ReadyPlanet.com


ทรงความดี(โอวาทหลวงพ่อวัดท่าซุง)


          ท่านทั้งหลาย จงอย่าลืม อย่าเบื่อในความดีที่ท่านทำ เมื่อเราทำความดีเท่านี้แล้ว เราก็ทำดีให้มันยิ่งๆขึ้นไป เอามันให้เต็มดีให้ได้

          จงจำไว้ว่า จริยาที่เราจะต้องทรงใจมีดังนี้

1. ยามปกติ เราจะไม่สนใจในจริยาของบุคคลอื่น ใครเขาจะดี ใครเขาจะเลวมันเรื่องของเขา อย่าโอ้อวด อย่ายกตนข่มท่านอย่าถือตัวเกินไป

2. ไม่มีกังวล

3. ไม่ทำลายศีลด้วยตนเอง ไม่ยุยงส่งเสริมให้บุคคลอื่นทำลายศีล ไม่ยนดีเมื่อบุคคลอื่นทำลายศีลแล้ว

4. ระงับนิวรณ์ได้โดยฉับพลัน เมื่อเราต้องการความเป็นทิพย์ของจิต ขณะใดที่จิตต้องการสมาธิ ไอ้ความเป็นทิพย์นี่มาจากสมาธิ มีความตั้งใจ จิตสะอาด ถ้าต้องการจิตเป็นทุกข์หรือต้องการสมาธิ ต้องระงับนิวรณ์ได้ทันทีทันใด

5. จิตทรงพรหมวิหาร 4 ตลอดเวลา คือเป็นปกติตลอดวัน

6. และขอแถมอีกนิดนึงคือ ใจยอมรับนับถือความดีของ พระพุทธเจ้า ความดีของพระธรรม ความดีของพระสงฆ์ มีความรู้สึกว่าชีวิตนีมันต้องตาย ถ้าตายเมื่อไร ขอไปนิพพานเมื่อนั้น

          ถ้ากำลังใจของบรรดาท่านพุทธบริษัททำได้อย่างนี้ ฌาณสมาบัติจะทรงตัว คำว่าเศร้าหมอง ไม่ผ่องใส กำลังใจไม่เสมอกัน สว่างบ้างมืดบ้างจะไม่มี จะมีแต่คำว่าผ่องใสเรื่อยไปตามลำดับ ขึ้นชื่อว่าการเกิดในอบายภูมิต่อไปไม่มีแน่ จะเป็นการเกิดเป็นสัตว์นรกเป็นเปรตเป็นอสุรกายเป็นสัตว์เดรัจฉานเหล่านี้ ไม่มีต่อไปอีก มีอย่างเดียวคือมุ่งหน้าไปนิพพาน

          จงอย่าลืมว่าเราฝึกฝนกันที่ใจ เรื่องกายนี้ไม่มีความหมาย กายมันเป็นที่อาศัยของใจ ความบริสุทธิ์ผุดผ่องจะมีขึ้นมาได้ หรือไม่ได้ มันอยู่ที่ใจเป็นสำคัญ ถ้าใจดีเสียอย่างเดียว ปากก็พูดดี กายก็ทำดี ถ้าใจเลวปากก็พูดเลว กายก็ทำเลว ฉะนั้น เวลาที่ฝึกจะต้องใช้ มัชฌิมาปฏิปทา คือ ทำปานกลาง หมายถึงทำแบบสบายๆ อารมณ์ฝืนทางกายอย่าให้มีปล่อยกายมันไปตามปกติ มันอยากจะนอนก็ให้มันนอน มันอยากจะนั่งก็ให้มันนั่ง มันอยากเดินก็ให้มันเดิน มันอยากจะยืนก็ให้มันยืน

