งดี

ต้นไม้ที่เกิดในป่าแม้จะโตเป็นเจ้าป่า

ถ้าตั้งอยู่โดดเดี่ยวย่อมถูกแรงลมพัดโค่นลงได้

และว่านกทั้งหลายมีความสามัคคีพร้อมเพรียงกัน

ย่อมพาตาข่ายไปได้"

และในที่สุดก็ตรัส อัตตทัณฑสูตร 

กษัตริย์เหล่านั้นได้สดับพระธรรมเทศนาแล้ว

เกิดความสังเวชพากันทิ้งอาวุธกล่าวว่า

หากพระบรมศาสดา ไม่เสด็จมา

พวกเราก็จะฆ่าฟันซึ่งกันและกัน

เลือดไหลนองเป็นสายน้ำ

ไม่มีโอกาสได้กลับบ้าน

เห็นหน้าลูกเมียญาติพี่น้อง

กษัตริย์ทั้งสองพระนคร

จึงถวายพระราชกุมาร 500 องค์

คือ ฝ่ายละ 250 องค์ ให้บรรพชาอุปสมบทกับ

พระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยเอหิภิกขุอุปสัมปทา 

อรรถกถามหาสมัยสูตร

เล่าถึงเหตุการณ์ที่ภิกษุราชกุมารเหล่านั้น

บรรลุธรรมไว้ว่า

เมื่อพระพุทธองค์นำภิกษุราชกุมารเหล่านั้น

มาสู่ป่ามหาวัน ประทับนั่งบนพุทธอาสน์

ที่ภิกษูปูถวาย ในโอกาสที่สงัด ตรัสบอก

กัมมัฏฐานแก่ภิกษุทั้งหลาย

ภิกษุเหล่านั้นรับกัมมัฏฐานแล้ว

ต่างแยกย้ายกันไปเจริญวิปัสสนาตามเงื้อมผา

และโคนไม้ในโอกาสที่เงียบสงัด

และก็ทยอยบรรลุพระอรหัตแล้ว

ก็ลุกขึ้นจากที่นั่งเข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้า

จนครบทั้ง 500 รูป 

อรรถถาได้อธิบายความคิดของพระ

ที่ได้บรรลุพระอรหันต์ไว้ว่า

พระผู้บรรลุพระอรหัตสิ้นกิเลสอาสวะทั้งหลายแล้ว

ย่อมมีความคิดอยู่ 2 อย่างคือ 

1. มีความคิดว่า

คนทุกคนตลอดจนเทวดาทั้งหลาย

ก็สามารถที่จะบรรลุธรรมตามที่เราบรรลุได้เช่นเดียวกัน 

2. พระที่บรรลุธรรมไม่ประสงค์

จะบอกคุณธรรมที่ตนได้บรรลุแก่ผู้อื่น

เหมือนคนที่ฝังขุมทรัพย์ไว้ไม่ต้องการ

ให้ใครรู้ที่ฝังขุมทรัพย์ของตน 



เมื่อเทวดาทั้งหลายทราบว่า

พระบรมศาสดาประทับอยู่ที่

ป่ามหาวันใกล้กรุงกบิลพัสดุ ์

พร้อมด้วยภิกษุ 500 รูป

ล้วนเป็นพระอรหัตบวชจากราชตระกูล

ต่างก็กล่าวว่า

นี้เป็นสมัยแห่งการประชุมใหญ่ในป่ามหาวัน

พวกเราจักไปชมความงดงามของพระพุทธเจ้า

และพระสงฆ์สาวก ผู้หมดจด

ต่างก็แต่งคาถากล่าวสรรเสริญ

พระพุทธเจ้าและเหล่าสาวก

เทวดาที่มาประชุมกันเวลานั้นมีจำนวนมากมาย

ภิกษุบางรูปก็เห็นเทวดาร้อยหนึ่ง

บางรูปก็เห็นพันหนึ่ง

บางรูปก็เห็นหมื่นหนึ่ง บางรูปก็เห็นแสนหนึ่ง

บางรูปก็เห็นไม่มีที่สิ้นสุด

แตกต่างกันไปตามกำลังญาณของแต่ละองค์

ในยุคของพระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์

จะมีการประชุมเทวดาจำนวนมากเช่นนี้

ก็เพียงครั้งเดียว

 

พระพุทธองค์ ได้ตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า

เทวดาในแสนจักรวาลมาประชุมกัน

เพื่อชมตถาคตและหมู่ภิกษุสงฆ์

เทวดาประมาณเท่านี้แหละ

ได้เคยประชุมกันเพื่อชม

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

ในอดีตกาลแล้ว

และพวกเทวดาประมาณเท่านั้นแหละ

จักประชุมกันเพื่อชม

พร ะอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าในอนาคตกาล

แล้วพระองค์ก็ทรงแนะนำเทวดาแต่ละจำพวก

ให้ภิกษุทั้งหลายฟังตามลำดับ

ตั้งแต่ภุมมเทวดาไปจนถึงพรหมโลก 

ขณะที่เทวดาจากหมื่นจักรวาล

มาประชุมกันจนครบนั้น

ท้องฟ้าโปร่งใส่ไม่มีเมฆหมอก

ก็กลับเกิดเมฆฝนคำรณคำรามกึกก้อง

ฟ้าแลบแปล๊บพราย

พระพุทธองค์ทรงพิจารณาทราบว่า

หมู่มารก็ได้มาด้วย จึงทรงแนะนำให้

ภิกษุรู้จักพญามารเอาไว้ 

พญามารกำลังสั่งบังคับเสนามาร

ให้ผูกเหล่าเทวดาไว้ในอำนาจแห่งกามราคะ

แต่พระพุทธองค์ทรงอธิษฐาน

ไม่ให้เหล่าเทวดาเห็น

พญามารไม่ได้ดั่งใจ

จึงทำให้เกิดฟ้าร้องกึกก้องกัมปนาทไปทั่ว 

โดยปกติในที่จะไม่มีการบรรลุมรรคผล

พระพุทธองค์จะไม่ทรงห้ามมาร

แสดงสิ่งอันน่ากลัวของมาร

แต่ในที่จะมีการบรรลุมรรคผล

พระองค์จะทรงอธิษฐานไม่ให้ใครรู้เห็น

สิ่งที่พญามารกำลังทำ

เนื่องจากการประชุมใหญ่ของเทวดาครั้งนั้น

จะมีเทพบรรลุมรรคผลเป็นจำนวนมาก

พระพุทธองค์จึงทรงอธิษฐาน

ไม่ให้พวกเทวดา

รับรู้สิ่งอันน่ากลัวของหมู่มารนั้น

พญามารนั้นจึงกลับไปด้วยความเดือดดาลฯ 



สวดเมื่อไร สวดแล้วได้อะไร  

มหาสมัยสูตร

เป็นสูตรว่าด้วยสมัย

เป็นที่ประชุมใหญ่ของเหล่าเทพ

ในยุคของพระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์

จะมีการประชุมใหญ่

ของเหล่าเทวดาทั้งหลายเช่นนี้เพียงครั้งเดียว

เทวดาทั้งหลายจึงพากันคิดว่า

พวกเราจะฟังพระสูตรนี้

เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าแสดงมหาสมัยสูตรจบ

เทวดาจำนวนหนึ่งแสนโกฎิได้บรรลุพระอรหันตฺ 

พระสูตรนี้จึงเป็นที่รักที่ชอบใจของพวกเทวดา

เทวดาทั้งหลายต่างก็คิดว่าพระสูตรของตน

เมื่อสวดพระสูตรนี้

จะทำให้เหล่าเทวดาทั้งหลายประชุมกัน

เมื่อเทวดาประชุมกันก็จะทำให้สิ่งที่ไม่ดีทั้งหลาย

ถอยห่างออกไป

เป็นการป้องกันสิ่งที่ไม่ดีไม่ให้เข้ามาใกล้ตัว 

พระอรรถกถาจารย์จึงแนะนำว่า

"มหาสมัยสูตรนี้ เป็นที่รักที่ชอบใจของเทวดา

ในสถานที่ใหม่เอี่ยม เมื่อจะกล่าวมงคลกถา

ควรสวดพระสูตรนี้"

