ReadyPlanet.com


พิจารณาความตาย(โอวาทหลวงพ่อวัดท่าซุง)


 

          จำให้ได้ว่าชาตินี้ทั้งชาติตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป เราจะไม่ประมาทเรื่องความตายของชีวิต และคนที่เกิดหลังเรา เด็กเล็กตายก่อนเราไปเยอะแยะ เราต้องตายแน่ พยายามรวบรัดความดีเข้าไว้ บาปเก่าๆ ที่ทำไว้แล้วช่างมัน มันจะไปไหนก้ช่างมัน มันตายเราไม่ทันด้วยอาศัยเคารพพระพุทธเจ้า เคารพพระธรรม เคารพพระอริยสงฆ์ และปฏิบัติศีลให้บริสุทธิ์ อย่าลืมว่าฆราวาสศีล 5 อาจจะหยาบไปนิดนึง แต่ก็พ้นอบายภูมิแล้ว ทางที่ดีได้กรรมบท 10 จะดีมาก

         ถ้าหากว่าเราคิดว่าตายแล้วไม่เกิด จิตจะมีความประมาทพลาดจากความเป็นจริง ถ้าคิดอย่างนั้นบรรดาท่านพุทธบริษัทชายและหญิง ก็จะมีความประมาทในชีวิต คิดว่าการเกิดมาแล้วตายก็สูญ เมื่อมันจะสูญไปจากโลกนี้ไม่มีการเกิดต่อไป การกระทำความดีหรือการกระทำความชั่วใดๆ ย่อมมีผลเฉพาะในชาติปัจจุบันเท่านั้น เพราะชาติข้างหน้าไม่มี ถ้าคนที่มีกำลังใจดีก็จะสั่งสมความดี เพื่อความสุขของตน คนที่มีจืตหยาบบาปอกุศลครอบงำ ก็จะกระทำแต่ความชั่ว สร้างความเร้าร้อนให้แก่ตัวและบุคคลอื่น

          ก่อนที่เราจะพิจารณาถึงความตายกันก่อน เรานึกรู้อยู่เสมอว่าเราต้องตายแน่ ชีวิตนี้ไม่ใช่ของเรา ร่างกายไม่ใช่ของเรา ทั้งนี้เพราะ เกิด แก่ เจ็บ แล้วก็ตายเหมือนกัน ต้องคิดไว้เสมอว่าความตายมีแก่เราทุกขณะจิตเราจะต้องเป็นผู้ไม่ประมาท

          ขอบรรดาท่านพุทธบริษัท จงพยายามใคร่ครวญถึงความตายเป็นสำคัญ เรื่องความตายก็ดี การควบคุมอารมณ์จิตใจให้ปราศจากความฟุ้งซ่านก็ดี ควรจะทำให้เป็นปกติ ถ้าวันใดเราเผลอจากการควบคุมอารมณ์จิตไม่ระงับความฟุ้งซ่านก็ดี วันใดเราเผลอไป ลืมนึกถึงความตายก็ดี ก็จงประนามตัวเองว่าเลวเต็มทีแล้ว

          ผู้ที่คิดถึงความตาย รู้ตัวว่าจะตายแล้ว ย่อมไม่สั่งสมความชั่วคอยปลีกตัวออกจากความชั่ว และมีอารมณ์ไม่หวั่นไหวในเมื่อความตายมาถึงแล้ว เพราะคิดรู้อยู่เสมอแล้วว่าเราต้องตายแน่ ความตายนี้หานิมิตเครื่องหมายไม่ได้ กำหนดการเกิดหมอบอกได้ แต่กำหนดเวลาตายไม่มีใครกำหนดได้แน่นอนสำหรับปุถุชนคนธรรมดา สำหรับพระอริยเจ้าหรือท่านที่ชำนาญใน อานาปานุสสติกรรมฐาน ท่านสามารถบอกเวลาตายที่แน่นอนของท่านได้ พระอริยเจ้าที่จะบอกเวลาตายได้ ก็ต้องเป็นท่านที่ได้ วิชชาสาม เป็นอย่างน้อย ถ้ามีความรู้พิเศษต่ำกว่านั้น ท่านก็กำหนดเวลาตายไม่ได้เหมือนกัน