          เขตของการบุญน่ะ มันอยู่ที่จิตเป็นสมาธิที่มีอารมณ์ตั้งมั่น ไม่ใช่ตัวบุญอยู่ที่องค์ภาวนาอย่างเดียว หากว่าเราภาวนาแบบชนิดนกแก้วนกขุนทอง ว่าไป พุทโธ ธัมโม สังโฆ ว่าไปโดยที่จิตไม่ตั้ง อารมณ์ไม่ทรงตัวอยู่พอว่าไปบ้าง พุทโธๆ หรือว่า ธัมโม สังโฆ ก็ตาม หรืออย่างอื่นก็ตาม แต่จิตอีกส่วนหนึ่งมันแลบไปสู่อารมณ์อื่น อย่างนี้ว่าเท่าไรก็ไม่เป็นบุญ การที่พระพุทธเจ้าทรงสอน ให้มีการภาวนาด้วย ก็เพื่อจะใช้อารมณ์ยึดคือ สติ ให้รู้ว่านี่เรากำหนดลมหายใจเข้าออก หรือว่าเราภาวนาว่าอย่างไร แล้วก็ควบคุมอารมณ์อยู่เฉพาะอย่างนั้นอย่างเดียวให้เป็น เอตัคตารมณ์ อารมณ์ของเราเป็นหนึ่งไม่มีสอง อย่างนี้จัดว่าเป็นสมาธิ

          ขอบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลาย ระมัดระวังเรื่องจิตใจให้มากที่สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสอนให้ใช้ อนุสสติ คือ ตามนึกถึงความดีคือนึกยอมรับนับถือพระพุทธเจ้า ๑ ยอมรับนับถือพระธรรม ๑ ยอมรับนับถือพระอริยสงฆ์ ๑ นี่เรียกว่าเป็น   พุทธานุสติ ธัมมานุสติ สังฆานุสติ พยายามนึกถึง ศีล ที่เราต้องปฏิบัติ พยายามระมัดระวังให้ครบถ้วน นึกถึง ทาน การบริจาค นึกถึงความดีของเทวดา นึกถึง ความตาย ที่จะเข้ามาถึง นึกถึงอารมณ์ของพระนิพพาน อย่างนี้เป็นต้น อย่างใดอย่างหนึ่งบรรดาท่านพุทธบริษัท ไม่ต้องครบทั้งหมด องค์สมเด็จพระบรมสุคตทรงสอนว่าขึ้นชื่อว่าความชั่วที่ทำมาแล้วในกาลก่อน จงอย่าตามนึกถึงมัน นึกถึงความดีที่ทำไว้แล้วเท่านั้น ผลของความดีจะส่งผลให้เป็นสุข คือไปเกิดบนสวรรค์ได้

          ให้ลืมความชั่วทั้งหมด ปาณา อทินนา กาเม มุสา สุรา ที่ผ่านมาแล้วทั้งหมดเลิกกัน ไม่คิดถึงมัน นับตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ไม่ลืมคิดว่าสักวันหนึ่งถ้าเราจะตาย ถ้าเราตายแล้วไม่ยอมมา  นรก มันทุกข์ เราไม่ต้องการ เราต้องการจุดเดียวคือนิพพาน ถ้าไปสวรรค์ หรือพรหม หมดบุญวาสนาบารมีต้องพุ่งหลาวลงนรก เพราะบาปเก่าที่มีอยู่ ฉะนั้นมุ่งอย่างเดียวคือไปนิพพาน อารมณ์อย่างนี้ถ้าทรงตัวเขาเรียก พระโสดาบัน บาปทั้งหมดทุกอย่างที่ทำมาแล้วไม่ทำต่อไป

          รักษากำลังใจให้มันมั่นคงจริงๆ ให้จิตมันแน่วแน่จริงๆ อย่าเอาจิตเข้าไปยุ่งกับอารมณ์ภายนอก ทำงานทุกอย่างเพื่อสาธารณประโยชน์ เราทำเพื่อพระนิพพาน ที่เราทำนี้เพื่อไม่เกิด ไม่ใช่ทำเพื่อเกิด ไม่เกิดทำทำไม ก็ทำเพื่อเป็นการตัดอารมณ์ว่า ไอ้งานที่เราทำไปแล้ว เราลงทั้งทุนลงทั้งแรง แต่ว่าทำไปแล้วเราก็รู้ว่ามันเป็นอนิจจังของไม่เที่ยงนะ อนัตตาไม่ช้าก็สลาย มันไม่ตายก่อนเราก็ตายก่อน มันไม่พังก่อนเราก็ตายก่อน เราทำเพื่อจิตตัดโลภะ ความโลภ การทำงานอารมณ์มันจุกจิก ฝึกอารมณ์ใจให้มันเย็น ตัดความโกรธ การไม่สนใจว่ามันเป็นของเรา เพราะว่าเรากับมันไม่ช้าต่างก็บรรลัย เป็นการตัดความหลง ไปนิพพานเลย

