ReadyPlanet.com


แผนภูมิคำสอนพระพุทธเจ้า


user image

 ผู้จัดทำแผนภูมิคำสอน

 

 

พระครูสมุุห์สุเทพ ชินวโร
วัดเพิ่มธรรมจำเริญสมัยจรรยาวราราม  
 
ขออนุโมทนาบุญด้วยคะ

 



ผู้ตั้งกระทู้ เจิดหทัย สุวรรณากาศ (หนึ่ง) กระทู้ตั้งโดยสมาชิก โพสต์และแสดงความเห็นเฉพาะสมาชิกเท่านั้น :: วันที่ลงประกาศ 2012-06-15 20:57:36


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (1616044)

 คำอธิบายการอ่าน

แผนภูมิคำสอนพระพุทธเจ้า
 
1. วิธีอ่านแผนภูมิ

โครงสร้างของแผนภูมิ ประกอบด้วย อริยสัจจ์ 4, ขันธ์ 5, อายตนะ 6, ธาตุ 18 และ ปฏิจจสมุปบาท 12 ซีงเป็นสาระสำคัญของคำสอนของพระพุทธเจ้า.    การแสดงธัมจักกัปปวัตนสูตร คำสอนครั้งแรกว่าด้วยอริยสัจจ์ 4 ผู้ฟังบรรลุธรรมสูงสุดเป็นพระโสดาบัน;   เมื่อพระพุทธเจ้าแสดงอนัตตลักขณสูตร   ผู้ฟังปัญจวัคคีย์บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ทั้งสิ้น   5 รูป;   พระพุทธเจ้าโปรดชฏิล 3 พี่น้องโยคีผู้บูชาไฟ ด้วยธรรมเทศนา อาทิตตปริยายสูตร ว่าด้วยอายตนะทั้ง 6 ดุจดังไฟทีทำให้สัตว์ทั้งหลายตกอยู่ในกองทุกข์   ผู้ฟังทั้งสิ้นกว่าหนึ่งพันรูป บรรลุอรหันต์;    และต่อมาเรารู้ว่าคำสอนของพระพุทธเจ้าที่สำคัญสอนเรื่องทุกข์และการดับทุกข์   และเห็นว่าคำสอนที่ลึกซึ่งที่สุดเกี่ยวกับทุกข์ก็คือ ปฏิจจสมุปบาท นั่นเอง

 

ใครก็ตามที่ต้องการได้รับผลสูงสุดตามคำสอนของพระพุทธเจ้าก็จะต้องกลับไปศึกษา ปฏิบัติและทบทวน ทำคำสอนเหล่านี้ให้แนบแน่นเข้าไปในจิตใจของเรา จนก้าวสู่อริยะภาวะทางจิตทางใจในชาตินี้

          1.1 โครงสร้างทั้งหมด คือ อริยสัจจ์ โดยทุกขสภาวะได้แสดงไว้ในวงจรด้านซ้ายมือของแผนภูมิ,   สมุทัย จะเกิดขึ้นเป็นลำดับตั้งแต่ (1) – (10),   ส่วนนิโรธ โดยความเป็นจริง เมื่อมีความรู้สึกตัว  ตำแหน่งห่วงโซ่ใด เมื่อนั้นห่วงโซ่นี้ก็ขาดสะบั้นลงทันที แต่ในแผนภูมิจำเป็นต้องบอกไว้เป็นกลับลำดับ จาก (10) –(1), มรรค มีองค์ นั้นลำดับไว้ในแนวนอน เป็นดุจดังแผนที่ชี้นำทางการปฏิบัติ   ส่วนทางด้านขวาของแผนภูมิเป็นมรรค 4 ผล อันเป็นผลมาจากการเดินทางทางจิตว่า ได้ดำเนินมาแล้วมากน้อยเพียงไร กระทั้งเข้าถึงพระนิพพาน เป็นที่สุด

          1.2   เมื่อศึกษา ขันธ์ เปรียบดังเราศึกษาองค์ประกอบการทำงานของรถยนต์ คือ ต้องรู้ทุกส่วนประกอบโดยลักษณะและหน้าที่การทำงานของมัน คุณและโทษอย่างถูกต้อง

          1.3 เมื่อศึกษาปฏิจจสมุปบาท เปรียบเหมือนเราลงมือปฏิบัติ ทำลงไปเป็นปัจจุบันขณะ   ในแง่นี้ จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะยังหลงเหลือความเป็นมิติทางอดีตและอนาคต และไม่มีวัฏฏะ 3 อย่างที่เข้าใจกัน    การเข้าใจให้ถูกต้อง สัมมาทิฏฐิ เป็นเบื้องต้นของมรรคมีองค์ 8

 

ผู้แสดงความคิดเห็น เจิดหทัย สุวรรณากาศ (หนึ่ง) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2012-06-15 21:08:40


ความคิดเห็นที่ 2 (1616045)