          จิตใจคิดไว้เสมอว่าเราจะต้องตาย ความตายเป็นของธรรมดา เรามีความเกิดขึ้นในเบื้องต้นแล้ว เราก็มีความตายในที่สุด พิจารณาให้เห็นว่า ถ้าเราต้องการความเกิดอีก มันก็ต้องทุกข์แบบนี้ จะเกิดมันอีกเพื่อประโยชน์อะไร เราต้องการตัดความเกิด คือตัดชีวิตและร่างกาย ไม่มัวเมาในชีวิต คิดเสียว่าร่างกายประกอบด้วยธาตุ 4 ดิน น้ำ ลม ไฟ เป็นเรือนร่างที่อาศัยชั่วคราว เป็นแดนของความทุกข์ เป็นรังของโรค มันจะต้องเปื่อยเน่าเป็นของธรรมดา ถ้าเราเกิดมามันก็มีสภาพแบบนี้อีกเราจะเกิดอีกทำไม ดินแดนที่เราจะไม่ต้องเกิดต่อไปก็มีอยู่คือพระนิพพาน

          หากว่าเราไม่ประมาทในชีวิต คิดว่าอาจจะตายวันนี้ไว้เสมอ เราก็หาทางรวบรัด สิ่งใดที่จะสร้างทรัพย์สมบัติให้เกิดขึ้นสำหรับทำทุนทำรอนไว้เพื่อเราในยามป่วยหรือยามแก่ ถึงเวลาที่มันตายไปแล้วลูกหลานไม่ลำบากในการจัดงานศพ หรือการเป็นอยู่ในเบื้องหน้า เราก็หาทรัพย์สมบัติมาตามกำลังที่จะพึงหาได้ หาจนเต็มความสามารถด้วยความไม่ประมาทในชีวิต อย่างนี้ถ้าบังเอิญมันยังไม่ตาย ทรัพย์สินที่เราหาได้ก็จะสร้างความสุขให้เกิดขึ้นกับเราในปัจจุบัน ในเมื่อเราคิดว่าเราจะตายแล้ว รู้ว่าเราตายแล้ว ถ้าทำความชั่ว จิตชั่วเราต้องไปอบายภูมิ มีการเกิดเป็นสัตว์นรก เป็นต้น เราก็จะละจากความชั่วนั้น ตั้งหน้าทำดี พูดดี คิดดี ทำดี คนที่ ทำดี พูดดี และคิดดี คนประเภทนี้เป็นที่รักของคนทุกคนในโลก

          ชีวิตนี้มีความตายเป็นทีสุด ถ้าเราเกิดอีก เราก็ลำบากอีก อย่าเกิดเลยดีกว่า งานที่ทำขอให้คิดว่าทำเพียงหน้าที่ คิอ หน้าที่ๆ จะต้องเลี้ยงตัวเอง เลี้ยงครอบครัว ทำไป และอย่าติดหน้าที่ คิดวาง คิดปล่อย คลายความเมา ปล่อยให้เป็นเรื่องของกรรม แต่อย่าบกพร่องในหน้าที่ พระพุทธพยากรณ์เมื่อไม่ช้านี้ พ่อดีใจ ท่านตรัสว่า ความยาวของชีวิตพ่อ มีประโยชน์กับลูกและหลาน ลูกทุกคนจะไม่มีโอกาสได้เกิดอีก พ่อดีใจ ถ้าต้องทรมานกายเพื่อความถึงที่สุดของลูกและหลาน พ่อทนได้เสมอ

          ความจริงเราทุกคนไม่ต้องกลัวตาย กลัวเกิดดีกว่า ถ้าเราไม่เกิดเสียอย่างเดียว มันจะตายอย่างไรก็ให้มันรู้ไป ถ้าไม่เกิดให้มันตายที ทีนี้เราเกิดมา เพราตาเราเห็นรูป เราพอใจในรูป หูได้ยินเสียง พอใจในเสียง เป็นต้น ความพอใจไอ้ตัวจริงๆ ทีเป็นตัวร้าย ที่เราจะต้องตัดคือใจ ตัดอารมณ์ของใจเสีย อย่าให้ใจมันโง่ แนะนำมันบอกว่านี่ไอ้แกไปหลงใหลใฝ่ฝันในรูป รูปนี้สวย ทรวดทรงดี ถามมันดูซิว่า มีรูปอะไรที่มีการทรงตัว ไม่เปลี่ยนแปลงบ้าง ไม่มีการทรุดโทรม ไม่มีการเสื่อมมันมีบ้างไหม ถามใจมันดู