หมายความว่าในสถานที่สำคัญ

ที่จะประกอบกิจใหม่ หรือในสถานใด

ที่ต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงสิ่งใหม่ๆ

เมื่อจะสวดมงคลกถาในสถานที่เช่นนี้

ควรสวดมหาสมัยสูตรนี้ 

เนื่องจากมหาสมัยสูตรเป็นสูตรใหญ่

จึงไม่นิยมใช้สวดในงานทำบุญทั่ว ๆ ไป

แต่จะนิยมนำไปสวดเฉพาะในพิธีที่เกี่ยวข้องกับ

ความอยู่่เย็นเป็นสุขของทางบ้านเมืองเป็นหลัก

นอกนั้นแล้ว การเจริญพระพุทธมนต์

ยังเป็นรูปแบบของการเจริญสมาธิภาวนาอย่างหนึ่ง

แต่แทนที่จะใช้วิธีนั่งบริกรรมให้จิต

เกาะเกี่ยวอยู่กับคำใดคำหนึ่ง

หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งเพียงอย่างเดียว

เพื่อเป็นสื่อให้เข้าถึงความสงบ

ก็ใช้วิธีจิตเกาะเกี่ยวไปกับอักขระเป็นเกาะแสเช่นนี้

ไม่ปล่อยให้ความรัก โลภ โกรธ หลง กามราคะ

อาฆาตพยาบาท ได้โอกาสแทรกเข้ามาครอบงำจิต

ทำให้จิตมีความผ่องใส

เป็นจิตมีพลังในการต้านทานกิเลส

ที่จะเข้ามามีอำนาจเหนือสติปัญญา

จิตเช่นนี้เป็นจิตสงบ คือสงบจากกามราคะ

อาฆาตพยาบาท

หงุดหงิด ฟุ้งซ่าน รำคาญ เบื่อหน่าย

จึงชื่อว่า "จิตเป็นสมาธิ"


จากหนังสือ "มหาสมัยสูตร"

บทสวดมนต์เพื่อความร่มเย็นแห่งแผ่นดิน

และเพื่อสันติภาพโลก

รวบรวมโดย พระมหาเหลา ประชาษฎร์
ขอขอบคุณที่มาของข้อมูลที่มา

http://www.dhammathai.org/indexthai.php

ผู้แสดงความคิดเห็น โฆษิต ควรหาเวช (kosit-dot-koanhavej-at-nectec-dot-or-dot-th) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2012-02-23 00:23:58


ความคิดเห็นที่ 78 (1601035)

หลังจากที่พระพุทธองค์ตรัสรู้มาได้ ๙ เดือนแล้ว

วันหนึ่งตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓

(วันมาฆบูชา) ตรงกับวันสำคัญของศาสนาพราหมณ์

คือเป็นวันทำพิธีลอยบาป ที่เรียกว่า ศิวราตรี

วันนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ทรงประทับอยู่ ณ เวฬุวนาราม

ในตอนบ่ายภิกษุสาวก จำนวน ๑,๒๕๐ รูป

ซึ่งล้วนเป็นพระอรหันต์ขึณาสพ

ได้เดินทางมา ณ ที่นี้

โดยที่มิได้นัดหมายกันไว้ก่อนเลย

นับเป็นเหตุการณ์ที่ไม่น่าจะเป็นไปได้

การประชุมในวันนั้น เรียกว่า "จาตุรงคสันนิบาต"

เพราะเป็นการประชุมประกอบด้วยองค์ ๔ คือ


วันนั้นพระจันทร์เต็มดวง

(เสวยมาฆฤกษ์) (เพ็ญเดือนสาม)

ภิกษุสาวก ๑,๒๕๐ รูป

มาประชุมพร้อมเพรียงกันโดยมิได้นัดหมาย


ท่านเหล่านั้นล้วนเป็นพระอรหันต์

(ผู้ได้อภิญญา ๖) ทั้งสิ้น
ท่านเหล่านั้นล้วนเป็นผู้ที่พระพุทธองค์ทรงบวชให้ทั้งสิ้น

(เอหิภิกขุอุปสัมปทา)


ในการประชุมครั้งนี้

พระพุทธองค์ได้ทรงแสดง "พระโอวาทปาติโมกข์"

คือหลักคำสอนที่เป็นหัวใจสำคัญของพระพุทธศาสนา

โดยตรัสเป็นพระคาถา ดังต่อไปนี้


สัพพะปาปัสสสะ อะกะระณัง,

การไม่ทำบาปทั้งปวง,

กุสะลัสสูปะสัมปะทา,

การทำกุศลให้ถึงพร้อม,

สะจิตตะปะริโยทะปะนัง

การชำระจิตของตนให้บริสุทธิ์ผ่องใส,

เอตัง พุทธานะสาสะนัง,

ธรรม ๓ อย่างนี้

เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย.

ขันตี ปะระมัง ตะโป ตีติกขา, ขันติ

คือความอดกลั้น

ป็นธรรมเครื่องเผากิเลสอย่างยิ่ง,

นิพพานัง ปะระมัง วะทันติ พุทธา,

ผู้รู้ทั้งหลาย

กล่าวพระนิพพานว่าเป็นธรรมอันยิ่ง,

นะ หิ ปัพพะชิโต ปะรูปะฆาตี,

ผู้กำจัดสัตว์อื่นอยู่ ไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิตเลย,

นะ สะมะโณ โหติ ปะรัง วิเหฐะยันโต,

ผู้ทำสัตว์อื่นให้ลำบากอยู่ ไม่ชื่อว่าเป็นสมณะเลย.

อะนูปะวาโท อะนูปะฆาโต,

การไม่พูดร้าย, การไม่ทำร้าย,

ปาติโมกเข จะ สังวะโร,

การสำรวมในปาติโมกข์,

มัตตัญญุตา จะ ภัตตัสมิง,

ความเป็นผู้รู้ประมาณในการบริโภค,

ปันตัญจะ สะยะนาสะนัง,

การนอน การนั่ง ในที่อันสงัด,

อะธิจิตเต จะ อาโยโค,

ความหมั่นประกอบในการทำจิตให้ยิ่ง,

เอตัง พุทธานะสาสะนัง.

ธรรม ๖ อย่างนี้ เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย.