****2. อริยสัจจ์ 4 เป็นโครงสร้างคำสอนหลัก ของพระพุทธเจ้า เริ่มต้นที่****

ทุกข์ คือ ภาวะที่บีบคั้นจนไม่สามารถอยู่ในสภาวะเดิมได้  

ทุกข์เริ่มที่ ชาติปิทุกขา ชราปิทุกขา มรณัง......ว่าโดยย่ออุปาทานในขันธ์ เป็นตัวทุกข์   วงจรแรกของทุกข์มี 2 วงจร วงจรเล็ก ๆ คือส่วนที่เปรียบเป็นกาย มีเกิด แก่ เจ็บ ตาย ปัจจุบันเรารู้แล้วว่า กายประกอบด้วยเซลล์ต่าง ๆ มีเกิดและตายตลอดเวลา   เพราะมีกาย จึงเป็นบาทฐานใหมีจิต มีความรู้สึกนึกคิด เป็นไปในอารมณ์ต่าง ๆ ความโศก ความร่ำไรรำพัน ความไม่สบายกาย ความไม่สบายใจ และความคับแค้นใจทั้งหลาย   เป็นลักษณะทั่วไป 5 ชนิด และเสมือนมีเหตุจากภายนอกทำให้ทุกข์อีก 3 ชนิด และเมื่อรวมทั้งสิ้นแล้ว สรุปได้ว่าความทุกข์เกิดจากอุปาทานในขันธ์ 5

     เพราะความเกิดเป็นเบื้องต้นทั้งหมดของทุกข์ หากไม่มีเกิดก็คงไม่มีทุกข์   ดังนั้น เราจะต้องศึกษาว่า คำสอนว่าด้วยความเกิดเป็นอย่างไร พระพุทธเจ้าชี้ไว้ว่า มีความเกิดอยู่ 4 ประเภท คือ ชลาพุชะกำเนิด ออกลูกเป็นตัว อัญทชะกำเนิด ออกลูกเป็นใข่   สังเสทชะกำเนิด เกิดอยู่ในน้ำคราบน้ำใคล ที่ชื้นแฉะ คือพวกแบ่งเซลล์เพิ่มจำนวนประชากร   และโอปปาติกะกำเนิด พวกผุดเกิดขึ้นมาอย่างฉับพลัน ตายแล้วหาซากศพไม่เจอ ซึ่งก็คืออารมณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในร่างกายนี้ เวลาเกิดก็ไม่รู้ว่ามาจากไหน ตายแล้วไปไหน

     ฉะนั้น ตรงนี้เองที่โยงไปสู่เรื่องขันธ์ 5 หรือโรงงานผลิตความคิดของคนเรา และจุดนี้จึงเป็นการกระทำของใจ ของมโนกรรม อันเป็นจุดเริ่มต้นของกรรมอื่น ๆ วจีกรรมและ กายกรรม ต่อไป

 

สมุทัย เหตุที่ทำให้เกิดทุกข์

ในธัมจักกัปปวัตนสูตร ชี้ว่า เหตุแห่งทุกข์เกิดจากตัณหา 3 กามตัณหา ภวตัณหา วิภาวตัณหา นี่มักจะรู้กันโดยทั่วไป  แต่ก่อนที่จะมาถึงข้อความนี้ มีรายละเอียดของเวทนาที่ส่งทอดมาเป็นตัณหา คือ โปโนพภะวิภา –อันเป็นเครื่องให้มีการเกิดอีกนันทิราคะสหคตา อันประกอบอยู่ด้วยความกำหนัด ด้วยอำนาจความเพลิน,   ตัตระ ตัตราภินันทินี -เป็นเครื่องให้เพลินอย่างยิ่งในอารมณืนั้น ๆ.

     ในชั้นหยาบ ที่คนส่วนมากเข้าใจได้ว่า เหตุแห่งทุกข์คือ ตัณหา ในชั้นกลาง เหตุแห่งทุกข์คือการหลงเพลินในเวทนา แล้วทำให้เกิดเวทนาที่เป็นสุขบ้าง เป็นทุกข์บ้าง จึงนำไปสู่ตัณหา   ส่วนในชั้นละเอียดที่สุด คือ อวิชชาทำงาน เปลี่ยนเป็นสังขาร และอื่น ๆ จึงทำให้ปฏิจจสมุปบาทดำเนินไป.

     เหตุแห่งทุกข์ เกิดขึ้นตามลำดับตั้งแต่ลำดับ 1 ถึง 10 ต่อเนื่องกันไป

 

นิโรธ การดับทุกข์

     คือการทำให้ห่วงโซ่ของทุกข์ส่วนใดส่วนหนึ่งขาดสะบั้นลง ณ ที่ใดที่หนึ่งในลำดับเหตุทุกข์ตั้งแต่ 1 – 10  โดยการปฏิบัติก็คือการรู้สึกตัว เมื่อรู้สึกตัว มันก็ไม่คิด จิตก็ว่าง พุทธะน้อย ๆ ก็เกิดขึ้นในจิตในใจ

     โดยทางตัวหนังสือ ก็แสดงออกเป็นลำดับ ๆ ไป ดังนี้ :  ตัณหายะ อะเสสะ วิราคะ -ความคลายจากราคะตัณหาโดยไม่เหลือ,   นิโรโธ – ความดับตัณหาโดยไม่เหลือจาโค ความสละตัณหาโดยไม่เหลือปะฏินิสสัคโค ความสลัดคืนตัณหาโดยไม่เหลือมุตติ ความหลุดพันจากตัณหาโดยไม่เหลือ,   อะนาละโย –สิ้นความอาลัยในตัณหาโดยสิ้นเชิง.   ความดับทุกข์ก็ดับที่ที่ตัณหาเกิด เกิดที่ไหนก็ดับที่นั่น   ซึ่งพื้นที่ของการเกิดตัณหาก็ที่อายตนะภายใน 6 อายตนะภายนอก 6

 

