ReadyPlanet.com


พระธรรมแรกที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง หลักธรรมที่เราควรพิจารณา


           เนื่องด้วยวันนี้เป็นวันอาสาฬหบูชา ข้าพเจ้ากราบขออนุญาตองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระอริยเจ้าทั้งหลาย สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งจักรวาล นำความรู้เกี่ยวกับที่มาของวันสำคัญนี้ และเอาธรรมะแรกที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงมาแบ่งปันค่ะ

         วันนี้เป็นวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 คือวันอาสาฬหปุรณมีดิถี หรือวันเพ็ญเดือนอาสาฬหะได้รับการยกย่องเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา เนื่องจากเมื่อ 45 ปีก่อนพุทธศักราช ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสี แคว้นมคธ พระพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรมเทศนาเป็นครั้งแรกเป็นปฐมเทศนา คือ ธัมมจักรกัปปวัตตนสูตร แก่ปัญจวัคคีย์

การแสดงธรรมครั้งนั้นทำให้พราหมณ์โกณฑัญญะ 1 ใน 5 ปัญจวัคคีย์ เกิดความเลื่อมใสในพระธรรมของพระพุทธเจ้า จนได้ดวงตาเห็นธรรมหรือบรรลุเป็นพระอริยบุคคล ระดับโสดาบัน ท่านจึงขออุปสมบทในพระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า ด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา จึงกลายเป็นพระสงฆ์องค์แรกในโลก และด้วยเหตุที่ท่านได้บรรลุธรรมเป็นพระอริยบุคคล (อนุพุทธะ) เป็นคนแรก จึงทำให้ในวันนั้นมีพระรัตนตรัยครบองค์สามบริบูรณ์เป็นครั้งแรกในโลก คือ มีทั้งพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์

          ด้วยเหตุนี้จึงทำให้วันนี้ถูกเรียกว่า "วันพระธรรม" หรือ วันพระธรรมจักร อันได้แก่วันที่ล้อแห่งพระธรรมของพระพุทธเจ้าได้หมุนไปเป็นครั้งแรก และ "วันพระสงฆ์" คือวันที่มีพระสงฆ์เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก อีกด้วย 

 

หลักธรรมที่พระพุทธองค์ทรงแสดงครั้งแรกของโลก

 

1. สิ่งที่ไม่ควรเสพสองอย่าง

"ดูกรภิกษุทั้งหลาย ที่สุดสองอย่างนี้อันบรรพชิตไม่ควรเสพ คือ

  • การประกอบตนให้พัวพันด้วยกามสุขในกามทั้งหลาย เป็นธรรมอันเลว เป็นของชาวบ้าน เป็นของปุถุชน ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ 1
  • การประกอบความเหน็ดเหนื่อยแก่ตน เป็นความลำบาก ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ 1" 
— พระไตรปิฎก เล่มที่ ๔ พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๔ มหาวรรค ภาค ๑ ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร

เป็นการประกาศแนวทางพ้นทุกข์ใหม่แก่โลก อันได้แก่การแก้ทุกข์ที่ตัวต้นเหตุ คือ แก้ที่ภายในใจของเราเอง (มัชฌิมาปฏิปทา) 

มิใช่แก้ปัญหานอกกาย คือ หนีความทุกข์ด้วยการมัวแต่แสวงหาความสุข (หนีความทุกข์อย่างไม่ยั่งยืน เพราะต้องแสวงหามาปรนเปรอตัณหาไม่สิ้นสุด) หรือหาทางพ้นทุกข์ด้วยการกระทำตนให้ลำบาก (สู้หรืออยู่กับความทุกข์อย่างโง่เขลา ขาดปัญญา ทำตนให้ลำบากโดยใช่เหตุ) 

2. มัชฌิมาปฏิปทา (ทางสายกลาง)

"ปฏิปทาสายกลาง ไม่เข้าไปใกล้ที่สุดสองอย่างนั้น นั่นตถาคตได้ตรัสรู้แล้วด้วยปัญญาอันยิ่ง ทำดวงตาให้เกิด ทำญาณให้เกิด ย่อมเป็นไปเพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน


ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ปฏิปทาสายกลางที่ตถาคตได้ตรัสรู้แล้วด้วยปัญญาอันยิ่ง ทำดวงตา ให้เกิด ทำญาณให้เกิด ย่อมเป็นไปเพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน นั้น เป็นไฉน?

 

 

ปฏิปทาสายกลางนั้น ได้แก่อริยมรรค มีองค์ 8 นี้แหละ คือ

 

ปัญญาอันเห็นชอบความดำริชอบเจรจาชอบการงานชอบ, เลี้ยงชีพชอบ, พยายามชอบระลึกชอบ, ตั้งจิตชอบ"


 

ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้แลคือปฏิปทาสายกลางนั้น ที่ตถาคตได้ตรัสรู้แล้วด้วยปัญญาอันยิ่ง ทำดวงตาให้เกิด ทำญาณให้เกิด ย่อมเป็นไปเพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน.