เพื่อเป็นการปฏิบัติตาม

พระโอวาทปาฏิโมกข์ของ

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

"ทำความดี ละเว้นความชั่ว

ทำจิตใจให้บริสุทธิ์"

ที่มา : board.palungjit.com/f69/%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%A1%E0%B8%AD%E0%B8%9A%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%AA%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%98%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%B0%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B8%AA%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%98%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%B0%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%A7%E0%B8%87%E0%B8%9E%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%A4%E0%B8%B2%E0%B8%A9%E0%B8%B5%E0%B8%A5%E0%B8%B4%E0%B8%87%E0%B8%94%E0%B8%B3-276730.html

ผู้แสดงความคิดเห็น โฆษิต ควรหาเวช (kosit-dot-koanhavej-at-nectec-dot-or-dot-th) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2012-03-08 03:11:58


ความคิดเห็นที่ 79 (1604759)
image

เหตุแห่งการสังคายนาพระไตรปิฎก

ในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช

ถาม : อนันตริยกรรมที่ว่ายุให้สงฆ์แตกกัน

คนที่ยุต้องเป็นพระเท่านั้นใช่ไหมครับ ?

ตอบ : ฆราวาสก็ทำได้

ขอให้ยุให้พระแตกกันได้ก็ใช้ได้แล้ว

สมัย พระเจ้าอโศกมหาราช

ก็เกิดลักษณะที่คล้ายคลึงกับสังฆเภทขึ้นมา

แต่ไม่ใช่สังฆเภท คือ พวกเดียรถีย์

เห็นว่าพระเจ้าแผ่นดินนับถือศาสนาพุทธ

ให้การอุปถัมภ์นักบวชในพุทธศาสนามาก

จึงปลอมบวชเข้ามา โกนหัวห่มผ้า

กาสาวพัสตร์เข้ามาเอง

โดยไม่ได้ศึกษาหลักธรรมอะไร

ส่วนใหญ่ก็เอาลัทธิเดิมๆ ของตัว

มาสั่งสอนชาวบ้านที่นับถือเลื่อมใส

ทำให้ศาสนาพุทธสับสนปนเปมาก

เมื่อต้องไปลงอุโบสถ

บรรดาพระที่ท่านบวชมาถูกต้อง

ท่านก็ไม่ต้องการที่จะลงอุโบสถด้วย

ก็คือ ไม่ลงโบสถ์ร่วมกัน เพราะว่า

อีกฝ่ายหนึ่งเท่ากับเป็นฆราวาส

เป็นอนุปสัมบันเข้าไปอยู่ในเขตสีมาแล้ว

การทำสังฆกรรมก็ไม่มีผล

พอเรื่องไปถึงพระเจ้าอโศกมหาราช

ท่านก็ใช้ให้อำมาตย์ไปบอกให้

สงฆ์ลงสังฆกรรมร่วมกัน

โดยที่พระองค์ท่านไม่มีความเข้าใจว่า

ผู้ที่อยู่ในแวดวงสังฆกรรมนั้นต้องมีศีลเสมอกัน

เมื่ออำมาตย์ไปถึงก็ไม่เข้าใจคำสั่งเจ้านาย

ใช้วิธีบังคับพระให้ลงสังฆกรรม

พระที่รักศีลท่านก็ไม่ยอมลงสังฆกรรม

อำมาตย์เห็นว่าขัดคำสั่งก็ชักดาบตัดหัวเลย

ศพที่ ๑ ผ่านไป หันมาชี้รูปที่ ๒

ท่านจะลงหรือไม่ลง ?

พอไม่ลงก็ฟันหัวขาดไปอีกคน

คราวนี้ พระติสสะเถระ ท่านเห็น

เกรงว่าจะลงนรกไปมากกว่านี้

ท่านก็เลยมานั่งอาสนะที่ ๓ พอท่านมานั่งเท่านั้น

อำมาตย์เห็นเข้าก็ทำอะไรไม่ถูก

เพราะท่านเป็นพระอนุชาของพระเจ้าแผ่นดิน

อำมาตย์จึงกลับไปกราบทูล

พระเจ้าอโศกมหาราชให้ทราบ

พระเจ้าอโศกพอได้ยินก็พระทัยหายวาบ

บอกว่าให้ไปขอให้พระสงฆ์ลงสังฆกรรมร่วมกัน

แต่อำมาตย์ดันทำเกินเหตุ

ก็เลยไปกราบขอขมาพระ ปรึกษากับ

พระโมคคัลลีบุตรติสสะเถระ ว่า

โยมจะแก้ไขอย่างไรถึงจะลดกรรมนี้ได้

พระโมคคัลลีบุตรติสสะเถระบอกว่า

มีวิธีเดียว คือจัดสังคายนาพระธรรมวินัยใหม่

ท่านพระโมคคัลลีบุตรติสสะเถระบอกว่า

ท่านจะจัดการทางด้านคณะสงฆ์เอง

ว่าจะจัดผู้ใดเข้าทำการสังคายนาพระไตรปิฎก

ส่วนทางบ้านเมืองพระเจ้าอโศกมหาราช

ต้องเป็นผู้จัดการ และให้การอุปถัมภ์

พระที่ทำสังคายนาด้วย

พระเจ้าอโศกมหาราชก็ตกลง

ก่อนที่จะทำสังคายนาก็มี

การชำระพระศาสนา ประกาศให้นักบวชทั้งหมด

มารวมกัน ใครเป็นนักบวชในพระพุทธศาสนา

ให้ออกมาข้างหน้า

พอออกมาแล้วก็กวาดต้อนเข้าไปข้างใน

ปิดประตูวัง ถามว่าใครปลอมบวชมา ?

ถ้าหากว่ายอมสละผ้ากาสาวพัสตร์ออก

แต่โดยดีจะไม่เอาโทษ เปิดประตูให้ออกได้

ก็มีพวกรู้ตัวรีบเผ่นกันเยอะ

แต่ก็มีพวกหน้าด้านอยู่ เพราะเห็นว่าลาภผลมาก

เพราะพระเจ้าแผ่นดินอุปถัมภ์ทุกวัน จึงไม่ยอมไป

พระเจ้าอโศกมหาราชจึงถาม

พระโมคคัลลีบุตรติสสะเถระว่า

ควรจะแก้ไขอย่างไร ?

ท่านทูลว่า ให้ถามว่าพระพุทธเจ้าสอนอะไร

ถ้าเป็นพระสงฆ์ในพระพุทธศานาจริงต้องตอบได้

สรุปว่าครั้งนั้นโดนประหารไป

ประมาณ ๒-๓ หมื่นคน..!