          การบวชเข้ามาในพระพุทธศาสนาก็ดี หรือว่าที่บรรดาญาติโยมพุทธบริษัทมีความเคารพในพระพุทธเจ้า เข้ามาปฏิบัติความดีในพระพุทธศาสนาก็ดี ความจริงพระพุทธเจ้าต้องการให้ทุกคนหมดทุกข์ ทุกข์ที่มีความสำคัญมากก็คืออบายภูมิ ถ้าเราต้องลงอบายภูมิ เราก็ขาดทุน ฉะนั้น ในตอนนี้ ขอบรรดาเพื่อนภิกษุ สามเณรทั้งหลายแล้วก็ญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลายด้วย พากันป้องกันอบายภูมิเสียก่อน การที่เราจะหนีอบายภูมิให้พ้นคือ หนึ่ง มีความรู้นึกอยู่เสมอว่าชีวิตนี้ต้องตาย ตายเมื่อไร เราไม่ยอมไปอบายภูมิ ยึดพระพุทธเจ้า พระธรรม พระอริยสงฆ์ เป็นที่พึ่ง นั่นก็หมายความว่ายอมรับนับถือคำสอนของท่านแล้วก็ปฏิบัติตามท่านหลังจากนั้นทรงศีลให้บริสุทธิ์ ศีลต้องเป็นไปตามสภาพของฐานะ พระมีศีลเท่าไร สามเณรมีศีลเท่าไร สำหรับญาติโยมพุทธบริษัทสำคัญที่ศีล 5  ต้องรักษาให้ครบแล้วก็ทรงจิตคิดไว้เสมอว่าการเกิดเป็นมนุษย์มันเป็นทุกข์เราไม่ต้องการมาอีก การเกิดเป็นเทวดา หรือ พรหม มันเป็นสุขชั่วคราวหมดวาสนา บารมีก็ลงมา เราไม่ต้องการ ต้องการจุดเดียวคือนิพพาน ถ้าทรงอารมณ์ไว้ได้อย่างนี้จริงๆ ตายจากชาตินี้ไม่พบกับอบายภูมิแน่ และถ้าบังเอิญจะเกิดใหม่ จะตายอีกกี่ชาติ ก็ไม่กับพบอบายภูมิ เพราะว่า อบายภูมิกับเราเลิกเป็นญาติกันแล้ว พ้นทุกข์ไปที

          ถ้าบรรดาท่านพุทธศาสนิกชน ทรงความดีของจิตในวันหนึ่ง 3 นาที ก็คิดว่า 10 วันมันก็ 30 นาที 100 วัน มันก็ 100 นาที ความดีมันสะสมตัว เมื่อเวลาใกล้จะตาย อารมณ์จิตที่เราทำได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ได้ดีบ้าง ไม่ดีบ้างในระดับต้น มันจะเข้าไปรวมตัวกันตอนนั้น จนกลายเป็นมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ เมื่อเวลาจะตาย จิตจะน้อมไปในกุศล ถ้าตายจากความเป็นคน อย่างเลวก็เป็นเทวดา ถ้าจิตสามารถควบคุมอารมณ์ใจได้ฌาณก็จะเป็นพรหม