— พระไตรปิฎก เล่มที่ ๔ พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๔ มหาวรรค ภาค ๑ ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร

3. อริยสัจ 4

             ทรงกล่างถึง ทุกข์ ไว้ดังนี้

"ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้แลเป็นทุกขอริยสัจ คือ ความเกิด ก็เป็นทุกข์ ความแก่ ก็เป็นทุกข์ ความเจ็บไข้ ก็เป็นทุกข์ ความตาย ก็เป็นทุกข์ การเจอสิ่งที่ไม่เป็นที่รัก ก็เป็นทุกข์ ความพลัดพรากจากสิ่งเป็นที่รัก ก็เป็นทุกข์ ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้น ก็เป็นทุกข์ โดยย่นย่อ อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นทุกข์"

— พระไตรปิฎก เล่มที่ ๔ พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๔ มหาวรรค ภาค ๑ ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร

             ยึดถือ เป็น สาเหตุแห่งทุกข์ ดังนี้

"ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้แลเป็นทุกขสมุทัยอริยสัจ คือ "ตัณหา" อันทำให้เกิดอีก ประกอบด้วยความกำหนัดด้วยอำนาจความเพลิน มีปกติเพลิดเพลินในอารมณ์นั้นๆ คือ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา"

— พระไตรปิฎก เล่มที่ ๔ พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๔ มหาวรรค ภาค ๑ ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร

         ทุกข์สามารถดับไปได้ โดยการ ดับที่ตัวสาเหตุแห่งทุกข์ คือ ไม่ยึดถือว่ามีความทุกข์ หรือเราเป็นทุกข์ กล่าวคือ สละถอนเสียซึ่งการถือว่ามีตัวตน อันเป็นที่ตั้งของความทุกข์ (เมื่อไม่มีการยึดมั่นถือมั่นในใจว่าตนนั้นมี "ตัวตน" ที่เป็นที่ตั้งของความทุกข์ ทุกข์ย่อมไม่มีที่ยึด จึงไม่มีความทุกข์) ดังนี้

"ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้แลเป็นทุกขนิโรธอริยสัจ คือ ตัณหานั่นแลดับ โดยไม่เหลือด้วยมรรคคือ "หมดราคะ" "สละ" "สละคืน" "ปล่อยไป" "ไม่พัวพัน""

— พระไตรปิฎก เล่มที่ ๔ พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๔ มหาวรรค ภาค ๑ ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร

            ได้ตรัสแสดงมรรค คือวิธีปฏิบัติตามทางสายกลางตามลำดับ 8 ขั้น เพื่อหลุดพ้นทุกข์โดยสิ้นเชิง คือ

"ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้แลเป็นทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ คือ อริยมรรคมีองค์ 8 นี้แหละ คือ ปัญญาอันเห็นชอบ 1 ความดำริชอบ 1 เจรจาชอบ 1 การงานชอบ 1 เลี้ยงชีวิตชอบ 1 พยายามชอบ 1ระลึกชอบ 1 ตั้งจิตชอบ 1"

— พระไตรปิฎก เล่มที่ ๔ พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๔ มหาวรรค ภาค ๑ ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร

See Wikipedia, วันอาสาฬหบูชา, http://th.wikipedia.org/wiki/วันอาสาฬหบูชา (as of Jul. 14, 2011, 12:36 GMT).



ผู้ตั้งกระทู้ ครองขวัญ วงศ์ดีประสิทธิ์ (krongkwanw-at-gmail-dot-com) กระทู้ตั้งโดยสมาชิก โพสต์และแสดงความเห็นเฉพาะสมาชิกเท่านั้น :: วันที่ลงประกาศ 2011-07-15 13:57:55


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (1558356)

 

 

 

 ขออนุโมทนาบุญกับคุณ ครองขวัญด้วยนะคะ สาธุ สาธุ สาธุ

ผู้แสดงความคิดเห็น ณัชชา พรหมทองแก้ว (hun_ny18-at-hotmail-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-07-16 20:48:35


ความคิดเห็นที่ 2 (1558359)

ขออนุโมทนาบุญด้วยครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น ตัวเล็ก พงษ์เดช ชาวไทย (phongdech1665-at-gmail-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-07-16 21:07:51


ความคิดเห็นที่ 3 (1558371)

 โมทนาครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น คมกริช นามมงคุณ (เบลล์) (komkom-dot-ko-at-hotmail-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-07-16 22:11:37



[1]


Copyright © 2010 All Rights Reserved.