ขนาดไปก่อนหน้านั้นเป็นครึ่งๆ แล้วนะ

เวลาพระเจ้าอโศกมหาราชออกรบครั้งหนึ่ง

ท่านจัดการไป ๒-๓ แสนศพ

เสร็จแล้วท่านก็ไปนั่งสลดใจ

ว่าต้องฆ่าเขามากขนาดนี้ พอดีไปเจอ

นิโครธสามเณร

แนะนำหลักธรรมทางพุทธศาสนาให้

พระองค์ท่านเกิดความเลื่อมใสขึ้นมา

เปลี่ยนจาก ยุทธวิชัย มาเป็น ธรรมยุทธ แทน

จะไม่ชนะด้วยการรบแต่เอาชนะด้วยธรรม

พระองค์จึงให้การคุ้มครองอุปถัมภ์ค้ำชู

แก่ประเทศเล็กกว่า อ่อนแอกว่า

พอพระองค์ท่านมีแสนยานุภาพมาก

และให้การปกป้องคุ้มครองลักษณะนั้น

เมืองอื่นเห็นว่าไม่ต้องไปรบราฆ่าฟันกัน

ก็ยอมมาเป็นเมืองขึ้นแต่โดยดี

นฝีมือสามเณรตัวนิดเดียวแนะนำให้

พระองค์ท่านเห็นประโยชน์

จึงอุปถัมภ์ศาสนาพุทธเป็นการใหญ่

งานนั้นก็เลยมีการ

สังคายนาพระธรรมวินัยอยู่ ๙ เดือน

พระโมคคัลลีบุตรติสสะเถระ

รวบรวมพระอรหันต์ทั้งหมด ๑,๐๐๐ รูป

ทำการสังคายนาอยู่ ๙ เดือน

แล้วก็ทูลให้คำแนะนำว่า ควรที่จะส่งสมณทูตออกไป

เผยแผ่ในแคว้นต่างๆ เพื่อที่พระธรรมวินัย

จะได้กว้างไกลออกไป

ตรงจุดนี้เป็นจุดที่บอกว่า

พระโมคคัลลีบุตรติสสะเถระท่านเห็นอนาคต

ชัดเจนเลยว่า

ต่อไปศาสนาพุทธจะอยู่ในอินเดียไม่ได้

ถ้าไม่เร่งส่งออกไปข้างนอกก่อน

เดี๋ยวพุทธศาสนาจะสูญหมด

จึงส่งออกไป ๙ สาย

สายที่ ๘ มาถึง สุวรรณภูมิ

พอสายที่ ๘ มาถึง สุวรรณภูมิ

ก็ตียาวลงไปถึง ทวารวดี ศรีวิชัย

ตอนนี้ศรีวิชัยกลายเป็นอาณาจักรของอิสลามไปแล้ว

ยังโชคดีที่อิสลามเก่าๆ ถือหลักศาสนาเคร่งครัด

เขาถือว่าการเหยียบย่างเข้าไปในศาสนสถาน

ของศาสนาอื่นจะทำให้ตกนรก

บุโรพุทโธ ก็เลยเหลืออยู่ได้

ถ้าเป็นสมัยนี้โดนระเบิดเกลี้ยงไปแล้ว


สนทนากับพระครูวิลาศกาญจนธรรม

(พระอาจารย์เล็ก สุธมฺมปญฺโญ)

เก็บตกจากบ้านวิริยบารมี ต้นเดือนมกราคม ๒๕๕๕

ที่มา : เว็ปพลังจิต ดอท คอม


 ขบวนการเกาะผ้าเหลืองกิน เป็นหมื่นเป็นแสน

เพิ่งทราบว่า มีมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าอโศกมหาราช

เพราะเห็นว่า พระเจ้าแผ่นดินท่านบำรุงพระศาสนา

จึงไม่แปลกใจที่สมัยนี้ ภายใต้แผ่นดินของพระเจ้าอยู่หัว

ที่ทรงครองแผ่นดินโดยธรรม

มีพวกเกาะผ้าเหลืองกินเช่นนี้มากมาย

ตามข่าวที่เราได้ทราบกันเสมอมา

ทำลายพระศาสนา ทำลายชาติไทย

ทำอย่างไรจึงจะจัดการให้หมดไปได้ ?

ผู้แสดงความคิดเห็น โฆษิต ควรหาเวช (kosit-dot-koanhavej-at-nectec-dot-or-dot-th) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2012-04-03 00:25:37


ความคิดเห็นที่ 80 (1609484)

 ดวงจิตจริงมันดวงเดียว
หลวงพ่อพระราชพรหมยาน

 

 

 

หลวงพ่อ:  เขาถามว่า จิตมีกี่ดวง

บอก เอ๊ะ! ของข้ามันมีดวงเดียวนี่นะ

พ่อให้มาดวงเดียว

เขาบอกผิดตำรา ถามตำราของแกมีกี่ดวง

เขาบอกอย่างย่อมัน ๘๐ อย่างพิสดาร

มี ๑๒๐ กว่าใช่ไหม…ถามมันติดตรงไหนบ้างล่ะ

ติดตั้งแต่ฝ่าส้นตีนขึ้นไปถึงหัวแกใช่ไหม

ยังไม่หมดเลย…” (หัวเราะ)

 

“พระพุทธเจ้าตรัสว่า 
“เอกะจะรัง จิตตัง…จิตดวงเดียวเที่ยวไป” 
ไอ้ที่บอกเป็นหลายดวง
คืออารมณ์เข้ามาสิงจิตอยู่ใช่ไหม..
อย่างจิตมีความโกรธ จิตมีความโลภ
จิตมีความหลง ใช่ไหม..
จิตมีความรัก อารมณ์ของจิตก็ต่างกันไป
นั่นมันเป็นอารมณ์ไม่ใช่ดวงจิต
 
ดวงจิตจริงมันดวงเดียว”
 
 ผู้ถาม:-     “ไอ้ที่มาเกิดก็มาดวงเดียว
ตายแล้วก็ไปดวงเดียว”
 
หลวงพ่อ:- “ใช่…ไอ้พวกนั้นมันหลายดวง
มันต้องเกิดหลายอย่าง
กิดเป็นคนบ้าง
เกิดเป็นหมาบ้าง
เกิดเป็นนกบ้าง อะไรบ้าง
 
ความจริงพระฎีกาจารย์น่ะ
ท่านอธิบายไว้เพื่อความเข้าใจง่าย
ทีนี้ไอ้คนเบื้องหลังไม่เข้าใจตามท่าน
 
ความจริงจิตน่ะ มันดวงเดียว
เหมือนน้ำใส ๆ ใส่แก้วใช่ไหม..
 
ถ้าสีแดงใส่เข้าไป
ไอ้น้ำนั่นน่ะออกเป็นสีแดง
 
ถ้าสีเขียวใส่ไปน้ำก็เป็นสีเขียว
ไอ้นั่นน้ำเปลี่ยนสีไปเพราะใส่สีเข้าไป
 
จริง ๆ แล้ว น้ำมันใส แก้วมันใส
และที่เราทำเวลานี้
เราทำเพื่อให้จิตใสตามเดิม
ถ้าจิตใสตามเดิมก็ไปนิพพานได้
 
เมื่อก่อนนี้มันใสเหมือนกัน
แต่มันใสไม่มีประกายพรึก
จึงต้องเวียนว่ายตายเกิดใช่ไหม
กระทั่งใสด้วยเป็นประกายพรึกด้วย
 
อย่างดวงจิตคนนี่นะ
อะไร….เจโตปริยญาณ
ญาณตัวนี้ดูง่าย คนกี่พันคนก็ตาม
ดูแป๊บเดียวจะรู้ทันที”
 
 ผู้ถาม:-     “แค่เห็นแป๊บเดียวหรือครับ”
 
หลวงพ่อ:- “เป็นหมื่นนะ นึกอยากจะรู้
รู้ใครจิตสีอะไร
จิตจริง ๆ เขานับเป็น ๖ สี
 
แต่ย่อแล้วเป็น ๓ สี
สีแดงเข้มหรือสีแดงอ่อน
ได้ทั้งสองใช่ไหม…สีดำ
 
ดำปี๋หรือดำอ่อน ๆ มัว ๆ…สีขาวจัด
หรือขาวมัว ๆ มันไม่เหมือนกัน
เอาแค่นี้แค่ ๓ สีพอ
 