มรรคมีองค์ ทางดำเนินให้ถึงความดับทุกข์ และมรรค-ผล

     เริ่มต้นที่สัมมาทิฏฐิ แปลว่ามีความเห็นถูกต้อง คือต้องมีความรู้ในอริยสัจจ์สี่ รู้ทุกข์และการดับทุกข์ ซึ่งก็คือ ความรู้สึกตัว มีภาวะที่ดู,   ดูแล้วให้เห็นเห็นแล้วให้เข้าใจและเข้าใจแล้วอย่าเป็น;   สัมมาสังกัปปะ ดำริถูกต้อง ดำริออกจากกาม ดำริออกจากพยาบาท และดำริออกจากการเบียดเบียน;   ทั้งสองนี้สังเคราะห์เป็น ปัญญา;

     สัมมาวาจา การพูดจาถูกต้องชอบธรรมสัมมากัมมันตะ การกระทำการงานถูกต้องชอบธรรม และ สัมมาอาชีวะ การเลี้ยงชีพถูกต้องชอบธรรม    ทั้ง 3 ข้อนี้สังเคราะห์เป็น ศีล;

     สัมมาวายามะ ความเพียรถูกต้องสัมมาสติ มีสติระลึกได้ถูกต้องและสัมมาสมาธิ มีสมาธิถูกต้องชอบธรรมนี่ก็สังเคราะห์เป็นสมาธิ:

     มรรคมีองค์ นี้เป็นดุจดังแผนที่ ที่จะต้องทำความเข้าใจให้แจ่มชัด ถูกต้อง ก่อนที่จะเริ่มเดินทาง จึงเขียนไว้ในแนวนอน เพื่อให้เห็นถึงกระบวนการเรียนรู้และกรอบของสิ่งที่จะต้องรู้ ก่อนที่จะเดินทาง    ตรงนี้มีข้อสังเกตว่า มรรคมีองค์ 8 เริ่มต้นที่ปัญญา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ เราจะต้องศึกษา ใช้ปัญญาจากการฟังและการคิดด้วยเหตุผลอย่างแจ่มชัด แล้วจึงลงมือปฏิบัติ   ดุจดังการเรียนขับรถ ต้องเข้าใจแจ่มชัดแล้วจึงลงมือขับ หรือปฏิบัติจริง ซึ่งจะเป็นปัญญาอีกระดับหนึ่งที่ลุ่มลึกกว่าปัญญาฟังและคิดรู้ คือภาวนาปัญญา

     มรรค ผล 4 เป็นอีกมรรคที่รวมกันได้ 8 เช่นกัน แต่พูดถึงในฐานะที่ได้ดำเนินการแล้ว หรือเดินทางทางจิตแล้ว จนพบเห็นสภาวะธรรมตามความเป็นจริง   เดินมรรค และถึงผล อุปมา เช่นการเดินทางเมื่อแรกไปถึง ณ ที่เราจะไป แต่ไม่เคยไปมาก่อน เราย่อมได้มรรค แต่ยังไม่รู้ชัดตรงที่ไปถึงนัก ต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งจนกว่าจะแจ่มแจ้งขึ้นมา จนเป็นความคุ้นเคย ก็เรียกว่า ได้รับผล    ในแง่นี้ พระพุทธเจ้าได้แสดงไว้เป็น 4 ระยะ คือ มรรคผล ขั้นพระโสดาบัน ขั้นพระสกิทาคามี ขั้นพระอนาคามี และขั้นพระอรหันต์ และที่สุดก็นิพพานอย่างสิ้นเชิง   เราจึงมีคำพูดว่า มรรค 4 ผล นิพพาน 1   รวมเป็น 9   คนทั่วไปก็เลยถือเอาเลข   9 เป็นเลขมงคล.    ในส่วนนี้ได้เขียนแผนภูมิไว้ในแนวตั้ง และถือเอานิพพานเป็นจุดหมายสูงสุดไว้ที่มุมบน ด้านขวาของแผนภูมิ

ผู้แสดงความคิดเห็น เจิดหทัย สุวรรณากาศ (หนึ่ง) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2012-06-15 21:16:23


ความคิดเห็นที่ 3 (1616048)

***ขันธ์ หรือองค์ประกอบ 5 อย่างของกระบวนการคิดได้ของมนุษยชาติ**

การศึกษาขันธ์ อุปมาเหมือนกับการศึกษาองค์ประกอบของรถยนต์ ต้องทำความเข้าใจให้แจ่มชัดในทุก ๆ องค์ประกอบของรถ ก่อนที่จะนำไปใช้งานจริง

รูปขันธ์ 

โดยทั่วไปจะอธิบายว่า รูปขันธ์ประกอบด้วย อายตนะภายใน 6 อย่าง (1)   ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจอายตนะภายนอก 6 อย่าง (2) คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์และ วิญญาณประจำช่องทวารนั้น(3) คือ วิญญาณทาง ตา วิญญาณทางหู วิญญาณทางจมูก วิญญาณทางลิ้น วิญญาณทางผิวกาย และวิญญาณทางใจ มโนวิญญาณ เป็นต้น สามอย่างนี้มากระทบกัน ผัสสะ (4) รวมเป็น 4 ขั้นตอนด้วยกัน   