          เราตั้งใจไว้โดยเฉพาะ รักษาอารมณ์ อุปมานุสติกรรมฐาน เป็นอารมณ์ว่า เราต้องการพระนิพพานในชาตินี้ โดยสรุปตัวท้ายเสียทันที คือตัดอวิชชา ความโง่ มานั่งใคร่ครวญว่า มนุษยโลกก็ดี เทวโลกก็ดี พรหมโลกก็ดี เป็นดินแดนที่ไม่พ้นความทุกข์ ความทุกข์มันมีกับเราได้ทุกขณะจิต เราเป็นมนุษยืเต็มไปด้วยความร้อน ความหนาว ความหิว ความกระหาย ความปวด ความเมื่อย ป่วยไข้ มีความไม่สบาย มีความตายไปในที่สุด มีการกระทบกระทั่งกับอารมณ์ของชาวโลก เรื่องโลกมนุษย์ไม่ดี เทวโลกกับพรหมโลกก็พักความดีอยู่ชั่วคราว ไม่มีความหมาย ใจเราต้องการอย่างเดียวคือ พระนิพพาน มีพระนิพพานเป็นอารมณ์ ถ้าจิตตอนนี้ละบรรดาท่านพุทธบริษัท จิตจะเบามาก เหมือนกับมีความรู้สึกเหมือนว่าเราไม่ได้อะไรเลย จิตมันสบายๆ กำลังฌาณที่เราเคยมั่นคง กดอารมณ์นิ่ง มีความหนัก มันจะสลายตัวไป แต่ว่าจิตใจของเรามีความสุขจะกระทบกระทั่งอาการอย่างใดอย่างหนึ่งก็ตามที ไม่มีความรู้สึกว่ามันจะมีความลำบาก ไม่มีอะไรที่จะมีความหนัก ไม่มีอะไรที่จะทำให้จิตใจของเราให้เร่าร้อน ได้ยินเสียงคนด่าก็สบายใจ คิดว่าเขาไม่น่าจะทำความชั่ว เป็นปัจจัย ของความทุกข์ เห็นใครเขาสรรเสริญเรา ก็ไม่มีความสุขใดๆ ไม่สั่นคลอน รู้สึกว่าความสรรเสริญไม่มีความหมาย เราดีขึ้นมาได้ไม่ใช่อาศัยการสรรเสริญ หรือว่าถ้าเราไม่ดี ก็ไม่ใช่อาศัยการแช่งด่าของบุคคลใด ความดีจะมีขึ้นมาได้ หรือความไม่ดีจะมีขึ้นมาได้ ก็เพราะอาศัยเราปฏิบัติเท่านั้น ถ้าจิตใจของบรรดาท่านพุทธบริษัททรงได้อย่างนี้เรียกว่า อรหัตผล

ที่มา : หนังสือโอวาทหลวงพ่อวัดท่าซุง เล่ม 1



ผู้ตั้งกระทู้ วีร์พสุตม์ ลิ้มสกุลภักดี (weepasuth-at-gmail-dot-com) กระทู้ตั้งโดยสมาชิก โพสต์และแสดงความเห็นเฉพาะสมาชิกเท่านั้น :: วันที่ลงประกาศ 2011-06-14 20:52:38


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (1552255)

ขออนุโมทนาบุญค่ะ

ผู้แสดงความคิดเห็น ฉันทนา ชูนุ่น (coffe-dot-i-joker-at-hotmail-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-06-15 12:13:35


ความคิดเห็นที่ 2 (1552366)

 

ขออนุโมทนาบุญกับธรรมทานของคุณวีร์พสุตน์ด้วยนะคะ สาธุ อ่านแล้วทำให้เกิดดวงตาเห็นธรรมชัดแจ้งยิ่งขึ้น รู้หลักวิธีปติบัติเพิ่มมากขึ้น ทำอย่างไรให้ไปถูกทาง ขอบพระคุณมากๆค่ะ

ผู้แสดงความคิดเห็น ณัชชา พรหมทองแก้ว (hun_ny18-at-hotmail-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-06-16 02:06:58


ความคิดเห็นที่ 3 (1552379)

อนุโมทนากับคุณวีร์พสุตม์ อย่างที่สุดค่ะ

ที่นำคำสอนอันลึกซึ้ง มาเตือน มาเน้น มาย้ำ ให้พวกเรามุ่งมั่นสู่นิพพาน

เพราะทุกๆคนรู้ดีว่า จะไปนิพพานไปอย่างไร และต้องทำตัว ทำใจอย่างไร

แต่...ก็ยังมีเผลอ มีเหนื่อย ไม่ตั้งใจบ้าง เพราะอย่างที่ท่านอ.อุบล

ท่านเคยพูดไว้ว่า พวกเราชินกับการผิดปรกติมานานแสนนาน

พอจะต้องมาทำตัว"ปรกติ" ก็เลย "ยาก" ฉะนั้น จึงต้องอ่านคำสอน

คำเตือนกันบ่อยๆ จะได้ไม่ออกนอกเส้นทาง....


ขอบคุณมากๆค่ะ..

ผู้แสดงความคิดเห็น ชนิดา เชิงสะอาด/CHANIDA ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-06-16 03:28:43


ความคิดเห็นที่ 4 (1555257)

ขออนุโมทนาบุญด้วยค่ะ สาธุ

ผู้แสดงความคิดเห็น อร่ามศรี สุวัตถิกุล (adda_bkk-at-hotmail-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-06-30 14:44:37



[1]


Copyright © 2010 All Rights Reserved.