ถ้าสีแดงเป็นจิตที่มีอารมณ์แจ่มใส
ดีใจเพราะได้ของที่ชอบใจน่ะ
ถ้าจิตสีดำมีทุกข์ จิตสีขาวจิตสบาย
 
ถ้าจิตสีใสเป็นจิตของฌาน ๔
ถ้าจิตเป็นประกายพรึก
เป็นจิตของพระอรหันต์
 
ผู้ถาม:-     “ทีนี้เลยถามต่อไปเลยว่า
ถ้าเป็นพระโสดาบัน
อทิสสมานกายแต่งตัวยังไง
โสดา สกิทา อนาคา อรหันต์
แตกต่างกันไหมครับ”
 
หลวงพ่อ:- “แตกต่างกัน…
ไม่ต้องพระโสดาหรอก
 
แค่คนที่จะตายเป็นเทวดานี่
ข้างในมันเป็นเทวดาก่อน
 
ไม่ต้องดูเฉพาะจิตนะ
ดูเฉพาะตัวข้างในนี่
 
เรียก “อทิสสมานกาย” นะ
มันจะบอกเลย
รูปร่างลักษณะเป็นอย่างนั้น
 
อย่างจะเป็นสัตว์นรก
ก็เห็นเลยเป็นสัตว์นรก
มีสภาพอะไรบ้างรู้เลย…เรื่องเล็ก ๆ”
 
ผู้ถาม:-     “อ๋อ…นี่ไม่ใช่ใหญ่เลยหรือครับนี่”
 
หลวงพ่อ:- “เล็ก…มันเล็กมาก
หยิบไม่ค่อยถูก
หยิบไม่ติดมือ…” (หัวเราะ)
 
ผู้ถาม:-     “อย่างนี้ถ้าหากว่า
ได้เจโตปริยญาณนี่
มองคนปุ๊บ! จะรู้ทันทีเลยหรือครับ”
 
หลวงพ่อ:- “คือว่าความจริง
ไม่ต้องมองคนหรอก
แค่รู้ชื่อต้องการจะรู้เท่านั้นใช้ได้”
 
ผู้ถาม:-     “ไม่เคยเห็นหน้าเลยหรือครับ”
 
หลวงพ่อ:- “ไม่เคยเห็น
ไม่เคยรู้จักกัน ไม่จำเป็น”
 
ผู้ถาม:-     “แล้วมีอีกอย่างหนึ่งครับ
เกี่ยวกับการสอนเรื่องนรกสวรรค์นี่…”
 
หลวงพ่อ:- “ความจริงในพระไตรปิฎก
ท่านก็ยืนยัน เรื่องนรกสวรรค์นี่มีจริง
เรื่องนรกยืนยันตั้งแต่เล่ม ๑”
 
ผู้ถาม:-     “ที่เป็นมหาเปรียญได้
ก็ต้องผ่านแปลมาก่อน ก็ต้อง…”
 
หลวงพ่อ:- “ไอ้นั่นแปลผ่านมาแล้วทั้งนั้น
มาเป็นมิจฉาทิฏฐิร้ายกาจมาก
ก็เป็นเรื่องแปลก
เรียนผ่านแล้ว แล้วเวลาไปเทศน์โปรดเขา
แต่ว่าตัวเองไม่ทำ
 
ไอ้นั่นยังดีกว่าไปคัดค้าน
พระไตรปิฎก…นี่หนักมาก”
 
ผู้ถาม:-     “และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง
ที่บอกว่าไม่ดี
แล้วยังสอนคนไม่ให้เชื่อ
ทำลายล้างพระพุทธศาสนา”
 
หลวงพ่อ:- “ไอ้ที่พูดแบบนั้นเห็นแก่
แบ็งค์อย่างเดียว เห็นแค่ค่าจ้าง”
 
ผู้ถาม:-     “ต้องมีอะไรอยู่นะครับ”
หลวงพ่อ:- “ใช่ ๆ ๆ”
 
ผู้ถาม:-     “ผมนึกว่าพวกมิจฉาทิฏฐินี่
ท่านปู่พระยายมน่าจะส่งลูกน้อง
เอากระบอกเล็ก ๆ
มาอบรมสั่งสอนสัก…
โป๊ก ๆ ๆ จะได้รู้เสียที”
 
หลวงพ่อ:- “ไม่เป็นไรหรอก
ท่านมีเตาอุ่นให้แล้ว ไปอยู่นาน ๆ”
 
ผู้ถาม:-     “ผมมานึกถึง เอ๊ะ!
ทำไมเด็ก ๕-๙ ขวบไปกันคล่อง
เที่ยวสนุกสนานเพลิดเพลิน
ที่วัดอะไรที่ฝั่งธนบุรี เป็นมหา…ประโยคนี่
ไม่เชื่อและก็ปฏิเสธ
 
พอสุดท้ายก็เจอเด็กดีวัดท่าซุง
ลูกศิษย์วัดท่าซุง อายุประมาณ ๙ ขวบ
เด็กได้มโนมยิทธิ ก็มีข้อแม้กันนะครับ
 
ถ้าเด็กตอบได้ตอบถูกต้อง
ตามความเป็นจริง
พระตั้งแต่นี้เป็นต้นไป
ต้องเจริญกรรมฐานทุกวัน
 
เขาต่อรองกันยังงั้นเลยนะครับ
 
พระก็ถามว่า ไอ้หนู! ไอ้ที่ว่านรก สวรรค์
พรหม มีจริงไหม มีจริงมีอะไรเป็นข้อพิสูจน์
เด็กก็บอกว่า เอายังงี้ซิครับ…หลวงอา
ดื่มน้ำร้อนไม่ต้องเป่า
ซดโป้งไปมันร้อนหรือเย็น
มหานั่นบอกก็ร้อนซิ
 
 เด็กก็บอกว่า นรกนั่น
มันร้อนกว่านั่นหลายแสนเท่า
ไม่เชื่อหลวงอาไปเปิดพระไตรปิฎก
ก็ไปเลย เปิด เออ…จริงว่ะ!
เอ็งพูดถูกว่ะ เอาได้ข้อละ
 
พอถามสวรรค์ แหม…พอพูดสวรรค์
เด็กปรื้ดเลย…พูดคล่อง
ทีนี้มหาทำท่าจะกราบเด็ก เด็กก็บอกว่า
มหากราบพระพุทธรูปแทนก็แล้วกัน
เดี๋ยวนี้มันกลับตาลปัตรกันแล้ว
ก็ยังโชคดีสำนึกได้แล้วก็กลับตัวใหม่
 
หลวงพ่อ:-
ความจริงก็ต้องว่าเลวมาก
ตั้ง ๗ ประโยค
แต่เสือกคัดค้านพระไตรปิฎก

ที่มา : buddhasattha.com/

ผู้แสดงความคิดเห็น โฆษิต ควรหาเวช (kosit-dot-koanhavej-at-nectec-dot-or-dot-th) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2012-05-07 13:04:20


ความคิดเห็นที่ 81 (1610703)


 

บุญญกิริยาวัตถุสูตร
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๓  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๕
อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต

[๑๒๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุญกิริยาวัตถุ ๓ ประการนี้