          ท่านทั้งหลายจงอย่าประมาทกับชีวิต เพราะว่าชีวิตเป็นของไม่เที่ยงแต่ความตายเป็นของเที่ยง ขอทุกท่านจงคิดไว้เสมอว่า อย่างไรก็ดีเราต้องตายแน่ สำหรับเวลาการตายของเราไม่มีแน่นอน เพราะความตายไม่มีนิมิตเครื่องหมาย ท่านทั้งหลายจงประกอบความดีเข้าไว้ ถ้าใครสร้างความชั่ว ตายแล้วไปสู่อบายภูมิ มีนรกเป็นต้น เกิดมาเป็นคนก็จะมีแต่ความเร้าร้อน มีแต่ความลำบาก แต่ถ้าคนใดสร้างความดี คิดถึงความตาย ไม่ประมาทในชีวิต คิดไว้เสมอว่าเราจะต้องตายแน่ จงอย่าคิดว่าวันพรุ่งนี้ หรือเดือนหน้า ปีหน้า เดือนโน้น เราจึงจะตาย คิดไว้เสมอว่าวันนี้เราอาจจะตาย แล้วก็สร้างความดีเข้าไว้ ความดีจะส่งผลให้ท่านมีความสุขทั้งในปัจจุบันและสัมปรายภพ

          เรามีความรู้สึกอยู่เสมอว่า เราจะต้องตายแน่ จะตายช้า ตายสาย ตายบ่าย ตายเที่ยง ตายด้วยอาการปกติ หรือด้วยอุบัติเหตุก็ตามที ก็ขึ้นชื่อว่าจะต้องตาย เราไม่ประมาทในชีวิต ก่อนที่เราจะตาย จะกอบโกยความดีใส่กำลังใจไว้ให้มันครบ พระพุทธเจ้าทรงสอนแบบไหน ปฎิบัติให้จบ ให้ครบทุกประการ ให้บริบูรณ์ทั้งหมด ในฐานะที่เป็นสาวกขององค์สมเด็จพระบรมสุคต

          สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงยืนยันว่า บุคคลใดถ้าตกเป็นทาสของความชั่วคือ บาป เวลาก่อนจะตาย ถ้ากำลังจิตเศร้าหมองมีกำลังใจกังวลอยู่กับบาป ตายแล้วก็ต้องตกนรก ความจริงที่บางท่านคิดว่า การตายแล้วไม่เกิด คิดว่าตายแล้วมีสภาพสูญ อย่างไรก็ตามเถอะพระพุทธเจ้าทรงยืนยันว่า คนเราตายแล้วต้องมีการเกิด แต่การเกิดนั้นจะเกิดเป็นมนุษย์ หรือเกิดเป็นสัตว์นรก เป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์เดรัจฉาน ก็ถือว่าเกิดทั้งหมด ถ้าส่วนดีก็ไปเกิดเป็นเทวดาบ้าง เป็นพรหมบ้าง ถ้าดีถึงที่สุดก็ไปเกิดเป็นพระอรหันต์เข้านิพพานไป

          เวลาจะตายเขาเข้าฌาณตายกัน คนที่เข้าฌานตายมันไม่ตายเหมือนชาวบ้านเขา อาการตายเหมือนกัน แต่ความหนักใจของบุคคลผู้ทรงฌานไม่มี ทั้งนี้เพราะถ้าจิตทรงฌาน อารมณ์เป็นทิพย์ เมื่ออารมณ์เป็นทิพย์แล้ว ก็จะสามารถจะเห็นในสิ่งที่เป็นทิพย์ได้ เห็นรูปที่เป็นทิพย์ ได้ยินเสียงที่เป็นทิพย์ได้ ในเมื่อเราเห็นรูปที่เป็นทิพย์ได้ ได้ยินเสียงที่เป็นทิพย์ได้ เราก็รู้สภาวะความเป็นทิพย์ของเราได้ คนที่เขาเข้าฌานตายนี่เขาเลือกไปตามอัธยาศัย ว่าเขาจะไปจากร่างกายอันนี้แล้ว เขาจะไปอยู่ที่ใหม่ เขาจะไปอยู่ที่ไหนนี่รู้ก่อน คนที่ทรงฌานจริงๆ สถานที่ที่จะพึงอยู่ได้คือพรหมโลก ถ้าหากว่าเราจะไม่อยากอยู่พรหม อยากจะอยู่สวรรค์ชั้นใดชั้นหนึ่งที่ต่ำลงมาอันนี้ก็เลือกได้