การอธิบายอย่างนี้ ทำให้เราเห็นว่า นี่คือตัวเรา เป็นตัวเป็นตนของเรา เพราะเราเข้าใจอยู่เสมอว่า อายตนะทั้งหมดนี้เป็นเรา เป็นของเรา ณ ที่นี้จะต้องทำความเข้าใจให้ถูกต้องอย่างน้อย 2 ประการ คือ

     ประการแรก สิ่งใดที่ไม่ได้ใช้ สิ่งนั่นมีค่าเท่ากับศูนย์ ฉะนั้น เมื่อรับรู้ตามความเป็นจริงทุกขณะ ขณะ จะเห็นว่า อายตนะเหล่านี้จะรู้สึกว่า มีมัน ก็ต่อเมื่อเราใช้มันเท่านั้น ดังนี้จึงทำให้เห็นได้ว่า ความเป็นตัวเป็นตนอย่างเแท้จริงไม่มี มันเป็นแต่เพียง ขณะรู้ทางตา ก็มีตา ขณะรู้ทางหู จึงมีหู ขณะรู้กลิ่นทางจมูก จึงมีจมูก ขณะรู้รสทางลิ้น จึงมีลิ้น ขณะรู้ผัสสะทางกาย จึงมีกาย และขณะรู้สึกนึกคิดทางใจ จึงนับว่ามีใจ

     ประการที่สอง ต้องแยกอายตนะภายในและภายนอกออกเป็นสองส่วน คือส่วนที่เป็นทวารทางกายมี ช่องทวาร แต่ละทวารจะมีคู่กันโดยธรรมชาติ เป็นสัญญา (6) กล่าวคือ ตามีสัญญากับรูป ต้องคู่กับรูปเท่านั้นหูมีสัญญาคู่กับเสียง   ต้องคู่กับเสียงเท่านั้นจมูกมีสัญญาคู่กับกลิ่น,   ลิ้นมีสัญญาคู่กับรสผิวกายมีสัญญาคู่กับโผฏฐัพพะเท่านั้่น จะผิดฝั่งผิดฝาไม่ได้ 

     เมื่อสภาวะธรรมทั้งสามเกิดกระทบกันเข้า เรียกว่า ผัสสะ(4) จึงทำให้เกิดเวทนา (5) เป็นความรู้สึกทางกาย ที่ติดมากับกายนี้ 3 อย่าง คือ อทุกขมสุขเวทนา เป็นเวทนาที่บ่งชี้ถึงความมีขีวิตของคนเรา เช่นเวลาเรานอนหลับ เมื่อตื่นขึ้นมาได้อีก ไม่กลายเป็นศพ ก็เพราะมีภวังค์ หรือมีเวทนานี่เอง    ส่วนสุขเวทนา และทุกขเวทนา เป็นเวทนาที่ช่วยรักษา ป้องกันให้มีการจัดการอย่างถูกต้อง ให้กายดำเนินชีวิตไปได้ตามอัตตภาพ;   เมื่อเกิดผัสสะทางช่องทวารกายช่องใดช่องหนึ่ง จึงเป็นเสมือนการไขกุณแจรถยนต์ ไดสตาร์ทจะเริ่มทำงานก่อน และก็กระตุ้นให้ระบบเครื่องทำงานตามมา   ซึ่งก็คือ มันได้ไปกระตุ้นให้ มโนสัญญาเจตนา(7)ฟุ้งขึ้นมาร่วมกัน แปรเป็นธรรมารมณ์ ไปผัสสะ(4)ทางใจเป็นรอบที่สอง อันเป็นการนำไปสู่เวทนาทางใจต่อเนื่องจากเวทนาทางกาย ทำให้กระบวนการของสังขารทำงาน    อันมี ตัณหาในอารมณ์ทั้งหก(8)   วิตกในอารมณ์หก ความตรึก ครุ่นคิดในอารมณ์หก(9)   และ วิจารในอารมณ์หก คือความไตร่ตรองในอารมณ์หก(10)    เมื่อกระบวนการตั้งแต่ต้น ลำดับที่ (1) จนถึงลำดับที่ (10) จบสิ้น จึงเกิดเป็นความคิดเกิดขึ้น   หรืออาจจะกล่าวอีกอย่างหนึ่งว่า ความคิดเป็นผลผลิตหรือผลิตภัณฑ์ของกระบวนการ ของโรงงานผลิตความคิดขึ้นมา    ความคิดดี ความคิดร้าย หรือความคิดที่เป็นกลาง ๆ ก็เป็นผลิตผล แบบ ให้ผล 3 ทิศทางแก่ชีวิต   อันเป็นต้นทางของชีวิต ดังมีบาลีว่า สัพเพธัมมา เวทนาสโมสรณา   ธรรมทั้งหลายทั้งปวงประชุมลงที่เวทนา เริ่มต้นที่เวทนา.   สุขเวทนาก็ไปสวรรค์   ทุกขเวทนาก็ไปนรก   ส่วนอทุกขมสุขเวทนา ก็เป็นหนทางไปสู่นิพพาน.