๓ ประการเป็นไฉน คือ

บุญกิริยาวัตถุสำเร็จด้วยทาน ๑ บุญกิริยาวัตถุสำเร็จด้วยศีล ๑
บุญกิริยาวัตถุสำเร็จด้วยภาวนา

๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้
ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยทานนิดหน่อย

ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยศีลนิดหน่อย
ไม่เจริญบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยภาวนาเลย

เมื่อตายไป เขาเข้าถึงความ
เป็นผู้มีส่วนชั่วในมนุษย์ ฯ

             ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้

ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยทานพอประมาณ

ทำบุญกิริยาวัตถุสำเร็จด้วยศีลพอประมาณ

ไม่เจริญบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยภาวนาเลย

เมื่อตายไป เขาเข้าถึงความเป็นผู้มีส่วนดีในมนุษย์ ฯ


             ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้

ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยทานมีประมาณยิ่ง

ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยศีลมีประมาณยิ่ง

ไม่เจริญบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยภาวนาเลย

เมื่อตายไป เขาเข้าถึงความเป็นสหาย

แห่งเทวดาชั้นจาตุมมหาราช

ดูกรภิกษุทั้งหลาย มหาราชทั้ง ๔ ในชั้นนั้น

ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยทานเป็นอดิเรก

ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยศีลเป็นอดิเรก ย่อมก้าวล่วง
เทวดาชั้นจาตุมมหาราชโดยฐานะ ๑๐ ประการ คือ

อายุทิพย์ วรรณทิพย์ สุขทิพย์
ยศทิพย์ อธิปไตยทิพย์ รูปทิพย์ เสียงทิพย์ กลิ่นทิพย์

รสทิพย์ โผฏฐัพพทิพย์ ฯ


             ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้

ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยทานมีประมาณยิ่ง

ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยศีลมีประมาณยิ่ง

ไม่เจริญบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยภาวนาเลย

เมื่อตายไป เขาเข้าถึงความเป็นสหายแห่ง

เทวดาชั้นดาวดึงส์

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ท้าวสักกะจอมเทพในชั้นดาวดึงส์นั้น

กระทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยทานเป็นอดิเรก

ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยศีลเป็นอดิเรก

ย่อมก้าวล่วงพวกเทวดาชั้นดาวดึงส์

โดยฐานะ ๑๐ ประการ

คือ อายุทิพย์ ฯลฯ โผฏฐัพพทิพย์ ฯ


             ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้

ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยทานมีประมาณยิ่ง

ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยศีลมีประมาณยิ่ง

ไม่เจริญบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยภาวนาเลย

เมื่อตายไป เขาเข้าถึงความเป็นสหาย

แห่งเทวดาชั้นยามา

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ท้าวสยามเทพบุตรในชั้นยามานั้น

ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยทานเป็นอดิเรก

ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยศีลเป็นอดิเรก

ย่อมฃก้าวล่วงเทวดาชั้นยามาโดยฐานะ ๑๐ ประการ

คือ อายุทิพย์ ฯลฯ โผฏฐัพพทิพย์ ฯ


             ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้

ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยทานมีประมาณยิ่ง

ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยศีลมีประมาณยิ่ง

ไม่เจริญบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยภาวนาเลย

เมื่อตายไป เขาเข้าถึงความเป็นสหาย

แห่งเทวดาชั้นดุสิต

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ท้าวสันดุสิตเทพบุตรในชั้นดุสิตนั้น

ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยทานเป็นอดิเรก

ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยศีลเป็นอดิเรก

ย่อมก้าวล่วงเทวดาชั้นดุสิตโดยฐานะ ๑๐ ประการ

คือ อายุทิพย์ ฯลฯ โผฏฐัพพทิพย์ ฯ


             ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้

ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยทานเป็นอดิเรก

ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยศีลเป็นอดิเรก

ไม่เจริญบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยภาวนาเลย

เมื่อตายไป เขาเข้าถึงความเป็นสหาย

แห่งเทวดาชั้นนิมมานรดี

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ท้าวสุนิมมิตเทพบุตร

ในชั้นนิมมานรดีนั้น ทำบุญกิริยาวัตถุ

ที่สำเร็จด้วยทานเป็นอดิเรก

ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยศีลเป็นอดิเรก

ย่อมก้าวล่วงเทวดาชั้นนิมมานรดี

โดยฐานะ ๑๐ ประการ คือ อายุทิพย์ ฯลฯ
โผฏฐัพพทิพย์ ฯ
             

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้

ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยทานมีประมาณยิ่ง

ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยศีลมีประมาณยิ่ง

ไม่เจริญบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยภาวนาเลย

เมื่อตายไป เขาเข้าถึงความเป็นสหาย

แห่งเทวดาชั้นปรนิมมิตวสวัตตี

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ท้าวปรนิมมิตวสวัตตีเทพบุตร

ในชั้นปรนิมมิตวสวัตตีนั้น

ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยทานเป็นอดิเรก

ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยศีลเป็นอดิเรก

ย่อมก้าวล่วงเทวดาชั้นปรนิมมิตวสวัตตี

โดยฐานะ ๑๐ประการ คือ อายุทิพย์ วรรณทิพย์ สุขทิพย์

ศทิพย์ อธิปไตยทิพย์ รูปทิพย์

เสียงทิพย์ กลิ่นทิพย์ รสทิพย์ โผฏฐัพพทิพย์

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุญกิริยา
วัตถุ ๓ ประการนี้แล ฯ

 

ผู้แสดงความคิดเห็น โฆษิต ควรหาเวช (kosit-dot-koanhavej-at-nectec-dot-or-dot-th) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2012-05-15 01:48:35


ความคิดเห็นที่ 82 (1612859)

จากพระไตรปิฎกเล่มที่ 19  หน้า 490 - 491

ทุติยอานันทสูตร

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามพระอานนท์ว่า

ดูก่อนอานนท์ ธรรมอย่างหนึ่ อันภิกษุเจริญแล้วกระทำให้มาก

แล้ว ย่อมทำให้เกิดธรรม 4 ข้อให้บริบูรณ์ ธรรม 4 ข้อเมื่อ ภิกษุ

เจริญปฏิบัติให้มากแล้วย่อมทำให้เกิดธรรม 7 ข้อ ให้บริบูรณ์

ธรรม 7 ข้อ อันภิกษุเจริญปฏิบัติให้มากแล้ว ย่อมทำให้เกิด

ธรรม 2 ข้อ ให้บริบูรณ์ธรรมเหล่านั้นคืออะไร

พระอานนท์ทูลตอบว่า

ข้าแต่องค์สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้เจริญ

ธรรมของข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลาย มีพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็น