ที่มา : หนังสือโอวาทหลวงพ่อวัดท่าซุง เล่ม 1



ผู้ตั้งกระทู้ วีร์พสุตม์ ลิ้มสกุลภักดี (weepasuth-at-gmail-dot-com) กระทู้ตั้งโดยสมาชิก โพสต์และแสดงความเห็นเฉพาะสมาชิกเท่านั้น :: วันที่ลงประกาศ 2011-06-10 20:41:52


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (1551518)

 โมทนาครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น นายคมกริช นามมงคุณ (komkom-dot-ko-at-hotmail-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-06-10 21:30:52


ความคิดเห็นที่ 2 (1551653)

ถ้าวันใดเรา เผลอจากการ

ควบคุมอารมณ์จิต

ไม่ระงับความฟุ้งซ่านก็ดี

วันใดเราเผลอไป

ลืมนึกถึงความตายก็ดี

ก็จงประนามตัวเองว่าเลวเต็มทีแล้ว

....................................................

ในแต่ละวันพวกเรายังเผลอ..ลืมนึกถึงความตายกันอยู่รึเปล่าคะ

ถ้าเป็นเช่นนั้น ก็อย่าลืมประณามตัวเองด้วยนะคะว่า "เลว"ที่สุ๊ดด..

โอ๊ย...เหมือนเขียนประณามตัวเองไงไม่รู้ ชนิดาเอ๊ย...

แต่ก็ยอมรับว่ายังเลวอยู่เย๊อะ จริงๆ

อนุโมทนาด้วยนะคะคุณ วีร์พสุตม์ ที่นำธรรมทานนี้มาเตือนใจทุกๆคน

และกราบขอบพระคุณคำสอนจากหลวงพ่อฤาษีลิงดำด้วยค่ะ

สาธุ สาธุ สาธุ....

 

ป.ล. ไม่ได้อ่านข้อความจากหลวงพ่อ

สื่อผ่านอาจารย์อุบลมานานแล้ว..เหมือนกันเนอะ..

คิดถึงมุขขำๆ คำสอนคมๆ จากหลวงพ่อ..จริงๆเลยหนอ....

ผู้แสดงความคิดเห็น ชนิดา เชิงสะอาด/CHANIDA ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-06-12 02:51:37


ความคิดเห็นที่ 3 (1552041)

ขออนุโมทนาบุญค่ะ สาธุ

หวังว่าอาการทางสายตาคงหายดีเป็นปกติไวๆๆนะค่ะ

ขอบคุณที่หาความรู้ดีๆ มาให้อ่านค่ะ

ขอบคุณที่ให้ติดรถกลับบ้านนะค่ะ ตั้งแต่เดือนเมษายน แล้วค่ะ ขอบคุณค่ะ

ผู้แสดงความคิดเห็น อร่ามศรี สุวัตถิกุล (adda_bkk-at-hotmail-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-06-14 10:41:23


ความคิดเห็นที่ 4 (1552064)

อ่อ ไม่เป็นไรครับ แต่เดี๋ยวนี้ ใช้บริการรถตู้ หรือไม่ก็อาศัยติดรถ ญาติธรรมกลับเหมือนกันครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น วีร์พสุตม์ ลิ้มสกุลภักดี (weepasuth-at-gmail-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-06-14 12:34:19


ความคิดเห็นที่ 5 (1552386)

 

 

ขออนุโมทนาบุญกับคุณ วีร์พาสุตม์ และทุกๆท่านด้วยนะคะ ที่นำเอาธรรมทานมาเตือนสติและเตือนใจอยู่     เสมอๆ สาธุ สาธุ สาธุ

ผู้แสดงความคิดเห็น ณัชชา พรหมทองแก้ว (hun_ny18-at-hotmail-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-06-16 06:43:37



[1]


Copyright © 2010 All Rights Reserved.