เวทนาขันธ์

ความรู้สึกเสวยอารมณ์ คำว่าเสวยก็คือ การกินนั่นเอง แต่เราเลือกใช้คำนี้เพื่อให้เห็นความต่าง การกินทางกาย อาหารคือคำข้าว เป็นก้อนเป็นกำที่ป้อนเข้าปาก เรียกว่า กวฬิงการาหาร   แต่อาหารทางใจถ้าไม่สนใจแยกแยะให้ละเอียด เราจะไม่รู้ พระพุทธเจ้าแยกแยะไว้เป็น 3 อย่าง คือ ผัสสาหาร อาหารคือผัสสะ,   มโนสัญญเจตนาหาร อาหารคือสัญญาทางใจที่เก็บไว้ในสัญญาแลัวเจตนาระลึกถึงนำมาผัสสะทางใจครั้งใหม่อีกครั้ง,   และวิญญาณาหาร อาหารคือความรู้สึกตัวทางกาย ความรู้สึกตัวทางใจ

     ชีวิตคืออะไร ชีวิตก็คือการกิน การเสวยอารมณ์ หากไม่มีการกิน การเสวยอารมณ์เสียแล้ว ชีวิตก็ตาย   คนทั่วไปเสวยอารมณ์ด้วยความรู้สึกที่เป็นตัวเป็นตน   ส่วนพระอริยะเจ้ามีการเสวยอารมณ์ แต่ไม่มีตัวตนเป็นผู้เสวยอารมณ์ จึงกล่าวว่า เป็นกิริยาของจิต เป็นธรรมชาติอย่างนั้นเอง

     เวทนาขันธ์ แบ่งเป็น เวทนา 3 อย่าง คือ อทุกขมสุขเวทนา สุขเวทนา และทุกขเวทนา ซึ่งเป็นเวทนาที่ติดมากับกายนี้   เป็นเวทนาที่รักษา ป้องกันรูป

     เวทนา 3 อย่าง ที่ประกอบด้วยอามิส เวทนาที่มีเหยื่อล่อ คือเสวยอารมณ์ทั้งหก รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่มีผู้สร้างขึ้น โดยเจตนาให้เราหลงไหลติดยึด เสพติด หากเสวยไปแล้วก็ยากที่จะถอนตัวออกไปได้,   เวทนา 3 อีกอย่างหนึ่ง เป็นนิรามิสเวทนา คือไม่มีเหยือล่อ กล่าวคือ ไม่มีใครจงใจจะล่อใจให้เราหลงเพลินไปตามนั้น ที่เป็นภายนอก คือ การเสวยอารมณ์ห้าอย่าง รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่เกิดโดยธรรมชาติอย่างนั้น ๆ เอง    นอกจากนี้ ก็คือการเสวยอารมณ์ทางใจ อันเนื่องมาจากการทำสมาธิภาวนา ก็จัดอยู่ในเวทนาประเภทนี้ด้วย

     ในกลุ่มของเวทนาขันธ์ ยังมีกาารแบ่งเป็นเวทนา คือรวมเอาเวทนาทางกายและทางใจไว้ด้วยกัน คือ สุขเวทนาทุกขเวทนา   โสมนัสเวทนา โทมนัสเวทนา และอุเบกขาเวทนา   นอกจากนี้ยังแบ่งเป็นเวทนา ซึ่งถือตามช่องทางของผัสสะ ที่นำไปสู่เวทนา ผัสสะทาง ตา นำไปสู่เวทนาทางตา ผัสสะทางหู นำไปสู่เวทนาทางหู เป็นต้น

     “สัพเพ ธัมมา เวทนา สโมสรณา - ธรรมทั้งหลายทั้งปวงประชุมลงที่เวทนา”   นี่ก็ง่ายที่จะเข้าใจได้ สุขเวทนา ก็ไปสวรรค์   ทุกขเวทนา ก็ตกนรก ส่วนอทุกขมสุขเวทนา รู้สึกกลาง  ก็อยู่กับนิพพาน ใจเย็นเป็นนิพพาน.

 

สัญญาขันธ์ : ความจำได้หมายรู้

     หมวดหมู่ กลุ่มกองของสัญญา คือ ความจำได้หมายรู้ที่มีโดยธรรมชาติ เป็นสัญชาติญาณของสัตว์ทั้งหลาย คือ ความจำกันได้เป็นคู่ ๆ ตามหน้าที่ของมัน คือ ตาย่อมคู่กับรูป, หูคู่กับเสียงจมูกคู่กับกลิ่น ลิ้นคู่กับรสกายคู่กับผัสสะ, จะผิดคู่ผิดฝั่งผิดฝาไม่ได้   พระพุทธองค์สอนพระพาหิยะว่า เมื่อเห็นก็สักแต่ว่าเห็น ได้ยินสักแต่ได้ยิน เพียงเท่านี้ก็บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์แล้ว เพราะจิตใจของท่านไมมีการปรุงแต่งเลย

     การสร้างสัญญา ความจำได้หมายรู้ เป็นสิ่งที่มีได้เฉพาะคนหรือมนุษย์เท่านั้น   สัตว์อื่นไม่มี     สัญญาที่เกิดจากเจตนาสร้างเป็นเครื่องมืออันแรกขึ้น คือ ภาษา เพราะมีภาษา จึงทำให้มีเจตนาในสัญญา ในรูป ในเสียง กลิ่น รส สัมผัสที่เกิดกับกาย   และสัญเจตนาในธรรมมารมณ์ที่เกิดกับใจ     เกิดเป็นรูปลักษณ์มากมาย  สัญญเจตนาในอารมณ์ 6   จึงเป็นบาทฐานให้แก่สังขารปรุงแต่งต่อไป  