พื้นฐานอยู่พระพุทธเจ้าข้า

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า                            

ธรรมอย่างหนึ่งมีอยู่คือ อานาปานุสติกรรมฐาน


คือการกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก จนมีสมาธิ คือ

จิตเป็นหนึ่งตั้งมั่นไม่วอกแวกอันภิกษุภาวนาเจริญให้มาก

ทำให้มากแล้วย่อมทำให้เกิดธรรมะ 4 ข้อ คือ มหาสติ

ปัฏฐานสูตร 4 ให้บริบูรณ์ครบถ้วน เมื่อมีมหาสติปัฎฐาน

ทำให้มากเจริญให้มาก ย่อมทำให้เกิดธรรม 7 อย่าง คือ

โพชฌค์ 7 ให้บริบูรณ์ครบถ้วน เมื่อภิกษุเจริญโพชฌงค์ 7

ให้มากเจริญให้มาก ย่อมทำให้เกิดธรรมะ 2 อย่างให้บริบูรณ์

ธรรมะ 2 อย่างนั้น คือ วิชชาความรู้ถูกต้องตามความเป็นจริง

หนึ่ง อันที่สองคือทำให้มีวิมุตติ คือ ความหลุดพ้นจากความทุกข์

พ้นจากกิเลสตัณหา อุปาทาน พ้นจากกฎแห่งกรรม พ้นจาก

การเวียนว่ายตาย จิตสะอาดปราศจากกิเลสจิตผ่องใส เป็นจิต

ของพระอรหัตตผลจิตเป็นสุขอย่างยิ่ง เป็นจิตของผู้เสวยวิมุตติสุข

คือ พระนิพพาน

    

ผู้แสดงความคิดเห็น สมจิต โพธิ์นิล (shindo_ploy-at-hotmail-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2012-05-29 11:26:34


ความคิดเห็นที่ 83 (1631768)

ผลแห่งความเป็นสมณะ หรือ

ผลแห่งการบำเพ็ญคุณงามความดี
 
ซึ่งอยู่ในพระไตรปิฎกฉบับที่ทำให้อ่านง่ายแล้ว
(เรียบเรียงโดย วศิน อินทสระ)หน้า 39
ซึ่งพระพุทธองค์ทรงแสดงธรรม
ให้แก่พระเจ้าอชาตศัตรู ดังต่อไปนี้
1.    ผู้ที่เคยเป็นทาส เมื่อบวชแล้วย่อมพ้นจากความเป็นทาส และได้รับการยกย่องนับถือ เคารพกราบไหว้ ให้เกียรติ ถวายปัจจัย 4 ด้วยความเคารพอ่อนน้อม แม้จากผู้ที่เคยเป็นนาย
2.    ผู้ที่เคยทำนา หรือ มีอาชีพเป็นกรรมกรอย่างอื่น เมื่อบวชแล้วก็พ้นจากความเป็นชาวนาหรือกรรมกร และกลับเป็นที่เคารพยกย่องให้เกียรติ
ของคนทุกชั้น ตั้งแต่พระราชาลงมา
สองประการนี้เป็นผลทางโลกที่เห็นได้ในปัจจุบัน
3.    ผู้เป็นคหบดี หรือบุตรของคหบดี (คหบดี คือ เศรษฐี) ผู้ออกบวชด้วยความศรัทธา มีความเลื่อมใสในพระรัตนตรัย สำรวมในศีลดีแล้ว สมบูรณ์ด้วยศีลระดับต่าง ๆ
    ทั้งจุลศีล มัชณิมศีล และมหาศีลแล้ว
 
สำรวมอินทรีย์ คือ ระวังตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ มิให้ความยินดียินร้ายเข้าครอบงำได้ในเวลาเห็นรูป ฟังเสียง เป็นต้น
มีสติสัมปชัญญะ (ระลึกได้และรู้ตัวเสมอในการทำ พูด คิด)
มีความสันโดษ ยินดี พอใจด้วยปัจจัย 4 ตามมีตามได้
ปลีกตนออกไปอยู่ในเสนาสนะอันสงัด
 
บำเพ็ญศีลสมถะภาวนาทำให้ใจสงบเป็นสมาธิ ย่อมละนิวรณ์ 5 ได้ คือ ละกามฉันท์ (ความพอใจในกาม) พยาบาท (ความคิดปองร้ายผู้อื่น) ถีนมิทธะ (ความง่วงงุนเกียจคร้าน) อุทธัจจกุกกุจจะ (ความฟุ้งซ่านและรำคาญ) และวิจิกิจฉา (ความลังเลสงสัยในกุศลธรรม หรือคุณงามความดี) เสียได้
 
มีความรู้สึกปลอดโปร่ง เบากาย สบายใจ เหมือนคนเป็นหนี้แล้วพ้นจากหนี้ เคยเป็นโรคที่ร้ายแรงแล้วหายจากโรค เคยติดคุกจองจำแล้วพ้นจากคุก พ้นจากเครื่องจองจำ เคยเป็นทาสแล้วพ้นจากความเป็นทาส เคยเดินทางไกลกันดารเต็มไปด้วยภัยอันตรายแล้วข้ามพ้นทางไกลกันดารถึงแดนอันเกษม ปลอดภัย ย่อมมีความชื่นชมโสมนัส ฉันใดก็ฉันนั้น
 
ภิกษุนั้นเมื่อละนิวรณ์ 5 ได้แล้ว ย่อมบรรลุณานที่ 1 อันประกอบด้วยองค์ 5 คือ วิตก (อาการที่จิตจับอารมณ์ได้ ไม่ฟุ้งซ่านไปที่อื่น) วิจาร (อาการที่จิตเคล้าอยู่กับอารมณ์) ปีติ (ความอิ่มใจ กายเบา) สุข (ความสุขใจ) และเอกัคคตา (ความสงบนิ่งแห่งใจ ความที่ใจเป็นหนึ่ง ตั้งมั่นไม่หวั่นไหว)
 
เพื่อความเข้าใจ ขอนำตัวอย่างของอารมณ์ปฐมฌาน
ของหลวงพ่อพระราชพรหมยาน (หลวงพ่อฤาษีลิงดำ)
มาประกอบความเข้าใจ ดังนี้

ปฐมฌานนี่มีองค์ ๕ คือ มี วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา
คำว่าวิตกก็ได้แก่ อารมณ์นึกที่เราจะกำหนดรู้ลมหายใจเข้าหายใจออก
วิจารก็ได้แก่ การรู้ว่าเวลานี้เราหายใจเข้าหรือว่าหายใจออก หายใจเข้ายาวหรือสั้น หายใจออกยาวหรือสั้น หรือว่าจะพูดกันถึงในกรรมฐาน ๔๐ เราก็จะมีอารมณ์รู้ว่าเวลานี้ลมกระทบจมูก กระทบหน้าอก กระทบศูนย์เหนือสะดือ สำหรับลมหายใจเข้า ถ้าสำหรับลมหายใจออก ก็จะกระทบศูนย์เหนือสะดือ กระทบหน้าอก กระทบจมูกหรือว่าริมฝีปาก อย่างนี้เป็นอาการของวิจาร จำไว้ให้ดีด้วย
และก็
ปีติเป็นความเอิบอิ่มใจ ตามที่กล่าวมาแล้ว มีความชุ่มชื่น มีความเบิกบาน ไม่มีความอิ่ม ไม่มีความเบื่อ ในการเจริญพระกรรมฐาน สามารถจะรวบรวมกำลังสมาธิเมื่อไหร่ก็ได้
สุขก็ได้แก่ ความสุขเยือกเย็น ที่หาความสุขเปรียบเทียบใดๆ ไม่ได้ และมีความเอิบอิ่มใจมาก
เอกัคคตามีอารมณ์เดียว หมายความว่า ในขณะนั้นจิตจะจับเฉพาะอารมณ์ลมหายใจเข้าออกอยู่ตามปรกติ จิตจะไม่รับอารมณ์ส่วนอื่น
อันนี้เป็นอาการของที่เราจะทราบได้ตามจริยา คือ อาการของปฐมฌาน มีองค์ 5
แต่ทว่าจะพูดถึงความรู้สึก ขณะที่จิตของเราเข้าถึงปฐมฌาน จิตจะจับลมหายใจเข้าออก ลมหายใจจะเบา มีความสุขสดชื่น หูได้ยินเสียงภายนอกชัดเจนแจ่มใส แต่ทว่าไม่รำคาญในเสียง
จะเป็นเสียงดังจะเป็นเสียงเบา เสียงเพลง เสียงทะเลาะกัน เอะอะโวยวายของขี้เมา ขี้เหล้าเมายาก็ตาม เราไม่รำคาญในเสียง สามารถจะคุมอารมณ์ได้ตามปรกติ อย่างนี้เรียกว่า ปฐมฌาน
และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง กำลังจิตสำหรับผู้ฝึกที่จะเข้าปฐมฌานนั้น ก็มีความสำคัญอยู่จุดหนึ่ง คือ ขณะที่จิตก้าวเข้าไปสู่ปฐมฌานเบื้องแรก กำลังของจิตยังไม่มั่นคง
ตอนนี้เวลาที่เราจับลมหายใจเข้าออกจะมีอารมณ์สงัด จะมีสภาพนิ่งคล้ายๆ อาการเคลิ้ม บางทีเราคิดว่าเราหลับแต่ความจริงไม่หลับ ถ้าหลับมันจะโงกหน้าโงกหลัง
อาการเช่นนั้นที่เกิดขึ้นกับเรา มีอาการเฉยๆ ตัวตั้งตรง แต่ว่ามีอาการเคลิ้มลืมตัวเหมือนหลับ สักครู่เดียวหรือประเดี๋ยวเดียว จะมีอาการหวิวคล้ายตกจากที่สูง และเราก็ไม่สามารถจะนำอารมณ์นั้นขึ้นมาใช้ได้อีก เพียงแค่รักษาอารมณ์สบาย
อาการอย่างนี้ ขอท่านทั้งหลายพึงทราบ ว่านั่นสมาธิจิตของท่าน ขณะที่มีอารมณ์สบายเงียบสงัด มีอาการคล้ายเคลิ้มเหมือนหลับ เป็นอาการจิตหยาบของอารมณ์หยาบของปฐมฌาน เป็นการก้าวขึ้นสู่ปฐมฌานแบบหยาบๆ

แต่ทว่าจิตไม่สามารถจะทรงฌานอยู่ได้ จิตพลัดจากฌาน จะมีอาการหวิวคล้ายกับตกจากที่สูง ถ้ามีอาการอย่างนี้เกิดขึ้น ก็จงอย่าสนใจ มันจะเป็นยังไงก็ช่าง เราก็รักษาอารมณ์ปรกติไว้ ได้เท่าไหร่พอใจเท่านั้น

ผู้แสดงความคิดเห็น โฆษิต ควรหาเวช ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2012-10-01 04:54:59


ความคิดเห็นที่ 84 (1635609)
image

ทิฏฐิ หรือ ทรรศนะ คือ ความเห็นต่าง ๆ

(พรหมชาลสูตร เล่ม ๙ ข้อ ๙ -๑๐)
 
คราวหนึ่ง พระพุทธเจ้าพร้อมด้วยภิกษุสาวกเสด็จเดินทางจากกรุงราชคฤห์ ไปเมืองนาลันทา โดยมีปริพาชก (นักบวชลัทธิหนึ่งสมัยพุทธกาล) เดินทางตามหลังมา คนหนึ่ง คือ สุปปิยปริพาชก กับลูกศิษย์หนุ่ม ชื่อพรหมทัต ทั้งอาจารย์และศิษย์ต่างถกเถียงกันในเรื่องเกี่ยวกับพระพุทธเจ้า สุปปิยปริพาชกผู้เป็นอาจารย์ กล่าวติพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ส่วนพรหมทัตมาณพกล่าวสรรเสริญพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์

พระภิกษุที่เดินทาง เมื่อได้ยินคำติคำชมของทั้งศิษย์ และอาจารย์ ต่างก็นำเรื่องนี้มาสนทนากันในเวลาใกล้รุ่ง พระพุทธเจ้าเมื่อได้ทราบคำสนทนาของพระภิกษุ ก็เสด็จไปตรัสถามว่านั่งประชุมสนทนากันเรื่องอันใด

เหล่าภิกษุกราบทูลว่ากำลังคุยกันถึงเรื่องของ
สุปปิยปริพาชก และ พรหมทัต ที่ถกเถียงกันเรื่องติ และชมพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ พระพุทธเจ้าจึงตรัสเตือนด้วยความเมตตาว่า
 
ถ้าใครกล่าวติเตียนพระองค์ ติพระธรรมและพระสงฆ์ ก็อย่าโกรธเคือง อาฆาตขุ่นแค้น เพราะถ้าโกรธเคืองเสียก่อนแล้ว จะรู้ได้อย่างไรว่า เขากล่าวถูกหรือผิด และหากมีใครกล่าวชื่นชมพระองค์ ชื่นชมพระธรรมและพระสงฆ์ ก็อย่าเพิ่งลิงโลดดีใจ เพราะถ้ายินดีเสียก่อนแล้ว รีบรับเอาแล้ว จะรู้ได้อย่างไรว่าเขากล่าวถูกหรือผิด การที่ด่วนโกรธก็ตาม ด่วนดีใจก็ตาม จะเป็นอันตรายแก่เธอทั้งหลาย ทางที่ถูกต้อง คือ ควรพิจารณาว่าที่เขากล่าวนั้นเป็นความจริงหรือไม่ แล้วชี้แจงให้เขาเหล่านั้นทราบ ให้เข้าใจตามที่เป็นจริง
 
พระองค์ได้แสดงทิฏฐิ หรือทฤษฎี หรือทรรศนะต่าง ๆซึ่งในสมัยนั้นมีอยู่ถึง ๖๒ ประการ บางพวกเห็นว่า โลกเที่ยง บางพวกว่าไม่เที่ยง บางพวกว่าโลกมีที่สุด มีขอบเขตจำกัด บางพวกว่าไม่มีที่สุด คือ ไม่มีขอบเขตจำกัด บางพวกว่า โลกหน้ามี ตายแล้วต้องเกิดอีก บางพวกว่า ตายแล้วสูญ
 
สัตว์ทั้งหลายถูกทิฏฐิต่าง ๆ มาคล้องไว้ หมกอยู่ในทิฏฐินั้นเหมือนปลาติดตาข่าย ไม่อาจดิ้นให้หลุดได้ พวกเขาพอใจ ติดใจในผัสสะแห่งอายตนะต่าง ๆ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ มีความทะยานอยาก มีความยึดมั่น หรือ ติดใจ ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดความทุกข์เป็นอันมาก ส่วนพระองค์เองเป็นผู้ตัดตัณหาอันเป็นเหตุให้ต้องวนเวียนเกิดในภพน้อยใหญ่ได้แล้ว (จึงไม่ต้องเกิดอีกต่อไป เหมือนปลาที่หลุดตาข่าย)
ผู้แสดงความคิดเห็น โฆษิต ควรหาเวช ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2012-10-20 22:05:47



[1]


Copyright © 2010 All Rights Reserved.