     ภาษาเป็นสมมุติสัจจะ โดยตัวของมันเองไม่จริง มันจริงโดยสมมุติ เพราะมีการยอมรับ   ประโยชน์ของมัน จึงใช้เป็นเครื่องมือในการสื่อสาร ติดต่อสัมพันธ์ ขณะเดียวกัน เมื่อสร้างขึ้นมาแล้ว มันกลายเป็นสิ่งถาวร คงที่ ไม่เปลี่ยนแปลง มันจึงกลายเป็นโทษ โดยเฉพาะอุปทานในสัญญา สัญญาในอดีต ในอนาคต ซึ่งเรื่องของเวลา มันเป็นสิ่งที่ไม่มีอยู่จริง แต่มันก็จริงเพราะมนุษย์สร้างขึ้น และใช้งานได้จริงอีกด้วย นี่แหละที่ทำให้คนเรายากที่จะถอนตัวออกจากสมมุติสัจจะ และไม่สามารถเข้าถึงปรมัตถ์ได้โดยง่าย

 

สังขารขันธ์ กองสังขาร ส่วนที่เป็นความปรุงแต่งจิต ความที่จิตปรุงแต่ง

     กองสังขาร ส่วนที่เป็นความปรุงแต่ง สภาพที่ปรุงแต่งจิตให้ดีหรือชั่วหรือเป็นกลาง ๆ คุณสมบัติของจิตมีเจตนาเป็นตัวนำที่ปรุงแต่งจิตให้เป็นกุศล อกุศล อัพยากฤต   การปรุงแต่งก็คือการนำเอาสิ่งต่าง ๆ มารวมกันเข้า จนในที่สุดก็ได้สิ่งใหม่สิ่งหนึ่ง เป็นผลสุดท้ายอันเป็นผลิตผลนั่นเอง   ผลของจิตสังขารก็คือ ความคิด

     กระบวนการของสังขาร ก็คือการเคลื่อนไหวที่เอาสัญญาต่าง  ตามลำดับตั้งแต่ต้นจนที่สุด ผสมกันเข้าแล้วเป็นความคิด   ซึ่งก็คือ ต้องอาศัยตลอดสายของกระบวนการ ในส่วนของสังขาร ในที่นี้มี 3 ขั้นตอน   คือ (8) ตัณหาในอารมณ์ 6, (9) วิตก ครุ่นคิดในอารมณ์ และ (10) วิจาร ไตร่ตรองในอารมณ์ 6

     คำว่า สังขาร เมื่อนำไปใช้ในปฏิจจสมุปบาท จึงเป็นแต่เพียงความหมายว่า การเคลื่อนไหว หรือการเริ่มต้นเคลื่อนที่ของอวิชชา และอวิชชาก็ไม่เป็นอวิชชาอีกต่อไป   ตรงนี้เป็นจุดที่อธิบายผิดพลาดกัน

 

วิญญาณขันธ์   กองวิญญาณ การรู้แจ้งในอารมณ์

     ส่วนที่เป็นการรู้แจ้งในอารมณ์   ความรู้อารมณ์ทางอายตนะทั้ง คือ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และทางใจ,   ตรงนี้เป็นเฉพาะส่วนที่อยู่ในรูปขันธ์เท่านั้น   แต่การรู้แจ้งในเวทนา การรู้แจ้งในสัญญา การรู้แจ้งในสังขาร ตลอดจนการรู้แจ้งวิญญาณในวิญญาณ    หรือรู้ในรู้ ทั้งหมดนี้จึงจะกล่าวได้ว่า เป็นวิญญาณขันธ์   อุปมาเหมือนกระแสไฟฟ้า ซึ่งเข้าไปปรากฎอยู่ในเครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ จึงเรียกชื่อต่าง ๆ กันไป   แต่เมื่อใดไฟฟ้าดับ ทุกอย่างก็๋ไม่เหลือความเป็นอย่างนั้นอีกต่อไป   โดยนัยนี้ วิญญาณจึงเป็นตัวเชื่อมติดต่อกัน ทั้งที่เป็นภายในและภายนอกทางหมดทั้งสิ้น

               โดยสรุป ขันธ์ 5 เปรียบเหมือนโรงงานผลิตสินค้า สินค้าของขันธ์ 5 ก็คือ ความคิด ก็คือผลของมโนกรรมหรือผลของการทำงานของใจ นั่นเอง   คำถามทีว่า ความคิดของคนเราเกิดขึ้นได้อย่างไร และมาจากไหน ก็คงจะได้คำตอบอยู่ที่ตรงนี้   และนี่คือจุดเริ่มต้นทั้งหมดของชีวิตเรา ก่อนที่จะพูด ก่อนที่จะทำทางกาย ต้องมาจากการคิดก่อน ต้องมีการกระทำทางใจก่อน   คิดก่อนจึงพูด จึงทำลงไป

ผู้แสดงความคิดเห็น เจิดหทัย สุวรรณากาศ (หนึ่ง) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2012-06-15 21:32:29


ความคิดเห็นที่ 4 (1616049)

****ปฏิจจสมุปบาท การเกิดขึ้นพร้อมแห่งธรรมทั้งหลายเพราะอาศัยกัน****

     คำสอนว่าด้วยปฏิจจสมุปบาท ได้รับการอธิบายว่า นี่เป็นคำสอนชั้นลึกซึ้งที่สุด ผู้ใดเห็นปฏิจจสมุปบาท เข้าใจปฏิจจสมุปบาท ทำปฏิจจสมุปบาทให้แจ้งขึ้นในจิตของตนได้แล้ว ก็ได้ชื่อว่า เห็นพระพุทธเจ้า อยู่ร่วมกันกับพระพุทธเจ้าเป็นอย่างเดียวกันกับพระพุทธเจ้า    ดังนั้นนักปราชญ์ชาวพุทธจึงใส่ใจที่จะทำความเข้าใจเรื่องนี้กันอย่างมาก   มีคำอธิบายมากมาย   ในที่นี้จะขอร่วมส่วนในการนำเสนอแง่มุมที่ต่างออกไปจากคำอธิบายเดิม ๆ ที่เคยได้ศึกษากันมา

     การศึกษาปฏิจจสมุปบาท อาจจะอุปมาได้กับการเริ่มลงมือขับรถยนต์ด้วยตนเอง   ขณะที่ขับรถย่อมเป็นปัจจุบันขณะ ตัวผู้ขับรถและรถยนต์ต้องเป็นหนึ่งเดียวกัน ไม่แยกจากกัน

     ในที่นี้ใช้สัญญาลักษณ์ของนาฬิกา เป็นตัวแทน   ตำแหน่งอวิชชาอยู่มือนที่เลข 12 เป็นจุดเริ่มต้น

     อวิชชาปัจจยาสังขาร

     สังขารปัจจยาวิญญาณ

     วิญญาณปัจจยานามรูป

     นามรูปปัจจยาสฬายตนะ

     สฬายตนะปัจจยาผัสสะ

     ผัสสะปัจจยาเวทนา

     เวทนาปัจจยาตัณหา

     ตัณหาปัจจยาอุปาทาน

     อุปาทานปัจจยาภพ

     ภพปัจจยาชาติ

     ชาติปัจจยาชรา มรณะ โสก ปริเทวะ ทุกขะ โทมนัส อุปายาส ฯ

     ชรา มรณะ ฯ ปัจจยา อวิชชาอีก

     หมุนวนอยู่เช่นนี้ จนไม่สามารถหาต้นหาปลายได้ เราเรียกว่า สังสารวัฏฏ์    อย่างไรก็ดี     จุดกำเนิดของปฏิจจสมุปบาทอยูที่อวิชชา หากอวิชชาอยู่ตรงแกนกลางของนาฬิกา เป็นที่ตั้งของเข็มนาฬิกา หากนาฬิกานี้ไม่มีเข็มบอกเวลา ทุกอย่างก็เป็นอันหยุดลง   เมื่อพิจารณาดูว่า กายของคนเรา ที่ตั้งของอวิชชาจะอยู่ตรงไหน ?   เราก็จะเห็นว่า อยู่ตรงสะดือ เพราะพ่อแม่หลงกัน จงเอาสะดือชนกัน เป็นเหตุให้เกิดสะดืออันใหม่ คือ อวิชชาตัวใหม่ ท่านจึงว่า กามคุณทำให้เกิดโลก ถ้าต้องการอยู่เหนือโลก ก็ต้องอยู่เหนือกามคุณ คือเห็นเป็นโทษที่จะทำให้เราต้องมาเวียนว่ายตายเกิดไม่รู้จบสิ้น

     เมื่อเปรียบเทียบคำที่ใช้ในปฏิจจสมุปบาทกับขันธ์ จะมีคำที่ใช้ตรงกัน เป็นลำดับ ดังนี้

     สังขาร -วิญญาณ -สฬายตนะ -ผัสสะ - เวทนา 

     คำที่ปรากฎในรายละเอียด ในส่วนของสังขารขันธ์ คือ –ตัณหา - อุปาทาน (กรรม) -ภพ -ชาติ -ชรา มรณะ 

     ในวงจรนี้แบ่งออกเป็น 4 ส่วนด้วยกัน ที่เรามักจะได้ยินเสมอ ๆ โดยเฉพาะคำสอนของหลวงพ่อเทียน จิตตสุโภ ท่านพูดถึงปฏิจจสมุปบาทไว้เพียง 4 ตัว คือ กิเลส ตัณหา อุปาทาน และกรรม โดยรวมเอา ตั้งแต่อวิชชา จนถึงเวทนา เป็น กิเลส เปรียบเหมือนกาวหรือยางเหนียว , ตัณหาอุปาทาน ก็ตรงตัวตามวงจร,   ส่วนกรรมนั้น รวมเอา ภพ ชาติ ชรา มรณะ ฯ   คือ การที่หลงเข้าไปยึดว่าเป็นตัวเป็นตน เป็น กู เป็นของกูแล้ว จึงเป็นผู้สร้างกรรม ทำกรรมกันต่อไป

     วงจรปฏิจจสมุปบาทนี้ เมื่อพิจารณาคำที่อยู่ตรงกันข้าม โดยถือเอาคู่ของ อวิชชากับเวทนา เป็นเส้นแบ่งแล้ว ก็จะได้พื้นที่สองส่วน โดยให้เป็นสีฟ้าทึบ และสีฟ้าจาง ๆ อันเปรียบเสมือนเส้นแบ่งระหว่างในกับนอก   ส่วนด้านในเป็นกิเลส เป็นการทำงานของใจ ถ้ากิเลสไม่มี ใจก็ว่าง   ส่วนด้านนอกเป็นการแสดงออกของอาการทางกาย ที่สามารถสังเกตเห็นถึงการเปลี่ยนแปลง นับต้งแต่แววตา สีหน้า ท่าทาง กระทั้งออกอาการเต็มที่   คำที่ตรงกันข้ามนี้แบ่งได้เป็น 6 คู่ คือ

     อวิชชากับเวทนา เปรียบเหมือนเส้นแบ่งระหว่างในกับนอก อุปมาเหมือนประตู เรายืนอยู่ตรงประตูแล้วดูใน ดูนอก เราจะเห็นชัดเจนที่สุด,   เมื่อดูจากการหมุนตามเข็มนาฬิกา อวิชชา เป็นจุดเริ่มของการหมุนด้านใน ส่วนเวทนาเป็นการหมุนด้านนอก คนที่ฝึกดีแล้ว สามารถรู้เท่าทันอาการภายใน จึงควบคุมอารมณ์ที่ไม่ดีไม่ให้เกิดได้ ด้วยการข่มไว้หรือด้วยภาวนาปัญญา   บางคนก็แสดงออกภายนอกแล้ว จึงมารู้สึกภายหลัง อย่างนี้ก็เป็นกาารช้าไป มักทำผิดเสียก่อน จึงรู้สึกตัว

     สังขาร คู่กับตัณหา ข้างในอวิชชาเปลี่ยนเป็นการเคลื่อนที่   ด้านนอกแสดงออกเป็นตัณหา โดยเฉพาะกามตัณหา คือการติดในอารมณ์ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์

     วิญญาณ คู่กับอุปาทาน   วิญญาณ คือติด ทำหน้าที่ดึงเอาอายตนะภายในและภายนอกมาติดกัน จึงเกิดผัสสะ ส่วนอุปาทานแสดงออกเป็น 4 อย่าง   กามุปาทาน ทิฏฐุปาทาน สีลพตุปาทาน และอัตตวาทุปาทาน

     นามรูป คู่กันกับภพ ภายในเป็นความคิด ภายนอกเป็นภาวะเริ่มก่อตัว   เปรียบเหมือนคู่รักอยากมีลูกเป็นความคิด เริ่มตั้งครรภ์ เป็นภพ

     สฬายตนะคู่กับชาติ ภายในสร้างอายตนะภายใน ส่วนภายนอกมีอายตนะทั้งเรียบร้อยแล้ว

     ผัสสะคู่กับชรา มรณะ ฯ คือเกิดแล้วก็ดับ ทันทีที่ผัสสะเกิดขึ้น อายตนะก็ดับลง แปรเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นไป คือผัสสะ นี่เป็นด้านภายใน    ส่วนด้านนอกก็คือ ชราและตาย

     เพราะชราและมรณะ เป็นปัจจัยให้เกิด  อวิชชา ต่อไปอีก วงจรนี้ หรือสังสารวัฏฏ์นี้ จึงไม่ขาดสะบั้นลง หากแต่ดำเนินไปเรื่อย ๆ อย่างไม่มีจบสิ้น.

 

     เมื่อมองเห็นอย่างนี้แล้ว ก็จะเห็นว่า คำอธิบายเดิมของอรรถกถาจารย์ยุคหลัง ที่ตั้งเป็นสมุฏฐานว่า มี อดีต   ปัจจุบัน และอนาคต    แล้วพยายามจะจัดหัวข้อต่าง ๆ ในปฏิจจสมุปบาทใส่ลงไป   ซึ่งสร้างความสับสนอย่างมาก

อีกอันหนึ่ง คือการแบ่งเป็นวัฏฏะ ว่า มีกิเลสวัฏฏ์ กรรมวัฏฏ์ และวิบากวัฏฏ์ แล้วก็ทำในทำนองเดียวกันอีก

     เนื้อหาทำนองนี้ หลวงพ่อพุทธทาสเคยวิพากษ์วิจารณ์มาแล้ว   ซึ่งเป็นความอาจหาญที่นักปราชญ์บัญฑิตควรถือเป็นเยี่ยงอย่าง และควรจะทำจะเป็นเช่นนั้น   การรู้สึกต่อปัจจุบันขณะ แต่ละขณะ แต่ละขณะเท่านั้น จึงจะก้าวไปสู่โลกุตรธรรมได้จริง หรืออาจจะพูดได้ว่้า เพราะรู้สึกถึงสิ่งนั้น สิ่งนั้นจึงมื หากไม่รู้สึกถึงมันสิ่งนั้นไม่ถูกใช้ แม้ภาวะมีอยู่ ก็คือไม่มีอยู่จริง ในขณะนั้น พูดโดยปรมัตถ์ทุกสิ่งมีเพราะความรู้สึก หากไม่รู้สึกกับมัน ทุกอย่างก็ว่างเปล่า กลับไปอยู่ธาตุเดิมแท้ของธรรมชาติ เป็นเช่นนั้นเอง

 

สรุป 

     เรื่องทั้งหมด มันเหมือนฝันไป    ต้นก็ว่าง ปลายก็ว่าง กลางมายา   แต่ผู้รู้ลึกซึ้งท่านว่า   ต้นก็ว่าง ปลายก็ว่าง กลางก็ว่างด้วย   ทำได้อย่างนี้ ความทุกข์ถึงจะมีก็น้อยเต็มทน.

ผู้แสดงความคิดเห็น เจิดหทัย สุวรรณากาศ (หนึ่ง) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2012-06-15 21:35:48


ความคิดเห็นที่ 5 (1616160)

โมทนาบุญกับน้องหนึ่งค่ะสาธุ

ผู้แสดงความคิดเห็น บุญภิบาล คงเขียว ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2012-06-16 13:27:16



[1]


Copyright © 2010 All Rights Reserved.